สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ลัทธิสังคมนิยมกับสงคราม

หลักการของสังคมนิยม กับ การสงคราม ในปี 1914 - 1915 โดย เลนิน

ท่าทีชาวสังคมนิยมต่อสงคราม

ชาวสังคมนิยมได้ประณามสงครามระหว่างประชาชาติต่าง ๆ เสมอมาว่าป่าเถื่อนและโหดร้าย แต่ท่าทีต่อสงครามของเราแตกต่างกับท่าทีของนักสันตินิยมชนชั้นนายทุน (ผู้สนับสนุนและผู้เสนอให้มีสันติภาพ) และพวกอนาธิปไตยโดยรากฐาน. เราแตกต่างกับพวกแรกที่เราเข้าใจความเกี่ยวเนื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ระหว่างสงครามกับการต่อสู้ทางชนชั้นภายในประเทศ; เราเข้าใจว่าสงครามย่อมไม่อาจถูกทำลายไปได้นอกเสียจากว่าจะทำลายชนชั้นและสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยมขึ้นมา; และเราก็ยังแตกต่างออกไปอีกตรงที่เราถืออย่างเต็มที่ว่าสงครามกลางเมือง, กล่าวคือสงครามที่ชนชั้นถูกกดขี่กระทำต่อชนชั้นที่กดขี่, ที่ทาสกระทำต่อเจ้าทาส, ที่ทาสกสิกรกระทำต่อเจ้าที่ดิน, และที่กรรมกรรับจ้างกระทำต่อชนชั้นนายทุน, เป็นสงครามที่ชอบธรรม, ก้าวหน้าและจำเป็น. เราชาวลัทธิมาร์คซ์แตกต่างกับทั้งนักสันตินิยมและทั้งพวกอนาธิปไตยตรงที่เราคิดว่ามันมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาค้นคว้าสงครามแต่ละครั้งอย่างเป็นประวัติศาสตร์ (จากจุดยืนวัตถุนิยมวิภาษของลัทธิมาร์คซ์) ในประวัติศาสตร์เคยมีสงครามเป็นจำนวนมากซึ่งแม้ว่าจะเต็มไปด้วยภัยพิบัติ, ความทารุณโหดร้าย, ความทุกข์และความทรมานที่ย่อมจะติดตามสงครามทั้งปวงมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้, แต่ก็เป็นสงครามที่ก้าวหน้า คือเป็นทุนแก่พัฒนาการของมนุษยชาติโดยช่วยทำลายสถาบันที่ปฎิกิริยาและมีพิษภัยเป็นพิเศษ(ตัวอย่างเช่น ระบอบอัตตาธิปไตยหรือระบอบทาสกสิกร), ทำลายระบอบทรราชที่ป่าเถื่อนที่สุดในยุโรป(ของตุรกีและรัสเซีย). เพราะฉะนั้น, จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีลักษณะพิเศษทางประวัติศาสตร์ของสงครามเฉพาะหน้านี้.

ประเภททางประวัติศาสตร์ของสงครามในสมัยใหม่

การปฎิวัติฝรั่งเศสได้เริ่มต้นระยะใหม่ขึ้นระยะหนึ่งในประวัติของมนุษยชาติ. นับแต่นั้นจนถึงคอมมูนปารีส, จากปี1789-1871 สงครามประเภทหนึ่งก็คือ สงครามที่มีลักษณะปลดปล่อยประชาชาติ, ที่มีลักษณะก้าวหน้าของชนชั้นนายทุน.กล่าวอีกนัยหนึ่ง, เนื้อหาหลักและความหมายทางประวัติศาสตร์ของสงครามเหล่านี้ก็คือ การโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบอบศักดินา, การทำลายพื้นฐานของสถาบันเหล่านี้, การโค่นการกดขี่ของต่างชาติ. เพราะฉะนั้น, สงครามเหล่านี้จึงเป็นสงครามที่ก้าวหน้า, และระหว่างสงครามเช่นนี้ นักประชาธิปไตยที่ปฏิวัติที่จริงใจทุกคน, รวมทั้งชาวสังคมนิยมทุกคนด้วย, จึงได้เอาใจเข้าข้างความสำเร็จของประเทศนั้น(คือของชนชั้นนายทุนนั้น) เสมอมาที่ได้ช่วยโค่น, หรือทำลายรากฐานที่ร้ายกาจที่สุดของศักดินานิยม, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการกดขี่ประชาชาติอื่น ๆ . ตัวอย่างเช่น, สงครามปฏิวัติที่ฝรั่งเศสได้กระทำ, ถึงจะมีส่วนของการปล้นสะดมและพิชิตดินแดนต่างชาติโดยชาวฝรั่งเศสอยู่ด้วย, แต่นี่ก็ไม่ได้แปรเปลี่ยนความหมายทางประวัติศาสตร์ขั้นมูลฐานของสงครามนี้ที่ได้ทำลายและสลายระบอบศักดินาและระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ในยุโรปเก่าที่เต็มไปด้วยทาสกสิกรไปแม้แต่น้อย. ในสงครามฝรั่งเศส--ปรัสเซีย, เยอรมันเคยปล้นฝรั่งเศส, แต่นี่ก็มิได้แปรเปลี่ยนความหมายทารงประวัติศาสตร์ของสงครามนี้ที่ได้ปลดปล่อยประชาชนเยอรมันนับสิบ ๆ ล้านคนออกจากการครอบงำของระบอบศักดินาที่กำลังเสื่อมสลายและออกจาการกดขี่ของผู้เผด็จอำนาจ 2 คน, พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียกับนโปเลียนที่ 3

อ่านต่อ >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย