ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์

ประชาคมอาเซียน

กัมพูชา (Cambodia)

เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

กัมพูชามีระบบเศรษฐกิจแบบอาศัยกลไกการตลาด มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติตามราคาตลาดหรือ GDP ปี 2546 ตามตัวเลขของ Asian Development Bank หรือ ADB ประมาณ 4,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นรายได้ประชากรต่อคนต่อปี หรือ GDP per capita เพียง 311.6 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจำแนกเป็นผลผลิตที่มาจากภาคการเกษตรรร้อยละ 36.0 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 27.7 และภาคบริการร้อยละ 36.2 ทั้งนี้ การบริโภคของภาคเอกชนมีสัดส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก กล่าวคือการบริโภคของภาคเอกชนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 84.4 ของ GDP ขณะที่การบริโภคของภาครัฐมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 15.6 และกัมพูชาถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้างมากประเทศหนึ่ง เนื่องจากมีสัดส่วนของการค้าระหว่างประเทศ (Degree of Openness) ร้อยละ 107.1 ของ GDP เป็นการส่งออกร้อยละ 47.6 และการนำเข้าร้อยละ 59.5 ของ GDP

จากการที่มี GDP ค่อนข้างต่ำหรือ GDP per cap เพียง 312 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้กัมพูชาถูกกำหนดให้เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาน้อย และมีปัญหาการกระจายรายได้ของประชากร โดยประมาณว่าประชากรในกรุงพนมเปญมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯขณะที่ประชากรในกรุงพระสีหนุ และจังหวัดเสียมราฐจะมีรายได้เฉลี่ยใกล้เคียงกันหรือประมาณ 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี และประชากรในจังหวัดอื่นๆ จะมีรายได้ เฉลี่ยแล้วประมาณ 180 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ซึ่งพอจะกล่าวโดยสรุปได้ว่าประชากรประมาณร้อยละ 36 มีความเป็นอยู่ภายใต้เส้นความยากจนอย่างยิ่ง ( poverty line ; World Bank defined 1.0 US$/Person/Day , Cambodia defined 0.5 US$/P/D )

ทั้งนี้ Economic Institute of Cambodia ; EIC ได้เคยเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับเส้นความยากจน ได้ให้ข้อสรุปถึงภาวะค่าครองชีพว่า ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำรวมค่าการศึกษาขั้นปฐมและสุขภาพต่อครัวเรือน สำหรับพ่อ แม่ และเด็กอีก 3 คน จะตกประมาณ 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนสำหรับผู้อยู่ในเมือง และประมาณ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนสำหรับผู้อยู่ในชนบท ซึ่งหากเปรียบเทียบ GDP กับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นขั้นต่ำ คนกัมพูชาน่าจะดำรงสถานะติดลบและมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจมาก โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงของตัวเลขดังกล่าวที่เป็นเช่นนี้มาหลายปีแล้ว แต่ระบบเศรษฐกิจของกัมพูชาก็ยังดำรงอยู่ด้วยดีและมีการเติบโตที่อัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปีตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อาจจะมีสาเหตุมาจาก

( 1 ) ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2543 – 2547 มีเงินช่วยเหลือและเงินให้เปล่าทั้งของภาคเอกชนและทางการโอนเข้าประเทศผ่านระบบธนาคารเฉลี่ยปีละ 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

( 2 ) การเป็นสังคมที่ยังคงนิยมใช้เงินสดเป็นสื่อการแลกเปลี่ยนหลัก รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการการท่องเที่ยวที่ขยายตัวขึ้นมากและรวดเร็ว น่าจะทำให้เศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่และคงมีบทบาทต่อความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากในระดับหนึ่งซึ่งสอดรับกับรายงานการศึกษาของ EIC เผยแพร่เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2548 ที่ว่า เศรษฐกิจนอกระบบของกัมพูชาจ้างงานถึงร้อยละ 85 ของกำลังแรงงาน และให้ผลผลิตถึงร้อยละ 62 ของ GDP [สถิติการเงินและเศรษฐกิจของธนาคารชาติกัมพูชา ณ เดือนธันวาคม 2547 ปริมาณเงิน M2 มีเพียง 1,076.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 26 ของ GDP จำแนกเป็นเงินสดที่หมุนเวียนในระบบประมาณ 277.1 เงินฝากกระแสรายวัน 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินฝากออมทรัพย์และประจำ จำนวน 789.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ] และ

( 3 ) การเป็นเศรษฐกิจที่เปิดกว้างยอมและมีความนิยมใช้เงินตราสกุลต่างๆ โดยเฉพาะเงินสกุลแข็ง ( Hard Currencies) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนตามแต่สถานที่และในโอกาสต่างๆ อาทิ ดอลลาร์สหรัฐเป็นสื่อหลักในธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวในเมือง เงินบาทของไทยเป็นสื่อหลักตามจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับไทย เงินเรียลกับการซื้อขายของคนในท้องถิ่น ฯลฯ และเป็นสังคมที่นิยมถือเงินตราสกุลหลักและถือเป็นเงินสดไว้เป็นส่วนใหญ่ น่าจะมีผลให้ขนาดเศรษฐกิจที่แท้จริงใหญ่กว่าที่ ADB ได้คำนวณไว้ [เงินฝากในธนาคาร ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2547 เป็นเงินสกุลเรียล 33.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินตราสกุลต่างประเทศ 794.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ เช็คที่หักล้างบัญชีผ่านสำนักหักบัญชีในปี 2547 เป็นเงินเรียลมีมูลค่าเฉลี่ย 0.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่าเฉลี่ย 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน คิด 236 วันที่มีการหักล้างเช็คผ่านสำนักหักบัญชีเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,368.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 33 ของ GDP

|| หน้าถัดไป >>

ประวัติศาสตร์ประเทศกัมพูชา
ข้อมูลทั่วไปประเทศกัมพูชา
พระพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชา
เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ
การไปประกอบธุรกิจของคนต่างชาติในกัมพูชา
ระบบภาษีของกัมพูชา
การส่งเสริมการลงทุนในกัมพูชา
ความสัมพันธ์ ไทย-กัมพูชา
การสัมปทานที่ดินเพื่อการเกษตรของกัมพูชา
The Brief History of Cambodia Monarchy
สงครามกัมพูชา (1979-1991)
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ทั้งรักทั้งชัง
การแต่งกายกัมพูชา
เสียมเรียบ นครวัด นครธม

สาระความรู้ ข้อมูลอาเซียน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย