ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ปรัชญา

ปรัชญาการศึกษา

            นักวิชาการด้านการศึกษาได้ให้คำจำกัดความของคำว่า  “การศึกษา”  มากมายหลายคำนิยม  เช่น  “การศึกษาคือชีวิต”  “การศึกษาคือการตระเตรียมการดำรงชีวิต”  “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม”  “การศึกษาคือการถ่ายทอดวัฒนธรรม”  “การศึกษาคือการทำให้คนเจริญขึ้น”  และ ฯลฯ  การที่นิยามความหมายของคำว่า  “การศึกษา”  ต่าง ๆ กัน ก็เนื่องมาจากบางคนพิจารณาการศึกษาในฐานะจุดหมายปลายทางของชีวิต  บางคนนิยามการศึกษาในบานะกระบวนการ บางคนกำหนดความหมายในลักษณะที่เป็นกิจกรรมประเภทหนึ่งของสังคม

            การศึกษาเป็นการพัฒนาบุคคลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง  เราอาจพิจารณาความหมายของการศึกษาได้เป็น ๒ แนวคือ

๑.  ความหมายในแนวกว้าง ถือว่าการศึกษาเป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต         มีปัจจัยหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมชีวิต บุคลิกภาพและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์             เป็นการศึกษาจากประสบการณ์ทั้งมวล ตามแนวนี้การศึกษามิได้จำกัดอยู่ในโรงเรียนเท่านั้น สถาบัน

ทางสังคมอื่น ๆ เช่น บ้าน วัด สื่อมวลชน และ ฯลฯ ต่างก็มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของบุคคล

๒.  ความหมายในแนวแคบ  ถือว่าการศึกษาเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรม ความรู้ และค่านิยมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง  โดยผ่านสถาบันทางสังคมที่มีหน้าที่จัดการศึกษา เช่น  โรงเรียน ความหมายตามแนวแคบนี้เป็นความหมายที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไป

            การศึกษาไม่ว่าจะนิยามความหมายว่าอย่างไร มีลักษณะสำคัญอยู่ ๓ ประการคือ

        ๑.  การศึกษาเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปในแนวทางที่ปราดรถนา

        ๒.  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้  เป็นไปโดยจงใจ  โดยมีการกำหนดจุดมุ่งหมายซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดไว้

         ๓.  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้ กระทำเป็นระบบ มีกระบวนการอันเหมาะสมและผ่านสถาบันทางสังคมที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ด้านการศึกษา

ความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญากับการศึกษา

     ปรัชญามุ่งศึกษาเรื่องของชีวิตและจักรวาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เพื่อจะหาความจริงอันเป็นที่สุด การศึกษามุ่งศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์และวิธีการที่จะพัฒนามนุษย์ให้มีความเจริญงอกงามเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างดีมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต     การงาน   ทั้งปรัชญาและการศึกษา มีจุดสนใจร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือการกำหนดคุณค่าและความหมายของชีวิตมนุษย์ ปรัชญาในแง่นี้จึงมีลักษณะเป็นทฤษฎีทางการศึกษาและการศึกษาเป็นการนำเอาปรัชญาไปปฏิบัติให้บังเกิดผล เมื่อเป็นเช่นนี้ปรัชญาจึงมีความสัมพันธ์กับการศึกษาอยู่ ๓ ประการ

  ๑.  ปรัชญาตรวจสอบและเสนอแนะจุดมุ่งหมายของการศึกษา  การศึกษาเป็นกิจกรรมทางสังคมที่มุ่งผลการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปในแนวทางที่ปรารถนา  ปรัชญาอาจจะช่วยเสริมการศึกษาให้ได้รับคำตอบที่ชัดเจนขึ้นได้หลายประการเช่น

(๑)  ปรัชญาอาจช่วยชี้ให้เห็นว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาที่จะเลือกนั้น    สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมืองหรือไม่ มีความเหมาะสมเพียงใด

(๒)  ปรัชญาอาจช่วยชี้ให้เห็นว่า จุดมุ่งหมายของการศึกษาที่จะเลือกนั้น

ขัดแย้งกับจุดมุ่งหมายของกิจกรรมทางด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองหรือไม่ ถ้าขัดแย้งจะแก้ไขให้สอดคล้องกันได้อย่างไร

(๓)  ปรัชญาอาจช่วยชี้ให้เห็นว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาที่จะเลือกนั้น    สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ดีหรือไม่ ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร ธรรมชาติของมนุษย์คืออะไร เพื่อจะได้ใช้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ประกอบการพิจารณาเลือกจุดมุ่งหมายของการศึกษาได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

 ๒.  ปรัชญาวิพากษ์และวิเคราะห์การศึกษา ปรัชญาอาจช่วยวิพากษ์และวิเคราะห์สาระและปัญหาของการศึกษาได้ใน ๓ ลักษณะคือ

    (๑)  ปรัชญาอาจช่วยวิเคราะห์ข้อสมมติฐานของการศึกษา การที่นักการศึกษามีความเห็นแตกต่างกัน ถ้าสืบเสาะดูสาเหตุของความแตกต่างให้ดีแล้ว ส่วนหนึ่งมักจะเกิดจากการยึด ข้อสมมุติฐานที่แตกต่างกัน  ถ้าจับประเด็นความแตกต่างได้แล้ว ก็จะทำให้นักการศึกษามีความมั่นใจ ในสมมุติฐานที่ตนยึดมากยิ่งขึ้น มีเหตุผลขึ้น

     (๒)  ปรัชญาอาจช่วยให้เห็นปัญหาทางการศึกษาชัดเจนขึ้น  มีอยู่บ่อยครั้งที่เราพยายามแก้ปัญหาบางอย่างโดยไม่เข้าใจชัดเจนว่าปัญหานั้นคืออะไร ปรัชญาอาจช่วยขยายความของคำถามให้ชัดเจนขึ้น ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องระหว่างปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งเสนอแนะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ต้องการจะแก้

     (๓)  ปรัชญาอาจช่วยขจัดความกำกวมของศัพท์ หรือแนวคิดหลักที่ใช้ในวงการศึกษา นักปรัชญากลุ่มภาษวิเคราะห์จะช่วยแยกแยะให้เห็นว่า คำศัพท์ทางการศึกษามีความหมายได้กี่ความหมาย เช่น การนิยามความหมายของ  “การศึกษา” อาจนิยามได้ ๓ ลักษณะคือ

นิยามขึ้นเป็นการเฉพาะ  สำหรับความหมายที่ผู้นิยามต้องการใช้เป็นการเฉพาะตัวหรือเฉพาะแห่ง
นิยามแบบพรรณนา  คือการนิยามความหมายที่คนทั่วไปใช้
นิยามเพื่อชี้ทาง  คือการนิยามความหมายอย่างที่ควรจะเป็น  เช่น  “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม”

๓.  ปรัชญาให้ภาพรวมหรือสร้างโลกทัศน์ โดยการเชื่อมโยงศาสตราทั้งหลายที่เกี่ยวกับการศึกษาให้มีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษา

กล่าวโดยสรุป  กิจของปรัชญาการศึกษาพิจารณาได้เป็น ๒ ด้านคือ

             ๑.  ด้านเนื้อหาสาระของการศึกษาปรัชญามีส่วนช่วยกำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษา เพื่อให้ได้แนวทางการจัดการศึกษาที่ดีที่สุด เพื่อชีวิตและสังคมปัจจุบันและอนาคต

             ๒.  ด้านวิธีการ  ปรัชญามีส่วนช่วยวิเคราะห์ สังเคราะห์  ตีความโดยใช้เหตุผลตามหลักตรรกวิทยา เกี่ยวกับคำและแนวคิดหลักทางการศึกษา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในความคิด     ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นใจในการปฏิบัติของนักการศึกษา

“การจัดการศึกษาโดยไม่มีปรัชญาการศึกษาเป็นแนวทาง ก็เป็นเสมือนเรือที่แล่นไปในท้องทะเลโดยไม่มีหางเสือ”

 แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย