ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์
การชดเชยบาปต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์
ในการเผยแสดงของพระเยซูเจ้าต่อมาร์กาเร็ต มารีย์ อาลาก๊อก เราไม่อาจมองข้ามวิธีการที่ชัดเจนได้ ในการประจักษ์ครั้งแรก พระองค์ทรงเลือกมาร์กาเร็ต มารีย์ เป็นสานุศิษย์แห่งพระหฤทัยของพระองค์ และทรงแสดงความสนิทสนม โดยทรงอนุญาตให้เธออิงศีรษะแนบพระอุระของพระองค์ ซึ่งไม่ต่างจากอภิสิทธิ์ที่อัครสาวกยอห์นได้รับ ในภายหลัง อัครสาวกผู้นี้จะเป็นพยานยืนยันความรักของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงถูกแทงที่สีข้างด้วยหอก และพระหฤทัยถูกเปิดออก และได้เผยแพร่สารของพระผู้ทรงถูกตรึงกางเขน คือสารแห่งความรัก มาร์กาเร็ต มารีย์ก็เช่นกันที่จะต้องเผยแพร่ และแสดงให้มนุษย์ประจักษ์ชัดถึงความปรารถนาของพระองค์ที่จะมอบความบริบูรณ์แก่มนุษย์ด้วยขุมทรัพย์แห่งพระหฤทัยของพระองค์ คือพระหรรษทานแห่งความศักดิ์สิทธิ์ และความรอด ในการประจักษ์ครั้งใหญ่เป็นครั้งที่สอง เมื่อสัญลักษณ์ของกางเขน มงกุฎหนามที่รัดรอบพระหฤทัย และเปลวไฟที่พวยพุ่งออกมาจากพระหฤทัย ได้ทำให้ความเข้มข้นและความซาบซึ้งในความรักเพิ่มขึ้นจนเพียงพอแล้ว พระเยซูเจ้าจึงได้ตรัสถึงความอกตัญญูของมนุษย์ และขอให้ทำการชดเชยความอกตัญญูนั้น และบาปของมนุษย์ และความเย็นชาที่พระองค์ได้รับ แม้แต่จากบุคคลที่พระองค์ทรงเลือกสรร พระองค์ทรงเอ่ยถึงการรับศีลมหาสนิทบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการรับศีลมหาสนิทเพื่อชดเชยบาปในวันศุกร์ต้นเดือนทุกเดือน ระหว่างการประจักษ์ครั้งที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1674 ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า พระองค์ได้ทรงสั่งสอนหลายสิ่งหลายอย่างก่อนจะทรงเรียกร้องการชดเชยบาป ในความศรัทธาทั้งหมด องค์ประกอบนี้ต่างหากที่ยากที่จะเข้าใจ และยากยิ่งกว่าที่จะปฏิบัติ และบ่อยครั้งที่เรียกร้องความกล้าหาญขั้นวีรชนจากผู้ศรัทธาในพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์เลยทีเดียว มันง่ายกว่าที่จะถวายตัวอย่างตื่นเต้นและกระตือรือร้นแด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนทั่วโลกได้ตอบสนองอย่างคึกคัก เมื่อพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 ทรงร้องขอให้มีทัศนคติในการถวายตัว แม้แต่ระหว่างสมณสมัยของพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 สมณสาสน์ Quas primas พระองค์ทรงกล่าวถึงพระคริสตกษัตริย์เป็นอันดับแรก (ค.ศ. 1925) และการชดเชยบาปมีความสำคัญเป็นอันดับรอง และทรงกล่าวถึงการชดเชยบาปในอีกสามปีต่อมา ในสมณสาสน์ Miserentissimus Redemptor (ค.ศ. 1928)
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ความสำคัญของการชดเชยบาปได้ถูกเก็บงำไว้ จนกระทั่งพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 ทรงอธิบายอย่างเป็นทางการ หลายทศวรรษก่อนหน้านั้น แบงเวล ไม่รีรอที่จะชี้ให้เห็นว่าการชดเชยบาปเป็นองค์ประกอบสำคัญของความศรัทธานี้ ว่า เนื่องจากความรักของพระเยซูเจ้าแสดงตัวต่อวิญญาณที่ศรัทธา ในฐานะที่เป็นความรักที่ถูกดูหมิ่น และจาบจ้วง โดยเฉพาะในศีลมหาสนิท ความรักที่แสดงออกในความศรัทธานี้จึงควรมีลักษณะของการชดเชย และดังนั้น กิจการชดเชยความผิด การรับศีลมหาสนิทเพื่อชดเชยบาป และความสงสารในความทุกข์ทรมานของพระเยซูเจ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ (สารานุกรมคาทอลิก เล่ม 3 หน้า 165)การชดเชยบาปหมายถึงอะไร? พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 ทรงอธิบายอย่างชัดเจนใน Most merciful Redeemer (พระผู้ไถ่ผู้ทรงเมตตายิ่ง) ไว้ดังนี้ เป็นความจริงที่จิตตารมณ์แห่งการชดเชยบาป มีความสำคัญเป็นอันดับแรก และอันดับสูงสุด ในการนมัสการพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้า และไม่มีสิ่งใดจะสอดคล้องยิ่งไปกว่านี้กับต้นกำเนิด ลักษณะเฉพาะตัว อานุภาพ และกิจศรัทธาที่เด่นชัดของรูปแบบของความศรัทธานี้ ดังที่ปรากฏจากบันทึกประวัติศาสตร์ พระคริสตเจ้าทรงบ่นว่าพระองค์ทรงถูกคนอกตัญญูทำร้ายอย่างหนักหลายครั้ง เพื่อลบล้างความผิดเหล่านี้ พระองค์ทรงแนะนำให้กระทำหลายสิ่ง และโดยเฉพาะสิ่งต่อไปนี้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่พระองค์พอพระทัยมากที่สุด กล่าวคือ ให้มนุษย์เข้าไปยังพระแท่นทุกวันศุกร์ต้นเดือนด้วยจุดประสงค์เพื่อจะชดเชยบาป และทำสิ่งที่เรียกว่า การรับศีลมหาสนิทเพื่อชดเชยบาป และควรสวดบทวิงวอนขอชดเชยบาป และภาวนาเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเต็ม ซึ่งจะเรียกได้อย่างเหมาะสมว่า ชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์
คาร์ล ราห์เนอร์ อธิบายความเชื่อเกี่ยวกับการชดเชยบาปว่า ในการแสดงความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์นี้ พระเยซูเจ้าทรงได้รับการถวายพระเกียรติ (honour of latria) โดยอ้างถึงความรักซึ่งไถ่กู้ของพระหฤทัยของมนุษย์-พระ การถวายพระเกียรตินี้ต้องรวมไว้ด้วยการแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกันในความสำเร็จของความรักซึ่งไถ่กู้นี้ และในชะตากรรมของความรักนี้ในโลก กล่าวคือ การชดเชยบาป การชดเชยบาปประกอบด้วยสิ่งสำคัญ คือการยอมรับด้วยความวางใจ ความนบนอบ และความรักในการร่วมแบ่งปันชะตากรรมของพระเยซูเจ้า ในการต่อสู้กับรูปลักษณ์ของบาปในโลก คือร่างกาย ความมืด การเบียดเบียนข่มเหง การเหินห่างจากพระเจ้า (ความสิ้นหวัง?) ดังนั้น การชดเชยทั้งหมดจึงเป็นการมีส่วนร่วม ในพระคริสตเยซู ในชะตากรรมของพระกายทิพย์ เพื่อความรอดและเพื่อขอพรให้แก่พระกายทิพย์ทั้งมวล งานที่ดีที่เหนือธรรมชาติย่อมมี บทลงโทษ ดังนั้น จึงมีลักษณะที่เป็นกิจใช้โทษบาป ตราบใดที่การมีส่วนร่วมในพระทรมานของพระคริสตเจ้า ได้รับการยอมรับอย่างซื่อสัตย์ และด้วยความรักในพระหรรษทานของพระองค์ งานที่ดีทุกอย่างย่อมเป็นการชดเชยบาปด้วย แม้ว่าจะไม่ระบุจุดประสงค์นั้นอย่างชัดเจนก็ตาม แต่ยังคงต้องแสวงหาคุณธรรมด้านศีลธรรมด้วยเช่นกัน (การสืบสวนทางเทววิทยา หน้า 345)
ความคิดเกี่ยวกับการชดเชยบาปนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เก่าแก่เท่ากับนักบุญเปาโล ผู้พูดถึงตัวท่านเองว่า ท่านกำลัง เติมเต็ม โดยการช่วยสนับสนุน ในนามของพระกายทิพย์ ในยัญบูชาเพื่อชดเชยบาปของพระคริสตเจ้า มิใช่เพราะยัญบูชาอันไร้ขอบเขตนี้มีสิ่งใดที่ขาดไป แต่เพื่อเป็นเครื่องหมายของการร่วมแบกกางเขนของพระคริสตเจ้าด้วยความรัก เราทำการชดเชยบาปในองค์พระคริสตเจ้า และถวายแด่พระบิดา หรือพระตรีเอกภาพ นี่คือองค์ประกอบพื้นฐานของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ความศรัทธานี้จึงไม่ได้ประกอบด้วยเพียงการท่องบทภาวนาขอชดเชยบาป ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย หากแต่ต้องนำไปปฏิบัติ โดยการแบกกางเขนของพระคริสตเจ้า และติดตามพระองค์ หลังจากที่เราเลิกคิดถึงตนเองแล้ว (ลก 9:23) เรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ในการปฏิบัตินั้น เราต้องฝืนความรู้สึกตามธรรมชาติของตนเองอย่างรุนแรง เทววิทยาอภิปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับการชดเชยบาป เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก ราห์เนอร์ กล่าวว่า พระคริสตเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้เรามีส่วนร่วมแบ่งปันในพระองค์ ในความทุกข์ทรมานเพื่อชดเชยบาปของชาวโลก กล่าวคือ เราผู้มีบทบาทในชะตากรรมของความรักของพระองค์ในโลก ได้รับอนุญาต และต้องสืบสานพระทรมานและความตายของพระองค์ต่อไปในพระกายทิพย์ ของพระศาสนจักร จนกว่าจะสิ้นสุดกาลเวลา (เอกสารเดียวกัน หน้า 346-7)
หมายเหตุ: บางคนกล่าวว่า คนที่ศรัทธาร้อนรนย่อมรู้สึกแสลงหู เมื่อได้ยินว่าพระเยซูเจ้าทรงถวายการชดเชยให้พระองค์เอง เมื่อพระองค์ทรงถวายยัญบูชาเพื่อไถ่กู้บนไม้กางเขน (เช่นที่ระบุในบทอธิษฐานขอชดเชยบาปของพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11) คนเหล่านี้ถามว่า จะมีใครที่ชดเชยบาปถวายแก่ตนเองได้? พวกเราทำเช่นนี้ไม่ได้ แต่พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นมนุษย์-พระ ทรงทำได้เนื่องจากพระธรรมชาติของพระองค์ คือพระเยซูเจ้าทรงถวายการชดเชยในฐานะมนุษย์ ให้แก่พระองค์เองผู้มีฐานะเป็นพระวจนาตถ์ (พระบุคคลที่สองในพระตรีเอกภาพ) ดังนั้น คนศรัทธาจึงไม่ควรรู้สึกแสลงหูมากไปกว่าเมื่อเขาได้ยินประโยคว่า พระเยซูเจ้าทรงภาวนา (ในฐานะมนุษย์) ต่อพระองค์เอง (ในฐานะพระเจ้า) ทั้งสองประโยคนี้ถูกต้องทั้งด้านความเชื่อ และเทววิทยา แต่อาจไม่เหมาะสมในแง่ของการประกาศถึงความรอด!» ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในอดีต และปัจจุบัน
» รากฐานความเชื่อของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า
» ความศรัทธานี้ และความศรัทธาอื่นๆ
» พระหฤทัยรักของพระเยซูคริสตเจ้า
» ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบัน
» การชดเชยบาปต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์
» คำสัญญา 9 ข้อ ของพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์
» ความเหมาะสมของความศรัทธาในสหัสวรรษที่ 3
» บทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ และบทเร้าวิงวอนอื่นๆ
» บทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์
» คำอธิบายคำวิงวอนในบทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์
» ภาคผนวก