ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
โบราณวัตถุ
การค้นพบและการครอบครองโบราณวัตถุ
การค้นพบโบราณวัตถุ
การค้นพบโบราณวัตถุที่ซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้งไว้ในราชอาณาจักรหรือในบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะ
ที่โดยพฤติการณ์ไม่มีผู้ใดสามารถอ้างว่าเป็นเจ้าของได้
ไม่ว่าที่ซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้งโบราณวัตถุจะอยู่ในกรรมสิทธิ์หรือความครอบครองของบุคคลใด
ให้โบราณวัตถุนั้นตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน
บุคคลใดที่เก็บโบราณวัตถุได้ต้องส่งมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรที่ใกล้ที่สุด
หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเร็ว
ซึ่งผู้พบมีสิทธิได้รับรางวัลตามที่คณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าของทรัพย์สินและเงินรางวัลจะดำเนินการพิจารณากำหนด
แต่ไม่เกิน หนึ่งในสามแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น
หากผู้เก็บโบราณวัตถุได้ไม่พอใจก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมศิลปากรได้ภายในสิบห้าวัน
นับแต่วันทราบค่าของทรัพย์สินที่กำหนด คำวินิจฉัยของอธิบดีให้ถือเป็นที่สุด
การครอบครองโบราณวัตถุ
โดยปกติแล้วโบราณวัตถุที่ซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้งไว้ในราชอาณาจักรซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถอ้างว่าเป็นเจ้าของได้จะตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินอยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากร
ซึ่งจะโอนกันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมาย
หรือกรณีที่เป็นโบราณวัตถุที่มีเหมือนกันอยู่มากเกินต้องการ
อธิบดีกรมศิลปากรจะอนุญาตให้โอนโดยวิธีขายเพื่อประโยชน์แก่โบราณสถานหรือการพิพิธภัณฑ์
หรือโอนโดยวิธีแลกเปลี่ยนเพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อการศึกษา ค้นคว้า
วิจัย ด้านโบราณคดีและการพิพิธภัณฑ์ หรือโอนโดยวิธีให้ เพื่อเป็นรางวัล
หรือค่าแรงงานแก่ผู้ขุดค้นก็ได้ ทั้งนี้
ต้องมีการทำหลักฐานกำกับโบราณวัตถุที่มีการโอนนั้นด้วย
สำหรับโบราณวัตถุที่มิได้อยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากรแต่อธิบดีกรมศิลปากรเห็นว่าเป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าในทางศิลป
ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดีเป็นพิเศษ
อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุนั้นได้
ผู้ที่ครอบครองโบราณวัตถุที่ขึ้นทะเบียนแล้วมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
- จะซ่อมแซม แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงโบราณวัตถุไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรเป็นลายลักษณ์อักษร
- กรณีที่โบราณวัตถุนั้นชำรุด หักพัง เสียหาย หรือสูญหาย หรือ มีการย้ายสถานที่เก็บรักษา ให้ผู้ครอบครองโบราณวัตถุแจ้งเป็นหนังสือไปยังอธิบดีกรมศิลปากรภายในสามสิบวัน นับแต่วันชำรุด หักพัง เสียหาย สูญหายหรือมีการย้ายสถานที่เก็บรักษา
- ถ้ามีการโอนโบราณวัตถุ ผู้โอนต้องแจ้งการโอนเป็นหนังสือ โดยระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้รับโอน และวันเดือนปีที่โอนไปยังอธิบดีกรมศิลปากรภายในสามสิบวัน
- ผู้ที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในโบราณวัตถุที่ขึ้นทะเบียนแล้วมาโดยทางมรดกหรือโดยพินัยกรรม มีหน้าที่แจ้งการได้รับกรรมสิทธิ์ไปยังอธิบดีกรมศิลปากรภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับกรรมสิทธิ์ หากมีผู้ได้รับกรรมสิทธิ์ในโบราณวัตถุเดียวกันหลายคน ถ้าผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมคนใดคนหนึ่งเป็นผู้แจ้งการรับกรรมสิทธิ์แล้วถือว่าผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคนได้แจ้งแล้ว
- กรณีที่ผู้ครอบครองโบราณวัตถุจะแสดงโบราณวัตถุโดยเรียกเก็บค่าเข้าชมหรือค่าบริการอื่น ต้องมีการแจ้งให้อธิบดีกรมศิลปากรทราบก่อนและต้องปฏิบัติตามประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแสดงโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ โดยเรียกเก็บค่าเข้าชม หรือค่าบริการอื่นด้วย ดังนี้
- ต้องยื่นเอกสารหลักฐานอันประกอบด้วยภาพถ่ายโบราณวัตถุที่จัดแสดงเป็นภาพสีที่เห็นชัดเจน บัญชีรายการโบราณวัตถุตามแบบของกรมศิลปากร คำบรรยายเกี่ยวกับโบราณวัตถุที่จัดแสดง อัตราค่าเข้าชมหรือค่าบริการอื่น และแผนผังอาคารหรือสถานที่จัดแสดง
- การจัดแสดงโบราณวัตถุนั้นต้องไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียม ศิลปวัฒนธรรม ศีลธรรมอันดีงามและไม่ลบหลู่พระศาสนา
- ในกรณีที่มีการนำโบราณวัตถุมาจัดแสดงเพิ่มเติม หรือแก้ไขบัญชีรายการโบราณวัตถุ ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้อธิบดีกรมศิลปากรทราบ ปีละครั้ง
- ต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการยกเว้นให้ผู้เข้าชมบางประเภทไม่ต้องเสียค่าเข้าชมหรือลดค่าเข้าชม เช่น นักเรียน นิสิต นักศึกษาในเครื่องแบบ พระภิกษุ สามเณร
-
ผู้จัดแสดงต้องมีการแจ้งให้ผู้เข้าชมปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่กำหนดให้ผู้เข้าชมปฏิบัติในระหว่างเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโดยอนุโลม
กล่าวคือ
- ไม่นำกระเป๋า ถุง ย่าม หรือสิ่งใดๆ ที่อาจบรรจุ ปกคลุม ปิดบัง หรือซ่อนเร้นสิ่งของได้เข้าไปในอาคารจัดแสดง
- ไม่นำอาวุธ วัตถุระเบิด วัตถุเชื้อเพลิง หรือสารเคมี อันจะก่อให้เกิดอันตรายเข้าไปในสถานที่จัดแสดง
- ไม่จับต้องหรือหยิบฉวยหรือกระทำใดๆ อันอาจเป็นเหตุให้เกิดความชำรุดหรือเสียหายแก่โบราณวัตถุ และสิ่งของที่จัดแสดงไว้
- ไม่ขีดเขียนหรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ ลงบนโบราณวัตถุ และอาคารสถานที่จัดแสดง
- ไม่สูบบุหรี่ภายในอาคารจัดแสดง เว้นแต่ในบริเวณสถานที่ที่จัดไว้สำหรับสูบบุหรี่
- ไม่กระทำการใดๆ ภายในเขตอาคารจัดแสดงอันเป็น ที่น่ารังเกียจหรือเป็นที่เสื่อมเสียต่อศีลธรรมอันดี หรือลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาและวัฒนธรรม หรือก่อความรำคาญแก่ผู้เข้าชมอื่นๆ
- ไม่ถ่ายรูปหรือบันทึกภาพ หรือเขียนรูปโบราณวัตถุ หรือสิ่งของที่จัดแสดงไว้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต
- ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความชำรุด เสียหาย หรือก่อให้เกิดความสกปรกและไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยแก่สถานที่จัดแสดง
- ไม่นำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปในอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุ
การค้นพบและการครอบครองโบราณวัตถุ
การค้าโบราณวัตถุและการส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักร
สิ่งเทียมโบราณวัตถุ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำว่า โบราณวัตถุ