ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>

เรือนไทย

เรือนไทยภาคเหนือ

        ในเขตจังหวัดภาคเหนือส่วนหนึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มภูเขา หุบเขา และที่ดอนบนเทือกเขาสูง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1500-3000 เมตร นับตั้งแต่เทือกเขาด้านตะวันตกในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนอ้อมมาส่วนเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และด้านตะวันออกที่จังหวัดน่าน ลักษณะสภาพทางภูมิศาสตร์ข้างต้น ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานขึ้น 2 แบบคือ

  1. ที่ดอนบนดอย หรือทิวเขา เป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทำการกสิกรรมแบบไร่เลื่อนลอย
  2. บนที่ราบลุ่มเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมล้านนา

การตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือ เริ่มตั้งแต่เรือนหลังเดียวในเนื้อที่หุบเขาแคบ จนถึงระดับหมู่บ้านและเมือง ซึ้งการขนานนามหมู่บ้านนั้นขึ้นอยู่กับสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เช่น หมู่บ้านที่ขึ้นต้นด้วย “ปง” คือบริเวณที่มีน้ำซับ “สัน” คือบริเวณสันเนินหรือมีดอน “หนอง” หมายถึงบึงกว้าง “แม่” คือที่ตั้งที่มีลำธารไหลผ่าน ดังนั้นชื่อเดิมของหมู่บ้านจึงเป็นการบอกลักษณะการตั้งถิ่นฐานแต่แรกเริ่ม

จากสภาพการตั้งถิ่นฐานของชุมชนภาคเหนือ ทำให้เกิดเรือนประเภทต่างๆ ขึ้นตามสภาพการใช้งาน ซึ่งสามารถแบ่งเรือนพักอาศัยออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

  • เรือนชนบท หรือเรือนเครื่องผูก เรือนประเภทนี้หาดูได้ทั่วไปตามชนบทและหมู่บ้านต่างๆ เรือนชนิดนี้โครงสร้างของหลังคา ตง พื้น ใช้ไม้ไผ่ ส่วนคานและเสานิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง ฝาเป็นฝาไม้ไผ่สาน หลังคามุงแฝกหรือใบตองตึง นิยมใช้ตอกและหวายเป็นตัวยึดส่วนต่างๆ เรือนเข้าด้วยกันด้วยวิธีผูกมัด เรือนชนบทเป็นเรือนขนาดเล็กถือว่าเป็นเรือนแบบดั้งเดิม เพราะวิธีการก่อสร้างเป็นวิธีการที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านที่มีรายได้น้อย ยังนิยมปลูกสร้างเรือนเครื่องผูกนี้ทั้งในตัวเมืองและชนบท
  • เรือนกาแล เป็นเรือนพักอาศัยของผู้มีอันจะกิน ผู้นำชุมชนหรือบุคคลชั้นสูงในสังคม ตั้งแต่ระดับชนบทจนถึงระดับเมือง เรือนประเภทนี้เป็นเรือนที่สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง หรือไม้จริงทั้งหมด เรียกตามลักษณะของไม้ป้านลม หลังคาส่วนปลายยอดที่ไขว้กัน ซึ่งชาวเหนือเรียกส่วนที่ไขว้กันนี้ว่า”กาแล” สำหรับคำว่า “เรือนกาแล” เป็นชื่อที่นักวิชาการทางสถาปัตยกรรมบัญญัติไว้ เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างเรือนไม้จริงแบบที่ 3 หากแต่ชาวล้านนาในปัจจุบันเรียกว่า “เฮือนบ่าเก่า” (เฮือนคือเรียน บ่าเก่าคือโบราณ) เพราะเป็นเรือนทรงโบราณของล้านนานั่นเอง ลักษณะพิเศษของเรือนกาแลอยู่ที่ยอดจั่วประดับกาแลเป็นไม้สลักอย่างงดงาม ใช้วัสดุก่อสร้างคุณภาพดี ฝีมือช่างประณีต แต่มีแบบแผนค่อนข้างตายตัว ส่วนใหญ่เป็นเรือนแฝด มีขนาดตั้งแต่หนึ่งห้องนอนขึ้นไป โดยทั่วไปเรือนประเภทนี้จะมีแผนผัง 2 แบบใหญ่ ๆ คือ แบบที่ 1 เอาบันไดขึ้นตรงติดชานนอกโดด ๆ แบบที่ 2 เอาบันไดอิงชิดแนบฝาใต้ชายคาคลุม ทั้งสองแบบนี้จะใช้ร้านน้ำตั้งเป็นหน่วยโด ๆ มีโครงสร้างของตัวเอง ไม่นิยมตีฝ้าเพดาน ปัจจุบันหาเรือนกาแลดูได้ยาก เพราะมีหลงเหลือให้เห็นเพียงไม่กี่หลัง อย่างไรก็ตาม เรือนชนิดนี้เป็นเรือนที่แสดงถึงวิวัฒนาการของกระบวนการก่อสร้างบ้านพักอาศัยของชาวล้านนาที่ถึงจุดสูงสุดก่อนได้รับอิทธิพลจากต่างถิ่น ตลอดจนเป็นเรือนที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวล้านนาอย่างชัดเจน ทั้งการวางผังพื้นที่ การจัดห้องต่าง ๆ ภายในตัวเรือน ตลอดจนรูปทรง ล้วนสะท้อนถึงแบบแผนการดำเนินชีวิตตามระเบียบประเพณีของล้านนาทั้งสิ้น
  • เรือนไม้ เป็นเรือนพื้นเมืองของล้านนาอีกรูปแบบหนึ่งทีเกิดขึ้นภายหลังเรือนกาแล รูปแบบหรือลักษณะทางกายภาพของเรือนประเภทนี้ เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมการปลูกสร้างแบบดั้งเดิมกับวัฒนธรรมที่ชาวบล้านนาได้รับจากภายนอก ซึ่งช่างล้านนาได้รับระบบวิธีการปลูกสร้างและค่านิยมจากภาคกลางในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เรือนประเภทนี้ รูปทรงภายนอกของเรือนจะผันแปรไปตามสมัยนิยม โดยเฉพาะลักษณะฝา ระเบียบการเจาะช่องประตูหน้าต่าง การขึ้นทรงหลังคาที่มีระนาบซับซ้อน เป็นการแสดงถึงอัจฉริยภาพของช่างพื้นเมืองที่รู้จักประสานประสานประโยชน์จากความรู้กับเทคนิควิทยาการช่างที่ได้รับมาจากต่างถิ่นได้อย่างกลมกลืน เรือนไม้บางหลังมีการนำเอาระเบียบวิธีการตกแต่งลายฉลุไม้มาตกแต่งทรงจั่วหลังคาและเชิงชายตามแบบอิทธิพลช่างไทยภาคกลางรับมาจากตะวันตก ชาวล้านนาเรียกเรือนประเภทประดับลายฉลุไม้นี้ว่า “เรือนทรงสะละไน” ซึ่งเป็นคำที่ยังหาความหมายที่ชัดเจนไม่ได้ แต่ก่อนที่สถาปนิกซึ่งได้รับการศึกษาแนวทางแบบตะวันตกจะเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนรูปแบบเรือนพักอาศัยให้ทันสมัยมากขึ้นนั้น ชาวล้านนาเองเรียกเรือนชนิดนี้ว่า “เฮือนสมัยก๋าง” (เรือนสมัยกลาง) หมายถึงเรือนพื้นเมืองที่อยู่ในช่วงสมัยระหว่าง “เฮือนบ่าเก่า” (เรือนโบราณ)กับเรือนแบบสากลยุคใหม่ที่ชาวบ้านเรียกว่า “เฮือนสมัย” (เรือนสมัยใหม่)

ภายในบริเวณบ้านของเรือนล้านนาแต่ละหลังจะมีเนื้อที่ว่างเป็นบ้านดินกว้าง ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ข่วงบ้าน” เป็นลานอเนกประสงค์ที่เชื่อมทางเดินเข้าสู่ตัวบ้าน และเชื่อมต่อมายังทางเดินสู่ลานดินข้างเคียงใช้เป็นที่เล่นของเด็ก ๆ และตากพืชผลทางการเกษตร ลานดินนี้เมื่อถึงคราวเซ่นสรวงผีบรรพบุรุษของกลุ่มชนที่นับถือ “ผีมดผีเม็ง” จะใช้เป็นบริเวณปลูกปะรำ หรือ “ผาม” ในภาษาเหนือ เพื่อทำพิธีฟ้อนผี หากบ้านไหนที่มีลูกชายบวชพระหรือบวชเณรก็จะสร้าง “ห้างซอ” (เวทียกพื้นสูงประมาณเมตรกว่า ๆ) ไว้ตรงบริเวณลานดินที่ร่มรื่น เพื่อให้ “ช่างซอ” (กลุ่มนักขับลำนำแบบหมอลำ) ขึ้นไปขับลำนำกล่อมขวัญ “ลูกแก้ว” (นาค) และเมื่อถึงคราวที่คนในครอบครัวเสียชีวิตลงก็จะใช้ลานดินนี้เป็นบริเวณตั้ง “ประสาท” (บุษบกพื้นบ้านทำด้วยไม้และกระดาษ) เพื่อตั้งศพและชักลากไปสู่ป่าช้า (ที่ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ป่าเฮ่ว”) ลานดินนี้เจ้าของบ้านจะต้องเก็บกวาดใบไม้แห้งและขยะให้เรียบร้อย หากบ้านใดปล่อยสกปรกจะถูกตำหนิจากเพื่อนบ้านว่าเป็นคนเกียจคร้าน บริเวณริมลานดินนิยมปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่รายล้อมไว้ ส่วนมากเป็นไม้ผลสำหรับรับประทานและให้ร่มเงาแก่ลาน นอกจากนี้ตามคาคบไม้ ชาวบ้านยังนิยมนำกล้วยไม้ป่ามาปลูกประดับเพื่อความสายงาม โดยทั่วไปลานดินจะอยู่ส่วนหน้าของบริเวณบ้านชิดกับถนน ตัวบ้านจะปลูกร่นเข้ามาทางข้างหลังของลานดิน ลานหน้าบ้านนี้จะนิยมปลูกไม้ยืนต้นที่มีดอก ส่วนบริเวณหลังบ้านสวนผลไม้ยืนต้น รวมถึงพืชสวนครัวและพืชคลุมต้น สำหรับการแบ่งอาณาเขตของแต่ละบ้านใช้วิธีล้อมรั้วด้วยไม้ไผ่สานขัดกันเป็นตาโปร่ง มีการเปิดช่องทะลุสู่บริเวณบ้านข้างเคียงต่อเนื่องกัน โดยรั้วที่กั้นอาณาเขตบ้านแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

  1. รั้วสลาบ เป็นรั้วไม้ไผ่ชนิดที่แข็งแรงที่สุด มีลักษณะเป็นรั้วไม้ไผ่ขัดและตามแนวตังขัดชิดกันแน่น นิยมใช้เป็นรั้วหน้าบ้านชิดถนน
  2. รั้วตาแสง เป็นรั้วไม้ไผ่ขัดกันเป็นตารูปตารางสี่เหลี่ยมโปร่งๆ ส่วนใหญ่ใช้เป็นรั้วข้างและรั้วหลังบ้าน
  3. รั้วตั้งป่อง เป็นรั้วโปร่งใช้ไม้รวกลำเล็ก ๆ มาวางสอดกับเสารั้วไม้เนื้อแข็งในแนวนอน ห่างกันราวคืบกว่า ๆ รั้วชนิดนี้เป็นรั้วชั่วคราวเพื่อรอเปลี่ยนรั้วตาแสงหรือรั้วสลาบในคราวต่อไป

ตามขอบรั้วนิยมปลูกไม้พุ่มไม้ดอก และไม้เลื้อยที่เป็นพืชกันได้เช่น บวบ ตำลึง ถั่วพู มะระพื้นเมือง ฯลฯ มีกระถินและชะอมปลูกแซมเป็นระยะ ส่วนรั้วข้างบ้านนิยมปลูกไผ่เลี้ยงและไผ่รวกเป็นแนวกั้นอาณาเขตภายในบริเวณบ้านจะประกอบด้วยตัวเรือน ยุ้งข้าว บ่อน้ำ ครกตำข้าว และห้องอาบน้ำที่ชาวเหนือเรียกว่า “ต๊อมอาบน้ำ” ใกล้กับบ่อน้ำท้ายบ้านจะเป็นอาหารของวัวควาย บริเวณคอกวัวควายนี้ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “แล่งวัวควาย” สำหรับบ้านในย่านเขตเมืองจะไม่มีแล่งวัวควาย เพราะไม่ได้ทำนาตรงบริเวณรั้วบ้าน ใกล้ประตูเข้าบ้านจะสร้างเป็นเรือนหรือชั้นเล็ก ๆ สำหรับวางหม้อน้ำพร้อมทั้งกระบวย เพื่อให้ผู้สัญจรไปมาได้ตักดื่ม ถือเป็นการสร้างบุญกุศล ซึ่งภาษาเหนือเรียกว่า “ตานน้ำ” ส่วนบริเวณที่ดินด้านหัวนอนจะตั้งศาลผีบรรพบุรุษไว้เรียกว่า”หอผีปู่ย่า” ซึ่งจะมีเฉพาะบางบ้านเท่านั้น บริเวณท้ายบ้านเป็นสวนครัวหรือ “สวนฮี้” มีการกั้นรั้วไม้ไผ่สานเพื่อป้องกันเป็ด ไก่ สุนัข เข้าไปทำลายพืชผล บริเวณรอบ ๆ บ่อน้ำจะปลูกไม้พุ่มไม้ดอก และพืชคลุมดินที่ใช้ปรุงอาหาร ส่วนใหญ่เป็นผักที่ใช้รับประทานกับลาบ เช่น ชะพลู สะระแหน่ ผักไผ่ ฯลฯ ซึ่งนอกจากเป็นการประดับบริเวณให้สวยงามและใช้บริโภคแล้วยังใช้เป็นส่วนบังสายตาในขณะอาบน้ำ โดยมีการทำร่องน้ำจากที่อาบน้ำให้ไหลเข้าสู่บริเวณสวนครัว นอกจากนั้น ตามบริเวณขอบบ่อยังปลูกข่า ไพล กระชาย ขมิ้น สลับไว้บริโภคและดูดซับน้ำทิ้งจากบริเวณอาบน้ำ ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เกิดการเน่าเสีย อีกทั้งมีการปลูกไม้ผลยืนต้นบริเวณบ่อน้ำบังแสงแดดส่องเพื่อรักษาน้ำในบ่อให้เย็นอีกด้วย

 

เรือนล้านนาไทยทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะมีขนาดใดก็ตาม จะมีลักษณะทั่ว ๆ ไปอันเป็นเอกลักษณ์ของเรือนล้านนา โดยมีส่วนประกอบที่สำคัญต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. บันไดและเสาแหล่งหมา เรือนล้านนาไทยทั้ง 3 ประเภท ตัวบันไดเรือนจะหลบอยู่ใต้ชายคาบ้านซ้ายมือเสมอ จึงต้องมีเสาลอยรับโครงสร้างหลังคาด้านบนตั้งลอยอยู่ แต่โดยทั่วไปเรือนไม้มักจะยื่นโครงสร้างออกมาอีกส่วนหนึ่งโดยทำเป็นชายคลุมบันไดหรือเป็นโครงสร้างลอยตัว ส่วนเรือนแฝดแระเภทมีชานเปิดหน้าเรือน ไม้หลบบันไดเข้าชายคา แต่จะวางบันไดชนชานโล่งหน้าเรือนอย่างเปิดเผย เสาลอยโดด ๆ ต้นเดียวที่ใช้รับชายคาทางเข้านี้เรียกว่า”เสาแหล่งหมา” ซึ่งมาจากการที่ชาวเหนือนำหมามาผูกไว้ที่เสานี้นั่นเอง
  2. เติ๋น จากบันไดขึ้นไปมักมีชานบันได ซึ่งเป็นบริเวณที่จะเป็นส่วนเชื่อมพื้นที่ต่าง ๆ ของเรือน ถัดจากชานจะเป็นบริเวณห้องโถงเปิดโล่ง ยกสูงจากระดับชานประมาณ 1-2 คืบ เป็นส่วนที่อยู่ใต้ชายคา มีเนื้อที่ 2 ห้องเสา บริเวณนี้เป็นบริเวณอเนกประสงค์ ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “เติ๋น” เติ๋นจะใช้เป็นทั้งที่นั่งเล่น รับแขก รับประทานอาหาร ทำบุฯเลี้ยงพระในงานมงคล ใช้ประกอบพิธีกรรมในงานศพ หรือในกรณีที่บ้านนี้มีลูกสาว เวลาค่ำคืนพวกหนุ่ม ๆ ก็จะมาแอ่วสาวที่เติ๋นนี้ หรือในกรณ์เรือนที่มีห้องนอนเดียว จะใช้เติ๋นเป็นที่นอนของลูกชาย ส่วนลูกสาวจะนอนกับพ่อแม่ แต่ถ้าเป็นเรือนขนาดเล็กหรือเรือนไม้มักจะตั้งร้านน้ำในบริเวณเติ๋นนี้ด้วย โดยทั่วไปบริเวณเติ๋นของแต่ละบ้านจะเป็นเนื้อที่โล่งไม่มีการนำของต่าง ๆ มาเก็บไว้ในบริเวณนี้ แต่จะสร้างที่เก็บของที่ไม่ค่อยได้ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ขันโตก หม้อ กระบุง ตะกร้า ฯลฯ ไว้บนเพดานโปร่งใต้หลังคาเติ๋น โดยนำไม้ไผ่มาทำเป็นตะแกรงโปร่ง ลายตารางสี่เหลี่ยมยืดแขวนกับขื่นจันทันปละแปหัวเสาของเรือน เพดานตะแกรงโปร่งนี้ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ควั่น” ทางตะวันออกของเติ๋นจะเป็นหิ้งพระ บนหิ้งพระนอกจากวางพระพุทธรูปแล้ว ยังมีตะกรุด ยันต์ และสมุดข่อยที่เขียนวรรณกรรมของชาดก รวมถึงตำราฤกษ์ยามทางโหราศาสตร์ ตำรายา รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ในสมัยก่อนบริเวณฝาห้องนอนชิดกับหิ้งพระ จะมีภาพเขียนรูปพระธาตุเจดีย์สำคัญ พร้อมกับภาพปีเกิดของเจ้าบ้านแขวนไว้ภาษาเหนือเรียกว่า “รูปตัวเปิ้ง” ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวเหนือที่ถือว่าคนที่เกิดปีต่างๆ จะต้องไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตัวเองเพื่อความเป็นสิริมงคล
  3. ร้านน้ำ จากชานโล่งหน้าบ้านหรือชานใต้หลังคาตรงริมขอบชานด้านใดด้านหนึ่ง จะมีหิ้งสำหรับวางหม้อน้ำดื่ม พร้อมที่แขวนกระบวยหิ้งน้ำ สูงจากพื้นชานประมาณ 80-100 เซนติเมตร หากหิ้งน้ำอยู่ที่ชานโล่งแจ้งเจ้าของบ้านจะทำหลังคาคลุมลักษณะคล้ายเรือนเล็ก ๆ เพื่อไม่ให้แสงแดดส่องลงที่หม้อน้ำ เป็นการรักษาความเย็นของน้ำดื่ม หิ้งน้ำนี้เรียกว่า”ร้านน้ำ” หรือภาษาเหนือว่า “ฮ้านน้ำ” ร้านน้ำของเรือนล้านนาถือว่าเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมด้านการอยู่อาศัยของชาวล้านนาโดยเฉพาะ
  4. ห้องนอน ถัดจากเติ๋นจะเป็นห้องนอนซึ่งเป็นห้องที่มีฝาปิดล้อมทั้ง 4 ด้านมีประตูทางเข้า เหนือช่องนี้มีไม้แกะสลักลวดลายสวยงาม เป็นแผ่นไม้ที่ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นแผ่นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ติดไว้เพื่อป้องกันสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่จะผ่านเข้าสู่ห้องนอนเรียกว่า “หำยน” ตรงกรอบประตูล่างมีแผ่นธรณีประตูสูงกว่าขอบประตูปกติ เรียกว่า “ข่มประตู” ทำหน้าที่เป็นกรอบช่องประตู และเป็นเส้นกั้นอาณาเขตระหว่างห้องนอนกับเติ่น สำหรับห้องนอน ชาวล้านนาถืออย่างเคร่งครัดว่า เป็นบริเวณเฉพาะของสมาชิกภายในครอบครัว บุคคลภายนอกหรือแขกห้ามเข้าเด็ดขาด หากก้าวเลยขมประตูเข้ามาเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นการ “ผิดผี” คือกระทำผิดต่อผีบรรพบุรุษจะต้องปรับโทษ พร้อมทั้งทำพิธีขอขมา ห้องนอนที่อยู่ถัดจากบริเวณเติ๋นเป็นห้องขนาดใหญ่ เมื่อเทียบบริเวณอื่นของเรือน กินเนื้อที่ 3 ห้องเสา โดยเฉพาะเรือนกาแลและเรือนไม้ส่วนเรือนชนบทจะกินเนื้อที่ 2 ห้องเสา ทั้งนี้ขนาดห้องจะขึ้นอยู่กับขนาดของเรือนแต่จะหลังว่าใช้ชื่อและคานยาวกี่ศอก ห้องนอนในเรือนล้านนาจะเป็นห้องโล่ง ๆ สมาชิกของครอบครัวจะนอนรวมกันในห้องนี้การนอนจะแบ่งเนื้อที่ตามห้องเสา ห้องเสาช่วงในสุดเป็นบริเวณที่นอนหัวหน้าครอบครัวและภรรยา ถัดมาเป็นบริเวณหลับนอนของลูก ๆ หากลุกคนใดแต่งงานไปก็จะเลื่อนมานอนในห้องเสาถัดไป การแยกกลุ่มนอนอาศัยการปูเสื่อปูที่นอน การกางมุ้งของแต่ละกลุ่ม และใช้ผ้าม่านแบ่งกั้นบริเวณนอนของแต่ละกลุ่มให้มิดชิด ม่านกั้นนี้เรียกว่า “ผ้ากั้ง” เวลานอนสมาชิกทุกคนจะหันหัวไปทางทิศตะวันออกห้องนอนซีกตะวันออกทั้งหมดใช้เป้นบริเวณนอน ส่วนซีกตะวันตกบริเวณปลายตีนนอนจะใช้เป็นบริเวณเก็บของต่าง ๆ ของสมาชิกในครัวเรือน ในการแบ่งซีกส่วนที่นอนกับที่เก็บของจะแบ่งโดยไม้หนาขนาดกว้างประมาณ 7-8 นิ้ว วางผ่ากลางตัวเรือนยาวตลอดความยาวของเรือนระดับเสมอพื้นเรียกว่า “แป้นต้อง” ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการสั่นสะเทือนของพื้น เวลาเดินบริเวณซีกปลายเท้า เพื่อไม่ให้รบกวนผู้ที่กำลังนอนอยู่ สำหรับประตูเข้าห้องนอนจะมี 2 ประตุ คือ ประตูเข้าจากเติ๋น และประตูข้างซึ่งอยู่ที่ฝาด้านปลายเท้าของเรือนนอน อยู่ช่วงห้องเสาที่ชิดกับเติ๋นเป็นประตูเปิดจากส่วนนอนไปสู่ครัว
  5. ห้องครัว บริเวณห้องครัวจะอยู่ทางทิศตะวันตกของห้องนอนเสมอ เรือนครัวที่แยกออกไปอีกหลังหนึ่งจะมีเฉพาะเรือนกาแลและเรือนไม้จริงเท่านั้น โดยจะวางขนานกับเรือนใหญ่หรือเรือนนอน มีช่องทางเดินแยกเรือนครัวออกจากเรือนนอน ชายคาของเรือนนอนกับเรือนครัวจะมาจรดกันเหนือช่องทางเดินเรียกว่า “ฮ่อมริน” โดยจะมีรางน้ำสำหรับรองรับน้ำฝนจากหลังคา แต่เดิมรางน้ำจะเป็นซุงไม้ขนาดใหญ่มีความยาวเท่ากับตัวเรือน มาในชั้นหลังจึงใช้ไม้กระดานประกบกันเป็นรางน้ำแทน สำหรับเรือนไม้จริงตรงกลางยอดสันหลังคาจะมีหลังคาขนาดเล็กซ้อนอยู่ เพื่อให้มีช่องระหว่างหลังคา สำหรับระบายควันไฟจากเตาขณะหุงต้มอาหาร ส่วนด้านหลังของเรือนครัวจัดให้มีชานเล็ก ๆ วางหม้อน้ำขนาดใหญ่หลายใบ เป็นน้ำสำหรับใช้ล้างถ้วยล้างชาม

ชาวล้านนาเชื่อว่า ผีบรรพบุรุษมีส่วนดลบันดาลความสุขสวัสดีให้แก่ลูกหลาน หากลูกหลานไม่ปฏิบัติตาม “ฮีตฮอย” (จารีต) ที่บรรพบุรุษวางไว้ย่อมเกิดความวิบัติ ซึ่งถือว่าเป็นการ “ผิดผี” การบันถือผีดังกล่าวนี้มีบทบาทสำคัญต่อการแบ่งเนื้อที่ภายในเรือนพักอาศัยอย่างชัดเจนกล่าวคือ “ผีปู่ย่า” เป็นผีบรรพบุรุษของแต่ละตระกูล ชาวล้านนาเชื่อว่าสิงสถิตอยู่ภายในบ้านเรือน บางครั้งก็เรียกว่า “ผีเรือน” ผีปู่ย่านี้จะคุ้มครองเครือญาติในกลุ่มตระกูลเดียวกันเท่านั้น กลุ่มตระกูลที่มีผีปู่ย่าเดียวกันเรียกว่า “ถือผีเดียวกัน” ที่สิงสถิตของผีปู่ย่าอยู่ที่ศาล หรือ “หอผี” ตั้งอยู่ในที่ดินด้านหัวนอนในหอผี วางเครื่องบูชาอันได้แก่ ขัน ดอกไม้ ธูปเทียน เชี่ยนหมาก น้ำต้น (คนโทน้ำ) บ้านที่มีหอผีเรียกว่า “บ้านเก๊าผี” เป็นบ้านของหญิงในตระกูลที่อาวุโสที่สุด เมื่อคนในตระกูลแยกออกไปตั้งเรือนเป็นครอบครัวใหม่ก็จะแบ่งเอาผีไป ด้วยการแบ่งเอาดอกไม้บูชาผีที่หอผีไปไว้ที่บ้านเรือนตนโดยไปวางไว้ด้านหัวนอนใกล้กับเสามงคล ผู้ที่แยกผีเรือนไปอยู่บ้านอื่นนอกจากบ้านเก๊าผีจะต้องเป็นผู้หญิง เพราะถือเป็นการสืบทอดทางฝ่ายหญิงเท่านั้น ฉะนั้น ภายในห้องนอนตามคติล้านนาถือว่าเป็นที่สิงสถิตของผีปู่ย่าด้วย และถือเป็นบริเวณเฉพาะของกลุ่มเครือยาติที่ถือผีเดียวกันกล่าวคือเป็นบริเวณหวงห้ามสำหรับบุคคลภายนอกตระกูลที่ไม่ใช่ผีเดียวกัน การแบ่งเขตหวงห้ามแบ่งโดย “ข่มประตู” (ธรณีประตู)หากบุคคลภายนอกล่วงล้ำเกินข่มประตู ถือเป็นการ “ผิดผี” เชื่อว่าจะทำให้ผีโกรธและจะลงโทษผู้ล่วงละเมิดให้มีอันเป็นไป จะต้องทำพิธี “เสียผี” คือขอขมาต่อผีปู่ย่า ด้วยการนำเครื่องสังเวยและเงินค่าปรับโทษมาขมาต่อผีปู่ย่ายังบ้านที่ตนล่วงละเมิด โดยเจ้าของบ้านจะทำพิธีขอขมาภายในห้องนอน

เรือนไทยภาคเหนือ
เรือนไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เรือนไทยภาคกลาง
เรือนไทยภาคใต้
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย