วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ระบบอวัยวะสืบพันธุ์

อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง

(Female sexual organs)

อวัยวะเพศ ก็เป็นอวัยวะของร่างกาย เหมือนกับตา ปากและอื่นๆ การที่เรารู้จักร่างกายของเราทุกส่วน จะทำให้เราสามารถสังเกตอาการผิดปกติได้ และเกิดประสิทธิภาพในการรักษา อวัยวะเพศหญิง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ อวัยวะเพศภายนอกและอวัยวะเพศภายใน

อวัยวะเพศภายนอก


อวัยวะสืบพันธ์ภายนอกของเพศหญิง

โยนี (Vulva)
เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกของผู้หญิง อยู่ระหว่างขาทั้งสองข้างและอยู่ด้านหน้าและใต้กระดูกหัวเหน่า โยนี (vulva) เป็นบริเวณที่ไวต่อการกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศของผู้หญิง ประกอบด้วยส่วนที่เห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษคือ เนินหัวเหน่า (mons) และแคมใหญ่ (major libs/ labia majora)

  • เนินอวัยวะเพศ เป็นส่วนผิวหน้าคลุมเนื้อนูนเนื้อหัวเหน่า บริเวณนี้ประกอบด้วยผิวหนังนูนเป็นเนินของชั้นไขมัน เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นจะมีขนเจริญงอกคลุมเนินนูนไว้ และอยู่บนกระดูกหัวเหน่า มีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม บริเวณเนินหัวเหน่านี้จะมีปลายประสาทมาเลี้ยงจำนวนมาก และผู้หญิงส่วนใหญ่พบว่าถ้าถูหรือลูบคลำบริเวณนี้จะกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ
  • แคมใหญ่ จะปิดปุ่มคลิตอริสไว้ และจะยาวไปถึงด้านหลังก่อนถึงทวารหนัก แคมใหญ่จะหนาและมีขนปกคลุมอยู่ด้านนอก ส่วนด้านในจะมีสีคล้ำ และเป็นลายๆ มีลักษณะเป็นลอนของผิวหนัง 2 ลอน ซึ่งยื่นจากบริเวณหัวเหน่า (mons pubis) ลงมาบริเวณระหว่างขาทั้งสองข้าง มีลักษณะค่อนข้างแบน ในหญิงบางคนจะมีลักษณะบางไม่ชัดเจน แต่ในหญิงบางคนจะนูนหนา ในช่วงวัยรุ่นผิวของแคมใหญ่จะค่อนข้างคล้ำ และมีขนขึ้นที่ผิวด้านนอก แคมใหญ่จะปกคลุมและปกป้องอวัยวะเพศที่ไวต่อการสัมผัสที่อยู่ข้างในของผู้หญิง ถ้าไม่ถ่างแคมใหญ่ให้แยกออกจากกันจะไม่สามารถมองเห็นได้ ดังนั้นการที่จะตรวจดูด้วยตนเองจึงต้องถ่างขาออกให้แคมใหญ่แยกจากกันและใช้กระจกส่องดูส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ภายใน จึงจะมองเห็นได้
  • แคมเล็ก จะเป็นส่วนที่เชื่อมติดกับปุ่มคลิตอริส แคมเล็กจะบางกว่าแคมใหญ่ สีสันจะแตกต่างกันออกไปตั้งแต่ชมพูอ่อนจนถึงสีน้ำตาลเข้ม บางคนอาจมีแคมใหญ่กว่าคนอื่น หรือบางคนอาจมีแคมเล็กห้อยออกมาใต้แคมใหญ่ก็ได้ ไม่มีขน มีลักษณะย่นและขอบไม่เท่ากัน ซึ่งจะทอดยาวขึ้นด้านบน กลายเป็นแผ่นคลุมปุ่มกระสัน หรือเม็ดละมุด (clitoris)
  • คลิตอริส หรือปุ่มกระสัน เทียบได้กับอวัยวะเพศชาย คือ องคชาต ประกอบด้วยเนื้อเยื่อที่แข็งตัวขยายและหดตัวได้เล็กน้อย อยู่เหนือรูเปิดของช่องปัสสาวะเล็กน้อย สามารถแข็งตัวได้เช่นเดียวกับองคชาต หรือเม็ดละมุด (Clitoris) เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะสืบพันธุ์ที่ไวต่อการกระตุ้นทางเพศมาก การกระตุ้นปุ่มกระสันที่เหมาะสมทำให้ผู้หญิงบรรลุจุดสุดยอดได้ ปุ่มกระสันจะสังเกตได้ชัด เพราะเป็นปุ่มที่ยื่นออกมาจากผิวหนังที่คลุมอยู่ตรงรอยต่อด้านบนของแคมเล็ก

    ส่วนประกอบภายนอกของปุ่มกระสันประกอบด้วย ยอดของปุ่มมีลักษณะกลมเป็นส่วนหัว (glans) ส่วนก้าน (shaft) ทอดตัวอยู่ด้านหลังและใต้หนังหุ้มปุ่มกระสัน เรียกว่า หนังหุ้มปุ่มกระสัน (prepuce) ส่วนหัว (glans) เป็นส่วนเดียวที่เป็นอิสระ แต่โดยปกติจะเคลื่อนไหวได้น้อยมาก ส่วนก้าน (shaft) จะติดอยู่กับร่างกายซ่อนอยู่ด้านใน

    ปุ่มกระสัน (clitoris) ประกอบด้วย เนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ (spongy tissue) จำนวน 2 แท่ง ปุ่มกระสันจะมีขนาดยาวกว่าหนึ่งนิ้วเพียงเล็กน้อย จะสามารถมองเห็นเพียงแค่ปลาย (glans) เท่านั้น แต่ถ้าแข็งตัวจะขยายใหญ่มากขึ้น ในช่วงเริ่มต้นของการกระตุ้น ใต้หนังหุ้มปุ่มกระสัน (prepuce of clitoris) จะมีต่อมเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ผลิตไขมันออกมาผสมกับสารคัดหลั่งตัวอื่น และเมื่อรวมตัวกันแล้วจะกลายเป็นสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สเม็กม่า (smegma) หรือขี้เปียก ถ้าสเม็กม่าสะสมรอบก้านของปุ่มกระสันมากๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ อันจะนำมาซึ่งความเจ็บปวด
  • ช่องคลอด มีความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว มีความยืดหยุ่นที่จะยืดตัวตามความกว้างและความยาวได้ มีลักษณะเป็นท่อของกล้ามเนื้อเรียบ เป็นส่วนที่สำคัญของผู้หญิงในการให้ความสุขทางเพศ และเป็นทางเดินของน้ำอสุจิในการร่วมเพศระหว่างหญิงกับชาย ผนังกล้ามเนื้อของช่องคลอด ซึ่งยืดหยุ่นได้และย่นหดเป็นลอนคลื่น กล้ามเนื้อรอบ ๆ ทางเปิดช่องคลอดมี 2 ชุด คือ กล้ามเนื้อหูรูดรอบช่องคลอด (sphincter vaginae) และกล้ามเนื้อยึดดึงทวารหนัก (levator ani) ผู้หญิงสามารถควบคุมกล้ามเนื้อเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง กล้ามเนื้อนี้สามารถหดตัวและผ่อนคลายได้เหมือน ๆ กับกล้ามเนื้อหูรูดรอบ ๆ ทวารหนัก กล้ามเนื้อเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองเมื่อถึงจุดสุดยอด อย่างไรก็ตามการหดตัวของกล้ามเนื้อรอบๆ ช่องคลอดนี้ ไม่สามารถจะยึดให้องคชาตติดอยู่ภายในช่องคลอด (penis captivus)ได้ ในระหว่างที่มีการกระตุ้นทางเพศในผู้หญิงนั้น สารหล่อลื่นจะถูกขับออกมาหล่อลื่นช่องคลอดตลอดแนวของช่องคลอด
  • เยื่อพรหมจรรย์ คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า เยื่อพรหมจรรย์เป็นเยื่อแผ่นบางๆ คล้ายกระดาษทิชชู ซึ่งฉีกขาดได้ง่าย เป็นสัญลักษณ์ของหญิงที่ไม่เคยร่วมเพศมาก่อน ที่จริงแล้วเยื่อพรหมจรรย์ไม่ใช่เยื่อบางๆ แต่เป็นขอบของเนื้อเยื่อที่มีลักษณะคล้ายวงแหวน เป็นขอบโดยรอบปากช่องคลอด อยู่ถัดจากปากช่องคลอดเข้ามาราว 1 ซม. ซึ่งจะฉีกขาดได้ง่ายจากการเล่นกีฬา หรือปั่นจักรยาน

อวัยวะเพศภายใน


อวัยวะสืบพันธุ์ภายในของเพศหญิง

มดลูก (Uterus)
มดลูกเป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อเป็นผนังหนา ซึ่งเป็นที่ฟูมฟักการเจริญเติบโตของทารกช่วงที่อยู่ในครรภ์ โดยปกติจะมีขนาดยาว 3 นิ้ว รูปร่างคล้ายลูกแพร์ หรือ ชมพู่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 –3 นิ้ว ที่บริเวณช่วงบนมีปากมดลูกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ระหว่างตั้งครรภ์มดลูกจะขยายใหญ่ออก มดลูกแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ตัวมดลูก (body) และปากมดลูก หรือคอมดลูก บริเวณรอยต่อของทั้งสองส่วนคือ อิสธ์มัส (isthmus) ปากมดลูกจะไม่ไวต่อผิวสัมผัส แต่จะไวต่อการกดบริเวณปากมดลูกจะมีช่องเปิดเรียกว่า ช่องปากมดลูก (os) ภายในโพรงมดลูกจะกว้างแตกต่างกันในแต่ละส่วน ผนังมดลูกมี 3 ชั้น ชั้นนอกมีลักษณะบาง เรียกว่า เพอริมีเทรียม (perimetrium) ส่วนกลางเป็นกล้ามเนื้อที่หนา เรียกว่า มัยโอมีเทรียม (myometrium) และชั้นในมีเส้นเลือดและต่อมอยู่มากมาย เรียกว่า เอ็นโดมีเทรียม (endometrium) ผนังมดลูกชั้นในนี้เป็นส่วนสำคัญในการมีประจำเดือนและการเจริญเติบโตของตัวอ่อน (embryo)

รังไข่และท่อนำไข่ (Ovaries and fallopian tube)
รังไข่ มีอยู่ 2 ข้างทางปีกซ้ายและขวาของท่อรังไข่ ทำหน้าที่สร้างไข่ และผลิตฮอร์โมนเพศหญิง 2 ชนิด คือ เอสโตรเจน (estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (progesterone) ในแต่ละเดือน รังไข่จะสร้างไข่สลับกันซ้าย-ขวา ไข่ที่สร้างขึ้นจะสุกงอมและเกิดการตกไข่ในแต่ละเดือน หากไข่ไม่ได้รับการผสมกับตัวอสุจิ ก็จะสลายตัวพร้อมกับการหลุดลอกของผนังมดลูก กลายเป็นประจำเดือน

ในผู้หญิงที่โตเต็มวัย บริเวณผิวของรังไข่จะมีลักษณะเป็นหลุมขรุขระไม่เรียบ เนื่องจากมีไข่อยู่ภายในรังไข่ ภายในรังไข่จะมีฟอลลิเคิลหลายระยะตั้งแต่ระยะไข่อ่อนจนเป็นไข่สุก รังไข่แยกได้เป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นเนื้อกลาง (central medulla) และชั้นนอก (cortex) ส่วนที่พาดระหว่าง รังไข่ไปต่อกับส่วนบนของมดลูกนั้น คือ ท่อปีกมดลูก (follopian tubes) ปลายสุดของปีกมดลูกด้านที่ติดกับรังไข่จะมีลักษณะคล้ายมือ เรียกว่า ฟิมเบรีย (fimbriae) ซึ่งจะไม่ติดกับรังไข่ แต่จะอยู่รอบ รังไข่ ส่วนของท่อนำไข่ที่อยู่ติดกับฟิมเบรียนั้น เรียกว่า อินฟันดิบูลัม (infundibulum) เป็นส่วนที่หนาที่สุดของท่อนำไข่ ภายในท่อนำไข่จะเป็นรูแคบ ๆ ตลอดแนวของท่อนำไข่ ภายในจะคลุมด้วยขนอ่อน ๆ เล็ก ๆ เรียกว่า ซีเลีย (cilia) การเคลื่อนไหวของซีเลียจะทำให้ไข่เคลื่อนไหวไปตามท่อนำไข่ไปสู่มดลูก ถ้ามีการผสมของไข่กับสเปอร์มก็จะเกิดขึ้นภายในท่อนำไข่นี้และซีเลีย(ขนเล็กๆ) ก็จะเคลื่อนไหวทำให้ไข่ที่ถูกผสมแล้วเข้าไปฝังตัวในมดลูก และเจริญเติบโตเป็นทารกในครรภ์ หรือฟีตัส (fetus) ต่อไป

เต้านม (Female breasts)
เต้านมของผู้หญิงไม่ใช่อวัยวะเพศ แต่มีความหมายทางเพศ คนจำนวนมากเห็นว่าเต้านมของผู้หญิงเป็นจุดที่กระตุ้นความต้องการทางเพศ และผู้หญิงจำนวนมากพบว่าการกระตุ้นเต้านมโดยเฉพาะบริเวณหัวนม (nipple) ทำให้เกิดความต้องการทางเพศ เต้านมจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นทางเพศหรือไม่ มากน้อยเพียงใดนั้น จะแตกต่างไปในแต่ละบุคคล และความไวของการกระตุ้นทางเพศก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้หญิงคนนั้นอยู่ในระยะของการมีประจำเดือนระยะใด


ส่วนประกอบของเต้านม

เต้านมแต่ละข้างนั้นประกอบด้วยต่อมน้ำนมประมาณ 15-20 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีท่อน้ำนมไปสู่หัวนม และมีเนื้อเยื่อไขมันอยู่ใต้ผิวหนัง ส่วนรอบ ๆ หัวนมจะมีผิวคล้ำรอบ ๆ ซึ่งเรียกว่า

อรีโอล่า (areola)

ขณะตั้งครรภ์เต้านมจะปรับตัวและเตรียมตัวเพื่อผลิตน้ำนมเลี้ยงทารก และภายใน 2-3 วัน หลังจากคลอดบุตรแล้ว เต้านมจะเริ่มผลิตน้ำนม โดยฮอร์โมนจากต่อมพิทุอิทารี่ (pituitary gland) คือ โปรแลคติน (prolactin) จะไปกระตุ้นการผลิตน้ำนม เมื่อทารกดูดหัวนมจะทำให้ต่อม พิทุอิทารี่ ถูกกระตุ้นและหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน (oxytocin) ออกมาเพื่อกระตุ้นให้น้ำนมไหลออกมา โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงส่วนใหญ่จะกังวลกับขนาด และรูปร่างของเต้านมวัฒนธรรมของเรา มักจะคิดว่าเต้านมใหญ่ทำให้ดูเซ็กซี่ (sexy) เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการ และมีการโฆษณาที่เสนอให้บริการที่ทำให้หน้าอก หรือ เต้านมใหญ่ขึ้นอยู่จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ขนาดและรูปร่างของเต้านมที่เหมาะสมกับโครงสร้างของร่างกายเป็นสำคัญ เต้านมที่ใหญ่อาจจะสร้างความอึดอัดรำคาญ หรือดูไม่สวยสำหรับผู้หญิงบางคน เต้านมเล็กอาจจะดูดี และไวต่อการกระตุ้นทางเพศมากกว่า เนื่องจากปลายประสาทที่มาเลี้ยงไม่ได้กระจัดกระจายมากเกินไป

วงจรของการมีประจำเดือน (Menstrual cycle)

ช่วงระยะเวลาระหว่างการมีประจำเดือนครั้งแรก (menache) และการหมดประจำเดือน (menopause) เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของร่างกายผู้หญิง ในระหว่างนั้นร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงมีรอบเดือนเกิดขึ้น และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจและฮอร์โมน ระดู หรือ รอบประจำเดือนเกี่ยวข้องกับการผลิตไข่และการเตรียมตัวของมดลูกเพื่อรองรับการตั้งครรภ์

ผู้หญิงมีประจำเดือนครั้งแรกในช่วงอายุประมาณ 9 –16 ปี ซึ่งในแต่ละคนอาจจะมีประจำเดือนครั้งแรกช้าหรือเร็วต่างกัน แต่ถ้าอยู่ในช่วงดังกล่าวก็ถือว่าปกติ ในขณะที่ช่วงวัยหมดประจำเดือนอยู่ระหว่าง 40-45 หรือ 55 ปี (Clay, 1977) แม้ว่าผู้หญิงจะมีระยะเวลาการตกไข่หลายปีก็ตาม แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ช่วงเวลาที่ควรจะมีลูกนั้น ไม่ควรเกินอายุ 35 ปี เพราะจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทางกาย และลูกที่เกิดมาอาจมีภาวะบกพร่องทางปัญญา หรือทางร่างกายได้

ระดู หรือ ประจำเดือนในแต่ละรอบจะใช้เวลาโดยปกติประมาณ 28 วัน แต่ในวัยรุ่นระยะเวลาอาจไม่สม่ำเสมอ บางคนอาจจะมีช่วงยาวถึง 31วันก็ได้

  • ระยะเตรียมก่อนไข่ตก (Preovulation preparation or folicular phase)
    ในระยะแรกของการมีประจำเดือนจะมีสิ่งสำคัญ 2 อย่างเกิดขึ้น คือ มีการเจริญเติบโตของไข่รอบละหนึ่งใบ และมีการเตรียมผนังมดลูกเพื่อพร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อนในกรณีที่ไข่ได้รับการผสม การเจริญเติบโตนี้เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมน Folicle-stimulating hormone (FSH) จากต่อมใต้สมองพิทุอิทารี เข้าสู่กระแสเลือด ฮอร์โมน FSH มีผลทำให้ไข่สุกและกระตุ้นให้รังไข่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อมดลูก โดยกระตุ้นให้ผนังชั้นในสุดของ มดลูก (endometrium) ค่อยๆหนาตัวขึ้นและมีการขยายตัวของต่อมเล็กๆและเส้นเลือด ฮอร์โมน เอสโตรเจนจะมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับไปที่ต่อมใต้สมองพิทุอิทารี ถ้าระดับของเอสโตรเจนในเลือดเพิ่มขึ้น การผลิตฮอร์โมน FSH ก็จะลดลง
  • ระยะตกไข่ (Ovulation)
    เมื่อความเข้มข้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น สมองส่วนไฮโปธาลามัสจะหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้มีการตกไข่ คือ Lutenizing hormone (LH) จากต่อมพิทุอิทารี ทำให้ไข่ที่สุกเต็มที่แล้วหลุดออกมาจากรังไข่ เรียกว่า การตกไข่ (ovulation) หลังจากไข่หลุดออกมาจากรังไข่แล้ว บริเวณที่ไข่หลุดออกมาจะประกอบด้วยเซลล์เล็ก ๆ จำนวนมาก เรียกว่า คอปัส ลูเทียม (corpus luteum) ซึ่งจะกลายเป็นต่อมเล็ก ๆ ทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมน
  • ระยะการหลั่งฮอร์โมนหลังตกไข่ (Luteal secretion)
    เมื่อถูกกระตุ้นจากฮอร์โมน LH แล้ว คอปัส ลูเทียมจะเริ่มหลั่งฮอร์โมนที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ โปรเจสเตอโรน (progesterone) ออกมาร่วมกับเอสโตรเจน (estrogen) ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะกระตุ้นให้ผนังมดลูกหนาตัวขึ้น เพื่อให้อาหารไปเลี้ยงตัวอ่อน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะส่งผลสะท้อนกลับไปที่ไฮโปธาลามัสให้ยับยั้งการผลิตฮอร์โมน GnRH อันจะมีผลทำให้ปริมาณของ FSH และ LH ลดลง
  • ระยะการมีประจำเดือน (Menstruation)
    ถ้าไข่ไม่ถูกผสมกับอสุจิ คอปัส ลูเทียม (corpus luteum) จะฝ่อและหยุดการผลิตฮอร์โมน โปรเจสเตอโรน และระดับของเอสโตรเจนในกระแสเลือดจะลดต่ำลง ทำให้ผนังมดลูกด้านในที่หนาขึ้นจะหลุดลอกซึ่งมีทั้งเซลล์เนื้อเยื่อ ของเหลว และเลือด จะไหลออกมาทางช่องคลอดประมาณ 3 –7 วัน ซึ่งเรียกว่า ประจำเดือน หรือ ระดู ในช่วงนี้ระดับของ เอสโตรเจนจะยังคงลดลงเรื่อย ๆ และต่ำมากพอที่ต่อมพิทุอิทารี จะผลิต FSH และรอบของการมีประจำเดือนก็จะเริ่มต้น ขึ้นใหม่

อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง (Female sexual organs)
อวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย (Male sexual organs)
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย