ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป  >>

เปลือกโลก

โครงสร้างทางธรณีวิทยาภาคต่างๆของประเทศไทย

ลักษณะทางธรณีวิทยาภาคเหนือ
ภาคเหนือมีลักษณะทางธรณีวิทยา มีหินตั้งแต่มหายุคที่เก่าที่สุด คือมหายุคพรีแคมเบรียน จนถึงมหายุคใหม่ที่สุด คือ มหายุคซีโนโซอิก นอกจากนี้ยังมีทั้งหินชั้น หินอัคนี และหินแปรปรากฏอยู่ในที่ต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง แสดงว่าในอดีต ภาคเหนือเคยมีการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกที่ทำให้พื้นดินกลายเป็นทะเล และทะเลกลายเป็นพื้นดินสลับกันไปมาหลายครั้งหลายหน เพราะหินแต่ละยุคนั้นจะเกิดได้ต่อเมื่อมีการทับถมของโคลนตะกอน ในแอ่งเปลือกโลกที่เป็นทะเลหรือแอ่งแผ่นดินบนทวีป ในระยะยาวเมื่อเปลือกโลกมีการเคลื่อนไหวอัดดันให้ทะเลหรือแอ่งแผ่นดินยกตัวสูงขึ้น โคลนตะกอนที่สะสมกันในแอ่งเปลือกโลกก็จะกลายสภาพเป็นหินแข็งในระยะเวลาต่อมา

การเคลื่อนไหวของเปลือกโลก บางครั้งยังทำให้เกิดการไหลแทรกของหินละลายขึ้นมาแข็งตัวข้างบนกลายเป็นหินอัคนี รวมทั้งทำให้หินที่มีอยู่เดิมเปลี่ยนสภาพกลายเป็นหินแปร ภาคเหนือจึงมีทั้งหินตะกอน หินอัคนี และหินแปรที่มีอายุต่าง ๆกัน หินเหล่านี้มีความแข็งแกร่งไม่เท่ากัน บางชนิดสึกกร่อนผุพังได้ง่าย บางชนิดแข็งแกร่งทนทาน จึงเกิดเป็นลักษณะภูมิประเทศแตกต่างกัน

แนวที่พบหินแกรนิตส่วนใหญ่เป็นทิวเขา ได้แก่ ทิวเขาถนนธงชัยกลาง ทิวเขาถนนธงชัยตะวันออก ทิวเขาผีปันน้ำตะวันตก และทิวเขาแดนลาว ทิวเขาเหล่านี้มีหินแกรนิตเป็นแกนอยู่ภายใน จึงเห็นหินแกรนิตโผล่ขึ้นมาบนผิวดินอยู่ทั่วไป เป็นหินแกรนิตที่เกิดขึ้นในยุคไทรแอสสิก ของมหายุคมีโซโซอิก ภูเขาหินแกรนิตที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ดอยอินทนนท์ ดอยปุย และดอยสุเทพ

  • ภูเขาหินปูน ส่วนใหญ่เป็นหินปูนที่เกิดขึ้นในยุคเพอร์เมียนตอนปลายของมหายุคพาลีโอโซอิก ซึ่งเรียกว่า หมู่หินราชบุรี อำเภอปาย และอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างอำเภอเชียงดาว และอำเภอฝาง ระหว่างอำเภอฮอด และอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งบริเวณระหว่างจังหวัดลำปาง และจังหวัดแพร่ ตามบริเวณภูเขาหินปูนมีถ้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้น
  • เนินหินบะซอลต์ ปรากฏเป็นบริเวณลึก ๆ อยู่ 3 แห่ง ที่อำเภอแม่ทะเล อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง และที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เป็นหินบะซอลต์ที่เกิดขึ้นในยุคเทอร์เซียรี มีภูมิประเทศเป็นเนินตี้ย ๆ ยอดราบ จัดว่าเป็นซากของภูเขาไฟในอดีต
  • แอ่งที่ราบ เปลือกโลกถูกบีบอัดเป็นทิวเขาสูง ๆ ในขณะเดียวกันก็มีบริเวณบางส่วนที่ทรุดตัวลงกลายเป็นแอ่งแผ่นดินขนาดใหญ่และมีการทับถมของตะกอน จนเกิดเป็นแอ่งที่ราบในปัจจุบัน แอ่งที่ราบซึ่งมีตะกอนทับถมในยุคเทอร์เซียรี พบน้ำมัน หรือลิกไนต์แทรกตัวอยู่ในแอ่งแม่เมาะในจังหวัดลำปางและแอ่งลี้ในจังหวัดลำพูน แหล่งน้ำมัน ที่แอ่งฝาง ในจังหวัดเชียงใหม่

ตะกอนยุคเทอร์เซียรี มีอายุไม่มาก จึงยังไม่เปลี่ยนสภาพเป็นหินแข็ง ชั้นของกรวดทราย และดินเหนียวสลับกัน ง่ายต่อการผุพังทำลาย จนเกิดเป็นภูมิประเทศที่เรียกว่า ฮ่อมจ๊อม คือ พื้นผิวดินมีร่องน้ำเซาะมากมายกัดเซาะกลายเป็นแท่งเสาดินโผล่ระเกะระกะ ฮ่อมจ๊อมที่ขึ้นชื่อมากได้แก่ บริเวณที่เรียกว่า “เสาดิน” ในอำเภอนาน้อยจังหวัดน่าน และ แพะเมืองผี ในอำเภอเมือง จังหวัดแพร่

ลักษณะธรณีวิทยาภาคตะวันตก
ภาคตะวันตกตอนบนมีเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนต่อเนื่องในแนวเหนือ- ใต้เทือกเขาถนนธงชัย เขตจังหวัดตากและกาญจนบุรี มีหินแกรนิตในยุคครีเตเชียสเป็นแกนกลาง และมีหินปูนกลุ่มหินราชบุรียุคเพอร์เมียน และหินปูนกลุ่มทุ่งสงยุคออร์โดวิเชียนวางตัวปิดทับหินแกรนิตที่เกิดในยุคครีเทเชียส และพบหินตะกอน หินแปรอื่นๆ

เทือกเขตะนาวศรีเขตจังหวัดราชบุรี เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ปกคลุมด้วยหินทราย หินโคลน หินดินดานยุคคาร์บอนิเฟอรรัสและเพอร์เมียนวางตัวปิดทับหินแกรนิตในยุคครีเทเชียส หินบะซอลต์พบที่ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ชายฝั่งทะเลตะวันออกของภาค บริเวณชะอำ อ.หัวหิน เป็นหินแกรนิตและหินไนส์ทำให้มีหาดทราย ทางตะวันออกของภาคเป็นที่ราบมีการตกตะกอนน้ำพาและตะกอนทะเลยุคควอเทอร์นารี

ลักษณะทางธรณีวิทยาภาคใต้
ภาคใต้มีหินแกรนิตและกลุ่มหินแกรนิตมากเช่นเทือกเขาภูเก็ตมีหินแกรนิตรุ่นใหม่ ในยุค ครีเทเซียสถูกปิดทับด้วนหินตะกอนยุคคาร์บอนิสเฟอร์รัสและเพอร์เมียน มีกลุ่มหินแก่งกระจาน กลุ่มหินราชบุรี ทำให้มีแร่ดีบุกและหาดทรายตามชายฝั่งด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ของเกาะซึ่งมีทรายขาวละเอียด เกิดจากการสลายตัวของหินแกรนิต

บริเวณพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปทางใต้ มีความแตกต่างทางธรณีวิทยาอย่างเห็นได้ชัด เขตจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง จนถึงสตูล หมู่หินตะนาวศรีและหมู่หินราชบุรีนั้น มีหินปูนปรากฏอยู่ค่อนข้างมาก จึงทำให้มีภูเขาหินปูนกระจาย จังหวัดพังงาทิวเขานี้มีหินส่วนใหญ่อยู่ในยุคแคมเบรียนเรียกว่าหมู่หินตะรุเตา ประกอบด้วยหินทรายและหินดินดานปนหินปูน และมีหินแกรนิตรุ่นใหม่ในยุคครีเทเซียสแทรกอยู่ ส่วนทางซีกตะวันออกของคาบสมุทร ตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานี นครศรี ธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี จนถึงนราธิวาส มีตะกอนทับถมในยุคควอเตอร์นารี

การเคลื่อนไหวของเปลือกโลก ทำให้เกิดแนวทิวเขาขึ้นในคาบสมุทร เป็นกระดูกสันหลังของคาบสมุทร ได้แก่ ทิวเขาตะนาวศรี ทิวเขาภูเก็ต ทิวเขานครศรีธรรมราชและทิวเขาสันกาลาคีรี ต่อมา ยังมีการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก ที่ทำให้เกิดรอยเลื่อนขนาดใหญ่ขึ้นหลายแนวรวมทั้งพื้นที่บริเวณด้านตะวันออกของคาบสมุทรมีการยกตัวสูงขึ้น ส่วนด้านตะวันตกทรุดตัวต่ำลง ทำให้เกิดภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ระหว่างชายฝั่งด้านอ่าวไทย และด้านทะเลอันดามัน อย่างเห็นได้ชัด

ลักษณะทางธรณีวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยหินทราย ซึ่งมีอายุตั้งแต่ตอนปลายยุคไทแอสซิกถึงยุคครีเทเซียส – เทอร์เชียรี เรียกชื่อหินยุคนี้ว่า หมู่หินโคราช ประกอบด้วยหินทรายแป้ง หินทราย หินโคลนเป็นส่วนใหญ่ มีชั้นของหินกรวดมน หินดินดาน และเกลือหิน แทรกอยู่เป็นตอน ๆ จากอายุของหินทำให้ทราบว่าในตอนปลายมหายุคมีโซโซอิกที่ราบสูงโคราช มีตะกอนทับถมซึ่งบางชั่วเวลาแอ่งแผ่นดินนี้ได้ยุบจมลงเป็นทะเลตื้นน้ำทะเลที่ขังอยู่ในแอ่งก็เกิดการระเหยตัว กลายเป็นชั้นของเกลือหินแทรกอยู่ในชั้นหินชนิดอื่น ๆ หมู่หินโคราช มีความหนาประมาณ 4,000 เมตรวางตัวอยู่บนผิวที่เกิดจากการผุกร่อนของหินมหายุคพาลีโอโซอิกตอนบนชั้นหินเอียงลาดสู่ใจกลางแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร ตอนใต้ของที่ราบสูงโคราชมีหินบะซอลต์ยุคควอเทอร์นารีไหลคลุมกลุ่มหินโคราช ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเลยมีความซับซ้อนทางธรณีมากมีการแทรกตัวของหินหินแกรตนิตเป็นหย่อมๆ และมีหินอัคนีภายนอกคือหินไรโอไลต์ หินแอนดีไซด์ หินบะซอลต์พุขึ้นมาเป็นหย่อมๆ เป็นลักษณะเนินภูเขาไฟ



ตอนต้นของมหายุคซีโนโซอิก เกิดการบีบอัดตัวของเปลือกโลกจนเกิดเป็นทิวเขาต่าง ๆ ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศ แอ่งแผ่นดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดมีรอยเลื่อนของเปลือกโลกขึ้นตามบริเวณขอบทางด้านตะวันตก และด้านใต้ของแอ่ง ทำให้บริเวณแอ่งทั้งหมดยกตัวสูงขึ้นจากที่ราบภาคกลาง และภาคตะวันออกและมีทิวเขาเป็นแนวยาวเกิดขึ้นที่ขอบด้านทิศตะวันตก คือ ทิวเขาเพชรบูรณ์ และทิวเขาดงพญาเย็น ทิวเขาสันกำแพง และทิวเขาพนมดงรัก พร้อมกันบริเวณตอนกลางของแอ่งแผ่นดิน เกิดการโค้งนูน มีทิศทางจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปตะวันออกเฉียงใต้ แนวที่โค้งนูนขึ้นเป็นสันนี้ก็คือ ทิวเขาภูพาน ส่วนแอ่งที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน แอ่งสกลนคร แอ่งโคราช ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ ซึ่งมีทิวเขากั้นเป็นขอบอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ และเอียงลาดไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำโขง

ลักษณะทางธรณีวิทยาภาคตะวันออก
ภาคตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลก ชาน-ไทยและอินโดจีน เชื่อมตามแนวระหว่างจังหวัดสระแก้วและจันทบุรี หินมีอายุตั้งแต่มหายุคพรีแคมเบียนจนถึงตะกอนยุคควอเตอร์นารี หินมหายุคพรีแคมเบียนพบตอนกลางของภาค หินยุคไทรแอสิกพบหินอัคนีและหินชั้นเป็นแนวจากสระแก้วจนถึงจันทบุรี หินแกรนิต และหินแปรจำพวก หินไนส์ และหินซิสต์ ทางซีกตะวันตกของภาคเขตจังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ซีกตะวันออกของภาคในเขตจังหวัดปราจีนบุรี จันทบุรี และจังหวัดตราด เป็นหินทรายและหินปูน หินทรายแป้ง หินกรวดมน แทรกซอนขึ้นมากับหินบะซอลต์ หินไรโอดลต์ และแอนดีไซด์เป็นหย่อมๆ เนื้อดินค่อนข้างละเอียดดินเหนียว ชายฝั่งจันทบุรีและตราดมีหาดโคลนตมและหาดเลน ยังมีหินอัคนีพุหินโอลิวีนและหินบะซอลต์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพลอยสีต่าง ๆ เช่น ทับทิม บุษราคัม ไพลิน เขตอำเภอขลุง และอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรีและที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด

ลักษณะธรณีวิทยาภาคกลาง
เป็นที่ราบดินตะกอนที่กว้างที่สุดเกิดจากการเลื่อนทรุดตัวของหินเปลือกโลกตอนปลายยุคครีเทเชียสถึงต้นยุคเทอร์เชียรี และมีตะกอนจากการทับถมของธารน้ำพัดพาจากทางภาคเหนือมาสะสมกันในแอ่งแผ่นดินในยุคควอเทอร์นารีประกอบด้วยแอ่งแผ่นดิน 2 แอ่งเรียกที่ราบลุ่มภาคกลาง

  • แอ่งพิษณุโลก มีตะกอนทับถมหนา 3,500 เมตร เรียกที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบนหรือ ที่ราบลุ่มพิษณุโลกประกอบด้วยที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง แม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน
  • แอ่งเจ้าพระยา มีตะกอนทับถมหนา 7,000 เมตร เรียกที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบน หรือที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ระหว่างแอ่งมีสันนูนขวางกั้น เป็นภูเขาโดดเตี้ยๆวางตัวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ จาก อ. ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ถึง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรีเป็นหินปูนกลุ่มสระบุรียุคเพอร์เมียน หินอัคนีประเภทแอนดีไซต์ ไรโอไลต์และหินแกรตนิต

ทางตะวันตกตอนบนของภาคเป็นทิวเขาหินตะกอนประเภทหินปูนยุคเพอร์เมียน (หมู่หินราชบุรี)มีหินแปร หินชนวน หินฟิลไลต์ และหินควอตไซต์ ยุคคาร์บอนิฟอรัส (หมู่หินตะนาวศรี)มีหินอัคนีแทรกซอนและหินอัคนีพุโผ่ลเป็นหย่อมๆ ตะวันตกตอนกลางแถบจังหวัดกำแพงเพชร-อุทัยธานีมีหินแกรนิตเป็นฐานมีหินแปรและหินไนส์ หินชีสต์ หินควอร์ตไซต์ยุคพรีแคมเบรียน

ทางตะวันออกของภาคจังหวัดพิษณุโลก ต่อเพชรบูรณ์เป็นทิวเขาหินกลุ่มโคราชในมหายุคมีโซโซอิกเป็นหินทราย หินทรายแป้ง หินดินดาน หินกรวดมนคล้ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ เทือกเขาดงพญาเย็น จังหวัดเพชรบูรณ์ต่อสระบุรี ลพบุรี มีหินอัคนีจำพวกหินภูเขาไฟชนิดไรโอไลต์ แอนดีไซต์ หินบะซอลต์แทรกซอนขึ้นเป็นหย่อมๆมีแท่งหินบะวอลต์ที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟในอดีตที่เขาน้อย จ.เพชรบูรณ์

ตะกอนทับถมยุคเทอร์เชียรีและควอเทอร์นารีบริเวณสุพรรณบุรี สระบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยาเคยเป็นทะเลเก่ามาก่อนดูขากดินชั้นล่างมีตะกอนและแร่ยิปซัม แร่ไพไรต์ เปลือกหอย

ทวีปเลื่อน ( Continental Drift )
ทฤษฎีแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ (Plate Tectonics)
โครงสร้างทางธรณีวิทยาของประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก
ระดับความรุ่นแรงของแผ่นดินไหวที่วัดด้วยมาตราเมอร์คัลลี่
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
โครงสร้างทางธรณีวิทยาภาคต่างๆของประเทศไทย
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย