สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

แสวงหาสาระของประชาธิปไตยสำหรับเมืองไทย

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

7

ประชาธิปไตยสมบูรณ์ - สาระของประชาธิปไตย

อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ใช้คำว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์ ข้าพเจ้าใช้คำว่าสาระของประชาธิปไตย

ถ้าเราจะหาสาระจากประชาธิปไตย คงต้องศึกษางานของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ยิ่งกว่าที่เราได้กระทำกันดังที่แล้วๆ มา โดยเราต้องตราไว้ด้วยว่า เมื่อท่านเป็นผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8 นั้น ท่านได้อาราธนาพุทธทาสภิกขุไปสนทนาธรรมที่ทำเนียบท่าช้าง 4 วันซ้อน วันละหลายชั่วโมง เพื่อหาหัวข้อธรรมสำหรับนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดธรรมิกสังคมนิยม ความข้อนี้ ก็น่าจะมีการศึกษาถึงสาระดังกล่าว และหาทางสานต่อให้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าฝ่ายเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง ถ้าต้องการไปพ้นวาทศิลป์ หรือต้องการอำนาจในระยะสั้น คงต้องหาทิศทางที่เป็นนามธรรมอันเหมาะสมกับวัฒนธรรมของเรา เพื่อให้เกิดสาระของประชาธิปไตยที่เข้าได้กับวัฒนธรรมไทย ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งเป็นเรื่องของความกึ่งดิบกึ่งดี และกึ่งจริงกึ่งเท็จ

ความยุติธรรมทางสังคมกับการให้เหตุผลทางด้านสาธารณะ(หัวใจประชาธิปไตย)

การที่จะเข้าใจได้ถึงความยุติธรรมทางสังคมนั้น จำเป็นยิ่งนักที่ต้องมีการให้เหตุผลทางด้านสาธารณะ และนี่คือหัวใจของประชาธิปไตย หาไม่ชนชั้นปกครองจำนวนน้อยเท่านั้น ที่ถือตัวว่าตนรู้ดีว่าอะไรถูกต้องดีงาม โดยชนชั้นนั้นเชื่อว่าชนชั้นล่างโง่เขลาเบาปัญญา ตัดสินความถูกต้องชั่วดีไม่ได้ ดังเราอาจกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยคือการปกครองในระบอบที่มีการอภิปรายกันได้อย่างกว้างขวาง จนได้รับความสนับสนุนอย่างไม่มีขอบเขตอันจำกัด

เล่ากันว่าเคลเมนต์ แอตลี่ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ”พรรคกรรมกร” ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไปพูดที่ออกซฟอร์ดในปี ค.ศ. 1957 ว่า “ประชาธิปไตยคือรัฐบาลที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่จะได้ผลก็ต่อเมื่อทำให้คนหยุดพูดเสียได้” ที่ว่านี้คือสาระของประชาธิปไตย กล่าวคือ การแสดงทัศนคติอย่างเสรี จนเป็นที่ยอมรับกันได้ในหมู่มหาชน แต่ตามรูปแบบแล้ว ประชาธิปไตยคือการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ให้มีผู้แทนราษฎรเข้าไปอยู่ในรัฐสภา เพื่อจะให้ฝ่ายที่คุมเสียงข้างมากในสภาได้เป็นรัฐบาล

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย