ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

สงครามครูเสด

 (THE CRUSADES)

ดินแดนปาเลสไตน์ อันเป็นถิ่นกำเนิดของ พระเยซูไครสท์นั้นถือ กันว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคริสต์ศาสนิกชน พากันไปจาริกแสวงบุญ ตั้งแต่ต้นคริสตกาล โดยชนชาติซาราเซ็น ที่ปกครองปาเลสไตน์อยู่นั้นก็ยินดีต้อนรับ เพราะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก นักแสวงบุญเหล่านั้น

ตั้งแต่ ค.ศ. 1076 เป็นต้นมา พวกเติร์กมุสลิมได้เข้ามาเป็นใหญ่เหนือดินแดน ศักดิ์สิทธิ์นี้ และได้ปล้นฆ่านักจาริกแสวงบุญ อย่างเหี้ยมโหดรวมทั้งทำลายโบสถ์ ของชาวคริสต์เกือบหมดสิ้น ในช่วงนี้มีพระคริสเตียนรูปหนึ่งนามว่า ปีเตอร์ เป็นชาวฝรั่งเศส ซึ่งชอบใช้ ชีวิตสันโดษ ได้จาริกไปยังนครเยรูซาเลม โดยที่นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าเก่าๆปอนๆ และพำนักอาศัยอยู่ใน ถ้ำตามภูเขา ทำให้ผู้คนมีความชื่นชมศรัทธาและขนานนามให้ว่า ปีเตอร์มหาฤาษี (Peter the Hermit) เมื่อสาธุคุณปีเตอร์ ได้เห็นชนมุสลิม กระทำทารุณกรรมต่อชาวคริสต์ จึงคิดอ่านที่จะแก้ไข ด้วยการทำศึก ชิงเอาดินแดนแห่งพระไครสท์คืนมา ท่านจึงเดินทางกลับยุโรป และทูลถึงแผนการนี้แด่ท่านสังฆนายก เออร์บันที่ 2 (Urban II) ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนและ ให้ดำเนินการได้

เมื่อประชาชนชาวยุโรป ได้รับรู้ถึงความ โหดร้ายทารุณที่เกิดขึ้นกับ นักจาริกแสวงบุญจากการ ป่าวร้องของนักบุญปีเตอร์ ต่างก็โกรธแค้นและหลั่งไหลกันมาฝรั่งเศสจากทั่วยุโรป เพื่อสมัครไปรบแย่งชิง นครเยรูซาเลมคืนมา โดยสังฆนายกเออร์บันได้กำหนดให้ทุกคนที่ไปรบ ติดเครื่องหมายกางเขนไว้ที่ตัว กองทัพนี้จึงได้ชื่อว่า ครูเสด (Crusade) คือมาจากคำว่า (Cross) ที่หมายถึงไม้กางเขนไม่มีใครคิดว่าสงครามครั้งนี้จะยืดเยื้อยาวนานเกือบ 200 ปี

โดยสงครามครูเสดครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1096-1099 ชาวยุโรปที่กระหายจะไปรบ ได้รวมพลกันมากถึง 250,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นต่ำ มีทั้งผู้หญิงและเด็กตามไปด้วย อาวุธก็ตามแต่จะหาได้ จึงเป็นเพียงกองกำลังมหึมาที่ปราศจาก อานุภาพ ภายใต้การนำของปีเตอร์มหาฤาษี ขาดทั้งวินัยและเสบียง ต้องหากินด้วยการปล้น ในระหว่างทางล้มตายไปก็มาก จึงถูกพวกเติร์กโจมตีแตกพ่ายอย่างง่ายดาย

ต่อมาใน ค.ศ. 1096 จึงได้มีการรวบรวม อาสาสมัครขึ้นใหม่ 600,000 คน และมีนักรบที่แท้จริงกว่าในหนแรก ประกอบด้วยอัศวินและ ทหารภายใต้การควบคุมของ เจ้าผู้ครองนครต่างๆในยุโรป จัดเป็นทหารชั้นดีมีอุปกรณ์ เพียบพร้อม ทั้งเสื้อเกราะ หมวกเหล็ก โล่ และอาวุธต่างๆ ครบครันเป็นทหารม้าสวมเกราะถึง 100,000 คน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีนายหลายคนและ ปราศจาก แม่ทัพใหญ่ผู้มีอำนาจบัญชาการ สูงสุด จึงไม่มีความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกันดั่งที่กองทัพ พึงมี จึงจัดเป็นจุดอ่อนของทัพนี้ ในช่วงแรก ทัพครูเสดมีชัยตีได้เมืองต่างๆตามทาง จนกระทั่งได้ อันติอ๊อก (Antioch) เมืองหลวงของซีเรีย แต่ก็สูญเสียกำลังพลไปมาก เหลือม้าศึกเพียงแค่ 2,000 ตัวเท่านั้น ครั้นแล้วจึงมุ่งตรงไปยังนครเยรูซาเลม ซึ่งขณะนั้นตกอยู่ในการครอบครองของอียิปต์

ทัพครูเสดตีเยรูซาเลมได้ในเดือนกรกฎาคมปี 1099 จับมุสลิมและยิวฆ่าเสียราว 70,000 คน จากนั้นพวกครูเสดจึงตั้ง กอดเฟรย์แห่ง บุยอินยอง ผู้นำทัพเบลเยียม ขึ้นเป็นกษัตริย์ ปกครองเยรูซาเลม ส่วนเหล่านักรบครูเสดก็แยกย้ายกันเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน หลังจากสงบมาได้หลายสิบปี ก็ได้มีพวกเติร์กใหม่ซึ่งเข้มแข็ง ยกกำลังเข้ามารุกรานคุกคาม ดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้อีก ชาวคริสต์ในเยรูซาเลมจึงขอความพิทักษ์ภัยไปยังยุโรป และก็สามารถระดมกำลังพลได้ถึง 300,000 คน แต่ก็อีกนั่นแหละ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นพวกไร้ฝีมือทัพครูเสดภายใต้ การนำของกษัตริย์ คอนราดที่ 3 แห่ง เยอรมัน กับ พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส ที่ยกไปในช่วงปี ค.ศ. 1148 จึงถูกทัพมุสลิมตีแตกพ่ายไปตั้งแต่ยังไม่ทันถึงนครเยรูซาเลม สงครามครูเสดครั้งต่อมา จัดเป็นการศึกที่ ยิ่งใหญ่และมีตำนานต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยทางฝ่ายคริสเตียน มีนายทัพชั้นดีหลายคน อาทิ พระเจ้า ริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the lion hearted) แห่งอังกฤษ กษัตริย์ ฟิลลิป ออกัสตัส แห่งฝรั่งเศส พระเจ้า เฟร เดอริก บาร์บารอสซา แห่งเยอรมัน

ทางฝ่ายมุสลิมก็มีขุนทัพ ซาลาดิน (Sarladin) ผู้เกรียงไกรของเติร์ก ซึ่งสามารถรวบรวมรัฐทั้งหลายของชนเผ่า ซาราเซนให้เป็นอาณาจักรเดียวกันได้สำเร็จ และสุดท้ายก็ตีได้นครเยรูซาเลม ในปี ค.ศ. 1187 อันเป็นสาเหตุให้ฝ่ายคริสต์ต้องยกขบวนครูเสดมาแย่งคืนนั่นเอง ทัพครูเสดจากอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน มารวมพลกันที่เมืองเอเคอร์ติดชายแดนซีเรีย ในปี ค.ศ. 1189

หลังจากสู้รบกับทัพที่สุลต่านซาลาดินส่งมาอยู่นานถึง 23 เดือน ก็ตีได้เมือง เอเคอร์ในที่สุด และจับชาวมุสลิมกระทำทารุณ อย่างเหี้ยมโหด แล้วสังหารทิ้งถึง 25,000 คน ด้วยแค้นที่ รบต้านทานทรหดทำให้ต้องสูญเสียทหารคริสเตียนไปมากมาย แม้ริชาร์ดใจสิงห์ จะทรงพลังเข้มแข็ง แต่ไม่สู้ลงรอยกับ ผู้นำของชาติอื่นๆ ทำให้เกิดความขัดแย้งกันตลอดเวลา ตรงกันข้ามกษัตริย์ริชาร์ดกลับมีความสัมพันธ์ฉันสหายกับ สุลต่านซาลาดิน ซึ่งเป็นคู่ปรับตัวฉกาจ ทั้งสองต่างยอมรับนับถือในฝีมือของกันและกัน รวมทั้งได้ มีการเจรจาออมชอมพักรบกันเป็นครั้งคราว โดยที่ทั้งสอง ต่างก็รักษาสัจจะวาจาอย่างเคร่งครัด สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่ง ก็คือ ความแตกต่างระหว่าง นักรบฝ่ายคริสเตียนกับนักรบมุสลิม โดยนักรบจากยุโรปมักมีร่างกายใหญ่โตบึกบึน แต่งกายออกศึกในชุดหุ้มเกราะอันหนักอึ้ง แม้กระทั่งม้าศึกก็มีเกราะหุ้มกำบัง อาวุธที่ใช้ก็เป็น ดาบและโล่ที่มีน้ำหนัก ส่วนทางฝ่ายมุสลิมจะมีรูปร่างเล็กกว่า สวมเสื้อหนังและใช้ดาบซาระเซนรูปโค้งดั่งเคียวและ คมกริบ นักรบมุสลิมจะรบอย่างคล่องแคล่วปราดเปรียว

ในขณะที่นักรบครูเสดอุ้ยอ้ายเทอะทะ แต่มีอาวุธที่หนักหน่วงกว่า และมีอุปกรณ์ป้องกันตนเหนือกว่า มีข้อดีและข้อด้อยที่ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก จึงเป็นการรบที่น่าดูอย่างยิ่ง ท้ายที่สุดในปี ค.ศ. 1192 สหายศึกทั้งสองคือริชาร์ดใจสิงห์ กับซาลาดิน ได้ทำสัญญาสงบศึกต่อกัน แต่หลังจากสัญญาสิ้นสุดลงก็ได้มีสงครามเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง

สงครามครูเสดครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1229 โดยการนำทัพของ พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 2 แห่งเยอรมัน ซึ่งในระหว่างนั้นเหล่ามุสลิมกำลังเกิดความขัดแย้งระส่ำระสาย กองทัพคริสเตียนจึงได้ชัยชนะ และยึดเอาเมืองต่างๆในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ไว้ได้ รวมทั้งเยรูซาเลม

หลังจากปกครองอยู่ 10 ปี พวกอียิปต์ก็กลับเข้ามาตีเมืองเยรูซาเลมคืนในปี ค.ศ. 1244 และขับ ไล่นักรบครูเสดออกไปทีละเมืองจนหมดใน เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1291 และเป็นการยุติสงครามครูเสดอันยาวนานถึง 1,200 ปี โดยสิ้นเชิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย