วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
พระอภัยมณี
ตอน นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
หน้า 3
จะกลับไปให้เขาไว้ดังเก่า องค์ละเวงเกรงว่าพระมังคลาจะฆ่าห้ากษัตริย์ด้วยขัดใจ จึงร้องบอกฝรั่งให้ไปบอกเจ้านายว่า พวกพ้องสองพารา พระนางจะพาไปไว้ในวังเมืองลังกา แล้วให้กลับรถให้นางรำภาอยู่ระวังหลัง
เปิดทวารบานบังออกหลังด่าน
เหล่าทหารมิได้ห้ามปรามไฉน
รีบแรมทางกลางป่าพนาลัย
ถึงกรุงไกรพร้อมเพรียงเข้าเวียงวัง
ฯลฯ
ค แต่ฝ่ายข้างนางละเวงวัณฬาราช
แค้นหน่อนาถนึกเห็นไม่เป็นผล
แกล้งแอบแฝงแต่งให้พวกไพร่พล ไล่ฆ่าคนข่มเหงไม่เกรงใจ
ฯลฯ
ทั้งสามนางต่างว่าหนักหนานัก
เหมือนเลี้ยงรักลูกเสือร้ายเหลือแสน
จะช่วยชุบอุปถัมภ์กลับทำแค้น
เหมือนเหยียบแผ่นดินผิดจนติดใจ
นางวัณฬาว่าเพราะพระสังฆราช
สอนให้ขาดญาติวงศ์จึงหลงไหล
น่าแค้นเหลือเชื่อพระจะนำไป
ต่อว่าให้ขาดกันเสียวันนี้
ฯลฯ
พอผันแปรแลเห็นพระสังฆราช
นั่งบนอาสน์อิงหมอนมือยอนหู
ไม่ก้มเกล้าเข้าไปนั่งตั้งกระทู้
ท่านขรัวครูสอนสั่งเจ้ามังคลา
องค์ละเวงได้ต่อว่าสังฆราชบาทหลวงด้วยประการต่าง ๆ ที่ได้สั่งสอนพระมังคลา จนเกิดศึกรบพุ่งถึงกรุงศรี
เสียแรงเชื่อถือว่าเหมือนตาปู่
จะค้ำชูช่วยชุปอุปถัมภ์
มาหลงเชื่อเสือเฒ่าตัวเจ้ากรรม
ช่างแนะนำทำให้ขาดญาติกา ฯ
บาทหลวงได้ฟังจึงถามว่า ได้เกิดเรื่องอะไรจึงมากล่าวหาตน ทั้งที่ตนได้สอนให้รู้สารพัด
นางวัณฬาว่าเพชรก้อนเก็จแก้ว
เขาขอให้ไปเสียแล้วเป็นไหนไหน
ใครบอนบอกออกให้รู้ครูหรือใคร
สอนให้ไปชิงเขาเผาพารา
ฯลฯ
แล้วไปรบเมืองผลึกกับรมจักร จับสองท้าวกับองค์สุวรรณมาลีและสองพระธิดา มาขังไว้ในด่านดงตาล
จนรบราฆ่าฟันกันออกวุ่น
เพราะเจ้าคุณหรือมิใช่หรือใครสอน
อยู่กุฎีมีสุขไม่ทุกข์ร้อน
เหมือนเสือนอนกินความสบายครัน ฯ
บาทหลวงได้ฟังจึงด่าว่า องค์ละเวงว่าเนรคุณแล้วว่า
อ้ายมังคลาบ้าลำโพงโกงเหมือนแม่
มันเอาแต่ตามอารมณ์ทำข่มเหง
ลูกในท้องของตัวไม่กลัวเกรง
มาครื้นเครงโกรธกูเป็นคูบา
ฯลฯ
ใครหายใจไม่ออกถึงนอกฟ้า
ผิดก็มาอยู่กับกูไม่รู้สิ้น
กูอาศัยในแดนรักแผ่นดิน
มึงกับนินทาว่าสารพัน ฯ
องค์วัณฬาว่าเมื่อครูรู้ว่าผิด จึงไม่ห้ามศิษย์และช่วยสั่งสอน จนเกิดศึกก็ไม่ช่วยห้ามปราม
บาทหลวงว่าวิสัยในมนุษย์
ฟันจะหลุดแล้วก็ห้ามปรามไม่ไหว
ห้ามเกษาว่าอย่าหงอกยังนอกใจ
มันขืนหงอกออกจนได้มันไม่ฟัง
ฯลฯ
นางละเวงเกรงบาปไม่หยาบหยาม
คิดถึงความซื่อตรงก็สงสาร
ชลีลาพาหญิงพวกศฤงคาร
ไปปราสาทราชฐานรำคาญใจ ฯ
ฝ่ายพระมังคลาได้แบบบาทหลวง รู้ตำรับศึกแล้ว ฝึกไพร่พลให้รู้รบ
ให้ตั้งค่ายใหญ่น้อยร้อยแปดค่าย
เป็นหลั่นรายเรียบไปในไพรสัณฑ์
แบ่งพลไว้ไพร่นายค่ายละพัน
ธงสำคัญสัญญารบราวี
ฯลฯ