ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย

 

ในคำสั่งสอนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ (ในสมณสาสน์) พระสันตะปาปาทั้งหลายทรงใช้คำว่า “สัญลักษณ์” และ “เครื่องหมาย” แห่งความรักบ่อยครั้ง พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ทรงเขียนใน Haurietis aquas ว่า “พระคริสตเจ้าทรงเสนอพระหฤทัยของพระองค์ ในคำพูดที่ชัดเจน และย้ำบ่อยครั้ง ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ควรจะชักนำให้มนุษย์มารู้จัก และยอมรับความรักของพระองค์ และในเวลาเดียวกัน พระองค์ทรงตั้ง(หัวใจนี้)ให้เป็นเครื่องหมาย และหลักประกันพระเมตตาของพระองค์” คำพูดเหล่านี้มีนัยสำคัญอย่างไร?

 

เราคุ้นเคยดีกับการใช้คำว่า “เครื่องหมาย” โดยนักบุญยอห์นในพระวรสารของท่าน เมื่ออ้างถึงอัศจรรย์ของพระเยซูเจ้า รวมทั้งการใช้คำนี้ในพิธีกรรม เช่น คำนิยามสำหรับศีลศักดิ์สิทธิ์ที่นิยมใช้กันทั่วไปว่า “เครื่องหมายภายนอกของพระหรรษทานภายใน ซึ่งพระเยซูคริสตเจ้าทรงสถาปนาขึ้น” ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรมาตราที่ 840 กำหนดคำนิยามไว้อย่างชัดเจนว่า วัตถุที่ใช้ในการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องหมายทางธรรมชาติของผลที่เกิดขึ้นในวิญญาณ แต่สัญลักษณ์หมายถึงสิ่งที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ (เช่นธงชาติ หรือ กำปั้น)

 

คุณพ่อแบงเวล อธิบายว่า พระหฤทัยของพระเยซูเจ้าเป็น “หัวใจที่ทำด้วยเลือดเนื้อ เป็นเครื่องหมาย และสัญลักษณ์ของความรักของพระองค์” เมื่อพิจารณาตามหลักไวยากรณ์ คำว่า “และ” เป็นคำที่เชื่อมต่อ แต่คำว่า “หรือ” เป็นคำที่แยกความหมาย เมื่อคุณพ่อแบงเวล ใช้ทั้งคำว่าเครื่องหมาย และสัญลักษณ์ จึงแสดงนัยว่า “สัญลักษณ์” เป็นการเพิ่มความหมายให้กับคำว่า “เครื่องหมาย” ถ้าสองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน เขาคงใช้คำว่า “หรือ” แต่ก็เป็นไปได้ว่าเขาใช้คำว่า “สัญลักษณ์” เพื่อสนับสนุนคำว่า “เครื่องหมาย” เอกสารของพระสันตะปาปาไม่ได้แยกความแตกต่างของสองคำนี้ แต่ในประโยคของพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 ที่อ้างถึงข้างต้น ได้เพิ่มคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งให้แก่ความรักของพระเยซูเจ้า กล่าวคือ ความรักนั้นประกอบด้วยความเวทนาสงสาร และความเมตตา

 

ดูเหมือนราห์เนอร์ จะคิดว่า คำว่า “เครื่องหมาย” ไม่ใช่คำที่เหมาะสมที่สุดเมื่อพูดถึงความรัก เพราะหัวใจอาจปราศจากความรัก และอาจเป็นเพียงความรักที่ฉาบฉวยเท่านั้น มนุษย์จะเรียนรู้ได้ว่าแกนในสุดของความเป็นจริงคือความรัก และความรักคือแกนในสุดของความเป็นจริง เมื่อมนุษย์รู้จักพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า (หน้า 333) ถ้าเราพูดถึงอารมณ์โดยทั่วไป หัวใจอาจเป็น “เครื่องหมาย” เพราะความพอใจ ความรัก ความเกลียด ความโกรธ ล้วนออกมาจากแหล่งเดียวกัน คือหัวใจ จะเห็นได้ว่าเขามักใช้คำว่า “สัญลักษณ์” เมื่อเขาเขียนว่า “เนื่องจากภาพลักษณ์ของหัวใจทางกายวิภาคเป็นเพียงสัญลักษณ์ (ไม่ใช่การใช้แทนตัว) จึงสามารถ และควรจะวาดไม่ให้เหมือนจริง!”

ดังนั้น เราจึงควรสรุปสิ่งที่กล่าวไว้ทั้งหมดเกี่ยวกับความศรัทธานี้ไว้ดังนี้ :

 

“ในความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ‘เป้าหมาย’ ที่คู่ควรคือพระบุคคลของพระเยซูเจ้าเสมอ ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานของความศรัทธาจึงเป็น cult of latria เพราะพระบุคคลของพระเยซูเจ้าคู่ควรแก่การสักการะบูชา บทภาวนาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นการภาวนาต่อพระบุคคลของพระเยซูเจ้าโดยตรง (เช่น บทภาวนาขอชดเชยบาปของพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 สำหรับวันฉลองพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์) และไม่ได้เป็นเพียงการภาวนาต่อพระหฤทัยโดยตรงเท่านั้น การภาวนาต่อพระหฤทัยอาจเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในการใช้ภาษามนุษย์โดยทั่วไป (เช่นที่คู่รักใช้คำว่า ‘หวานใจ’) และในธรรมเนียมปฏิบัติของพระศาสนจักร ท้ายที่สุด คำเหล่านี้ย่อมหมายถึงพระบุคคลของพระเยซูเจ้า แต่ควรมีดุลพินิจในการใช้

“พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์จึงได้รับการถวายพระเกียรติ (cult of Latria) โดยอ้างถึง ‘พระหฤทัย’ ของพระองค์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางภายในที่ลึกที่สุดของทัศนคติของพระองค์ที่ทรงมีต่อเรา ซึ่งเรารับรู้ได้จากประวัติศาสตร์แห่งความรอด…ซึ่งท้ายที่สุดก็คือ ความรักอันสุดจะหยั่งได้ อันเป็น ‘แก่นแท้’ ภายในที่ลึกที่สุดของพระเจ้า ซึ่งประทานพระหรรษทานแก่เราโดยไม่คิดมูลค่า และรวมไว้ด้วยทัศนคติทั้งหมดของพระเยซูเจ้า” (การสืบสวนทางเทววิทยา หน้า 336)

หมายเหตุ  
1.      ข้อความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาอื่นๆ ซึ่งพระศาสนจักรรับรอง เช่นความศรัทธาต่อพระพักตร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือพระโลหิตล้ำค่า

2.      การกล่าวถึง “เป้าหมายที่เป็นวัตถุ” ของความศรัทธานี้จะเป็นการแยกพระหฤทัยออกจากพระบุคคลของพระเยซูเจ้า เนื่องจากพระหฤทัยคือศูนย์กลางแท้จริงของภวันต์ (being) ที่ครบบริบูรณ์ และควรมองในแง่ขององค์รวม เช่นเดียวกับการอ้างถึง “เป้าหมายอย่างเป็นทางการ” ของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ เมื่อพระเจ้าทรงติดต่อกับมนุษย์ผู้ตกในบาป (และโลกที่ตกในบาป)และประทานความรักของพระองค์

» ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในอดีต และปัจจุบัน

» รากฐานความเชื่อของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า

» คำขอร้องของพระสันตะปาปา

» ความศรัทธานี้ และความศรัทธาอื่นๆ

» พระหฤทัยรักของพระเยซูคริสตเจ้า

» พระบุคคลของพระเยซูคริสตเจ้า

» สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย

» ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบัน

» การชดเชยบาปต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» การปลอบโยนพระเยซูเจ้า

» คำสัญญา 9 ข้อ ของพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» ความเหมาะสมของความศรัทธาในสหัสวรรษที่ 3

» บทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ และบทเร้าวิงวอนอื่นๆ

» บทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» คำอธิบายคำวิงวอนในบทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» ภาคผนวก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย