ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

ความศรัทธานี้ และความศรัทธาอื่นๆ

 

ประโยคสุดท้ายของย่อหน้าก่อนนี้ นำเราไปสู่คำสำคัญในหัวข้อของบทนี้ และเป็นคำที่คัดลอกมาจากคำแนะนำเกี่ยวกับพิธีกรรม (ข้อ 46) ของสภาสังคายนาวาติกัน สภาสังคายนาวาติกันไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราเข้าใจโดยทั่วไปว่าเป็นความศรัทธา เช่นสายประคำ หรือการเดินรูปสิบสี่ภาค แต่หมายถึงการใช้เพลงสวด และดนตรีในพิธีกรรม แต่กระนั้น เราก็มีโอกาสอธิบายสิ่งที่เราสนใจมากที่สุด กล่าวคือ แก่นแท้ของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ และกิจศรัทธาจำนวนมากที่กระทำภายใต้ความศรัทธานี้ ดังนั้นจึงอาจจะเหมาะสมกว่าถ้าจะใช้คำว่า “กิจศรัทธา” แทนคำว่า “ความศรัทธา”

 

สิ่งที่เราจะนึกถึงทันที เมื่อกล่าวถึงกิจศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ คือการถวายตัวยามเช้า ซึ่งอาจถูกรวมเข้ากับกิจศรัทธาอื่น ๆ เช่นการเดินรูปสิบสี่ภาค และการสวดสายประคำ นี่คือรูปแบบของการภาวนา และกิจการที่เราใช้แสดงความซื่อสัตย์มั่นคงในความศรัทธาบางอย่าง เช่นความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ หรือต่อพระนางพรหมจารีมารีย์ แต่ไม่ได้ประกอบขึ้นเป็นความศรัทธานั้น หนังสือชื่อ Popular Devotions (ความศรัทธาซึ่งเป็นที่นิยม)ของเฮอร์เบิท เธอสตัน ให้คำอธิบายกิจศรัทธาเหล่านี้

 

เราได้พบการอ้างถึงการถวายตัวยามเช้าเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1863 หรือเกือบ 200 ปี หลังการประจักษ์ที่ปาเรย์ เลอ โมนีอัล ดังนั้น จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก่นแท้ของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ คุณพ่อ เอฟ. เอ็กซ์. โกเตรเลท์ พระสงฆ์เยสุอิต วัย 37 ปี เป็นผู้แนะนำความศรัทธานี้ผ่านคู่มือความศรัทธาต่าง ๆ ต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าคู่มือนี้ได้รับคำชมเชยอย่างสูงจากพระคาร์ดินัล วอห์น ผู้เป็นสังฆราชแห่งซัลฟอร์ด ในเวลานั้นว่า “เป็นหนังสือที่ดีที่สุดในบรรดาหนังสือประเภทเดียวกัน เกี่ยวข้องกับเทววิทยามากที่สุด มีสาระมากที่สุด และส่งเสริมความศรัทธา และแนะนำสิ่งที่ปฏิบัติได้ในเวลาเดียวกัน” แต่หนังสือนี้ไม่ได้เล่าประวัติของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ และไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแก่นแท้ของความศรัทธา

 

เคยมีคำอธิบายในหนังสือเล่มอื่น ว่าคณะธรรมทูตแห่งการภาวนาเป็นจิตตารมณ์ที่กระตุ้นให้คริสตชนใส่ใจในผลประโยชน์ของพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า กล่าวคือ เพื่อให้พระอาณาจักรของพระคริสตเจ้ามาถึงอย่างแท้จริง ดังนั้นคณะธรรมทูตแห่งการภาวนาจึงมีคติพจน์ว่า “พระอาณาจักรของพระองค์จงมาถึง” คณะธรรมทูตรับเอาเจตนารมณ์ และความปรารถนาของพระหฤทัยของพระเยซูเจ้ามาเป็นของตนเอง อาจกล่าวได้ด้วยเช่นกันว่ามาร์กาเร็ต มารีย์ อาลาก๊อก ได้เสนอไว้ในจดหมายลงวันที่ 10 สิงหาคม 1689 ถึงคุณพ่อครัวเซท์ ว่า “ถ้าสามารถก่อตั้งสมาคมหนึ่งเพื่อเป็นเกียรติแก่ความศรัทธานี้ (ต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์) ให้เป็นสมาคมที่สมาชิกมีส่วนร่วมแบ่งปันความดีของกันและกัน เมื่อนั้น ดิฉันคิดว่าสมาคมดังกล่าวจะเป็นที่ยอมรับของพระหฤทัยของพระเจ้ามากที่สุด”ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคณะธรรมทูตแห่งการภาวนาเป็นพลังหนึ่งเดียว หรือเป็นความพยายามของชาวคาทอลิก ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพื่อส่งเสริมความศรัทธานี้ แต่กระนั้นก็ยังไม่ใช่ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

 

เมื่อเราได้อธิบายแล้วว่าอะไรบ้างที่ไม่ใช่ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ เราจึงอาจจะสามารถอธิบายได้ว่าอะไรคือ “ความศรัทธา”

“ความศรัทธา (devotion)” ในรูปเอกพจน์ หมายถึงความผูกพัน หรือความซื่อสัตย์อย่างกระตือรือร้นต่อบุคคล หรือจุดประสงค์อย่างหนึ่ง แต่ในรูปพหูพจน์ (devotions) หมายถึงการภาวนา และกิจการที่แสดงความศรัทธา ภรรยาหรือสามีที่มีความรักต่อกันมาก คือบุคคลที่มีจิตใจผูกพันกับคู่สมรส และไม่ว่าในสถานการณ์ใดจะไม่ยอมพรากจากกัน หรือหยุดปรนนิบัติรับใช้คู่สมรส ทั้งในยามมีชีวิต และแม้แต่หลังความตาย ประวัติศาสตร์ และประเพณีอินเดีย จึงสร้างและยึดถือธรรมเนียม “สตี” (sati) และมหากาพย์เรื่องรามเกียรติ์ จึงได้สร้างนางสีดา ผู้ไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างสงบสุขในราชสำนัก หรือในบ้านได้ แต่มุ่งมั่นจะติดตามพระสวามีของนางเข้าป่าไปตราบใดที่พระรามยังถูกเนรเทศ

 

นอกจากความหมายต่าง ๆ ของ “ความศรัทธา” แล้ว พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด ฉบับพกพา ยังเพิ่มเติมอีกหนึ่งความหมาย ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายมากที่สุด และสรุปทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างไม่มีที่ติ และคำนั้นคือ “การยอมมอบตัว” การยอมมอบตัวจะต้องเป็นการตอบสนองต่อคำขอร้อง หรือกิจการของอีกบุคคลหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นในแง่ของศาสนา และชีวิตจิต จึงอาจพูดได้ว่าเป็นการยอมมอบตนเองแด่พระเจ้าได้เพียงผู้เดียว

 

ดูเหมือนว่า นักบุญฟรังซิส แห่งซาลส์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนแนวทางเจริญชีวิตจิต เป็นบุคคลที่ให้คำจำกัดความของ “ความศรัทธา” ได้ดีที่สุด เขาเขียนในหนังสือชื่อ Introduction to the Devout Life (คำแนะนำสู่ชีวิตที่ศรัทธาร้อนรน) ว่า “ความศรัทธาเป็นการคาดหมายล่วงหน้าถึงความรักพระเจ้า และไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากความรักพระเจ้าที่แท้จริงเท่านั้น!” หากจะตีความให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ก็อาจตั้งคำถามได้ว่า คำว่า “ความรักพระเจ้า” (Love of God) ควรหมายถึงความรักของพระเจ้า หรือความรักต่อพระเจ้า (ซึ่งข้อนี้ยังกำกวม) ทั้งสองคำตอบเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่จะดียิ่งกว่า ถ้าจะยึดถือทั้งสองความหมาย อีกนัยหนึ่งคือ ความรักของมนุษย์ต่อพระเจ้าย่อมเป็นการตอบสนองความรักของพระเจ้าเสมอ ดังเช่นที่นักบุญยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสารบอกเราว่า “พระองค์ทรงรักเราก่อน”

 

เราจะขออ้างคำพูดของนักประพันธ์อีกสองท่าน คนหนึ่งคือโรมาโน การ์ดินี พระสงฆ์ชาวเยอรมัน ผู้ประพันธ์หนังสือประวัติชีวิตอันยอดเยี่ยมของพระเยซูคริสตเจ้า ชื่อ The Lord (องค์พระผู้เป็นเจ้า) ในหนังสือชื่อ Prayer in Life (การภาวนาในชีวิต) เขาเขียนว่า “ความศรัทธาซึ่งเป็นที่นิยม สำคัญต่อชีวิตนักบวชเท่ากับที่คน ครอบครัว ประเทศ และบ้าน สำคัญต่อชีวิตตามธรรมชาติ” ดร. ดักลาส วี. สเตียร์ สืบหารากของคำว่า “ความศรัทธา” และกล่าวไว้ใน Door to Life (ประตูสู่ชีวิต) ว่า “ความศรัทธา ซึ่งมีรากมาจากศัพท์ภาษาละติน ว่า ‘การปฏิญาณ’ หมายถึงการอุทิศตน การผูกมัดตนเอง ถวายตนให้แก่บุคคลหรือสิ่งที่ตนเลื่อมไสศรัทธา โดยไม่คำนึงว่าจะต้องเสียสละ หรือได้รับความทุกข์ยากมากสักเท่าไร” และนี่คือสิ่งที่นำเราไปสู่เป้าหมายของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้า

» ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในอดีต และปัจจุบัน

» รากฐานความเชื่อของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า

» คำขอร้องของพระสันตะปาปา

» ความศรัทธานี้ และความศรัทธาอื่นๆ

» พระหฤทัยรักของพระเยซูคริสตเจ้า

» พระบุคคลของพระเยซูคริสตเจ้า

» สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย

» ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบัน

» การชดเชยบาปต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» การปลอบโยนพระเยซูเจ้า

» คำสัญญา 9 ข้อ ของพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» ความเหมาะสมของความศรัทธาในสหัสวรรษที่ 3

» บทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ และบทเร้าวิงวอนอื่นๆ

» บทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» คำอธิบายคำวิงวอนในบทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» ภาคผนวก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย