วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

พระอภัยมณี

ตอน มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์

ฝ่ายทัพลังกาล่าทัพกลับมากรุงลังกาได้ทรัพย์สินมาด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อมาถึงเมืองใหม่ก็ไปเฝ้าเจ้าสิงหล ทูลความให้ทราบแล้วถวายเพชรเตร็จตรัสให้เห็น พระมังคลากลัวความจะทราบไปถึงพระชนนี จึงให้มนตรีลอบเอาฝังไว้ที่ลังกา แล้วห้ามมิให้ใครพูดถึงโคตรเพชร ส่วนพวกชาวเมืองการะเวกที่ได้มาเจ็ดพันคนนั้นให้

ใช้สีข้าวเช้าค่ำต้องตรำตราก
ตำดินตากตักน้ำทำถนน
เวลารุ่งหุงข้าวเลี้ยงชาวพล
ใช้แบกขนขุดลากเหนื่อยยากครัน ฯ

ฝ่ายมนตรีตัวโปรดเอาโคตรเพชรไปลอบฝัง แผ่นดินก็ลั่นครั่นครึกจนเวียงวังเจียนจะคว่ำ อีเลิ้งน้ำเป็นระลอกกระฉอก ต้นไม้ไกวกวัดสะบัดโบก ช้างม้าลาล้มลุกคลุกคลาน ทะเลลึกเป็นคลื่นคลั่งแผ่นดินไหวอยู่สามวัน ผู้คนต่างสงสัยโจษกันจำนรรจา

ฝ่ายองค์ละเวงนึกประหลาด จึงไปหาบาทหลวงถามความตามที่สงสัย แต่บาทหลวงไม่อาจบอก แกล้งพูดนอกคอกไปเรื่องอื่น นางจึงลากลับเรียก รำภา ยุพา สุลาลีวัน แล้วตรัสถามสามนางถึงลางที่เกิด นางยุพาทูลว่า

ซึ่งดินไหวตามตำราไม่ผาสุข
จะเกิดยุคยุทธนาโกลาหล
ข้าจับยามตามตำราจลาจล
ตั้งแต่ต้นปีเถาะเป็นเคราะห์ครัน ฯ

องค์ละเวงได้ฟังก็หวาดวิโยคโศกศัลย์ จึงตรัสถามว่าจะแก้กันได้อย่างไร นางยุพาทูลว่าให้ไพร่ฟ้า ข้าเฝ้าทั้งท้าวไทตั้งอยู่ในศีลสัตย์ ทั้งบวงสรวงดวงชะตาสุรารักษ์ ซึ่งพิทักษ์ทวาทศราศี ให้ปลูกศาลรอบขอบจังหวัดตั้งบัตรพลี ตัดโลภ หลง ละเมียผัว กินแต่ถั่วผักงารักษาศีล ไหว้ลมไฟน้ำ และฟ้าดิน เป็นเวลาหนึ่งปี จึงจะสิ้นมลทินภัย

นางวัณฬาว่าตำรับบังคับขาด
ประชาราษฎร์หรือมันจะละวิสัย
ต้องถือศีลกินบวชนั้นรวดไป
เห็นไม่ได้ดังตำราทั้งธานี

จะเกิดเข็ญเป็นทุกข์ถึงลูกหลาน แล้วคิดจะไปตรวจด่านกลัวว่าจะทำล้ำเหลือ จะเชื่อดีไปเที่ยวตีเมืองอื่น ด้วยเยาว์ความถึงมีชัยชนะก็ไม่สิ้นราชศัตรู เกิดความพยาบาทเบียดเบียนเป็นเสี้ยนหนาม

อันลูกเราเยาว์อยู่ไม่รู้ทุกข์
จะอาจอุกทำเข็ญเป็นไฉน
จะร้ายดีมิได้รู้ด้วยอยู่ไกล
หรือจะให้หามาเสียธานี ฯ

นางรำภาทูลว่า วิสัยไตรดายุค ย่อมเป็นศึกแล้วเป็นสุขทุกเมือง เมื่อถึงคราวชาวนครจะร้อนนั้น จะป้องกันอย่างไรก็ไม่หาย ไม่ถึงกรรมทำอย่างไรก็ไม่ตาย ถ้าถึงกรรมทำลายต้องวายปราณ การไปเที่ยวตรวจตราบ้านเมืองนั้นมีคุณ

ให้อยู่วังดังสตรีแม้มีศึก
ที่ตื้นลึกไม่สันทัดจะขัดสน
เสด็จไปได้สังเกตเหตุตำบล
ที่ขุมพลกลศึกได้ฝึกปรือ

จะหนีทุกข์ยุคเข็ญเหมือนเช่นว่า
อยู่ใต้ฟ้าหนีฝนจะพ้นหรือ
แม้เมืองใดใช้คนดีมีฝีมือ
จะเลื่องชื่อลือเลิศประเสริฐชาย
ฯลฯ

องค์ละเวงได้ฟังคำนางรำพาแล้วก็ว่าชอบเชิงความตามวิสัย แต่เห็นว่าหน่อกษัตริย์ยังเยาว์ ก็จะให้ทำคำสอนไปไว้เพื่อเตือนใจ แล้วเขียนคำกำหนดทศพิธ ใส่กล่องแก้วให้ม้าใช้นำไปให้หน่อกษัตริย์

ฝ่ายพระมังคลาออกอำมาตย์อยู่เกิดแผ่นดินไหวอยู่สามวัน พระมังคลาลอบสั่งโหรให้ทำนายทายความดีไว้ ให้เป็นที่ชื่นใจไพร่พล โหรว่าเพชรแก้วเก็จเอกจากการะเวกมาถึงถิ่นจึงเกิดแผ่นดินไหว พระมังคลาได้ทรงฟังโหรก็ให้รางวัลแก่โหรเฒ่า พอผู้ถือหนังสือสารของพระมารดามา ก็มีความยินดีให้อ่านสารมีความว่า เรื่องแผ่นดินไหวนั้นเป็นลางใหญ่บ้านเมืองจะเคืองเข็ญ ให้พระมังคลารักษาแต่เมืองลังกา อย่าคิดไปตีบ้านเมืองอื่นให้เคืองกันและสอนว่า

ประเพณีที่อุดมบรมจักร
บำรุงรักษ์ราชัยมไหศวรรย์
เสวยสุขทุกเวลาทิวาวัน
เพราะทรงธรรม์ทศพิธวิสดาร

ประการหนึ่งซึ่งรักษาเมตตาตั้ง
ให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทุกสถาน
ใครยากเย็นเข็ญใจจงให้ทาน
อภิบาลบำรุงทั้งกรุงไกร
ฯลฯ

หนึ่งอย่าคิดริษยาพยาบาท
อย่ามุ่งมาดหมายถวิลรูปกลิ่นเสียง
คนสอพลอทรลักษณ์อย่ารักเลี้ยง
ให้แท้เที่ยงทรงธรรมจึงจำเริญ
ฯลฯ

เมื่ออ่านสารจบแล้วก็เห็นชอบด้วยทั้งสิ้น แล้วเก็บสารของพระมารดาซ่อนไว้ในที่ไสยา จากนั้นก็ทำการหัดสงครามทุกเช้าเย็นในท้องสนาม คอยรอฟังความสามเมืองจากลูกค้าคอยเหตุอยู่

ฝ่ายเสนาเมืองการะเวกถือสารไปเมืองผลึก ใช้เวลาเดือนเศษก็ถึงพบพระหัสไชย เมื่อทูลความแล้วพระหัสไชยก็มีความคั่งแค้น เข้าไปเฝ้าพระชนนี พระชนนีให้อ่านสารมีความว่า ฝรั่งลังกาให้วายุพัฒน์ และหัสกันคุมกำปั่น หกร้อยลำเข้าเผาเมืองการะเวก บอกว่า พระธิดาลักเพชรแก้วเก็จไว้

แม้แก้วเก็จเพชรเขาชาวสิงหล
เสาวคนธ์ลอบลักผิดหนักหนา
พระทราบเหตุเภทเผาแต่ต้นมา
โปรดบัญชาชี้แถลงให้แจ้งใจ ฯ

พอจบสารสุมาลีดีอุระ
น้อยหรือชะเคลือบแคลงแถลงไข
แม่นงเยาว์เสาวคนธ์ขอเพชรไป
เราก็ได้รู้เห็นเป็นพยาน
ฯลฯ

แล้วตรัสกับเสนาชาวการะเวก ว่าขอให้รอพระอภัยกลับมาก่อนคงจะได้แก้แค้นแทนพระบิดา มิได้เข้าด้วยฝรั่งคงแก้แทนแทนพระอนุชาในเวลาไม่ช้า

<< ย้อนกลับ || สารบัญ || หน้าถัดไป >>53_1.html

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย