ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ชีวิต

พุทธธรรมเป็นปรัชญาชีวิต

ความหมายของชีวิต
ชีวิตคือขันธ์ 5 ตามหลักพุทธธรรม ชีวิต คือ ผลรวมขององค์ประกอบ 5 ตัว หรือสิ่งของ 5 อย่าง มารวมตัวกันเข้าเรียกตามภาษาธรรมะว่า ขันธ์ 5 (The Five Aggregates)

คำว่า ขันธ์ แปลว่า หมวดหมู่ ชนิด ประเภท อันเป็นคำในภาษาบาลี ได้แก่
1) รูปขันธ์ กองรูป
2) เวทนาขันธ์ กองเวทนา
3) สัญญาขันธ์ กองสัญญา
4) สังขารขันธ์ กองสังขาร
5) วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ

องค์ประกอบของชีวิต ได้แก่ ขันธ์ 5
ขันธ์ 5 สิ่งที่เรียกว่า ขันธ์ 5 หรือผลรวมของสิ่งของ 5 อย่างดังกล่าวแล้ว เรียกว่า ชีวิต ประกอบด้วย

รูปขันธ์ (Corporeality)
คือกองรูป หรือส่วนที่เป็นรูปธรรม อันหมายถึง ร่างกายและสิ่ง เกิดจากร่างกาย เช่น พฤติกรรมและคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น เสียง สี กลิ่น รส เพศ เป็นต้นรูปขันธ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ มหาภูตรูป รูปใหญ่หรือรูปหลัก และอุปาทายรูป รูปอาศัยหรือรูปแฝงอยู่ในรูปใหญ่นั้น มหาภูตรูป ประกอบด้วยธาตุ 4 ได้แก่

1) ปฐวีธาตุ ธาตุดิน
2) อาโปธาตุ ธาตุน้ำ
3) วาโยธาตุ ธาตุลม
4) เตโชธาตุ ธาตุไฟ

อุปาทายรูป มี 24 อย่าง ได้แก่

1) ปสาทรูป 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย
2) โคจรรูป (รูปที่เป็นอารมณ์ของอินทรีย์) 4 คือ รูป เสียง กลิ่น รส
3) ภาวรูป (รูปที่เป็นเพศ) 2 คือ ความเป็นหญิง (อิตถีภาวะ) และความเป็นชาย (ปุริสภาวะ)
4) ชีวิตรูป หมายถึง ชีวิต (รูปที่เป็นชีวิต) 1 คือ ชีวอินทรีย์
5) อาหารรูป (รูปคืออาหาร) 1 คือ กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าวที่เรากินเข้าไป)
6) ปริจเฉทรูป (รูปกำหนดสถานที่เป็นหลัก 1 คือ อากาศธาตุ ได้แก่ ช่องว่างที่มีอากาศในร่างกาย
7) วิญญัติรูป (การเคลื่อนไหวเพื่อให้รู้ความหมาย) 2 คือ กายวิญญัติ (ความเคลื่อนไหวทางกาย)และวจีวิญญัติ (ความเคลื่อนไหวทางวาจา)
8) หทัยวัตถุ (ที่ตั้งของจิต 1)
9) วิการรูป (อาการที่ทำให้ผิดปกติ) 3 คือ ลหุตา (ความอ่อน) มุทุตา (ความเบา) และกัมมัญญตา (ความควรแก่การงาน)
10) ลักขณรูป (อาการที่เป็นเครื่องกำหนด) 4 คือ อุปจย (การก่อตัวหรือเจริญเติบโต) สันตติ (ความสืบต่อ) ชรตา (ความทรุดโทรม) และอนิจจตา (ความแปรปรวน)



เมื่อรวมธาตุทั้ง 4 ซึ่งจัดเป็นมหาภูตรูป (รูปใหญ่) เมื่อนำมารวมเข้ากับอุปทายรูป (รูปอาศัย24) แล้วก็จะเป็นรูป 28 อย่างรวมรูปทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วเรียก รูปขันธ์

เวทนาขันธ์ (Feeling)
คือ กองเวทนา คือส่วนที่เป็นความรู้สึกอันเกิดจากการรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 3 ได้แก่

(1) สุขเวทนา รู้สึกดีใจ
(2) ทุกขเวทนา รู้สึกเสียใจ
(3) อทุกขมสุขเวทนา รู้สึกไม่เสียใจและไม่ดีใจ บางทีเรียกอุเบกขาเวทนา คือรู้สึกเฉยๆ

สัญญาขันธ์ (Perception)
คือ กองแห่งความจำ ในวิถีชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ถ้าเขาไม่มีความพิการทางสมอง ก็จะสามารถจดจำวัตถุ บุคคล และเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัสได้

(1) รูปสัญญา ความจำรูปได้
(2) สัททสัญญา ความจำเสียงได้
(3) คันธสัญญา ความจำกลิ่น
(4) รสสัญญา ความจำรสได้
(5) โผฐัพพสัญญา ความจำสิ่งสัมผัสกายได้
(6) ธัมมสัญญา ความจำเรื่องราวต่าง ๆ หรือมโนภาพได้

สังขารขันธ์ (Mental formation)
คือ กองสังขาร หมายถึง ส่วนที่เป็นความปรุงแต่งจิตให้ดี ชั่ว หรือเป็นกลาง ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศลหรืออกุศล สังขารขันธ์แบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ

(1) ปุญญาภิสังขาร สภาวะที่ปรุงแต่งจิตดี หรือเป็นกุศล
(2) อปุญญาภิสังขาร สภาวะปรุงแต่งจิตชั่ว หรือเป็นอกุศล
(3) อเนญชาภิสังขาร สภาวะปรุงแต่งจิตไม่ดีไม่ชั่ว คือ คิดไม่ดีไม่ชั่ว

วิญญาณขันธ์ (Consciousness)
คือ กองแห่งความรู้ ได้แก่ ความรู้แจ้งอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบเข้าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกับอายตนะภายนอกคือ อารมณ์ต่าง ๆ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัส และมโนภาพ หรือธัมมารมณ์ ก็จะเกิดความรู้ขึ้น เช่น เมื่อตากระทบกับรูป โดยมีแสงสว่างเป็นสื่อกลางก็จะเป็นความรู้ทางตา ที่เรียกว่า จักขุวิญญาณขึ้น

  • วิญญาณ มีหน้าที่ 2 อย่าง คือ วิญญาณธาตุ และวิญญาณขันธ์ วิญญาณธาตุ หมายถึง ตัวรู้ คือ จิต
  • ส่วนวิญญาณขันธ์ หมายถึง อาการที่จิตรู้อารมณ์ต่าง ๆ วิญญาณขันธ์อาจดับได้ทั้ง ๆ ที่วิญญาณธาตุยังมีอยู่

» กำเนิดชีวิตตามทัศนะของศาสนา

» กำเนิดชีวิตตามทัศนะของนักวิทยาศาสตร์

» สาระของชีวิตตามแนวพุทธธรรม

» พุทธธรรมเป็นปรัชญาชีวิต

» ชีวิตควรอยู่เพื่ออะไร

» การดำเนินชีวิตตามแนวพุทธธรรม

» สาระความจริงของชีวิตตามแนวศาสนาคริสต์

» สาระความรู้ทางแนวชีวิตตามศาสนาคริสต์

» สาระของชีวิตตามแนวศาสนาอิสลาม

» สาระความจริงของชีวิตตามแนวศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

» สาระของชีวิตตามแนวศาสนาเต๋าและขงจื้อ

» คุณค่า เป้าหมายและความสำเร็จของชีวิต

» คุณค่า เป้าหมายและความสำเร็จของชีวิต

» การมองความจริงของชีวิตด้วยศาสนธรรม

» การดำเนินชีวิตตามหลักศาสนธรรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย