ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ปรัชญา

ประจักษ์นิยม

สาระสำคัญ

            ๑.  ภววิทยา  ปรัชญาสาขาประจักษ์นิยมมุ่งสนใจศึกษาความจริงตามภาวะทางธรรมชาติและสภาวะที่เป็นวัตถุ  ถือว่าวัตถุหรือสสารเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าถึงความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายในจักรวาล นักปรัชญาสาขานี้จึงเชื่อว่า โลกแห่งความเป็นจริง คือ โลกแห่งวัตถุ (A World of Things)  สรรพสิ่งทั้งหลายที่ปรากฎให้เห็นตามสภาพทางธรรมชาตินั้นเป็นจริงโดยตัวของมันเอง และในตัวของมันเอง ไม่มีสิ่งที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติเมื่อความจริงทั้งมวลมีความเป็นมาจากธรรมชาติ สรรพสิ่งทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ และสามารถค้นพบและพิสูจน์ความเป็นจริงได้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์  ปรัชญาสาขานี้จึงมีลักษณะเป็นวัตถุนิยมและธรรมชาตินิยม การที่จะตั้งว่าอะไรเป็นความจริงหรือไม่จะต้องมีหลักฐาน (Evidence)   ที่พิสูจน์ได้โดยวิธีทางวิทยาศาสตร์จึงมีลักษณะเป็นประจักษ์นิยมด้วย

            ๒.  ญาณวิทยา  รากฐานทฤษฎีแห่งความรู้ของปรัชญาสาขาประจักษ์นิยมก็คือ “ความรู้ที่เกิดจากข้อเท็จจริงที่ได้จากการสังเกต (Truth as Observable Fact)”   ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปรัชญาสาขานี้ ถือว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้มีระบบโครงสร้างและกลไกการเคลื่อนไหวภายใต้การควบคุมของกฎธรรมชาติ การค้นหาความรู้เกี่ยวกับสรรพสิ่งทั้งหลาย จึงน่าจะเริ่มต้นที่การสังเกตปรากฏการณ์ต่าง ๆ และหาทางอธิบายให้ชัดเจนถึงสภาวะและกลไกการดำเนินงานของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นอย่างถูกต้องที่สุด ความรู้และความจริงของปรัชญาสาขานี้จึงได้มาจากทฤษฎีต่าง ๆ ต่อไปนี้

(๑)  ทฤษฎีการสังเกต  (Spectator Theory)   คือการศึกษาหาความจริงโดยวิธีการสังเกตโดยใช้ประสาทสัมผัส  เป็นการเฝ้าสังเกตอย่างมีระบบระเบียบเพื่อที่จะอธิบายความจริงเกี่ยวกับ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ เมื่อผลของการสังเกตสามารถสรุปผลเป็นความรู้ได้ก็จะทำให้มนุษย์สามารถอธิบายธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ กำหนดกฎเกณฑ์เพื่อใช้บังคับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ได้

(๒)  กฎธรรมชาติ  (Natural Law)    ถือว่าความจริงคือสิ่งเดียวกันกับธรรมชาติ       เมื่อธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีกฎเกณฑ์แน่นอน ความเป็นจริงจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่และเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ

(๓)  ทฤษฎีบริสุทธิ์ (Pure Theory)  นักปรัชญายอมรับว่า  การรับรู้แบบสามัญสำนึก (Common Sense)   เป็นทางที่จะนำไปสู่ความรู้ที่แท้จริงได้ จึงถือสามัญสำนึกเป็นพื้นฐานของความรู้บริสุทธิ์ เมื่อมีการนำเอาความรู้จากสามัญสำนึกมาพิสูจน์ทดลองก็อาจได้ผลสรุปที่เป็นความรู้ขั้นสุดท้ายได้ ความรู้ระดับสูงหรือความรู้บริสุทธิ์ก็คือ  ความรู้ที่ได้จากการสังเกตหรือการใช้ประสาทสัมผัสของมนุษย์นั่นเอง เพียงแต่มีการกลั่นกรอง ทดสอบด้วยระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเพื่อยืนยันผล    ให้เป็นที่น่าเชื่อถือ

            ๓.  คุณวิทยา    ค่านิยมเชิงจริยาและสุนทรียะของปรัชญาสาขาประจักษ์นิยม ยึดหลักความเป็นจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือโลกแห่งความเป็นจริงตามธรรมชาติ  หลักจริยศาสตร์และสุนทรยศาสตร์   ของปรัชญาสาขานี้คือ  “การเดินตามกฎธรรมชาติ”  (Natural Law)

หลักจริยธรรมตามทัศนะนี้ จึงเป็นหลักที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้การทำดีทำชั่วจากการสังเกตแนวทางที่มนุษย์ประพฤติปฏิบัติตามครรลองแห่งกฎธรรมชาติรวมทั้งการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและกาลเทศะ เพื่อให้การดำเนินชีวิตบรรลุจุดหมายอันสูงสุดคือความสุข      คุณธรรมความดีเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ การประพฤติดีก็คือการควบคุมตนเองไม่ให้กระทำผิดไปจากธรรมชาติ  การที่คนจะเรียนรู้คุณค่าทางจริยธรรมนั้นจะต้องเรียนรู้สภาพแวดล้อมและการปรับตัวให้เข้ากับแบบอย่างจริยธรรมของสังคมที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมา  หลักจริยธรรมที่กำหนดจึงเป็นกฎตายตัวที่จะเลือกประพฤติอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเดินตามกฎศีลธรรมที่กำหนดไว้

ทางด้านสุนทรียศาสตร์นั้น นักปรัชญาสาขาประจักษ์นิยมสนใจในความงามของศิลปะความไพเราะของดนตรี และวรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติ ทฤษฎีทางด้านศิลปะมักจะเน้นการแสดงออกถึงภาพชีวิตจริงตามสภาพที่เป็นอยู่จริง ๆ ตามธรรมชาติ พูดง่าย ๆ    ก็คือ ถือเอาการเลียนแบบธรรมชาติให้เหมือนที่สุดเท่าที่จะทำได้  สุนทรายภาพจึงเป็นการแสดงออกซึ่งความเป็นระเบียบและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติในรูปของสีเสียงและลีลาแห่งศิลปกรรมและดนตรี หัวใจของสุนทรียภาพก็คือ  “การยกย่องความมีระเบียบแบบแผนและความเหตุผลของธรรมชาตินั่นเอง”

แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษา

          ๑.  โรงเรียนและผู้เรียน  เนื่องจากปรัชญาสาขาประจักษ์นิยมาเป็นโลกทางด้านวัตถุและกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติเป็นหลักในการแสวงหาความรู้ความจริง  โรงเรียนจึงต้องจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และคุ้นเคยกับสรรพสิ่งทั้งหลายกว่าที่มีอยู่เป็นอยู่ตามระเบียบและกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติที่เป็นจริงเพื่อให้   ผู้เรียนได้เห็นของจริงเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติของสิ่งแวดล้อม  โดยพยายามจัดกิจกรรมให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีระบบระเบียบ โรงเรียนจะต้องเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ความจริงตามธรรมชาติ โดยยึดกฎธรรมชาติเป็นหลัก

          ๒.  หลักสูตร   เน้นเนื้อหาสาระเกี่ยวกับโลกทางกายภาพ  ทั้งนี้เนื่องมาจากการยึดถือกฎธรรมชาติเป็นหลัก หลักสูตรจึงจะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติโดยตรง  วิชาที่ ว่าด้วยธรรมชาติทั้งด้านชีวภาพและกายภาพจึงได้รับการเน้นเป็นพิเศษ  วิชาเหล่านี้ได้แก่ ชีววิทยา         สัตววิทยา พฤกษศาสตร์ ธรณีวิทยา เคมี ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์  ศิลปะการคำนวณ (Measurement Arts)   เป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาวิเคราะห์ธรรมชาติ  ทั้งนี้เพราะประจักษ์นิยมมุ่งพัฒนาคนให้เป็นผู้กำกับกลไกของธรรมชาติ (Master of the machine of nature)

          ๓.  การเรียนการสอน    เน้นการเรียนรู้โดยอาศัยการรับรู้ทางผัสสะเป็นสำคัญ (Sense Perception)   วิธีการสอนจึงมักจะใช้วิธีการสาธิต (Demonstration)   โดยการนำของจริงมาแสดงให้ดู การทดลองโดยให้ผู้เรียนได้เป็นผู้กระทำ  การใช้อุปกรณ์โสตทัศนศึกษา ในกรณีที่ไม่อาจนำของจริงมา ให้ดูหรือทดลองได้  และทัศนศึกษาซึ่งเป็นการศึกษานอกสถานที่เพื่อให้ผู้เรียนเห็นของจริงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงตามธรรมชาติ  การเรียนการสอนจึงเน้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์มากกว่าปรัชญาการศึกษาสาขาอื่น ๆ  บทบาทของครูจะต้องเป็นผู้สาธิตที่ดี   เป็นสื่อกลางระหว่างนักเรียนกับความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริง  ความสามารถของครูในการสาธิต   การอธิบายและการใช้อุปกรณ์การสอนมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างมาก

            ๔.  การปลูกฝังค่านิยมทางจริยธรรมและสุนทรียภาพ     ปรัชญาสาขาประจักษ์นิยมยึดแนวทางประพฤติปฏิบัติที่สังคมเป็นผู้กำหนดและวางเป็นกฎศีลธรรมเอาไว้เป็นหลัก  โดยที่กฎศีลธรรมเหล่านั้นจะต้องสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ ในการสอนศีลธรรมจึงเริ่มต้นการสอนด้วยวิธีนำผู้เรียนให้เกิดความเข้าใจสภาวะทางธรรมชาติ  เมื่อเข้าใจธรรมชาติแล้วก็เท่ากันำผู้เรียนเข้าไปสู่การปฏิบัติตนที่ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นกฎศีลธรรมนั่นเอง  ปรัชญาสาขาประจักษ์นิยมสนใจความงามของ ศิลปะที่มีรูปแบบและความมีระเบียบของธรรมชาติที่เป็นจริง  จึงมุ่งปลูกฝังค่านิยมทางสุนทรียภาพให้เรียนจากแบบอย่างความงามในธรรมชาติ  การสอนศีลปะจึงมุ่งให้ผู้เรียนสนใจคุณสมบัติด้านการ     ถ่ายทอดหรือจำลองแบบอย่างของความจริงตามธรรมชาติเป็นสำคัญ

 แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย