ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในอดีต และปัจจุบัน

เมื่อเราตรวจสอบประวัติอันยาวนาน และรุ่งเรืองของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า เราจะพบชื่อของสองบุคคลที่ปรากฏเด่นชัด คือนักบุญมาร์กาเร็ต มารีย์ อาลาก๊อก และพระสงฆ์วิญญาณารักษ์ของเธอ คือนักบุญโคลด ลา โกลอมบีแอร์ ซึ่งสมควรแล้วที่เป็นเช่นนั้น เพราะทั้งสองท่านนี้เป็นธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่แห่งพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ที่ทุ่มเททำงานเพื่อเผยแพร่ และทำให้ความศรัทธานี้เป็นที่นิยม

แต่การแสดงความเคารพต่อพระหฤทัยของพระผู้ไถ่นี้มีอายุยืนยาวเท่ากับคริสตศาสนาทีเดียว นับตั้งแต่วันที่หอกของทหารได้แทงทะลุสีข้างของพระคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขนบนเนินเขากัลวารีโอเมื่อสองพันปีก่อน คริสตศาสนิกชนได้ปฏิบัติตามตัวอย่างของยอห์น ศิษย์รักของพระองค์ คือ “มองพระองค์ผู้ทรงถูกแทงด้วยหอก”มาโดยตลอด นับจากช่วงเวลานั้นและระหว่างการเดินทางของเราจากเนินเขากัลวารีโอผ่านเวลาสองสหัสวรรษนี้ เราได้พบเห็นการอ้างถึงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้ามาตลอดทั้งโดยทางตรง และทางอ้อม บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร และนักปราชญ์ในศตวรรษแรกๆ ของคริสตศาสนา รวมทั้งผู้เพ่งฌานในต้นยุคกลาง ล้วนแสดงความเชื่อมั่นว่า พระเจ้าทรงมีหัวใจ เป็นหัวใจที่มีเลือดเนื้อ มีอารมณ์ และความรู้สึก เป็นหัวใจมนุษย์อย่างแท้จริง นั่นคือ พระหฤทัยของพระคริสตเจ้า

 

ดังนั้น เราจึงประหลาดใจว่าเหตุใดนักประพันธ์ที่มีความสามารถ เช่นคุณพ่อ ฌอง แบงเวล จึงยืนยันว่า “ไม่เคยพบหลักฐานที่แน่ชัดแม้เพียงชิ้นเดียวที่แสดงว่า ระหว่างสิบหรือสิบเอ็ดศตวรรษแรกของคริสตศาสนา มีการใช้หัวใจเป็นสัญลักษณ์อย่างเหมาะสมคู่ควรกับพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า หรือมีการตีความว่าบาดแผลที่สีข้างนั้นเป็นสัญลักษณ์ของบาดแผลแห่งความรัก” ตรงกันข้าม ประวัติศาสตร์ค้านคำพูดนี้ แต่ก็ไม่ได้ลดคุณค่าผลงานชิ้นเยี่ยมของคุณพ่อ แบงเวล คือ “ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์” ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “หนึ่งในผลงานที่ดีที่สุด ที่อธิบายความศรัทธานี้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์”

 

บัดนี้ เมื่อเราตรวจสอบประวัติศาสตร์ต่อไป เราจะพบนักบุญอัมโบรส ในช่วงปลายศตวรรษที่4 ผู้สรรเสริญบาดแผลที่สีข้างของพระเยซูเจ้า และแสดงความเคารพศรัทธา เพราะพระโลหิต และน้ำได้หลั่งไหลออกมาจากบาดแผลนี้ เพื่อชะล้างคราบของบาป และไถ่กู้เรา นักบุญออกัสติน ซึ่งเป็นคนรุ่นต่อมา ได้บรรยายถึงบาดแผลที่สีข้างนี้ว่าเป็น “ประตูแห่งชีวิต” และเรียกร้องสัตบุรุษให้สลัดความกลัวทั้งหมดทิ้งไป และเข้ามาหา “บัลลังก์แห่งพระหรรษทาน” ด้วยความรัก ยอห์น ครีซอสตอม ซึ่งเป็นนักพูดผู้ยิ่งใหญ่ ประกาศว่า ลองจีนัสได้เปิดทางเข้าสู่พระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ซึ่งเป็นที่เก็บ “ขุมทรัพย์ และความมั่งคั่งอันแวววาว” นักบุญปีเตอร์ ครีโซโลกอส มองเห็นแสงส่องออกมาจากบาดแผลที่นักบุญโทมัส อัครสาวก ต้องการจะใช้มือคลำ เพื่อค้ำจุนความเชื่อที่ไม่มั่นคงของท่าน

 

ก่อนหน้านั้น ในปีที่177 เมื่อเกิดการเบียดเบียนข่มเหงคริสตชนในแคว้นลีอองส์ (ฝรั่งเศส) ที่ห่างไกล กล่าวกันว่าสังฆานุกร (deacon) ซางตุส และพรหมจารีที่ร่วมรับชะตากรรม ชื่อ แบลนดีน่า ได้รับพละกำลัง และความสดชื่น “จากพระหฤทัยที่เปิดกว้างของพระคริสตเจ้า” พระสังฆราช เปาลีนัส แห่งโนลา ได้กล่าวถึงพระหฤทัยของพระคริสตเจ้าไว้ว่า “ยอห์น ผู้มีบุญ ซึ่งได้พิงที่ทรวงอกของพระเจ้า เป็นผู้เข้าใจความหมายอันลึกซึ้งจากพระหฤทัยแห่งความรักอันสร้างสรรค์ทั้งมวล”

 

อาจเป็นความจริงที่ความนิยมนี้ขาดตอนลงอย่างฉับพลัน  เพราะแม้ว่าพระศาสนจักรจะไม่ขาดแคลนครู และนักปราชญ์ เช่นพระสันตะปาปา เกรโกรี่ และเลโอ ผู้ยิ่งใหญ่ แต่บุคคลเหล่านี้สาละวนอยู่กับการบริหารพระศาสนจักร แต่ผู้รู้ทั้งหลายมีความเห็นตรงกันว่า ช่วงศตวรรษที่ 11 ถึง 14คือยุคที่นำความคิด และจิตใจของชาวคาทอลิกมารู้จักกับพระหฤทัยของพระคริสตเจ้า ชายหญิงเหล่านี้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงไม่เพียงในยุคของเขา แต่ในศตวรรษต่อ ๆ มาด้วย

 

นักบุญอังแซล์ม (มรณะ 1109) อัครสังฆราชแห่งแคนเตอร์เบอรี่ ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Meditation (การรำพึงภาวนา) ของท่านว่า “สีข้างที่ถูกแทงของพระคริสตเจ้า เป็นบาดแผลที่ช่วยให้เราได้เห็นขุมทรัพย์แห่งคุณความดีของพระองค์ คือความรักในพระหฤทัยของพระองค์ที่ทรงมีต่อเรา” ขณะที่อังแซล์ม เน้นที่การคาดเดา สมกับฉายา “บิดาแห่งเทววิทยาแห่งภูมิปัญญา” แบร์นาร์ด แห่งแคลร์โวซ์ ผู้มีฉายาว่า “ปราชญ์แห่งคำหวาน” กลับแสดงความรู้สึกรักอย่างชัดเจน หัวใจของเขาผูกพันกับพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าอย่างเห็นได้ชัด “ข้าพเจ้าได้ค้นพบพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นพระราชา และพี่ชายของข้าพเจ้า และมิตรรักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะปรารถนาอะไรมากไปกว่านี้ในสวรรค์ หรือข้าพเจ้าจะแสวงหาอะไรมากไปกว่านี้บนแผ่นดินโลก? … การพำนักภายในพระหฤทัยนั้นช่างประเสริฐ และน่ายินดียิ่งนัก!”

 

แม้ว่า “ปราชญ์เทวดา” หรือโทมัส อากวีนัส ได้เอ่ยถึงบาดแผลที่สีข้างของพระคริสตเจ้าโดยทางอ้อม ท่านได้แสดงความคิดเห็นอันลึกซึ้งข้อหนึ่งเมื่อท่านเขียนว่า “ผู้นิพนธ์พระวรสารจงใจใช้คำว่า ‘ถูกเปิดออก (opened)’ ไม่ใช่ ‘ทำให้เกิดบาดแผล (wounded)’ เพราะสีข้างนั้นคือประตูชีวิตที่เปิดออกเพื่อต้อนรับเรา นี่คือประตูที่ด้านข้างของเรือ (โนอาห์)ซึ่งเป็นช่องทางให้สิ่งมีชีวิตทั้งปวงผ่านเข้าไปเพื่อจะรอดชีวิตจากน้ำท่วมโลก”

 

นักบุญอัลเบิร์ต ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นอาจารย์ของนักบุญโทมัส อากวีนัส และเป็น “ปราชญ์แห่งสากลโลก” กล่าวไว้ชัดเจนกว่าว่า “พระเยซูเจ้าทรงปรารถนาให้พระโลหิตล้ำค่าของพระองค์หลั่งไหลออกมาจากบาดแผลในพระหฤทัยของพระองค์ เพื่อให้ชีวิตแก่บรรดาอัครสาวก และจุดพวกเขาให้ลุกเป็นไฟด้วยความรักของพระองค์”

 

ในช่วงเวลานี้ ความศรัทธาต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าได้ลดความสำคัญลง และเกิดความศรัทธาต่อบาดแผลทั้งห้าของพระองค์ขึ้นมาแทน ซึ่งอาจเกิดจากความพยายามเผยแพร่ของคณะฟรังซิสกัน ซึ่งผู้ก่อตั้งคณะ คือนักบุญฟรังซิส แห่งอัสซีซี ได้รับรอยแผลทั้งห้าจากพระเยซูเจ้า เมื่อพระองค์ทรงโอบกอดนักบุญฟรังซิส จากกางเขนของพระองค์

 

ในอีกด้านหนึ่ง คณะดอมินิกัน ก็ขยายงานแพร่ธรรมโดยรับเอาแรงบันดาลใจมาจากพระหฤทัยของพระคริสตเจ้า และเทศน์สอนให้แก่คนทั่วไป รวมทั้งเผยแพร่ความศรัทธานี้ผ่านผลงานประพันธ์ของคณะ ตัวแทนคณะที่ทำหน้าที่นี้อย่างแข็งขันที่สุดคือ โยฮัน ทอเลอร์ (มรณะ 1361) และนักเพ่งฌาน ชื่อ แคเธอรีน แห่งซีเอนน่า นักปราชญ์ผู้นี้อ้างถึงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ไว้มากมายในงานประพันธ์ของเขา เขาเขียนอย่างไม่ลังเลใจเลยว่า “จงนำตัวตนทั้งหมดของท่าน เข้าไปหลบภัยภายในพระหฤทัยอันอ่อนหวานนั้นเถิด พระองค์ทรงเปิดพระหฤทัยนั้นออกต้อนรับลูกของพระองค์ ผู้พร้อมจะถวายหัวใจของเขาแก่พระองค์ ในที่นั้น พระองค์จะทรงโอบกอดเขาด้วยแขนอันอ่อนโยนแห่งความรักของพระองค์ และในที่นั้น เขาจะได้ครอบครองพระองค์ตลอดไป ในที่นั้น เราต้องค้นพบวิธีปลงใจยอมรับทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งในความรัก และความทุกข์ยาก ในความมั่งมี และยากจน ในตัวเราเอง และในสิ่งสร้างทั้งมวล ดังที่พระเจ้าทรงปรารถนา และนั่นจะทำให้พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์พอพระทัย” คนอื่น ๆ เช่น เอ็กคาร์ท และเฮนรี่ ซูโซ ได้สืบทอดธรรมเนียมนี้ และไม่จำเป็นต้องกล่าวเลยว่าคนเหล่านี้ก็เป็นผู้เพ่งฌานในพระศาสนจักร

 

ลักษณะพิเศษของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในประวัติศาสตร์ คือบทบาทของบรรดาสตรี สตรีคนหนึ่งที่แสดงบทบาทอย่างเด่นชัดคือแคเธอรีน แห่งซีเอน่า การแลกเปลี่ยนหัวใจระหว่างแคเธอรีน และพระเยซูเจ้า เป็นเรื่องที่นิยมเล่าขานกันโดยเฉพาะในยุคกลาง เราได้รับทราบเรื่องนี้จากตัวแคเธอรีนเอง ครั้งหนึ่งเธออาจหาญถามพระเยซูเจ้าว่า เหตุใดพระองค์จึงทรงยินยอมให้พระหฤทัยของพระองค์ถูกเปิดออกบนไม้กางเขน พระองค์ทรงตอบว่า “เราต้องการให้มนุษย์ค้นพบความลับแห่งดวงใจของเรา เพื่อเขาจะรู้ได้ว่าความรักของเรายิ่งใหญ่กว่าเครื่องหมายภายนอกที่เราใช้แสดงความรักของเรา เพราะความเจ็บปวดของเรายังมีวันสิ้นสุด แต่ความรักที่เรามีต่อมนุษย์ปราศจากขอบเขต!”

 

ยังมีอีกสองบุคคลที่เด่นชัด คือนักบุญเม็กทิลด์ และเกอร์ทรูด เม็กทิลด์ ผู้ชราได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองเฮลฟ์ตา ในแคว้นแซกซันนี ซึ่งในขณะนั้นเกอร์ทรูดได้ดำเนินชีวิตในฐานะนักบวชเต็มตัวในคณะเบเนดิกตินที่นั่นแล้ว  อาจกล่าวได้ว่าสตรีสองคนนี้เป็นผู้เบิกทางให้มากาเร็ต มารีย์ อาลาก๊อก พระเยซูเจ้าทรงประจักษ์แก่มากาเร็ต มารีย์ และทรงโปรดให้เธอมองเห็นพระหฤทัยของพระองค์ พระองค์ทรงชี้ว่านี่คือเครื่องหมายแห่งความรักของพระองค์ ซึ่งถูกปฏิเสธ และได้รับบาดแผลลึก ในเพลงรักฝ่ายจิต (Spiritual Love Songs)ของเธอ เม็กทิลด์ขับร้องถึงพระหฤทัยอันอ่อนโยนของพระผู้ถูกตรึงกางเขน ซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยความรัก ถูกแทงด้วยหอก และร้องเรียกอย่างนุ่มนวลให้คนหลงผิดกลับใจ เห็นได้ชัดว่าการเผยแสดงต่อเม็กทิลด์ เน้นที่พระหฤทัยมากเท่ากับตัวของพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นผู้ให้

 

หากว่าเม็กทิลด์ ใกล้ชิดกับพระหฤทัยของคู่วิญญาณของเธอมาก การสนทนาระหว่างพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์กับ“นักบุญแห่งความเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้า” ยิ่งใกล้ชิดมากกว่า ในประวัติศาสตร์ยุคกลาง ไม่มีบุคคลใดที่ใกล้ชิดกับพระหฤทัยของพระ คริสตเจ้ามากเท่านี้ ในหนังสือ Spiritual Exercise (กิจศรัทธาฝ่ายจิต) ที่เกอร์ทรูด เขียนขึ้น เธอแสดงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เธอร่ำร้องว่า “โอ้ พระเยซูผู้ทรงเป็นที่รักของข้าพเจ้า โปรดทรงซ่อนข้าพเจ้าไว้ในบาดแผลในพระหฤทัยที่เปี่ยมด้วยความรักมากที่สุดของพระองค์ โปรดทรงซ่อนข้าพเจ้าไว้จากทุกสิ่งที่ไม่ใช่พระองค์ โปรดทรงอวยพร และแสดงพระเมตตาต่อข้าพเจ้า ตามที่พระหฤทัยอันอ่อนโยนเสมอของพระองค์พอพระทัย ข้าพเจ้าขอถวายตัวเป็นยัญบูชาเพื่อจะมีชีวิตนับจากนี้ไปเพื่อพระองค์ผู้เดียว โปรดทรงหล่อหลอมหัวใจของข้าพเจ้าให้เหมือนพระหฤทัยของพระองค์ เพื่อให้ข้าพเจ้าก้าวหน้าตามวิถีทางที่พระองค์ทรงปรารถนาตลอดไป” บทประพันธ์ของนักบุญเกอร์ทรูด เน้นที่พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ซึ่งรุ่งโรจน์อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ พระหฤทัยนี้คือ “คลังสมบัติ และเตาไฟแห่งความรักของพระองค์” และ ”ต้นธารของพระหรรษทานทั้งปวง”ซึ่งเป็นเสมือนเสียงของบทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งแม้จะยังอยู่ห่างไกล แต่กำลังเคลื่อนใกล้เข้ามา

 

นอกจากนี้ ยังมีนักเพ่งฌานคณะซิสเตอร์เซียน ชื่อลุทการ์ด ซึ่งไม่เคยบันทึกอะไรเลยแม้แต่บรรทัดเดียว เธอได้รับพระพรพิเศษให้มองทะลุวิญญาณผู้อื่นได้ ระหว่างที่เธอได้รับนิมิตครั้งหนึ่ง ลุทการ์ด ได้รับบัญชาอย่างหนึ่งจากพระคริสตเจ้า ซึ่งจะทำให้ชีวิตของเธอเป็นช่วงเวลาแห่งการทนทุกข์ทรมานอย่างสมัครใจเพื่อใช้โทษบาป เมื่อพระคริสตเจ้าทรงประจักษ์แก่เธอครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงถามว่าเธอปรารถนาพระพรใดมากที่สุด ลุทการ์ด ตอบว่า “ข้าพเจ้าอยากได้พระหฤทัยของพระองค์” จากนั้นเธอก็ได้รับประสบการณ์ทางฌานในการ “แลกเปลี่ยนหัวใจ”เนื่องจากพระเจ้าได้ประทานอำนาจในการรักษาคนป่วยแก่เธอ และมีคนป่วยจำนวนมากมาหาเธอ ลุทการ์ดจึงมีเวลาเพ่งพิศภาวนาน้อยมาก แต่การภาวนาของเธอเป็นแบบเข้มข้น

 

บุคคลทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ คือผู้ริเริ่มความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า ทั้งในประวัติศาสตร์ของความศรัทธา และคำแถลงของพระศาสนจักร ไม่มีใครสรุปว่าความศรัทธานี้เริ่มต้นขึ้นที่ปาเรย์ (Paray)

 

ศตวรรษที่ 16 เป็นยุคของความคิดนอกรีต และความแตกแยกทางศาสนา ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่ายุคปฏิรูป โดยมีมาร์ติน ลูเธอร์เป็นต้นเหตุสำคัญ แต่น่าแปลกที่ความศรัทธาต่อพระหฤทัยนี้ยังก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่คนจำนวนมากกำลังคลั่งไคล้กับระเบียบใหม่ทางโลก ที่มีกิจกรรมมากมายด้านการเมือง การศึกษา และสติปัญญาอยู่นั้น พระญาณสอดส่องของพระเจ้าก็กำลังเตรียมพระศาสนจักรให้พร้อมสำหรับศตวรรษที่ 17ที่กำลังย่างเข้ามา โดยมีแนวโน้มที่จะจัดระเบียบ และมีการยอมรับมากขึ้นว่าความศรัทธานี้เป็นลักษณะเฉพาะตัวของชีวิตคาทอลิก และด้วยวิธีนี้ ความศรัทธานี้จึงเปลี่ยนจากความสนิทสัมพันธ์ และประสบการณ์ทางฌานในวงแคบ กลายเป็นอาณาจักรแห่งการบำเพ็ญพรตแบบคาทอลิกในวงกว้าง

 

วิธีการแสดงออกอย่างหนึ่งคือ วันฉลองหอกศักดิ์สิทธิ์ (Holy Lance) ซึ่งในบทภาวนาสำหรับการฉลองนี้เอ่ยถึงพระหฤทัยของพระผู้ไถ่บ่อยครั้ง ความคิดเกี่ยวกับบาดแผลในพระหฤทัยสร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้ที่ร่วมพิธีฉลองประจำปีเสมอ ในขณะเดียวกันพระสงฆ์จะเทศน์สอนว่าพระหฤทัยของพระผู้ไถ่ควรเป็นศูนย์กลางชีวิตจิตของคนทั่วไป ในยุคเดียวกันนี้ในประเทศอังกฤษ เริ่มมีภาพลักษณ์ของพระหฤทัยที่มีกางเขนปักอยู่ด้านบน ปรากฏให้เห็นตามขอบของหน้าหนังสือ ซึ่งเป็นภาพที่จำลองมาจากภาพแกะสลักที่มรณสักขีชาวอังกฤษสลักทิ้งไว้บนกำแพงหอคอยแห่งลอนดอน บทเทศน์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ก็เอ่ยถึงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน ในหนังสือ Prayers and Meditations on the Life of Christ (บทภาวนา และบทรำพึงถึงชีวิตของพระคริสตเจ้า) ซึ่งถือกันว่าเป็นบทประพันธ์ของ โทมัส อา เคมพิส (ผู้ประพันธ์หนังสือ “จำลองแบบพระคริสต์”) ก็มีข้อความอันไพเราะที่กล่าวต่อวิญญาณที่ศรัทธาว่า “ดังนั้น วิญญาณศรัทธาเอ๋ย จงก้าวเข้ามาสู่พระหฤทัยอันน่าบูชานี้เถิด จงเข้าไปในพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ พระหฤทัยอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ซึ่งเปิดประตูต้อนรับเจ้าผ่านบาดแผลที่เกิดจากหอก” นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น

เจ้าอาวาส ไตรธีมัส แห่งวิหารวูซเบิร์ก ในสก๊อตแลนด์ เป็นผู้ริเริ่มที่สำคัญอีกคนหนึ่ง ในการปฏิรูปคณะของเขา เจ้าอาวาสผู้ศักดิ์สิทธิ์ ได้เขียนคำแนะนำวิธีปฏิบัติจำนวนมาก โดยใช้ภาษา และลีลาการเขียนที่งดงาม เพื่อแนะแนวทางให้พระสงฆ์ที่กำลังเตรียมตัวถวายบูชามิสซา คำแนะนำเหล่านี้มีศูนย์กลางอยู่ที่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์เสมอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก พระสงฆ์เยสุอิต ชื่อชานเดิลรี่ ในต้นศตวรรษนี้ ก็จัดทำรายชื่อนักประพันธ์ 110 คน ระหว่างปี ค.ศ. 1072 ถึง ค.ศ. 1680 ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ชื่อของเทเรซา แห่งอาวิลา (มรณะ ค.ศ. 1582) และโทมัส วิลยาโนวา (มรณะ ค.ศ. 1555) ปรากฏอยู่ในรายชื่อนี้ด้วย

เนื่องจากคณะเยสุอิต ถูกก่อตั้งขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1539-1540 ทั้งผู้ก่อตั้งและสมาชิกจึงต้องรู้เรื่องความศรัทธานี้ในตอนต้นศตวรรษที่ 16อย่างแน่นอน ในยุคของเรา คริสตโตเฟอร์ ฮอลลิส ชี้ว่าเคล็ดลับของ อิกญาซีโอ แห่งโลโยลา คือเขาเป็นผู้ที่รักการศึกษาประวัติศาสตร์มากที่สุดคนหนึ่ง บางทีเขาอาจเพียงกำลังย้ำสิ่งที่มารีย์ มักดาเลนา แห่งปัสซี เคยกล่าวเป็นนัย เมื่อเธอบอกว่า อิกญาซิโอ มีจิตตารมณ์เดียวกันกับอัครสาวกยอห์น ผู้เป็นศิษย์รักของพระเยซูเจ้า ทั้งสองคนนี้มีจิตตารมณ์แห่งความรัก ดังนั้น จึงมีเหตุผลสมควรที่จะถือว่านักบุญผู้ต่อต้านการปฏิรูปผู้นี้ เป็นบุคคลที่พระคริสตเจ้าทรงโปรดปราน ดูเหมือนว่านักบวชเยสุอิต คือโคลด แบร์นิเอร์ และแบร์นาร์ด เดอ โฮโยส จะได้รับการเผยแสดงว่า พระคริสตเจ้าทรงใส่พระหฤทัยของพระองค์ไว้ในทรวงอกของอิกญาซีโอ และคณะเยสุอิต ได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า

 

บุคคลตัวอย่างที่มีความคิด และจิตตารมณ์สมกับเป็นนักบวชคณะเยสุอิต คือธรรมทูตคนที่สองแห่งเยอรมนี ชื่อปีเตอร์ คานิซีอุส (มรณะ ค.ศ. 1597) ซึ่งได้รับสมญาว่า “ฆ้อนของพวกเฮเรติก” ในสมัยของเขา และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักรในสมัยของเรา คานิซีอุสช่วยให้เราเข้าใจความศรัทธาต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้ามากขึ้น เขาได้เล่าไว้ใน Memoriale (บันทึกความทรงจำ) ของเขา ถึงวันที่เขาปฏิญาณตัวอย่างสง่า ว่าขณะที่เขาคุกเข่าอยู่แทบเท้าของอิกญาซีโอ ในมหาวิหารของวาติกัน เขาตกตะลึงกับการเข้าใจอย่างลึกซึ้งในบาป และความยากไร้ของตนเอง และในเวลานั้นเอง ที่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ได้ชดเชยสิ่งที่เขาขาด “เมื่อนั้น พระองค์ได้ทรงเปิดพระหฤทัยแห่งพระกายอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์แก่ข้าพเจ้า และดูเหมือนว่าข้าพเจ้าได้เห็น (พระหฤทัยนั้น) อย่างใกล้ชิด พระองค์ทรงบอกให้ข้าพเจ้าดื่มจากธารน้ำเหล่านี้ เพื่อจะตักตวงน้ำแห่งความรอดของข้าพเจ้า” ในคำตักเตือนบุคคลในคณะของเขา คานิซีอุส ไม่เคยหยุดยั้งที่จะขอเพื่อนร่วมคณะเยสุอิต ให้ประสานน้ำใจของพวกเขาเข้ากับพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า “เมื่อพระองค์ทรงมอบหมายพระหฤทัยของพระองค์แก่เรา พวกเราก็ควรถวายหัวใจของพวกเราให้แก่พระองค์ด้วย”

 

แม้ในเวลาที่กระแสการปฏิรูปโหมกระพือไปทั่ว แต่ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์กลับเพิ่มทวีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเงียบ ๆ ซึ่งน่าจะเกิดจากภาพลักษณ์ของพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ที่ประทับอยู่บนธงของผู้ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องพระศาสนจักรผู้เป็นมารดา ผู้ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์เพิ่มจำนวนขึ้นคือนักบวชเยสุอิต ตราของคณะมีอักษร IHSควบคู่กับภาพของพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ซึ่งการจับคู่เช่นนี้กล่าวกันว่าเป็นฝีมือของปีเตอร์ คานิซีอุส บางครั้ง นักบวชเยสุอิตจะใช้ภาพของบาดแผลศักดิ์สิทธิ์ หรือตะปูเป็นสัญลักษณ์แทนพระหฤทัยในหนังสือและเอกสารที่เขียนด้วยลายมือที่ผลิตขึ้น หรือเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดของคณะ และในการตกแต่งวัดของคณะ

 

ภายนอกคณะเยสุอิต บุคคลสำคัญที่ศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์คือฟรังซิส เดอ ซาล (มรณะ ค.ศ. 1622) ในประวัติศาสตร์ศาสนา มีน้อยคนที่มีความรู้มากเท่าเขาเกี่ยวกับคุณธรรมที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่า “จงเรียนจากเรา เพราะเราอ่อนโยน และถ่อมตน” เขาทุ่มเทแรงกายเผยแพร่ความศรัทธาต่อพระหฤทัยของพระเจ้า ความศรัทธานี้ปรากฏอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในพระวินัยที่เขาเขียนขึ้นสำหรับคณะ Visitation สารที่เขาสื่อถึงสมาชิกคณะคือ “เจ้าจงเป็นบุตร และผู้รับใช้ที่เทิดทูนพระหฤทัยที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักเยี่ยงบิดาของพระเยซูเจ้า” ภายในคณะนี้ มากาเร็ต มารีย์ จะกลายเป็นธรรมทูตยุคใหม่ที่เผยแพร่ความศรัทธานี้ ในวันฉลองพระตรีเอกภาพ ปี ค.ศ. 1610 พระสงฆ์ผู้อ่อนโยนนี้ได้มอบพระวินัยของคณะ Visitation ให้แก่บารอนเนส เดอ ชองทาล คือเจน ฟรานเซส เฟรมิโอ ผู้ก่อตั้งสถาบันใหม่นี้ เราควรสังเกตว่า ก่อนที่เธอจะถึงแก่กรรม มรดกที่เจน ฟรานเซส ได้มอบให้แก่บ้านทั้ง 87 หลังของคณะ Visitation ที่เธอก่อตั้งขึ้น คือความศรัทธาอันร้อนรนต่อพระหฤทัยของพระคริสตเจ้า

 

ศตวรรษที่ 17 ย่างเข้ามาพร้อมกับความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ คือการปฏิรูปคณะสงฆ์ คำขวัญของยอห์น ยูดส์ (John Eudes) คือ “ความกระตือรือร้นเพื่อพระนิเวศของพระองค์ได้เผาผลาญข้าพเจ้า” เมื่อเขาออกจากคณะ Oratory เขามีจุดมุ่งหมายเพียงหนึ่งเดียว คือการปฏิรูปคณะสงฆ์ ไม่นานต่อมา ยูดส์ได้ก่อตั้งคณะ Congregation of Jesus and Mary เพื่อพระสงฆ์ เขาเป็นคนก้าวร้าวอย่างศักดิ์สิทธิ์ เขาได้เผยแพร่ความศรัทธาต่อพระหฤทัยคู่แม้ต้องเผชิญกับการต่อต้าน คำบรรยายในการแต่งตั้งเขาเป็นบุญราศีกล่าวถึงการเทศน์สอนของเขาเรื่องความศรัทธาต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ว่า “ด้วยความร้อนรนเพราะความรักที่แปลกใหม่ต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าและพระนางมารีย์ ยูดส์เป็นคนแรกที่ริเริ่มแนวคิดให้สาธารณชนถวายเกียรติแก่พระหฤทัยทั้งสอง ดังนั้น จึงถือได้ว่าเขาเป็นผู้เริ่มต้น และเป็นผู้สร้างความศรัทธาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ เขาจัดการให้มีการฉลองพระหฤทัยทั้งสองท่ามกลางบุตรฝ่ายวิญญาณของเขา ถือได้ว่าเขาเป็นผู้เริ่มต้น เพราะเขาได้จัดระบบการถวายบูชามิสซา และบททำวัตรถวายแด่พระหฤทัยทั้งสองนี้ ท้ายที่สุด ในฐานะธรรมทูต เขาได้ทุ่มเทจิตใจเพื่อเผยแพร่ความศรัทธานี้ไปทั่วทุกแห่งหน”

 

ระยะใหม่ของความศรัทธาของนักบุญยอห์น ยูดส์ เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1670 ซึ่งเห็นได้จากการตีพิมพ์ผลงานของเขาคือ The Devotion to the Adorable Heart of Jesus (ความศรัทธาต่อพระหฤทัยอันน่าบูชาของพระเยซูเจ้า) หนังสือนี้รวมไว้ด้วยพิธีบูชามิสซา และบททำวัตรเพื่อถวายเกียรติแก่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ภายในปีเดียวหลังจากการตีพิมพ์หนังสือนี้ ผู้ใหญ่หลายคนในพระศาสนจักรได้อนุญาตให้จัดการฉลองนี้ได้ในสังฆมณฑลต่าง ๆ ของประเทศฝรั่งเศส พระสันตะปาปาคลีเมนต์ ที่ 10 ทรงพอพระทัยมากกับผลงานของยูดส์เพื่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ผลงานของเขามีคุณค่าเพิ่มขึ้นมากเพราะเขากระทำไปโดยไม่ได้รับบัญชาจากสวรรค์แต่อย่างใด ประการที่สองคือความศรัทธานี้ไม่อ้างถึงการชดเชยบาป บททำวัตรที่เขาแต่งขึ้นอาจเรียกได้อย่างถูกต้องว่าเป็นการสนทนาด้วยความรักระหว่างวิญญาณของแต่ละบุคคล กับพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า

 

ในไม่ช้า ยอห์น ยูดส์ ก็กลายเป็นเป้าหมายให้พวกนิยมลัทธิยานเซน (Jansenism) เย้ยหยัน ในจำนวนความผิดหลงมากมายของลัทธินี้ ข้อหนึ่งที่เราต้องการกล่าวถึงคือการประดิษฐ์วิธีนมัสการแบบพิเศษขึ้นมาอย่างหนึ่ง คนเหล่านี้เทศน์สอนว่าพระผู้ไถ่ของเราเป็นผู้ที่เข้าถึงได้ยากที่สุด ผู้สนับสนุนขบวนการนี้คนหนึ่งคือนักบุญไซรัน ซึ่งเป็นนักฉวยโอกาส และเจ้าเล่ห์ และแจ็กเกอลีน อาร์โนลด์ ที่รู้จักกันในนามของคุณแม่แองเจลีก และเป็นผู้อำนวยการคณะภคินีที่ปอร์ตรอยัล ใกล้กรุงปารีส แอนโทนี อาร์โนลด์ (ค.ศ. 1612-94) เป็นปฏิปักษ์กับนักบวชเยสุอิตมาช้านานแล้ว เขาสอนเกี่ยวกับการรับศีลมหาสนิทไว้ในหนังสือชื่อ On Frequent Communion (การรับศีลมหาสนิทบ่อยครั้ง) ว่า “มีน้อยคนที่สามารถเป็นทุกข์ถึงบาปอย่างสมบูรณ์ได้ คนเหล่านี้เท่านั้นคือบุคคลที่ได้รับเลือกสรร ที่สามารถเข้าไปที่โต๊ะอาหารของพระผู้เป็นเจ้าได้ แม้ในขั้นนี้ เขาก็ต้องได้ ‘รับเรียก’ จากพระเจ้าเองให้ติดต่อกับพระองค์!”

 

บัดนี้  เราจะออกจากปอร์ต รอยัล และหันไปยังปาเรย์ เลอ โมนีอัล

 

มาร์กาเร็ต มารีย์ อาลาก๊อก เข้าอารามหนึ่งปีหลังจากการตีพิมพ์หนังสือ “ความศรัทธาต่อพระหฤทัยอันน่าบูชาของพระเยซูเจ้า” คณะภคินีที่ปาเรย์ มีภคินีภายใน (choir sisters) 33 คน ภคินีภายนอก (lay sisters) 3 คน และนวกเณรี 3 คน นวกจารย์คือซิสเตอร์ อานน์ ฟรานเซส ตูวอง ซึ่งถวายตัวมาแล้ว 44 ปี และระหว่างช่วงเวลานี้ เธอได้เป็นอธิการิณี 4 สมัย มาร์กาเร็ตได้รับเสื้อศักดิ์สิทธิ์ เมื่ออายุ 23 ปี หรือสามเดือนหลังจากเข้าอาราม วันหนึ่ง ขณะที่เธอคุกเข่าต่อหน้าศีลมหาสนิท เธอได้ถวายตนเองทั้งครบแด่น้ำพระทัยของพระคริสตเจ้า เธอวิงวอนพระองค์ให้รับของถวายนี้เป็นเครื่องบูชาอันครบถ้วน และให้ทรงนำตัวเธอถวายร่วมกับเครื่องบูชาที่พระองค์เองทรงถวายแด่พระบิดาขณะอยู่บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าตรัสแก่เธอว่า “จงจำไว้ว่า เจ้าจะมอบตนเองแก่พระผู้ถูกตรึงกางเขน ดังนั้น เจ้าต้องทำตัวให้เหมือนพระองค์ และกล่าวอำลาความสุขสำราญของชีวิตทางโลกทั้งหมด และที่เราบอกเช่นนี้เพราะว่า ตั้งแต่นี้ไป จะไม่มีความสุขสำราญสำหรับเจ้า ยกเว้นความสุขสำราญที่ประทับด้วยเครื่องหมายกางเขน”

 

ระหว่างปี ค.ศ. 1673 ถึง 1688 ซิสเตอร์มาร์กาเร็ต มารีย์ ได้รับการเผยแสดงหลายครั้งจากพระเยซูเจ้า จากการประจักษ์หลายครั้ง มีอยู่ 4 ครั้งที่ถือว่าเป็น “การประจักษ์ยิ่งใหญ่” ครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 27 ธันวาคม 1673 ซึ่งเป็นวันฉลองนักบุญยอห์น อัครสาวกผู้เป็นศิษย์รักของพระเยซูเจ้า ในวันนั้น พระเยซูเจ้าทรงอนุญาตให้มาร์กาเร็ต มารีย์ พิงศีรษะกับทรวงอกของพระองค์ และทรงบอกว่า เธอได้รับเลือกให้เป็นศิษย์แห่งพระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ในปีต่อมา คือ ค.ศ. 1674 พระหฤทัยศักดิ์สิทธ์ได้เผยตัวให้เธอเห็น โดยมีกางเขนปักอยู่ด้านบน และล้อมรอบด้วยมงกุฎหนาม ระหว่างอัฐมวารวันฉลองพระกายของพระคริสตเจ้าปี ค.ศ. 1674 พระเยซูเจ้าทรงร้องขอการชดเชยสำหรับบาปของชาวโลก และความเย็นชาของมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งเกี่ยวกับการรับศีลมหาสนิทบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการรับศีลมหาสนิทในวันศุกร์ทุกต้นเดือน และทรงอธิบายวิธีทำชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์เพื่อชดเชยบาป หนึ่งปีต่อมาระหว่างการประจักษ์ที่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุด (วันที่ 16 มิถุนายน 1675) พระเยซูเจ้าทรงสั่งให้พระศาสนจักรสถาปนาวันฉลองประจำปีเพื่อถวายเกียรติแด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า โดยกำหนดให้เป็นวันศุกร์หลังจากอัฐมวารวันฉลองพระกายพระคริสตเจ้า การรับศีลมหาสนิทเพื่อชดเชยบาปในวันนั้น รวมทั้งสวดบทภาวนาขอชดเชยบาป (Act of Reparation)

 

ในการเผยแสดงครั้งต่อ ๆ ไป เราจะเห็นพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าที่ไม่อาจเก็บกักเปลวไฟแห่งความรักไว้ภายใน รวมทั้งความปรารถนาที่จะทำให้วิญญาณทั้งหลายมั่งคั่งด้วยขุมทรัพย์ของพระองค์ – โดยเฉพาะพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรที่จำเป็นเพื่อช่วยวิญญาณให้รอด มาร์กาเร็ต มารีย์ ได้รับเลือกให้ดำเนินงานนี้ต่อไป ในการประจักษ์ทุกครั้ง ดูเหมือนว่าพระเยซูเจ้าทรงมีเหตุผลหนึ่งที่สำคัญที่สุด พระองค์ตรัสว่า “สิ่งที่ทำให้เราเจ็บปวดมากยิ่งกว่าความทุกข์ทรมานทั้งหมดที่เราได้รับระหว่างพระทรมานของเราคือความอกตัญญูของมนุษย์”

 

จากบันทึกที่ท่านนักบุญได้เขียนไว้ เห็นได้ชัดว่าในการประจักษ์เหล่านี้ เธอมองเห็นพระเยซูเจ้ามิใช่ด้วยตาฝ่ายกาย แต่ด้วยตาฝ่ายวิญญาณ และหลังจากมีประสบการณ์เช่นนี้แต่ละครั้ง เธอจะตกอยู่ในภวังค์ หรือไม่รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเธอ เป็นธรรมดาที่คนในคณะจะเริ่มซุบซิบนินทา เมื่อได้เห็นว่าบางสิ่งที่แปลกประหลาดกำลังเกิดขึ้นแก่ซิสเตอร์ มาร์กาเร็ต มารีย์

 

คุณแม่เดอ ซูเมส อธิการิณีของอาราม ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติต่อมาร์กาเร็ต อย่างเข้มงวดเกินไป สิ่งที่เธอได้กระทำในสถานการณ์อันยากลำบากนี้ คือ มอบปัญหานี้ทั้งหมดให้พระสงฆ์สององค์เป็นผู้วินิจฉัย องค์หนึ่งเป็นพระสงฆ์เยสุอิต อีกองค์หนึ่งเป็นพระสงฆ์เบเนดิกติน หลังจากได้สอบถามผู้เห็นการประจักษ์แล้ว คุณพ่อฟรังซัวส์ แห่งอารามเบเนดิกติน เชื่อว่านี่คือผลจากความอ่อนเพลียของร่างกาย เขามีวิธีการรักษาง่าย ๆ คือ “สิ่งที่ภคินีคนนี้ต้องการคืออาหารปริมาณมากขึ้นเพื่อบำรุงร่างกายที่อ่อนแอของเธอ ถ้าท้องว่าง จิตใจจะสับสนวุ่นวาย คุณแม่ต้องให้เธอรับประทานน้ำซุปข้น ๆ ผสมผักมาก ๆ”

 

มาร์กาเร็ต มารีย์ ตีความหมายคำสั่งของพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์ทรงโปรดปรานยิ่งนักที่จะได้รับการถวายเกียรติภายใต้ภาพลักษณ์ของพระหฤทัยที่มีเลือดเนื้อ เพื่อจะสัมผัสกับหัวใจที่เย็นชาของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ตอบสนอง ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงได้กระทำไปจะดูเหมือนเป็นสิ่งเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความรักของพระองค์”

 

ไม่นานก่อนการประจักษ์ครั้งสำคัญ พระเยซูเจ้าทรงรับรองกับมาร์กาเร็ต มารีย์ ว่าคุณพ่อโคลด ลา โกลอมบีแอร์ ได้รับเลือกให้เป็นผู้ร่วมงานกับเธอ ในวันนั้น พระสงฆ์องค์นี้ ซึ่งเป็นอธิการของอารามเยสุอิต ที่ปาเรย์-เลอ-โมนีอัล กำลังถวายบูชามิสซาในวัดน้อยของอาราม เมื่อมาร์กาเร็ต เข้าไปใกล้ตะแกรงเหล็ก เพื่อจะรับศีลมหาสนิทจากมือของเขา พระคริสตเจ้าทรงโปรดให้เธอเห็นพระหฤทัยศักดิ์สิทธ์ของพระองค์ ซึ่งเป็นเตาไฟแห่งความรักเมตตาที่กำลังลุกไหม้ ในเวลาเดียวกัน เธอก็มองเห็นมืออีกสองมือยื่นเข้าไปใกล้พระหฤทัย ราวกับว่าจะถูกดูดซับเข้าไปภายใน จากนั้น เธอก็ได้ยินคำพูดว่า “ที่เป็นดังนี้ เพื่อว่าความรักอันบริสุทธิ์ของเราจะรวมหัวใจทั้งสามดวงนี้ให้เป็นหนึ่งเดียวกันตลอดไป”

 

ในปี ค.ศ. 1896 พระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 ทรงกล่าวด้วยความกระตือรือร้นว่า “โคลด ผู้เป็นเพื่อนตั้งแต่ในวัยเยาว์ของข้าพเจ้า! สิ่งที่ข้าพเจ้าได้อ่านเกี่ยวกับตัวเขาทำให้ข้าพเจ้ารักเขาเสมอมา และเพราะความสัมพันธ์ของเขากับพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ และบุญราศี มาร์กาเร็ต มารีย์ แน่นอน ข้าพเจ้าปรารถนาให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นบุญราศี!”  โคลด ซึ่งเป็นธรรมทูตแห่งพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีตั้งแต่นั้นมา และได้รับแต่งตั้งเป็นนักบุญในยุคของเรา (วันที่ 31 พฤษภาคม 1991) ความศักดิ์สิทธิ์ของบุรุษผู้นี้ไม่ได้ตัดสินกันด้วยภาพนิมิต หรืออัศจรรย์ แต่ด้วยคำปฏิญาณของเขาระหว่างที่เป็นสมาชิกขั้นที่สาม (tertianship) ว่าจะปฏิบัติตามกฎ และพระธรรมนูญทุกข้อของคณะเยสุอิตอย่างครบครัน จะแสวงหาความหลงไหลคลั่งไคล้ในกางเขน และจะทำสิ่งใดก็ตามที่ดียิ่งกว่า ในวันที่กล่าวถึงนี้ พระคริสตเจ้าทรงสั่งให้มาร์กาเร็ต มารีย์ ร้องขอพระสงฆ์เยสุอิตผู้นี้ให้ร่วมมืออย่างเต็มที่ ไม่ยากเลยที่จะสรุปว่า คุณพ่อโคลดยอมรับหน้าที่นี้ด้วยความยินดี และกระตือรือร้น ในวันที่ 21 มิถุนายน 1675 วิญญาณที่ได้รับเลือกสรรทั้งสองนี้ได้ถวายตนเองพร้อมกันต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ วันนั้น ความศรัทธานี้ได้ชนะใจมนุษย์เป็นครั้งแรก หลังจากนี้ เมื่อมาร์กาเร็ต เล่าให้ท่านฟังเกี่ยวกับการประจักษ์ คุณพ่อ ลา โกลอมบีแอร์ ได้ขอให้เธอบันทึกเรื่องราวตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะคำสั่งที่เธอได้รับจากพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ คุณพ่อ โคลด ได้สนับสนุนมาร์กาเร็ต มารีย์ ในการเผยแพร่ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ เมื่อท่านถูกส่งไปยังลอนดอน ในฐานะนักเทศน์ของดัชเชสแห่งยอร์ก ท่านต้องทนรับการสบประมาท ถูกจองจำในคุก และถูกเนรเทศ แต่อาศัยความทุกข์ทรมานเหล่านี้ ท่านจึงสามารถปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้แก่พระเยซูเจ้าได้

 

สิ่งสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความศรัทธานี้คือความสัมพันธ์ระหว่างมาร์กาเร็ต มารีย์ และคณะภราดาของ ลา โกลอมบีแอร์ หนึ่งในภราดาเหล่านี้คือคุณพ่อ อิกญาซิโอ โลแรง ซึ่งเป็นอธิการของอารามเยสุอิต ที่ปาเรย์ และได้กลายเป็นผู้ฟังสารภาพบาปของเธอ ภายใต้การแนะนำของเขา มาร์กาเร็ต ได้ทำการปฏิญาณตน เช่นเดียวกับคำปฏิญาณของโคลด ว่าเธอจะทำทุกสิ่งที่เธอคิดว่าเป็นการกระทำที่ครบครันมากกว่าในทุกสถานการณ์

 

นอกเขตปาเรย์ ความศรัทธาได้แพร่ไปถึงเมืองลียงส์ และได้ชักนำคุณพ่อยอห์น ครัวเซท์ S.J. ให้กลายเป็นเพื่อนร่วมงานของมาร์กาเร็ต มารีย์ ด้วยการกระตุ้นเตือนของเธอ คุณพ่อครัวเซท์ จึงทำงานเพื่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ในปี ค.ศ. 1691 ท่านได้ตีพิมพ์หนังสือของท่านชื่อ “ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสตเจ้า” และด้วยการเสนอแนะของเธออีกเช่นกัน ท่านจึงเกิดความคิดที่จะก่อตั้งคณะธรรมทูตแห่งการภาวนา (Apostleship of Prayer)ซึ่งเป็น “สมาคมแห่งความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสมาชิกจะร่วมแบ่งปันในกิจการดีของกันและกัน”

 

เหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยเผยแพร่ความศรัทธานี้คือความพ่ายแพ้ของลัทธิยานเซน แต่เมื่อมองในอีกแง่หนึ่ง ก็อาจพูดได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงใช้ความศรัทธานี้เพื่อเอาชนะลัทธินอกรีตอันตรายในพระศาสนจักรนี้ สาวกลัทธิยานเซนต่อต้านพระศาสนจักรเป็นอันดับแรก และต่อต้านนักบวชเยสุอิตเป็นอันดับรองลงมา นักบวชเยสุอิต คือผู้ที่ตรวจพบจิตแห่งความเชื่อนอกรีต และมองทะลุถึงเป้าหมายของลัทธินี้ สมณกระทรวงว่าด้วยพิธีกรรมได้จัดเตรียมบทสำหรับการถวายบูชามิสซา และบททำวัตรสำหรับพระศาสนจักรสากลในปี 1729 แต่ไม่มีการตัดสินใจอย่างใดในเวลานั้น ในปี 1765 ได้มีคำร้องขออย่างเป็นเอกฉันท์ให้รับรองความศรัทธา และการฉลองนี้ และในวันที่ 25 มกราคม สมณกระทรวงว่าด้วยพิธีกรรม จึงได้ประทับตรารับรองความศรัทธานี้ ซึ่งทำให้สาวกลัทธิยานเซนเงียบเสียงลงได้ หลังจากที่เคยกล่าวหาคณะเยสุอิตว่านิยมลัทธิเนสเตอเรียน ในการถวายเกียรติแด่พระหฤทัยมนุษย์ของพระเยซูเจ้า

บัดนี้ หนทางได้เปิดขึ้นแล้วสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของความศรัทธานี้ ในพระราชวังแวร์ซายส์ รัชทายาทหลุยส์ ได้สร้างพระแท่นสำหรับบูชาพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะ ส่วนในประเทศโปรตุเกส พระราชินีมาเรีย ฟรานเชสก้า ซึ่งเป็นผู้ศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงปลดปอมบาล (Pombal) ออกจากตำแหน่ง และเพื่อทำการชดเชยสำหรับแผน และกิจการชั่วร้ายของเขาต่อคณะเยสุอิต และพระศาสนจักร พระนางทรงสั่งให้ถวายประเทศโปรตุเกส แด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์อย่างสง่า พระนางมาเรีย ยังได้ว่าจ้างปอมปิโอ บัทโตนี ให้วาดภาพพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์เพื่อประดับในวัดเยซู แห่งคณะเยสุอิตในกรุงโรมอีกด้วย แม้ว่าคณะเยสุอิตจะถูกปราบปราม แต่ก็มีการก่อตั้งชมรมพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ขึ้นทั่วไปทุกแห่ง และเริ่มมีคณะนักบวชต่างๆ ปรากฏขึ้น เช่น คณะพระสงฆ์แห่งพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ พระศาสนจักรดำเนินการต่อลัทธิยานเซนอย่างเป็นทางการด้วยพระราชโองการของพระสันตะปาปา ปิโอ ที่ 6 (Auctorem Fidei) ซึ่งเปิดโปงความผิดหลงของสภาปิสตัว (Council of Pistoia) และนี่คือการกำจัดลัทธินอกรีตนี้ให้หมดไปอย่างเด็ดขาด

ในศตวรรษที่ 19 ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์เฟื่องฟูขึ้นเต็มที่ และถ้าจะพูดในแง่ของการแสดงออกภายนอก ความศรัทธานี้บรรลุถึงขีดสูงสุดแล้วอย่างแท้จริง ในปี ค.ศ. 1815 พระสันตะปาปา ปิโอ ที่ 7 ทรงกำหนดพระคุณการุณย์มากมายให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติกิจศรัทธานี้ ในปี ค.ศ. 1822 มาร์กาเร็ต มารีย์ ได้รับการประกาศให้เป็น คารวียะ (Venerable) และเป็นบุญราศีในปี ค.ศ. 1864 ในตอนต้นศตวรรษนี้ พระสันตะปาปา ทรงอนุญาตให้คณะเยอุสิตจัดฉลองพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ด้วยพิธีบูชามิสซา และการทำวัตร  ในไม่ช้า ทุกส่วนของพระศาสนจักรก็ขออนุญาตจัดการฉลองนี้ด้วย

 

การปฏิบัติทางพิธีกรรมยังคงก้าวหน้าต่อไป ในขณะที่ผู้แพร่ธรรมมีความศรัทธาร้อนรนมากขึ้น หนึ่งในจำนวนนี้คือมาดาม โซฟี เดอ บาราท์ ผู้ก่อตั้งสมาคมพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ขึ้นทั่วโลก จุดประสงค์ของตัวเธอ และสมาคมของเธอคือส่งเสริมการเทิดทูน การชดเชย และการใช้โทษบาป อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติกิจศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่ง ชื่อดูเชเน่ เป็นผู้นำความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์มาเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา คณะภราดาแห่งพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ถูกก่อตั้งขึ้นโดยคุณพ่ออังเดร กวงเดร แห่งลียงส์ ในฝรั่งเศส คณะนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ในปี ค.ศ. 1854 มีคณะสงฆ์อีกหนึ่งคณะ ชื่อคณะพระสงฆ์มิชชันนารี แห่งพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในอัครสังฆมณฑล บูรจส์ (Bourges) คณะนี้มีบทภาวนาสั้น ๆ ที่สวดกันเสมอว่า “ขอให้พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้าจงเป็นที่รักทุกแห่งหนเทอญ”

 

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ส่งเสริมความศรัทธานี้คือภคินีคณะศรีชุมพาบาล (Sisters of the Good Shepherd) คุณแม่มารีย์ แห่งนักบุญยูเฟรเซีย เปลเลติเอร์ (มรณะ ค.ศ. 1868) แนะนำให้แสดงความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์เพื่อชดเชยบาป และยืนยันว่าผู้ที่ทำงานเพื่อความรอดของวิญญาณทั้งหลายจำเป็นต้องมีความศรัทธานี้

 

ความศรัทธานี้แพร่เข้าไปถึงประเทศจีนในตอนกลางศตวรรษที่ 19 และมีการสร้างวัดแห่งหนึ่งถวายแด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าที่มณฑลกวางตุ้ง ในปี ค.ศ. 1849 ผู้ที่สนับสนุนความศรัทธานี้คือคณะสงฆ์แห่งสมาคมมิสชันนารีฝรั่งเศส ในต่างประเทศ (French Foreign Missionary Society) และผู้สนับสนุนที่โดดเด่นที่สุดคือ คารวียะ เทโอฟาน เวนาร์ด

 

ในหมู่นักบวชเยสุอิต คุณพ่อยอห์น รูธาน ได้กระตุ้นให้พระสงฆ์คณะนี้เข้าพึ่งพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1849 ในจดหมายของเขาเกี่ยวกับหัวข้อนี้ เขาเขียนว่า “ถ้าเราถามหาเหตุผล … เหตุผลข้อแรก และข้อสำคัญที่สุดคือพระเยซูเจ้าเอง เมื่อพระองค์ทรงประสงค์ให้สถาปนาการถวายเกียรติแด่พระหฤทัยของพระองค์ และให้เผยแพร่ไปให้ทั่วพระศาสนจักร … นี่คือสิ่งบ่งชี้ว่างานนี้ต้องกระทำโดยคณะของเราเป็นเครื่องมือ”

 

การแสดงออกแบบคาทอลิกในศตวรรษนี้เห็นได้ชัดจากชีวิตของกาเบรียล การ์เซีย โมเรโน ประธานาธิบดีของประเทศเอกวาดอร์ ผู้เป็นมรณสักขี ด้วยการเรียกร้องของเขา สภานิติบัญญัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ “ให้สาธารณรัฐเอกวาดอร์ ถวายตัวต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า และประกาศให้พระหฤทัยนี้เป็นองค์อุปถัมภ์ และผู้พิทักษ์คุ้มครองประเทศ วันฉลองพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์จะถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ชั้นที่หนึ่ง และในทุกอาสนวิหาร ให้ตั้งพระแท่นถวายแด่พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า เพื่อกระตุ้นความศรัทธา และความศักดิ์สิทธิ์ของสัตบุรุษ” สองปีต่อมา โมเรโน ถูกฆาตกรรมขณะที่ออกมาจากอาสนวิหารหลังจากรับศีลมหาสนิทในวันศุกร์ต้นเดือน

 

ตัวอย่างที่สองคือพระสังฆราช ยอห์น มิลเนอร์ ซึ่งเป็น Vicar Apostolic ของเขตมิดแลนด์ ประเทศอังกฤษ หนึ่งศตวรรษหลังจากโคลด ลา โกลอมบีแอร์ ได้วางรากฐานความศรัทธาในประเทศอังกฤษ พระสังฆราชองค์นี้พยายามส่งเสริมความศรัทธานี้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ท่านได้ก่อตั้งสมาคมหนึ่งขึ้นใน เมรี่เวล สำหรับสามเณร เพื่อถวายเกียรติแด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า สมาคมนี้ได้รับการรับรองจากกรุงโรม และต่อมาได้กลายเป็น Archconfraterity of the Sacred Heart of Jesus ความพยายามของพระสังฆราชมิลเนอร์ เพื่อชาวคาทอลิกในอังกฤษ มีคุณค่าเป็นสองเท่า เพราะช่วยเปลี่ยนภาพที่สัตบุรุษเคยคิดว่าดำมืดมาตลอดเกือบหนึ่งศตวรรษที่ถูกเบียดเบียน นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้นำในอังกฤษเพื่อต่อต้านลัทธิ Jansenistic Erastianism ท่านถวายการต่อสู้นี้แด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ และได้นำภาพพระหฤทัยมาตกแต่งหน้าต่างในวัดน้อยของวิทยาลัยที่สร้างแบบโกธิค ซึ่งเป็นแห่งแรกที่บันทึกไว้

 

ต่อมาในศตวรรษเดียวกัน ชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งคือคาร์ดินัล แมนนิ่ง ได้เขียนผลงานชิ้นหนึ่งที่น่าจดจำเกี่ยวกับพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ข้อความต่าง ๆ ในงานประพันธ์นี้แสดงถึงความรักที่คาทอลิกชาวอังกฤษผู้นี้มีต่อพระหฤทัยของพระคริสตเจ้า ท่านเขียนว่า “ถ้าท่านต้องการพบน้ำพุแห่งน้ำที่ให้ชีวิต และพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระบัลลังก์นิรันดร ที่ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ประทับอยู่ และครองราชย์ตลอดนิรันดร ท่านจงเข้าไปในสถานศักดิ์สิทธิ์ใดก็ได้ ที่มีแสงไฟจุดอยู่อย่างเงียบ ๆ เบื้องหน้าตู้ศีลเถิด” นี่คือคำแนะนำฝ่ายจิตที่เชื่อถือได้!

 

บัดนี้ เราจะกล่าวถึงประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศของมาร์กาเร็ต มารีย์ อาลาก๊อก

วิหารแห่งพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์บนเนินเขามองมาร์ตร หรือเนินเขาแห่งมรณสักขี เป็นที่รู้จักกันในนามว่า “คำปฏิญาณของฝรั่งเศส” วิหารนี้สร้างขึ้นตามความปรารถนาของชาวฝรั่งเศส ในช่วงสงครามปี ค.ศ. 1870 ที่ปั่นป่วน และสิ้นหวัง กองทหารราบ ซูอาฟ (Zouaves) ได้ถือธงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์เข้าต่อสู้ในสนามรบที่ปาเตย์ (Patay) นายพลคลาเร็ท ประกาศว่า “ภายใต้ธงผืนนี้ ข้าพเจ้าขอถวายกองทัพแห่งซูอาฟ ของพระสันตะปาปา แด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า ด้วยความเชื่อของทหาร ข้าพเจ้าร้องขออย่างสิ้นสุดวิญญาณของข้าพเจ้า และขอให้ท่านร้องขอพร้อมกับข้าพเจ้าว่า ข้าแต่พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า โปรดทรงช่วยให้ฝรั่งเศส ปลอดภัยด้วย!” เสียงร้องของทหาร 300 นาย สะท้อนก้องไปทั่วแผ่นดินฝรั่งเศส ไม่ถึง 2 ปี ต่อมา รัฐสภาฝรั่งเศส ออกเสียงสนับสนุนให้ถวายคำภาวนาของมวลชนแด่พระหฤทัย ไม่ควรหรือที่ฝรั่งเศสจะบัญญัติให้ดำเนินกิจการอย่างหนึ่งเพื่อใช้โทษบาป คือ สร้างวัดหลังหนึ่งถวายแด่พระหฤทัยของพระผู้ไถ่เพื่อเป็นการโมทนาพระคุณ? อัครสังฆราชแห่งปารีส อนุมัติข้อเสนอนี้ และเรียกร้องให้สังฆราชทุกองค์ในฝรั่งเศส สนับสนุนข้อเสนอนี้ และฝรั่งเศสก็ซื่อสัตย์ต่อคำปฏิญาณของตน วิหารมองมาร์ตร ตั้งตระหง่านเหนือภูมิทัศน์เมืองปารีส ไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายคำจารึกที่ว่า “แด่พระคริสตเจ้าและพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระองค์ จากประเทศฝรั่งเศสที่สำนึกผิดและศรัทธา” รัฐมนตรีกระทรวงสงครามเคยต้องการให้สร้างป้อมปราการบนยอดเขามองมาร์ตร แต่ผู้สนับสนุนให้สร้างวิหารไม่เห็นด้วย พวกเขาต่อสู้เพื่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์จนได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่นั้นสร้างวัดได้ ผู้บริจาค 8 ล้านคน ได้บริจาคเงิน 28 ล้านฟรังค์ เงินเหล่านี้หลั่งไหลมาจากทุกมุมของประเทศฝรั่งเศส! พวกฟรีเมซัน ประท้วงอย่างไร้ผล สำหรับชาวคาทอลิกในศตวรรษที่ 19 วิหารนี้คือชัยชนะครั้งหนึ่ง!

 

มีเรื่องสำคัญอีกสองเรื่องที่สมควรกล่าวถึงในที่นี้ เกี่ยวกับความศรัทธานี้ระหว่างศตวรรษที่ 19 เรื่องแรกคือ คณะธรรมทูตแห่งการภาวนา (Apostleship of Prayer) ในสหพันธ์พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นผลงานร่วมกันของนักบวชเยสุอิต สองคนคือ ฟรังซิส ซาเวียร์ โกเตรเลท์ ผู้เป็นจิตตาธิการของวิทยาลัยปรัชญา และเทวศาสตร์ที่เมืองวัลส์ (Vals) และคุณพ่อ อองรี รามีแอร์ แห่งสหพันธ์พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ วัตถุประสงค์ของคณะธรรมทูตแห่งการภาวนา คือการขยายอาณาจักรของพระคริสตเจ้า และมีคติพจน์ว่า “พระอาณาจักรจงมาถึง”พระเยซูเจ้า ผู้ประทับอยู่เบื้องขวาของพระบิดาในเวลานี้ ทรงมีความปรารถนาเพียงหนึ่งเดียว คือการประทานพระหรรษทานทุกประการที่จำเป็น เพื่อส่งเสริมการกลับใจ และความศักดิ์สิทธิ์ของวิญญาณทั้งหลาย อาจกล่าวได้โดยไม่เกินความจริงว่า นี่คือแก่นแท้ของคณะธรรมทูตแห่งการภาวนา สมาชิกคณะธรรมทูตแห่งการภาวนา รับเอาจุดประสงค์ คำภาวนา และความปรารถนาของพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์มาเป็นของตนเอง ดังนั้น ภายในใจของเขา เขาจึงเสนอ และถวายคำถาวนา การงาน และความทุกข์ทรมานทั้งหมดของเขา รวมทั้งชีวิตของเขาเอง เพื่อวิงวอน เพื่อให้พระองค์ทรงพอพระทัย และเพื่อใช้โทษบาป

 

คำบรรยายสั้น ๆ นี้เสนอความคิดสองข้อ ข้อหนึ่งคือ พระศาสนจักรมีความศรัทธาที่จัดขึ้นอย่างเป็นระบบต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประกอบด้วยกิจศรัทธาต่างๆ มากมาย และแตกสาขาออกไปทั่วโลก และมีชาวคาทอลิกเข้าร่วมด้วยหลายล้านคน ข้อที่สอง คุณพ่อโกเตรเลท์ และคุณพ่อรามีแอร์ ดึงความศรัทธานี้มาเกี่ยวข้องกับนักบุญ มาร์กาเร็ต มารีย์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่พระหฤทัยของพระเยซูเจ้าทรงพอพระทัยที่สุด และความเกี่ยวข้องนี้ยังคงดำรงอยู่ในพระศาสนจักร

 

ในช่วงกลางศตวรรษที่18 ประชากรของพระเจ้าเคลื่อนไหวเพื่อขอให้ความศรัทธา และกิจศรัทธาเหล่านี้เป็นที่ยอมรับ และในปลายศตวรรษเดียวกัน พระศาสนจักรได้ยอมรับ และสนับสนุนความศรัทธานี้อย่างแข็งขัน พระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 เป็นผู้ที่รวบรวมหัวใจมนุษย์ทั้งหมด และในฐานะผู้แทนของพระคริสตเจ้า ได้ชี้ทางให้หัวใจเหล่านี้หันไปสู่พระหฤทัยของพระผู้ทรงรักมอบความรักให้ก่อน วันที่ 25 พฤษภาคม 1899 พระสันตะปาปา เลโอ ทรงออกสมณสาสน์ Annum Sacrum ซึ่งพระองค์ทรงใช้ประกาศว่าพระองค์จะทรงถวายโลกแด่พระหฤทัยของพระผู้ไถ่ พระองค์ทรงตัดสินใจเช่นนี้เมื่อสามเดือนก่อนคือวันที่ 25 มีนาคม ในวันที่ 3 เมษายน 1899 พระคาร์ดินัล มาเซลลา แห่งสมณกระทรวงพิธีกรรม ได้ลงนามในกฤษฎีกา ซึ่งพระสันตะปาปาทรงใช้เพื่อรับรองการสวดบทเร้าวิงวอนต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในที่สาธารณะ อาจกล่าวได้ว่าวันที่ 25 พฤษภาคม 1899เป็นวันที่ความศรัทธาของชาวคาทอลิก ต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์บรรลุถึงจุดสูงสุด

 

เห็นได้ชัดตั้งแต่บรรทัดแรกของสมณสาสน์ของพระสันตะปาปา ว่าการถวายมนุษยชาติเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองปีศักดิ์สิทธิ์

 

ในสาสน์ Innum Sacrum พระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 ทรงกล่าวไว้ชัดเจนถึง (ก)พื้นฐานสองข้อของความเป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้าเหนือสิ่งสร้างทั้งปวง คือในฐานะพระบุตรของพระเจ้า และพระผู้ไถ่ (ข) ความรักเมตตาอันไร้ขอบเขต ซึ่งทำให้พระคริสตเจ้าทรงยินยอมให้เราถวายตัวเราทั้งครบแด่พระองค์ ด้วยพิธีกรรมในการถวายตัวเป็นการส่วนตัว (ค) ความเหมาะสมของการถวายตัวของเราแด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ซึ่งเป็น “สัญลักษณ์ และภาพลักษณ์อันสมเหตุสมผลของความรักอันไร้ขอบเขตของพระเยซูคริสตเจ้า” (ง) ความรับผิดชอบของพระสันตะปาปาต่อประชากรของพระเจ้า และต่อมนุษยชาติ (จ) การถวายตัวทำให้ชนชาติต่าง ๆ มีความหวังว่าจะเกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นในอนาคต เมื่อมองย้อนกลับไป อาจกล่าวได้ว่า พระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 ทรงปูทางสำหรับการสถาปนาวันฉลองพระคริสตกษัตริย์ ซึ่งพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 ทรงแนะนำโดยสมณสาสน์ Quas primas ของพระองค์

 

ยังไม่ทันที่จะเก็บกวาดความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้หมดไป พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 ก็ทรงประกาศให้ปี ค.ศ. 1925 เป็นปีศักดิ์สิทธิ์ และก่อนจะจบปีนี้ พระสันตะปาปาองค์เดียวกันนี้ได้ออกสมณสาสน์ Quas primas อันน่าจดจำ ซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาวันฉลองพระคริสตกษัตริย์ขึ้นในพระศาสนจักร พระองค์ทรงกำหนดว่า ในวันนี้ควรมีการรื้อฟื้นการถวายตัวแด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ทุกปี เพื่อจะได้รับผลอันอุดมและอย่างแน่นอนมากขึ้นจากกิจการถวายตัวนี้ และเพื่อให้ความรักเยี่ยงคริสตชนนำทุกคนมารวมกันในความสนิทสัมพันธ์แห่งสันติภาพกับพระหฤทัยของกษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลาย และพระเจ้าแห่งพระเจ้าทั้งหลาย

 

สามปีหลังจากนั้น ในสมณสาสน์ชื่อ Miserentissimus พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 ทรงเริ่มกล่าวถึงแง่มุมของการชดเชยบาป ซึ่งตราบจนถึงเวลานั้น เคยมีแต่เพียงการพูดถึงเป็นนัยเท่านั้น “นอกจากกิจการถวายตัวซึ่งมีผลอุดมที่สุดนี้แล้ว ควรเสริมด้วยกิจศรัทธาอีกอย่างหนึ่ง คือกิจใช้โทษบาป หรือที่เรียกกันว่ากิจชดเชยบาป เพื่อถวายแด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า เพราะในขณะที่จุดประสงค์สูงสุดของการถวายตัว คือให้สิ่งสร้างตอบสนองความรักของพระผู้สร้าง โดยการรักตอบพระองค์ แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดตามมาเป็นธรรมดา คือการชดเชยสำหรับการสบประมาทความรักของพระเจ้าด้วยการไม่สนใจ และเมินเฉย และด้วยบาป และความผิดต่าง ๆ ของมนุษยชาติ หน้าที่นี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า การชดเชยบาป”

 

การถวายตัว  การแสดงความเคารพ และการชดเชยบาป – นี่คือสามสิ่งที่พระคริสตเจ้า ทรงร้องขอในอาราม Visitation ระหว่างการประจักษ์แก่มาร์กาเร็ต มารีย์ พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 ทรงกล่าวเสริมในสมณสาสน์ ปี ค.ศ.1932ว่า “ขอให้สัตบุรุษระบายความทุกข์ทั้งหมดของตน ความมั่นคงอันเกิดจากความเชื่อ ความวางใจอันเกิดจากความหวัง และความร้อนรนอันเกิดจากความรักเมตตาของตน ต่อพระหฤทัยอันเปี่ยมด้วยความเมตตานั้น” (พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ และความทุกข์ของชาวโลก) การชดเชยบาปที่พระสันตะปาปทรงอธิบายไว้ย่อ ๆ ได้กลายเป็นหัวข้อในหนังสือชื่อ “An Appeal for Love” (คำวิงวอนขอความรัก) ของซิสเตอร์ โยเซฟา เมเนนเดซ ภคินีคนหนึ่งในคณะพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้รับพระคุณระหว่างชีวิตสั้น ๆ ของเธอ ในช่วงต้นศตวรรษ ที่ 20 โดยได้เห็นภาพประจักษ์ของพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์อย่างที่ปรากฏแก่มาร์กาเร็ต มารีย์ อาลาก๊อก สองศตวรรษก่อนหน้านั้น

 

บุคคลสำคัญอีกหนึ่งคนในศตวรรษที่ 20 คือคุณพ่อมัทเธว ครอลี-โบวี SS.cc. ซึ่งได้รับสมญาอย่างเหมาะสมว่า ธรรมทูตแห่งการตั้งภาพพระหฤทัยในครอบครัว คุณพ่อมัทเธว เป็นชาวเปรู ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเอกวาดอร์ ในตอนต้นของศตวรรษนี้ ได้มีการค้นพบภาพของพระหฤทัยที่การ์เซีย โมเรโน ใช้ในการถวายประเทศเอกวาดอร์ แด่พระหฤทัย ซึ่งทำให้คุณพ่อมัทเธว ริเริ่มสิ่งที่จะกลายเป็นขบวนการอันยิ่งใหญ่ของการตั้งภาพพระหฤทัยในครอบครัว กิจศรัทธานี้ถูกนำเข้าไปเผยแพร่ในหลายประเทศ โดยได้รับอนุญาตจากพระสันตะปาปาองค์ต่อ ๆ มา พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 กล่าวถึงผลงานของคุณพ่อมัทเธว ว่า “มีสิ่งหนึ่งที่เราปรารถนาเป็นพิเศษ … และนั่นคือ ให้ครอบครัวคริสตชนถวายตัวแด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์”

 

นอกจากนักบวชหญิงคนหนึ่ง และพระสงฆ์องค์หนึ่งแล้ว ยังมีภราดาเยสุอิตคนหนึ่งที่ทำงานอย่างต่อเนื่องถึง 56 ปี ในสำนักงานของคณะธรรมทูตแห่งการภาวนาในสหรัฐอเมริกา บุคคลนี้คือภราดา โคลด รามาซ ผู้เกิดที่เมืองลียงส์ ในฝรั่งเศส และได้รับการตั้งชื่อตามโคลด ลา โกลอมบีแอร์ เสมือนเป็นการพยากรณ์ว่าเขาจะเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ การขยายตัวของความศรัทธา โดยเฉพาะการขยายตัวของคณะธรรมทูตแห่งการภาวนา และ สหพันธ์พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ (Leaque of the Sacred Heart) ส่วนใหญ่เป็นผลงานของเขา เขาทำงานอย่างเงียบ ๆ และมีประสิทธิภาพเคียงข้างสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ ซึ่งผลิตหนังสือชื่อ Messenger of the Sacred Heart (ผู้นำสารพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์)

 

คณะธรรมทูตแห่งการภาวนาเป็นขบวนการใหญ่ที่สุดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในศตวรรษของเราอย่างแน่นอน ระหว่างที่พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 15 ตรัสแก่ผู้อำนวยการองค์กร เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 1920 พระองค์ทรงประกาศว่า “คณะธรรมทูตแห่งการภาวนา เป็นรูปแบบของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ที่โดดเด่นที่สุด” หลังจากนั้นไม่ถึง 6 ปี ในหนังสือลงวันที่ 13 มีนาคม 1926 ที่พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 ทรงมอบให้เลขาธิการของขบวนการนี้ พระองค์ทรงเขียนว่า “คณะธรรมทูตนี้ได้ตั้งเป้าหมายที่มีลักษณะเฉพาะตัวให้แก่ตนเองอย่างต่อเนื่องจนถึงในยุคของเรา ด้วยการเผยแพร่การครองราชย์ทางสังคมของพระเยซูคริสตเจ้าท่ามกลางประชากร และชาติต่าง ๆ” ในช่วงกลางของศตวรรษ เมื่อทรงทราบว่าคณะธรรมทูตนี้มีสมาชิกเพิ่มเป็น 45 ล้านคน พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 ทรงยินดีมาก พระองค์ทรงเขียนไว้ว่า “เช่นเดียวกับพระสันตะปาปาหลายองค์ก่อนหน้าข้าพเจ้า เราเคยประกาศ และเต็มใจยิ่งที่จะประกาศอีกครั้งว่า เราจะมีความสุขมากถ้าสัตบุรุษทุกคน โดยไม่ละเว้นใครเลย จะเข้าร่วมในกองทัพศักดิ์สิทธิ์นี้เพื่อขยายกองทัพของสมาชิก”

 

ในขณะที่คณะธรรมทูต และพิธีตั้งภาพพระหฤทัย คือการแสดงออกของความศรัทธานี้ ยังมีคำในหนังสือที่ช่วยเผยแพร่ความศรัทธาได้ดียิ่งกว่าสิ่งอื่นใด “ถ้าเราสนใจในหนังสือที่ได้มาตรฐาน และตีพิมพ์เป็นประจำ ซึ่งอุทิศให้แก่การส่งเสริมความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ย่อมต้องถือว่า “ผู้นำสารพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์” เป็นหนังสือที่เหนือกว่าวารสารอื่น”

 

“ผู้นำสาร” จัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรกเป็นฉบับภาษาฝรั่งเศส โดยคุณพ่อรามิแอร์ ในปี ค.ศ. 1861 และมี “ผู้นำสาร” ในภาษาอื่น ๆ ปรากฏขึ้นในหลายประเทศ ฉบับอเมริกัน ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1866 คุณพ่อรามิแอร์ อธิบายจุดประสงค์ของวารสารนี้ในฉบับแรกว่า “เพื่อกระตุ้นให้เกิดความศรัทธาอย่างแท้จริงต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าในหมู่สัตบุรุษ ให้วิญญาณทั้งหลายรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระหฤทัย และเป็นการร่วมมือกับพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้าในเชิงปฏิบัติ” ในปี ค.ศ.1948 มี “ผู้นำสาร” 58 ฉบับใน 34ภาษา ส่งถึงสมาชิกมากกว่าหนึ่งล้านคนทุกเดือน วารสารเหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์มากเกินกว่าจะประมาณได้ระหว่างระยะเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ

 

แต่การระบาดอย่างรุนแรงของลัทธินาซี และบอลเชวิกที่กดขี่ ทำให้วารสารถูกระงับไปในหลายสถานที่ พวกนาซี และบอลเชวิก รู้ดียิ่งกว่าคนจำนวนมากทุกวันนี้ ว่าความซื่อสัตย์แบบคริสตชนที่แท้จริงมีรากที่หยั่งลึกในการปฏิบัติกิจศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น คนเหล่านี้จึงโจมตีที่ราก ในปี ค.ศ. 1939 “ผู้นำสาร” ฉบับภาษาโบฮีเมียน ได้ถูกระงับไปในประเทศเชคโกสโลวาเกีย ส่วนฉบับภาษาเยอรมัน และออสเตรียน ถูกระงับระหว่างสงคราม นับจากปี ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา ฉบับภาษาอัลบาเนียน ยูโกสลาเวียน ลัทเวียน ลิธัวเนียน รูเธนเนียน (ในฮังการี) ยูเครเนียน และโปลิช ก็ตกเป็นเหยื่อของพวกคอมมิวนิสต์

 

บางทีอาจไม่มี “ผู้นำสาร” ฉบับใดที่มีผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษรอคอยอย่างกระหายเท่ากับ “ผู้นำสาร” ของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากรับใช้มาได้ 120 ปี สำนักพิมพ์ “ผู้นำสาร”ในวอชิงตัน ดีซี ก็ถูกปิดด้วยเหตุผลที่ฟังดูไม่น่าเชื่อ บรรณาธิการทั้งหลายรู้สึกว่ายากที่จะรักษามาตรฐานของบทความให้สูงเท่ากับในอดีต สาเหตุอาจเป็นเพราะวารสารนี้ได้รับผลกระทบจากความอ่อนแอที่ทำให้ความศรัทธาจืดจางลง ในยุคที่ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์รุ่งเรืองที่สุด เมื่อคนทั้งหลายมีความกระตือรือร้นมาก ความเชื่อคือน้ำมันที่จุดให้ไฟแห่งความร้อนรนลุกโชน แต่เมื่อน้ำมันหมด ไฟก็มอดลงด้วย

 

“ผู้นำสาร” ที่นิยมเรียกกันว่า ฉบับบอมเบย์ ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมความศรัทธานี้ในประเทศอินเดีย ก็ประสบกับชะตากรรมเดียวกัน โชคดีที่มี “ผู้นำสาร” ในภาษาท้องถิ่นอื่น ๆ (เช่น ภาษาทมิฬ ในสังฆมณฑล ทีรูชิราปัลลี) ที่ช่วยให้ถ่านไฟยังคุอยู่ วารสาร Christ Reigns (พระคริสตเจ้าทรงครองราชย์) ฉบับภาษาอังกฤษ รวมทั้งฉบับภาษาท้องถิ่นสำคัญทุกภาษาของอินเดีย ยังได้รับความสนใจมากจากเด็ก ๆ และปลุกความศรัทธานี้ตั้งแต่ในวัยเด็ก ศูนย์ประจำชาติของคณะธรรมทูตแห่งการภาวนา แจกแผ่นพับเล็ก ๆ ที่อธิบายเจตนารมณ์ประจำเดือนอย่างต่อเนื่อง มีแต่จิตใจของผู้ใหญ่เท่านั้นที่ขาดเชื้อเพลิงฝ่ายจิตที่จะทำให้กองไฟนี้ลุกโชนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

 

คำภาวนาสำหรับปีศักดิ์สิทธิ์ที่ 2000 ของพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ช่วยให้พอจะมองเห็นภาพในอนาคตได้บ้าง ต่อไปนี้ก็ขึ้นอยู่กับทุกคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ และบางทีอาจใช้คำอธิบายในบทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทำความเข้าใจว่าความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า เป็นสิ่งที่มีชีวิตอย่างแท้จริง และทำให้ความศรัทธานี้เป็นอานุภาพ และพลังในพระศาสนจักรในสหัสวรรษที่สามนี้

» ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในอดีต และปัจจุบัน

» รากฐานความเชื่อของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า

» คำขอร้องของพระสันตะปาปา

» ความศรัทธานี้ และความศรัทธาอื่นๆ

» พระหฤทัยรักของพระเยซูคริสตเจ้า

» พระบุคคลของพระเยซูคริสตเจ้า

» สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย

» ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบัน

» การชดเชยบาปต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» การปลอบโยนพระเยซูเจ้า

» คำสัญญา 9 ข้อ ของพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» ความเหมาะสมของความศรัทธาในสหัสวรรษที่ 3

» บทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ และบทเร้าวิงวอนอื่นๆ

» บทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» คำอธิบายคำวิงวอนในบทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» ภาคผนวก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย