ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
โบราณวัตถุ
สิ่งเทียมโบราณวัตถุ
สิ่งเทียมโบราณวัตถุคืออะไร คำว่า สิ่งเทียมโบราณวัตถุ
เป็นคำที่บัญญัติขึ้นโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ซึ่งหมายความว่า
สิ่งที่ทำเทียมโบราณวัตถุหรือส่วนของโบราณวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัตินี้
หรือที่อยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากร
เหตุที่ต้องเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับสิ่งเทียมโบราณวัตถุขึ้นเนื่องจากปัจจุบันมีการผลิตและการค้าสิ่งเทียมโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก
เพื่อให้การควบคุมการผลิตและการค้าสิ่งเทียมโบราณวัตถุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติเพื่อควบคุมการทำเทียม
อันหมายถึง การเลียนแบบ จำลอง หรือทำเอาอย่างด้วยวิธีการใดๆ
ให้เหมือนหรือคล้ายของจริง ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีขนาด รูปลักษณะ
และวัสดุอย่างเดิมหรือไม่
โบราณวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของอธิบดีกรมศิลปากรหรือที่ได้
ขึ้นทะเบียนไว้ และมีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลป ประวัติศาสตร์
หรือโบราณคดีเป็นพิเศษรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้โบราณวัตถุนั้นเป็นโบราณวัตถุที่ควบคุมการทำเทียม
ซึ่งจะมีผลทำให้การผลิต การค้า
หรือมีไว้ในสถานที่ทำการค้าซึ่งสิ่งเทียมโบราณวัตถุที่ควบคุมการทำเทียมนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศิลปากรประกาศกำหนด
โดยผู้ประสงค์จะผลิตสิ่งเทียมโบราณวัตถุที่ควบคุมการทำเทียมจะต้องดำเนินการ ดังนี้
-
แจ้งรายการสิ่งที่ตนผลิตต่ออธิบดีกรมศิลปากรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนการผลิต
พร้อมทั้งแนบเอกสาร ดังต่อไปนี้
-สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
-สำเนาทะเบียนบ้าน
-สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือใบทะเบียนพาณิชย์จากกระทรวงพาณิชย์กรณีบุคคลธรรมดา
-แผนที่สังเขปแสดงสถานที่ตั้งของสถานที่ผลิต
-แบบหรือหุ่นต้นแบบที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมศิลปากรแล้ว
-บัญชีแสดงรายการและปริมาณของสิ่งเทียมโบราณวัตถุที่จะทำเทียม
- ต้องแสดงให้ปรากฏที่สิ่งที่ตนจะผลิตด้วยว่าเป็นสิ่งที่ได้ทำเทียมขึ้น ไม่ว่าการผลิตนั้นจะทำเพื่อการค้าหรือไม่ก็ตาม โดยถ้าสิ่งเทียมโบราณวัตถุเป็นพระพุทธรูป รูปเคารพในพระพุธศาสนา และเทวรูป ให้ประทับคำว่า จำลอง แต่ถ้าเป็นสิ่งเทียมโบราณวัตถุอื่นๆ ให้ประทับคำว่า สิ่งเทียมลงในเนื้อของสิ่งเทียมโบราณวัตถุในที่เห็นได้ง่าย
- ขนาดของสิ่งเทียมโบราณวัตถุที่จะผลิตต้องมีขนาดแตกต่าง โดยให้เล็กหรือใหญ่กว่าของจริงไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า
- เมื่อผลิตสิ่งเทียมโบราณวัตถุตามที่ได้แจ้งไว้เสร็จแล้ว ให้ผู้ผลิตแจ้งต่ออธิบดีกรมศิลปากรทราบพร้อมทั้งส่งภาพถ่ายสิ่งเทียมโบราณวัตถุไปด้วย ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผลิตเสร็จ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลการส่งหรือนำโบราณวัตถุที่ควบคุม การทำเทียมออกนอกราชอาณาจักร อธิบดีกรมศิลปากรจะแจ้งรายชื่อผู้ผลิตและรายการสิ่งเทียมโบราณวัตถุที่ควบคุมการทำเทียมที่จะผลิตนั้นต่ออธิบดีกรมศุลกากรด้วย
กรณีที่ผู้ใดประสงค์จะค้าหรือมีไว้ในสถานที่ทำการค้าซึ่งสิ่งเทียมโบราณวัตถุที่ควบคุมการทำเทียม ต้องดำเนินการ ดังนี้
- แจ้งให้อธิบดีกรมศิลปากรทราบไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนการค้าหรือมีไว้ในสถานที่ทำการค้า พร้อมด้วยสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือใบทะเบียนพาณิชย์จากกระทรวงพาณิชย์กรณีบุคคลธรรมดา และแผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของสถานที่ทำการค้า
- จัดทำบัญชีรายการสิ่งเทียมโบราณวัตถุที่ควบคุมการทำเทียมที่อยู่ในความครอบครองของตนและรักษาบัญชีนั้นไว้ในสถานที่ทำการค้า หากมีการย้ายสถานที่ผลิต สถานที่ทำการค้า หรือเลิกกิจการ จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมศิลปากรทราบภายในสิบห้าวัน นับแต่วันย้ายสถานที่ผลิต สถานที่ทำการค้า หรือเลิกกิจการ แล้วแต่กรณี
บทกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืนหรือกระทำผิดพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ
ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโบราณสถานฯ
ได้บัญญัติบทกำหนดโทษสำหรับ
การกระทำความผิดต่อโบราณวัตถุไว้ 10 มาตรา ได้แก่ มาตรา 31 มาตรา 31 ทวิ
มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 36 ทวิ มาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ มาตรา 38 มาตรา 39
ซึ่งเมื่อได้พิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว
สามารถสรุปกรณีการกระทำความผิดต่อโบราณวัตถุได้ดังนี้
- การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 31 ได้แก่ กรณีที่ ผู้เก็บโบราณวัตถุที่ซ่อนหรือฝังอยู่หรือทอดทิ้งโดยพฤติการณ์ไม่มีผู้ใดสามารถอ้างว่าเป็นเจ้าของได้แล้วเบียดบังไว้เป็นของตนหรือผู้อื่น โดยมิได้ส่งมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 31 ทวิ ได้แก่ กรณีมีการซ่อนเร้น จำหน่าย เอาไปเสีย หรือรับซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดๆ ซึ่งโบราณวัตถุอันได้มาจากการกระทำความผิดตามมาตรา 31 มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 33 ได้แก่ กรณีมีการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณวัตถุที่ขึ้นทะเบียนแล้ว มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 34 ได้แก่ กรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโบราณวัตถุไม่แจ้งปริมาณ รูปพรรณ และสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุต่ออธิบดีกรมศิลปากรตามมาตรา 14 ทวิ กรณีที่ผู้ครอบครองโบราณวัตถุที่ขึ้นทะเบียนแล้วไม่แจ้งการชำรุด หักพัง เสียหายหรือสูญหายต่ออธิบดีกรมศิลปากรตามมาตรา 16 กรณีที่ไม่แจ้งการโอนโบราณวัตถุที่ขึ้นทะเบียนแล้วตามมาตรา 17 และกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการค้าโบราณวัตถุ หรือแสดงโบราณวัตถุให้บุคคลชมไม่แสดงใบอนุญาตไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ง่ายและไม่ทำบัญชีแสดงรายการโบราณวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของตน ตามมาตรา 20 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับ ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 36 ได้แก่ กรณีมีการซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลงโบราณวัตถุที่ขึ้นทะเบียนโดยไม่ได้รับอนุญาตโบราณวัตถุที่ขึ้นทะเบียนแล้ว หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศิลปากรกำหนดไว้ในหนังสืออนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 36 ทวิ ได้แก่ กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธการ และเงื่อนไขในการผลิต ค้า หรือมีไว้ในสถานที่ทำการค้าสิ่งเทียมโบราณวัตถุหรือสิ่งเทียมศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียม พ.ศ. 2541 หรือไม่แจ้งรายการสิ่งเทียมที่จะผลิตต่ออธิบดีกรมศิลปากร หรือไม่ให้ปรากฏที่สิ่งที่ตนผลิตว่าเป็นสิ่งที่ได้ทำเทียมขึ้น มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 37 ได้แก่ กรณีที่ ฝ่าฝืนทำการค้าโบราณวัตถุที่ห้ามทำการค้า มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 37 ทวิ ได้แก่ กรณีแสดงโบราณวัตถุโดยเรียกเก็บค่าเข้าชมหรือค่าบริการอื่นโดยมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้อธิบดีกรมศิลปากรทราบ หรือไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแสดงโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ โดยเรียกเก็บ ค่าเข้าชมหรือค่าบริการอื่น มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 38 ได้แก่ กรณีที่ส่งหรือนำโบราณวัตถุที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร มีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
- การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 39 ได้แก่ กรณีที่ส่งหรือนำโบราณวัตถุที่ขึ้นทะเบียนออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
การค้นพบและการครอบครองโบราณวัตถุ
การค้าโบราณวัตถุและการส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักร
สิ่งเทียมโบราณวัตถุ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำว่า โบราณวัตถุ