วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
ตำนานสิงหนวัติกุมาร
(เรียบเรียงจาก อุดม รุ่งเรืองศรี )
เรื่องนี้เริ่มจากการที่สิงหนวัติกุมาร โอรสพระเจ้าเทวกาลแห่งนครไทยเทศ
คือเมืองราชคฤห์ อพยพผู้คนออกจากเมืองราชคฤห์เมื่อ พ.ศ. 430
เดินทางไปถึงชัยภูมิที่เคยเป็นแคว้นสุวรรณโคมคำมาก่อนไม่ใกล้แม่น้ำโขงนัก
เจ้าชายสิงหนวัติราชกุมารได้พบกับพันธุนาคราช
ซึ่งพันธุนาคราชได้แนะนำให้เจ้าชายสิงหนวัติตั้งเมืองอยู่ในที่นั้น
แล้วกลับวิสัยเป็นพระยานาคขุดแผ่นดินให้เป็นคูเมือง
เจ้าชายสิงหนวัติจึงตั้งเมืองในที่นั้น และตั้งชื่อเมืองว่า
เมืองนาคพันธุสิงหนวัตินคร จากนั้นอีก 3 ปี
เจ้าชายสิงหนาวัติก็ได้แผ่อำนาจปราบปรามหัวเมืองต่างๆ ในเขตนั้น
และปราบได้ล้านนาไทยทั้งมวล
ถัดจากรัชสมัยของเจ้าสิงหนวัติแล้ว กษัตริย์องค์ต่อมา คือ
โอรสของพระเจ้าสิงหนวัติ คือ พระยาพันธนติ ถัดจากพระยาพันธนติ ก็คือ พระยาอชุตราช
และเมืองนี้ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็นเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น
พระยาอชุตราชขอนางปทุมวดีจากกัมมโลฤาษี มาเป็นมเหสี
ยุคนี้มีการสร้างพระธาตุดอยตุงและพระธาตุดอยกู่แก้ว
กษัตริย์องค์ต่อมาคือพระมังรายนราช โอรสของมังรายนราช คือองค์เชืองนั้น
ครองเมืองเดิม ส่วนโอรสชื่อไชยนารายณ์ไปตั้งเมืองใหม่ ชื่อไชยนารายณ์เมืองมูล
เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแสนก็มีกษัตริย์ปกครองต่อๆ กันมาจนถึง จ.ศ.279
(พ.ศ.1460)จึงเสียแก่พระยาขอมแห่งเมืองอุโมงค์เสลานคร
กษัตริย์ของเมืองโยนกฯถูกขับให้ไปอยู่ที่เวียงสี่ทวง
ที่นั้นพระองค์พังได้โอรสที่เก่งกล้า คือพรหมกุมาร
เมื่อพรหมกุมารอายุได้ 16 ปี ก็เสนอให้พระบิดาแข็งข้อต่อขอม
และตัวเองเป็นแม่ทัพเข้าต่อสู้กับพวกขอม
และสามารถขับไล่ขอมไปทางใต้จนถึงเขตเมืองลวรัฐ
พระองค์พังได้กลับเป็นกษัตริย์ในโยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสนอีกครั้งหนึ่ง ใน จ.ศ.299
(พ.ศ.1480) พรหมกุมารต่อมาได้ตั้งเวียงไชยปราการ และเป็นกษัตริย์ครองเมืองนี้
เมื่อสิ้นพระองค์พรหมราชแล้วโอรส คือพระไชยสิริก็ได้ครองเมืองต่อมา
เมื่อถูกทัพมอญคุกคามเข้ามา พระองค์ไชยสิริก็พาชาวเมืองอพยพ เมื่อจ.ศ.๒๖๖
(พ.ศ.1547) ลงไปทางใต้และไปตั้งเมืองอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร
ในเมืองโยนกนครราชธานีศรีช้างแสนนั้นมีกษัตริย์เสวยเมืองต่อมา
จนถึงสมัยพระองค์มหาชัยชนะ และในปี จ.ศ.467 (ที่ถูกควรเป็น 376 พ.ศ.1558)
ชาวเมืองจับปลาตะเพียนเผือกยักษ์ (ควรเป็นปลาไหลเผือกยักษ์)
จากแม่น้ำกกแล้วแบ่งกันกินทั่วเมือง
และในคืนนั้นเมืองโยนกนครราชธานีไชยบุรีศรีช้างแส่นก็ล่มลง กลายเป็นหนองน้ำใหญ่
ขุนพันนาและนายบ้านทั้งปวงพร้อมใจกันเลือกนายบ้านผู้หนึ่งชื่อขุนลัง
เป็นหัวหน้าของชนกลุ่มนั้นช่วยกันสร้างเวียงปรึกษาขึ้นที่ริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตก
และอยู่ทางตะวันออกของเวียงโยนกเดิม นับเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์กษัตริย์
ผู้ที่ครองเวียงปรึกษาต่อมานั้นได้รับการคัดเลือกกันเป็นครั้งคราว เรียกว่า
"ไพร่แต่งเมือง" รวมเป็นขุนผู้ครองเวียงปรึกษา 16 คน สืบต่อกันมาในช่วง 93 ปี
จึงเป็นอันจบตำนานสิงหนวัติกุมาร
หมายเหตุ
ตำนานสิงหนวัติกุมารนี้ ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่งหรือปีที่แต่ง
ได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 ซึ่งกรมศิลปากรพิมพ์ขึ้นเมื่อ
พ.ศ.2479 มาแล้ว ต่อมาผู้ที่ศึกษาตำนานเรื่องนี้อย่างละเอียด คือ นายมานิต
วัลลิโภดม และได้นำเอาผลงานการศึกษาดังกล่าวมาตีพิมพ์
ในนามของคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี
จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2516