ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
ปรัชญา
มโนคตินิยม
สาระสำคัญ
๑. ภววิทยา ปรัชญาสาขามโนคตินิยม ถือว่าความจริงอันเป็นที่สุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจมากกว่าวัตถุ นักปรัชญาสาขานี้มองโลกในแง่ของ โลกแห่งจิตใจ มากกว่า โลกแห่งวัตถุ ถึงแม้จะยอมรับความจริงที่ปรากฏว่า สรรพสิ่งทั้งหลายที่แวดล้อมตัวเราอยู่ที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัส เช่น บ้าน ภูเขา ต้นไม้ ท้องฟ้า เมฆ แม่น้ำ ทะเล ฯลฯ เป็นสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปให้เห็น แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงอาการที่ปรากฏของความจริงที่จริงกว่า ซึ่งเป็นนามธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็นและสัมผัสได้เป็นเพียง เงา ของความจริงยังมิใช่ความจริงแท้ ความจริงอันเป็นที่สุดเป็นเรื่องของความคิด (Idea) และจิตใจ (Mind)
๒. ญาณวิทยา เนื่องจากนักปรัชญาสาขามโนคตินิยม ยึดถือเรื่อง มโนคติ (Idea) และจิตใจ (Mind) เป็นสำคัญ ในแง่ทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้ ปรัชญาสาขานี้จึงเน้นความรู้ที่เกิดจากความคิด เหตุผลและการหยั่งรู้โดยญาณทัศน์เป็นสำคัญ ถือว่าความรู้ที่ได้จากประสาทสัมผัสไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง ทั้งนี้เพราะประสาทสัมผัสเองนั้นก็มีความไม่แน่นอนอยู่ในตัวแล้ว จะถือผลที่ได้จากประสาทสัมผัสว่าจริงแท้แน่นอนได้อย่างไร เช่น คนหลาย ๆ คนดูของสิ่งเดียวกัน จับต้องของอย่างเดียว ชิมอาหารถ้วยเดียวกัน ฟังเพลง ๆ เดียวกัน อาจเห็นและรู้สึกทางรูป รส กลิ่น เสียง ต่างกันได้ กระบวนการของการรับรู้จึงเป็นกระบวนการทางจิตมากกว่าทางกาย นักปรัชญาสาขามโนคตินิยมปฏิเสธการยอมรับที่ว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นวิธีเดียวที่เข้าถึงความรู้ความจริง ถือว่าการหยั่งรู้หรือญาณทัศน์มีความสำคัญเท่าหรือสำคัญกว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การู้สิ่งใดมิใช่เพียงแต่การสัมผัสสิ่งนั้น การรู้หมายถึงการมีแนวคิดหรือจิตภาพของสิ่งนั้น และสามารถบันทึกไว้ในใจที่พร้อมจะรื้อฟื้นได้ทุกขณะ การเรียนรู้จึงเป็นกระบวนการของ การรำลึกการรับรู้ (A Process of remembering of recognition)๒ ซึ่งหมายถึงกระบวนการรับรู้โดยอาศัยจิต เกิดเป็นจิตภาพของเรื่องนั้น และสามารถรื้อฟื้นสิ่งที่เคยรู้มาแล้วได้ ปรัชญาสาขานี้จึงถือว่าความรู้ คือ มโนคติ (Truth as Idea)
๓. คุณวิทยา ทัศนะของนักปรัชญาสาขามโนคตินิยมเกี่ยวกับจริยศาสตร์และสุนทรียศาสตร์นั้น ยึดหลักความดีและความงามตามอุดมคติทางด้านจริยธรรม ยึดถือกฎแห่งความดีสูงสุดเป็นกฎสากล โดยถือว่าคุณธรรมความดีนั้นมี แบบ แห่งความดีและคุณธรรม มนุษย์จะรู้แบบแห่งคุณธรรมก็ต้องอาศัยความรู้ จึงถือว่าคุณธรรมคือความรู้ (Virtue is knowledge) ถ้าเรารู้แบบของคุณธรรมความดีแล้วเราจะมีหลักยึดและจะไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้ผิดไปจากแบบแห่งคุณธรรมนั้น ๆ หลักจริยธรรมจึงมุ่งไปสู่แบบแห่งความดีสูงสุด (Idea of the good)
ฝ่ายมโนคตินิยมทางศาสนา จึงพยายามชี้ให้เห็นถึงแบบแห่งคุณธรรมความดี โดยเน้นการประพฤติตามแบบอย่างของผู้ที่ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมความดี เช่น ตามแนวทางจริยธรรมที่พระศาสดาของศาสนานั้น ๆ ประทานไว้ หรือตามบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าในทางพระพุทธศาสนาก็คือเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแบบสูงสุด
ปรัชญาสาขามโนคตินิยมถือว่ากฎแห่งคุณธรรมความดีเป็นกฎสากล เป็นสิ่งตายตัวไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกล เวลาและสถานที่ มีลักษณะเป็นอกาลิโกคือไม่มีกาลเวลาใช้ได้ตลอดไป
ทางด้านสุนทรียศาสตร์นั้น ในขณะที่จริยศาสตร์มุ่งค้นหาหลักแห่งความดีอันเป็นอุดมคติสูงสุดเป็นหลักสากล สุนทรียศาสตร์มุ่งค้นหาแบบแห่งความงามอันเป็นอุดมคติสูงสุดเป็นหลักสากลเช่นกัน นักปรัชญามโนคตินิยมถือว่า ความงามจะต้องสะท้อนให้เห็นถึงมโนคติและอุดมการณ์ (Reflection of Ideas) คุณค่าของความงามของศิลปะนั้น อยู่ที่การถ่ายทอดความงามจากความคิด ซึ่งเป็นการ สร้างสรรค์ศิลปกรรมขึ้นจากอุดมคติที่มีอยู่ในเรื่องนั้น ๆ เป็นการถ่ายทอดแบบแห่งความงาม ความไพเราะที่สมบูรณ์ในอุดมคติอออกมาให้ประจักษ์ เพื่อให้เกิดความทราบซึ้งในคุณค่าแห่งสุนทรีรสนั้น ๆ ตัวอย่าที่เห็นได้ชัดเจนเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ศิลปกรรมตาามแนวนี้ก็คือ การวาดภาพเขียน และดนตรีกับการขับร้องในโบสถ์ของศาสนาต่าง ๆ เพื่อสะท้อนแบบของความงามและความดี ตามแนวมโนคตินิยมดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้
แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษา
หลักการสำคัญของปรัชญาสาขามโนคตินิยมทางด้านภววิทยา ญาณวิทยาและคุณวิทยาเมื่อนำมาประยุกต์เป็นแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการศึกษาที่เรียกว่า ปรัชญาการศึกษาจะพบว่าการจัดการศึกษาตามแนวปรัชญาสาขานี้จะมีลักษณะดังนี้คือ
๑. โรงเรียนและผู้เรียน เนื่องจากปรัชญาสาขามโนคตินิยมเน้นการพัฒนาความคิดและจิตใจโรงเรียนตามแบบมโนคตินิยมจึงเน้นการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมทางความคิดให้แก่ผู้เรียนโดยมุ่งพัฒนาคุณภาพของความคิดและความเจริญงอกงามทางจิตใจ สิ่งแวดล้อมทางความคิดคือ สัญลักษณ์ ซึ่งเป็นสื่อความคิดที่สำคัญ โรงเรียนจึงใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ภาษา คณิตศาสตร์ และศิลปะเป็นสื่อให้ ผู้เรียนได้ฝึกการคิดและการแสดงออกเป็นการพัฒนาจิตใจ โรงเรียนตามแนวมโนคตินิยมมุ่งสร้างคน ให้เป็น นักศิลปะและภาษา (Man of Arts and Letters)
๒. หลักสูตร เน้นเนื้อหาวิชาทางด้านการพัฒนาความคิดและจิตใจ วิชาการด้านมนุษยศาสตร์ซึ่งเน้นการใช้สัญลักษณ์ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของชีวิต สร้างมโนธรรม คุณธรรม และฝึกการคิดหาเหตุผลจึงได้รับการเน้นเป็นพิเศษ วิชาดังกล่าวได้แก่วิชาภาษา วรรณคดี ปรัชญา ศาสนา ศิลป คณิตศาสตร์และประวัติศาสตร์ โดยมีกลุ่มวิชาทางด้านศิลปภาษา (Language Arts) เป็นแกนสำคัญของหลักสูตร
๓. การเรียนการสอน เน้นการใช้สัญลักษณ์เป็นสื่อในการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนการสอนจึงเกี่ยวข้องกับการใช้สื่อสัญลักษณ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้แก่การฟัง การจดจำ จากการบรรยายของครู การอ่านหนังสือ การค้นคว้าจากตำราและเอกสารทางวิชาการต่าง ๆ ห้องเรียนกับห้องสมุดจึงเป็น หัวใจของกระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียน การเรียนการสอนจะเน้นการเรียนในห้องเรียนและ ห้องสมุดมากกว่าการศึกษานอกสถานที่หรือทัศนศึกษา เพราะถือว่าผู้เรียนสามารถอ่านและทำความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ จากหนังสือได้โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์โดยตรง บทบาทของครูตามแนวปรัชญาสาขานี้ถือว่าครูคือแม่พิมพ์เป็นต้นแบบที่ดีทั้งด้านความรู้และความประพฤติ ต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้โดยใช้สัญลักษณ์ได้ดีมีประสิทธิภาพ
๔. การปลูกฝังค่านิยมทางจริยธรรมและสุนทรียภาพ จริยศึกษาได้รับการเน้นเป็นพิเศษใน โรงเรียนตามแบบมโนคตินิยม ถือว่าโรงเรียนมีหน้าที่ถ่ายทอดแบบความประพฤติและการปฏิบัติตน ตามธรรมเนียมประเพณีของสังคม โดยยึดแบบอย่างทางจริยธรรมและคุณธรรมที่ดีที่ประมวลได้จากศาสนา ประวัติศาสตร์ และวรรณคดี วิธีการปลูกฝังค่านิยมทางจริยธรรม อาศัยภาษา คำพูด และสัญลักษณ์เป็นสื่อในเนื้อหา วิชาที่เกี่ยวกับขนมประเพณีและอุดมการทางังคม โดยเน้นค่านิยมและ การอบรมจริยธรรมควบคู่กันไป
ทางด้านการเสริมสร้างรสนิยมเชิงสุนทรียะนั้น มุ่งเน้นการเรียนจากผลงานที่มีชื่อเสียงและแบบแห่งความงามในอุดมคติ โดยการให้ผู้เรียนมีโอกาสทำความคุ้นเคยกับผลงานทางศิลปกรรมชิ้นสำคัญ เพื่อเร้าใจให้เกิดความสนใจ และสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นโดยอาศัยการศึกษารายละเอียดของศิลปกรรมต้นแบบนั้น ๆ หากทำเช่นนี้ได้ก็จะช่วยปลูกฝังค่านิยมในสุนทรียภาพให้แก่ผู้เรียนได้อย่างแท้จริง