ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>
เรือนไทย
เรือนไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การสร้างบ้านของชุมชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยโบราณมักเลือกทำเลที่ตั้งอยู่ตามที่ราบลุ่มที่มีแม่น้ำสำคัญ ๆ ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสงคราม ฯลฯ รวมทั้งอาศัยอยู่ตามริมหนองบึง ถ้าตอนใดน้ำท่วมถึงก็จะขยับไปตั้งอยู่บนโคกหรือเนินสูง ดังนั้นชื่อหมู่บ้านในภาคอีสานจึงมักขึ้นต้นด้วยคำว่า โคก โนน หนอง เป็นส่วนใหญ่ ลักษณะหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานนั้น มักจะอยู่รวมกันเป็นกระจุก ส่วนที่ตั้งบ้านเรือนตามทางยาวของลำน้ำนั้นมีน้อย ผิดกับทางภาคกลางที่มักตั้งบ้านเรือนตามทางยาว ทั้งนี้เพราะมีแม่น้ำลำคลองมากกว่า หนุ่มสาวชาวอีสานเมื่อแต่งงานกันแล้ว ตามปกติฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย ต่อเมื่อมีลูกจึงขยับขยายไปอยู่ที่ใหม่เรียกว่า ออกเอือน แล้วหักล้างถางพงหาทีทำนา ดังนั้น ที่นาของคนชั้นลูกชั้นหลานจึงมักไกลออกจากหมู่บ้านไปทุกที และเมื่อบริเวณเหมาะสมจะทำนาหมดไป เพราะพื้นที่ราบที่มีแหล่งน้ำมีจำกัด คนอีสานชั้นลูกหลานก็มักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่อีก หรือถ้าที่ราบในการทำนาบริเวณใดกว้างไกลไปมาลำบาก ก็จะชวนกันไปตังบ้านใหม่ใกล้เคียงกับนาของตน ทำให้เกิดการขยายตัวหลายเป็นหมู่บ้านขึ้น การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของคนอีสานมักเลือกทำเลที่เอื้อต่อการยังชีพ ซึ่งมีองค์ประกอบทั่วไปดังนี้
- แหล่งน้ำ นับเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก อาจเป็นหนองน้ำใหญ่ หรือห้วย หรือลำน้ำที่แยกสาขามาจากแม่น้ำใหญ่ ที่มีน้ำเฉพาะฤดูฝน ส่วนมากเป็นที่ราบลุ่มสามารถทำนาและเลี้ยงสัตว์ได้ในบางฤดูเท่านั้น ชื่อหมู่บ้านมักขึ้นต้นด้วยคำว่า เลิง วัง ห้วย กุด หนอง และท่า เช่น เลิงนกทา วังสามหม้อ ห้วยยาง กุดนาคำ หนองบัวแดง ฯลฯ
- บริเวณที่ดอนเป็นโคกหรือที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง สามารถทำไร่และมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีทั้งที่ดอนริมแม่น้ำและที่ดอนตามป่าริมเขา แต่มีน้ำซับไหลมาบรรจบเป็นหนองน้ำ ชื่อหมู่บ้านมักขึ้นต้นด้วยคำว่า โคก ดอน โพน และโนน เช่น โคกสมบูรณ์ ดอนสวรรค์ โพนยางคำ ฯลฯ
- บริเวณป่าดง เป็นทำเลที่ใช้ปลูกพืชไร่และสามารถหาของป่าได้สะดวก มีลำธารไหลผ่าน เมื่ออพยพมาอยู่กันมากเข้าก็กลายเป็นหมู่บ้านและมักเรียกชื่อหมู่บ้านขึ้นต้นด้วยคำว่า ดง ป่า และเหล่า เช่น โคกศาลา ป่าต้นเปือย เหล่าอุดม ฯลฯ
- บริเวณที่ราบลุ่ม เป็นพื้นที่เหมาะในการทำนาข้าว และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในหน้าแล้ง ตัวหมู่บ้านจะตั้งอยู่บริเวณขอบหรือแนวของที่ราบติดกับชายป่า แต่น้ำท่วมไม่ถึงในหน้าฝน บางพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขังตลอดทั้งปี เรียกว่า ป่าบุ่งป่าทาม เป็นต้น
- บริเวณป่าละเมาะ มักเป็นที่สาธารณะสามารถใช้เลี้ยงสัตว์และหาของป่าเป็นอาหารได้ ตลอดจนมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่นำมาเป็นอาหารยังชีพ รวมทั้งสมุนไพรใช้รักษาโรค และเป็นสถานที่ยกเว้นไว้เป็นดอนปู่ตา ตามคติความเชื่อของวัฒนธรรมกลุ่มไต-ลาว
การเลือกภูมิประเทศเพื่อตั้งหมู่บ้านในภาคอีสานจะเห็นได้ว่ามีหลักสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ ต้องเลือกทำเลที่ประกอบด้วย
- น้ำ เพื่อการยังชีพและประกอบการเกษตรกรรม
- นา เพื่อการปลูกข้าว (ข้าวเหนียว) เป็นอาหารหลัก
- โนน เพื่อการสร้างบ้านแปลงเมือง ที่น้ำท่วมไม่ถึง
ส่วนคติความเชื่อของชาวอีสานในการดำเนินชีวิต ชาวอีสานมีความเชื่อที่ได้รับการสิบทอดมาจากบรรพบุรุษกล่าวคือ ความเชื่อในอำนาจลี้ลับที่เหนือธรรมชาติ และเชื่อในการครองเรือน การทำมาหาเลี้ยงชีพ สิ่งใดที่โบราณห้ามว่าเป็นโทษ และทำความเดือนร้อนมาให้ก็จะละเว้นไม่ยอมทำสิ่งนั้น
สำหรับความเชื่อในการตั้งหมู่บ้านก็ไม่ต่างกันนัก ชาวอีสานมีการนับถือ ผีบ้าน และแถนหรือ ผีฟ้า มีการเซ่นสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อให้ช่วยปกปักรักษาลูกหลาน มีการตั้ง ศาลเจ้าปู่ ไว้ที่ดอนปู่ตา ซึ่งมีชัยภูมิเป็นโคก น้ำท่วมไม่ถึง มีต้นไม่ใหญ่หนาทึบ มีการก่อสร้าง ตูบ เป็นที่สถิตของเจ้าปู่ทั้งหลาย ตลอดจนการตั้ง บือบ้าน (หลักบ้าน) เพื่อเป็นสิริมงคลของหมู่บ้าน และมีการเซ่น ผีอาฮัก คือเทพารักษ์ให้ดูแลคุ้มครองผู้คนในหมู่บ้านให้อยู่ดีมีสุขตลอดไป พิธีเลี้ยง ผีปู่ตา จะกระทำในเดือน 7 คำว่า ปู่ตา หมายถึง ญาติฝ่ายพ่อ (ปู่-ย่า) และญาติฝ่ายแม่ (ตา-ยาย) ซึ่งทั้งสี่คนนี้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นที่เคารพนับถือของลูกหลาน ครั้นเมื่อตายไปจึงปลูกหอหรือที่ชาวอีสานเรียก ตูบ มักใช้เสา 4 ต้น หลังคาจั่วพื้นสูง โดยเลือกเอาสถานที่เป็นดงใกล้บ้านมีต้นไม้ใหญ่และสัตว์ป่านานาชนิดเรียกว่า ดงปู่ตา ถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ใครไปรุกล้ำตัดไม้หรือล่าสัตว์ไม่ได้ หรือแม้แต่แสดงวาจาหยาบคายก็ไม่ได้ ปู่ตาจะลงโทษกระทำให้เจ็บหัวปวดท้อง และเมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วยมีคนล้มตายผิดปกติเกิดขึ้นในหมู่บ้านชาวอีสานถือกันว่า หลักเหงี่ยงหงวย ต้องทำตอกหลักบ้านใหม่ให้เที่ยงตรง มรการสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ เซ่นสรวงเทพาอารักษ์ แล้วกาหลักไม้แก่นมาปักใหม่ ซึ่งต้องมีคาถาหรือยันต์ใส่พร้อมกับสวดญัตติเสาก่อนเอาลงดินในบริเวณกลางบ้าน ทั้งนี้เพราะชาวอีสานมีความเชื่อในการตั้ง หลักบ้าน เพราะหลักบ้านเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผังชุมชนระดับหมู่บ้าน และเปรียบเสมือนหัวใจของบ้าน เมื่อชุมชนเติบโตขึ้น หลักบ้าน ก็พัฒนาไปสู่ หลักเมือง ดังที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในแระเทศไทย หลักบ้านมักสร้างด้วยไม้มงคล เช่น ไม้คูณ ไม้ยอ มีทั้งหลักประธานหลักเดียวและมีพร้อมหลักบริวารรายล้อม ส่วนรูปแบบของหลักบ้านนั้น มักควั่นหัวไม้เป็นเสาทรงบัวตูมหยาบ ๆ บางแห่งก็ถางให้เป็นปลายแหลม แล้วทำหยักเป็น เอวขัน ไว้ส่วนล่าง
ความเชื่อในการสร้างเรือนอีสาน
อันดับแรกต้องพิจารณาสถานที่ ๆ จะสร้างเรือนก่อนโดยต้องเลือกเอาสถานที่ปลอดโปร่ง ไม่มีจอมปลวก ไม่มีหลุมผี ไม่มีตอไม้ใหญ่ และต้องดูความสูงต่ำลาดเอียงไปทางทิศใดและจะเป็นมงคลหรือไม่ ดังนี้
- พื้นดินใด สูงหนใต้ ต่ำทางเหนือ เรียกว่า ไชยะเต ดีหลี
- พื้นดินใด สูงหนตะวันตก ต่ำทางตะวันออก เรียกว่า ยสะศรีดีหลี
- พื้นดินใด สูงทางอีสาน ต่ำทางหรดี เรียกว่า ไม่ดี
- พื้นดินใด สูงทางอาคเนย์ ต่ำทางพายัพ เรียกว่า เตโซ เฮือนนั้นมิดี เป็นไข้ พยาธิฮ้อนใจ
เมื่อเลือกได้พื้นที่ปลูกเรือนแล้ว จะมีการเสี่ยงทายพื้นที่นั้นอีกครั้งหนึ่ง โดยจัดข้าว 3 กระทง คือ ข้าวเหนียว 1 กระทง, ข้าวเหนียวดำ 1 กระทง และข้าวเหนียวแดง 1 กระทง นำไปวางไว้ตรงหลักกลางที่ดินเพื่อให้กากิน ถ้ากากินข้าวดำ ท่านว่าอย่าอยู่เพราะที่นั้นไม่ดี ถ้ากากินข้าวแดง ท่านว่าไม่ดียิ่งเป็นอัปมงคลมาก ถ้าการกินข้าวขาว ท่านว่าดีหลี จะอยู่เย็นเป็นสุข ให้รับเฮ็ดเรือนสมสร้างให้เสร็จเร็วไว การเลือกพื้นที่ที่จะปลูกเรือนอีกวิธีหนึ่งคือ การชิมรสของดิน โดยขุดหลุมลึกราวศอกเศษ ๆ เอาใบตองปูไว้ก้นหลุม แล้วหาหญ้าคาสดมาวางไว้บนใบตอง ทิ้งไว้ค้างคืนจะได้ไอดินเป็นเหงื่อจับอยู่หน้าในตอง จากนั้นให้ชิมเหงื่อที่จับบนใบตอง หากมีรสหวาน เป็นดินดีพออยู่ได้ มีรสจืด เป็นดินที่เป็นมงคล จะอยู่เย็นเป็นสุข มีรสเค็ม เป็นอัปมงคล ใครอยู่มักไม่ยั่งยืน มีรสเปรี้ยว พออยู่ได้แต่ไม่ใคร่ดีนัก จะมีทุกข์เพราะเจ็บไข้อยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องกลิ่นของดินอีกด้วย โดยการขุดดินลึกราว 1 ศอก เอาดินขึ้นมาดมกลิ่นว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อกันว่า ถ้าดินมีกลิ่นหอม ถือว่าดินนั้นอุดมดี เป็นมงคลอยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้าดินมีกลิ่นเย็น กลิ่นเหม็น กลิ่นคาว ถือว่าดินนั้นไม่ดี ใครปลูกสร้างบ้านอยู่เป็นอัปมงคล การดูพื้นที่ก่อนการสร้างเรือน ชาวอีสานแต่โบราณถือกันมาก แต่ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต โดยยังใช้คติเดิมแต่มีการเลี่ยงหรือการแก้เคล็ด เช่น การชิมดิน หากเป็นรสเค็มหรือเปรี้ยวก็แกเคล็ดโดยการบอกว่าจืด ส่วนการดมกลิ่นดิน การมีกลิ่นเหม็นคาวก็จะบอกเอาเคล็ดว่าหอม เป็นต้น
ฤกษ์ยามในการปลูกเรือน
ฤกษ์เดือน
- เดือนเจียง (เดือนอ้าย) นาคนั้นนอนหลับหากปลูกเรือนอยู่มักตาย
- เดือนยี่ นาคนอนตื่น ปลูกเรือนอยู่ดี มีสุข
- เดือนสาม นาคหากินทางเหนือ มิดี อยู่ฮ้อนไฟจักไหม้
- เดือนสี่ นาคหากินอยู่เรือน ปลูกเรือนอยู่ดีมีมงคล
- เดือนห้า นาคพ่ายครุฑหนี ปลูกเรือนร้อนนอกร้อนใจ มิดี
- เดือนหก จะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง มิตรสหายมาก
- เดือนเจ็ด นาคพ่ายหนี จักได้พรากจากเรือนมิดี
- เดือนแปด นาคเห็นครุฑ จักได้เสียของมิรู้แล้ว
- เดือนเก้า นาคประดับตน ปลูกเรือนมีข้าวของกินมิรู้หมด
- เดือนสิบ นาคถอดเครื่องประดับ ปลูกเรือนเข็ญใจ และคนในเรือนมักเจ็บไข้ตาย
- เดือนสิบเอ็ด จะเกิดทุกข์ภัยอันตรายต่าง ๆ มักจะมีคนฟ้องร้องกล่าวหา จักมีโทษทัณฑ์
- เดือนสิบสอง จะได้ทรัพย์สิน เงินทอง ข้าวของ และคนใช้ดีหลีแล
ฤกษ์วัน
- วันอาทิตย์ ปลูกเรือนจะเกิดทุกข์อุบาทว์
- วันจันทร์ ทำแล้ว 2 เดือนจะได้ลาภผ้าผ่อนและของชาวเหลือง เป็นที่พึงพอใจ
- วันอังคาร ทำแล้ว 3 วันไฟจะไหม้หรือจะเจ็บไข้
- วันพุธ ปลูกเรือนจะได้ลาภเครื่องอุปโภคมีผ้าผ่อน เป็นต้น
- วันพฤหัสบดี ปลูกเรือนจะเกิดสุขกายสบายใจ ทำแล้ว 5 เดือนจะได้โชคลาภมาก
- วันศุกร์ ปลูกเรือนจะมีความทุกข์และความสุขก้ำกึ่งกันทำแล้ว 3 เดือนจะได้ลาภเล็กน้อย
- วันเสาร์ ปลูกเรือนจะเกิดพยาธิ หรือเลือดตกยางออก ทำแล้ว 4 เดือนจะลำบาก ห้ามไม่ให้ทำเล
ลักษณะเรือนไทยอีสาน
คำว่า บ้าน กับ เฮือน (ความหมายเช่นเดียวกับ เรือน) สำหรับความเข้าใจของชาวอีสานแล้วจะต่างกัน คำว่า บ้าน มักจะหมายถึง หมู่บ้าน มิใช่บ้านเป็นหลัง ๆ เช่น บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านนาคำแคนหรือบ้านดงมะไฟ เป็นต้น ส่วนคำว่า เอือน นั้น ชาวอีสานหมายถึงเรือนที่เป็นหลัง ๆ นอกจากคำว่า เฮือน แล้ว อีสานยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงกัน แต่รูปแบบแตกต่างกันไป เช่น คำว่า โฮง หมายถึงที่พักอาศัยที่ใหญ่กว่า เฮือน มักมีหลายห้อง เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองหรือเจ้าครองนครในสมัยโบราณ คำว่า คุ้ม หมายถึง บริเวณที่มี เฮือน รวมกันอยู่หลาย ๆ หลังเป็นหมู่อยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น คุ้มวัดเหนือ คุ้มวัดใต้ และคุ้มหนองบัวเป็นต้น คำว่า ตูบ หมายถึง กระท่อมที่ปลูกไว้เป็นที่พักชั่วคราว มุงด้วยหญ้าหรือใบไม้ ชาวอีสาน มีความเชื่อในการสร้างเรือนให้ด้านกว้างหันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก ให้ด้านยาวหันไปทางทิศเหนือและใต้ ซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า วางเรือนแบบ ล่องตาเว็น (ตามตะวัน) เพราะถือว่าหากสร้างเรือนให้ ขวางตาวัน แล้ว ขะลำ คือเป็นอัปมงคลทำให้ผู้อยู่ไม่มีความสุข บริเวณรอบ ๆ เรือนอีสานไม่นิยมทำรั้ว เพราะเป็นสังคมเครือญาติมักทำยุ้งข้าวไว้ใกล้เรือน บางแห่งทำเพิงต่อจากยุ้งข้าว มีเสารับมุงด้วยหญ้าหรือแป้นไม้ เพื่อเป็นที่ติดตั้งครกกระเดื่องไว้ตำข้าว ส่วนใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นบริเวณที่มีการใช้สอยมากที่สุด จะมีตั้งแต่ตั้งหูกไว้ทอผ้า กี่ทอเสื่อแคร่ไว้ปั่นด้าย และเลี้ยงลูกหลาน นอกจากนั้นแล้ว ใต้ถุนยังใช้เก็บไหหมักปลาร้า และสามารถกั้นเป็นคอกสัตว์เลี้ยง ใช้เก็บเครื่องมือเกษตรกรรม ตลอดจนใช้จอดเกวียน
การจัดวางแผนผังของห้องและองค์ประกอบต่าง ๆ ในเรือนไทยอีสานมีดังนี้
เรือนนอนใหญ่
จะวางจั่วรับทิศตะวันออก-ตะวันตก (ตามตะวัน) ส่วนมากจะมีความยาว 3 ช่วงเสา เรียกว่า เรือนสามห้อง ใต้ถุนโล่ง ชั้นบนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
- ห้องเปิง เป็นห้องนอนของลูกชาย มักไม่กั้นห้องด้านหัวนอนมีหิ้งประดิษฐานพระพุทธรูปหรือสิ่งเคารพบูชา เช่น เครื่องราง ของขลัง เป็นต้น
- ห้องพ่อ-แม่ อาจกั้นเป็นห้องหรือบางทีก็ปล่อยโล่ง
- ห้องนอนลูกสาว มีประตูเข้ามีฝากั้นมิดชิด หากมีลูกเขยจะให้นอนในห้องนี้ ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า ห้องส่วม ส่วนชั้นล่างของเรือนนอนใหญ่อาจใช้สอยได้อีกกล่าวคือ กั้นเป็นคอกวัวควาย ตั้งแคร่นอนพักผ่อนในตอนกลางวัน และทำหัตถกรรมจักสานถักทอของสมาชิกในครอบครัว เก็บอุปกรณ์การทำนาทำไร่ เช่น จอบ เสียม คราด ตลอดจนเกวียน เป็นต้น
เกย (ชานโล่งมีหลังคาคลุม)
เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาจากเรือนนอนใหญ่ มักใช้เป็นที่รับแขก ที่รับประทานอาหาร และใช้เป็นที่หลับนอนของลูกชายและแขกเหรื่อที่กลับมาจากงานบุญในตอนค่ำคืน ส่วนของใต้ถุนจะเตี้ยกว่าปกติ ซึ่งอาจใช้เป็นที่เก็บฟืนหรือสิ่งของที่ไม่ใหญ่โตนัก
เรือนแฝด
เป็นเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอน ในกรณีที่พื้นทั้งสองหลังเสมอกัน โครงสร้างทั้งคานพื้นและขื่อหลังคาจะฝากไว้กับเรือนนอน แต่หากเป็นเรือนแฝดลดพื้นลงมากกว่าเรือนนอนก็มักเสริมเสาเหล็กมารับคานไว้อีกแถวหนึ่งต่างหาก
เรือนโข่ง
มีลักษณะเป็นเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอนใหญ่แต่ต่างจากเรือนแฝดตรงที่โครงสร้างของเรือนโข่งจะแยกออกจากเรือนนอน โดยสิ้นเชิง สามารถรื้อถอนออกไปปลูกใหม่ได้โดยไม่ประทบกระเทือนต่อเรือนนอน การต่อเชื่อมของชายคาทั้ง 2 หลัง ใช้รางน้ำ โดยใช้ไม้กระดาน 2 แผ่นต่อกันเป็นรูปตัววีแล้วอุดด้วยชันผสมขี้เลื่อย ในกรณีที่เรือนไม่มีครัวก็สามารถใช้พื้นที่ส่วนเรือนโข่งนี้ทำครัวชั่วคราวได้
เรือนไฟ (เรือนครัว)
ส่วนมากจะเป็นเรือน 2 ช่วงเสา มีจั่วโปร่งเพื่อระบายควันไฟ ฝานิยมใช้ไม้ไผ่สานลายทแยงหรือลายขัด
ชานแดด
เป็นบริเวณนอกชานเชื่อมระหว่างเกย เรือนแฝดกับเรือนไฟ มีบันไดขึ้นด้านหน้าเรือนมี ฮ้างแอ่งน้ำ (้ร้านหม้อน้ำ) อยู่ตรงขอบของชานแดด บางเรือนที่มีบันไดขึ้นลงทางด้านนหลังจะมี ชานมน ลดระดับลงไปเล็กน้อยโดยอยู่ก้านหน้าของเรือนไฟเพื่อใช้เป็นที่ล้างภาชนะตั้งโอ่งน้ำและวางกระบะปลูกพืชผักสวนครัวต่าง ๆ
รูปแบบของเรือนไทยอีสานสามารถแบ่งได้ตามประเภทของการพักอาศัยที่ตอบสนองประโยชน์ใช้สอยในวาระต่าง ๆ กัน ดังต่อไปนี้
ประเภทชั่วคราว หรือใช้เฉพาะฤดูกาล ได้แก่ เถียงนา หรือ เถียงไร่ ส่วนใหญ่จะยกพื้นสูง เสาเรือนใช้ไม้จริง ส่วนโครงใช้ไม้ไผ่หลังคามุงหญ้าหรือแป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนเก่า พื้นเป็นไม้ไผ่สับ ในกรณีที่ไร่นาอยู่ไม่ไกลจากเรือนพักสามารถไปกลับได้ภายในวันเดียวจะไม่นิยมกั้นฝา หากต้องค้างคืนก็มักกั้นฝาด้วย แถบตอง คือสานไม้ไผ่เป็นตารางขนาบใบต้นเหียงหรือใบต้นพลวง ซึ่งจะทนทานอยู่ราว 1-2 ปี
ประเภทกึ่งถาวร เป็นเรือนขนาดเล็กที่ไม่มั่นคงแข็งแรงนักชาวอีสานเรียกว่า เรือนเหย้า หรือ เฮือนย้าว เป็นการเริ่มต้นชีวิตการครองเรือน และค่อย ๆ เก็บหอมรอมริบไปสู่การมีเรือนถาวรในที่สุด ผู้ที่จะมี เรือนเหย้า นี้จะเป็นเขยของบ้านที่เริ่มแยกตัวออกไปจากเรือนใหญ่ (เรือนพ่อแม่) เพราะในแง่ความเชื่อของชาวอีสาน เรือนหลังเดียวไม่ควรให้ครอบครัวของพี่น้องอยู่ร่วมกันหลายครอบครัวในบ้านหลังหนึ่ง ๆ ควรมีเขยเดียวเท่านั้น การมีเขนมากกว่าหนึ่งคนมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกันถือว่าจะเกิด ขะลำ หรือสิ่งอัปมงคล เรือนประเภทนี้วัสดุก่อสร้างมักไม่พิถีพิถันนัก อาจเป็นแบบ เรือนเครื่องผูก หรือเป็นแบบผสมของ เรือนเครื่องสับ ก็ได้ เรือนประเภทกึ่งถาวรนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
- เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด ตูบต่อเล้า เป็นเรือนที่อิงเข้ากับตัวเล้าข้าว ซึ่งมีอยู่เกือบทุกครัวเรือน มีลักษณะคล้ายเพิงหมาแหงนทั่วไปด้านสูงจะไปอาศัยโครงสร้างของเล้าข้าวเป็นตัวยึด ต่อหลังคาลาดต่ำลงไปทางด้านข้างของเล้า แล้วใช้เสาไม้จริงตั้งรับเพียง 2-3 ต้น มุงหลังคาด้ายหญ้าหรือสังกะสี ยกพื้นเตี้ย ๆ กั้นฝาแบบชั่วคราว อาศัยกันไปก่อนสักระยะหนึ่ง พอตั้งตัวได้ก็จะย้ายไปปลูกเรือนใหญ่ถาวรอยู่เอง ตรงส่วนที่เป็น ตูบต่อเล้า นี้ก็ทิ้งให้เป็นที่นอนเล่นของพ่อแม่ต่อไป
- เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด ดั้งต่อดิน เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกตัวออกจากเรือนใหญ่ทำนองเดียวกับ ตูบต่อเล้า แต่จะดูเป็นสัดส่วนมากกว่า ขนาดของพื้นที่ค่อนข้างน้อย กว้างไม่เกิน 2 เมตร ยาวไม่เกิน 5 เมตร นิยมทำ 2 ช่วงเสา คำว่า ดั้งต่อดิน เป็นคำเรียกของชาวไทยอีสานที่หมายถึง ตัวเสาดั้งจะฝังถึงดิน และใช้ไม้ท่อนเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่ วิธีสร้าง ดั้งต่อดิน มักใช้ผูกโครงสร้างเหมือนกับเรือนเครื่องผูกตัวเสาและเครื่องบนนิยมใช้ไม้จริงทุบเปลือก หลังคามุงด้วยหญ้าคาที่กรองเป็นตับแล้วเรียกว่า ไพหญ้า หรือใช้แป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนใหญ่ ฝาเรือนมักใช้ฝาแถบตองโดยใช้ใบกุงหรือใบชาดมาประกบกับไม้ไผ่สานโปร่งเป็นตาราง หรือทำเป็นฝาไม้ไผ่สับฟากสานลายขัดหรือลายสองทแยงตามแต่สะดวก ส่วนพื้นนิยมใช้พื้นสับฟากหรือใช้แผ่นการดานปูรอง โดยใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกมามัดขนาบกันแผ่นกระดานขยับเลื่อน
- เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด ดั้งตั้งคาน ยังอยู่ในประเภทของเรือนเครื่องผูก มีความแตกต่างจากเรือน ดั้งต่อดิน ตรงที่เสาดั้งต้นกลางจะลงมาพักบนคานสกัดไม่ต่อลงไปถึงดิน ส่วนการใช้วัสดุมุงหลังคา ฝาและพื้นเรือนจะใช้เช่นเดียวกับเรือนประเภท ดั้งต่อดิน
ประเภทถาวร
ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น เรือนเครื่องสับ สังเกตได้จากการเลือกใช้วัสดุ รูปแบบของการก่อสร้าง ประโยชน์ใช้สอยและความประณีตทางช่าง อาจจำแนกเรือนถาวรได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้
- ชนิดเรือนเกย มีลักษณะใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว เสาใช้ไม้กลม 8 เหลี่ยม หรือเสา 4 เหลี่ยม ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เกย ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ (ร้านหม้อน้ำ)
- ชนิดเรือนแฝด มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยมเช่นเดียวกัน ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เรือนแฝด เกย ชานแดด เรือนไฟ ฮ้างแอ่งน้ำ
- ชนิดเรือนโข่ง มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยม มีจั่วแฝดอยู่ชิดติดกัน ไม่นิยมมีเกย เรือนชนิดนี้ประกอบด้วย เรือนใหญ่ เรือนโข่ง ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ
เรือนไทยภาคเหนือ
เรือนไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เรือนไทยภาคกลาง
เรือนไทยภาคใต้