ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ชีวิต

สาระของชีวิตตามแนวศาสนาเต๋าและขงจื้อ

ในเบื้องต้นจะได้กล่าวถึงประวัติของศาสนาเต๋า ศาสนาเต๋าเป็นศาสนาที่แปลก คือดั้งเดิมไม่ได้เป็นศาสนา และผู้ที่ถือกันว่าเป็นศาสดาก็ไม่มีส่วนรู้เห็น คือเล่าจื้อได้รับยกย่องเป็นศาสดา แต่สมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ท่านไม่เคยประกาศตัวเป็นศาสดา และไม่เคยประกาศตั้งศาสนาเต๋า ส่วนที่กลายมาเป็นศาสนาเต๋าก็เพราะความดีและความวิเศษแห่งความรู้ในปรัชญาเต๋าเป็นเหตุ

เต๋ากลายมาเป็นศาสนาในสมัยราชวงศ์ฮั่น (ราว พ.ศ. 337 –763) มีนักพรตรูปหนึ่งชื่อ เตีย เต๋า เล็ง ประกาศตนสำเร็จทิพยภาวะสามารถติดต่อกับเทพเจ้าได้จึงได้สถาปนาศาสนาเต๋าขึ้น ณ สำนักภูเขาเหาะเม็งซัว ในมณฑลเสฉวน โดยยกเล่าจื้อเป็นศาสดา

คำว่า เต๋า แปลว่า หนทาง หรือวิถี กล่าวคือมรรคที่จะทำชีวิตเข้าถึงธรรมชาติอันแท้จริงของชีวิต คัมคีร์เต๋าเรียกว่า เต๋าเต็กเก็ง แบ่งเป็น 2 ภาค คือภาคแรก เรียกว่า เต๋าเก็ง ภาค 2 เรียกว่า เต็กเก็ง

ศาสตราจารย์โอ้วเส็ก หรือหูสื่อ สันนิษฐานว่า เล่าจื้อ คงจะเกิดในสมัยต้นแผ่นดินพระเจ้าจิว เล่ง อ๊วง ราว 27 ปี ก่อน พ.ศ. เล่าจื้อสิ้นชีพเมื่อไรไม่ปรากฏหลักฐาน แต่บางท่านก็กล่าวว่า เล่าจื้อมีอายุยืนกว่า 160 ปี บางท่านก็ว่าเล่าจื้อมีอายุกว่า 200 ปี

กำเนิดสรรพสิ่งตามทัศนะของเต๋า
เชื่อในเรื่อง หยังและหยิน เป็นปรัชญาพื้นฐานของจีนโบราณ ถือว่าสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต เกิดมาจาหยางและหยิน สรรพสิ่งทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตล้วนเกิดมาจากส่วนประกอบของหยิน และหยางทั้งสิ้น เมื่อหยินและหยางมีความสมดุล ทุกสิ่งทุกอย่างก็เกิดและมีสันติสุข แต่เมื่อหยินและหยางไม่สมบูรณ์กัน ทุกสิ่งก็แปรเปลี่ยน

หลักคำสอน
คำสอนของศาสนาเต๋า ได้ไปจากศาสนาเต๋า ดังนั้นถ้าหากเข้าใจเต๋าได้ก็จะเข้าใจหลักคำสอนของเล่าจื้อทั้งหมด แต่ปัญหาอยูที่ว่าจะเข้าใจเต๋าได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ยาก เพราะว่าเต๋าเป็นนามธรรม จึงมิอาจรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสดังที่เล่าจื้อกล่าวว่า

เต๋าเป็นธรรมชาติอันมิอาจมองเห็นได้ด้วยการดู
จะเวี่ยหูฟังก็มิอาจได้ยิน
จะสัมผัสก็กระทบมิได้
จะวิจัยอย่างไรก็อับจน

ภาษาของมนุษย์ ล้วนแต่เป็นเรื่องสมมติทั้งสิ้น ดังนั้นแม้จะเรียกว่าเต๋า ๆ นั้น ก็มิใช่ตัวเต๋าจริง ๆ เป็นเพียงการสมมติเช่นกันดังที่เล่าจื้อกล่าวไว้ว่า

เต๋าที่นำมาเรียกขานกันได้ไม่ใช่เต๋าแท้
นามที่นำมาบัญญัติร้องเรียกกันได้ ก็มิใช่นามแท้
ชีวิตมนุษย์เป็นไปตามอำนาจเต๋า

เต๋าเป็นต้นกำเนิดและเป็นสิ่งควบคุมชีวิตมนุษย์ ดังนั้นการรู้เต๋าเป็นการรุ้ที่ประเสริฐสุด ชีวิตมนุษย์มิได้มีอิสระในตัวเอง แต่ต้องตกอยู่ภายใต้กฎของเต๋าอันเป็นธรรมชาติ บรรดาสิ่งสูงสุดมี 4 อย่าง คือเต๋า ฟ้า ดิน มนุษย์ สังคมจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์มีความรู้แจ้งเต๋า และปฏิบัติตามเต๋ามากน้อยเพียงใด เต๋ายึดมั่นในความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะความอ่อนน้อมถ่อมตนและความอ่อนโยนย่อมชนะความแข็งกระด้าง

มีชีวิตอยู่เพื่อเต๋า
เป้าหมายสูงสุดของชีวิตตามแนวทางศาสนาเต๋า ก็คือการบรรลุเต๋า เพราะเต๋าเป็นคลังเก็บรวบรวมสรรพสิ่ง เป็นมณีของสาธุชนและเป็นที่คุ้มครองรักษาทรชนด้วย

ประวัติศาสนาขงจื้อ

ศาสนาขงจื้อ เกิดเมื่อประมาณ 8 ปี ก่อน พ.ศ. ความจริงสมัยที่ขงจื้อมีชีวิติอยู่ ท่านไม่เคยประกาศตัวเป็นศาสดา ทั้งยังไม่เคยประกาศตั้งศาสนา ส่วนที่ได้กลายมาเป็นศาสนาก็เพราะผู้อื่นตั้งให้เป็นแบบเดียวกับเล่าจื้อ หลังจากที่ขงจื้อสิ้นชีพแล้วหลายร้อยปี คือขงจื้อสิ้นชีพ พ.ศ. 64 ก็ได้มีศิษยานุศิษย์ช่วยกันเผยแพร่คำสอนของขงจื้อตลอดมา

ข้อเขียนของขงจื้อมี 4 คัมภีร์ คือ
1. ยิกิง แปลว่าคัมภีร์แห่งความเปลี่ยนแปลง คัมภีร์นี้ว่าด้วยจักรวาลวิทยา
2. ชูกิง แปลว่าคัมภีร์แห่งประวัติศาสตร์ คัมภีร์นี้ว่าด้วยประวัติศาสตร์ในด้นต่าง ๆ ของจีนสมัยโบราณ
3. ชิกิง แปลว่าคัมภีร์แห่งบทกวี
4. ลิกิง แปลว่าคัมภีร์แห่งฤดูใบไม้ผลิ



กำเนิดสรรพสิ่งตามทัศนะของขงจื้อ
ธรรมชาติของมนุษย์ คือ ซิง (Sing) เชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับความดี มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างสองคนขึ้นไป จุดเริ่มต้นของคนคือครอบครัว ความสัมพันธ์ของสังคม แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ

1. บิดา มารดา บุตรธิดา
2. สามีกับภรรยา
3. พี่กับน้อง
4. กษัตริย์ขุนนางกับปวงประชา
5. มิตรสหาย

ทุกระดับจะต้องมีจริยธรรมต่อกัน คือ ความกตัญญูกตเวที ความรักความซื่อตรง ความสมานสามัคคี ความจงรักภักดี และความเมตตากรุณา ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ที่สุด ที่เรียกว่า เจี้ยเมี้ย

จุดมุ่งหมายของชีวิตตามทัศนะของขงจื้อ
ขงจื้อสอนให้บุคคลแสวงหาความสุข สมบูรณ์ของชีวิตในโลกนี้มากกว่าการแสวงหาความสุขในโลกหน้า หรือการไปสู่สวรรค์ใด ๆ ดังคำสอนที่ศิษย์คนหนึ่งถามว่า
“อาจารย์ครับ กรุณาบอกชีวิตหลังตายให้ผมทราบบ้าง”
ขงจื้อตอบว่า
“เรายังไม่ได้เรียนรู้ความจริงแท้ของชีวิตในโลกนี้เลย เราจะรู้ชีวิตหลังความตายได้อย่างไร ปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขโดยรีบด่วน เป็นเรื่องการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสม และบรรลุถึงความสุขสมบูรณ์ในโลกนี้ก่อนเท่านั้น”

ดำเนินชีวิตอย่างไร
ขงจื้อสอนให้คนดำเนินชีวิตตามหลักจริยธรรมให้ครบถ้วนทั้งกายและใจ

1. ดำเนินชีวิตตามหลักจริยธรรมทางกาย หมายถึงจริยธรรมที่ควรประพฤติปฏิบัติตนเองต่อผู้อื่น และสังคม
2. ดำเนินตามหลักจริยธรรมทางใจ เช่น เมตตา และสัมมาปฏิบัติ คือการกระทำในสิ่งที่เห็นว่า ถูกหรือควร เป็นการทำความดีเพื่อความดี ความดีมีค่าในตัวของมันเอง ความดีมิได้อยู่ที่ผลที่ได้รับ

หลักปฏิบัติพื้นฐานที่จะนำไปสู่หลักจริยธรรม เรียกว่า ตง – สู่ คือ ให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนดังที่ท่านปรารถนาให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน และจงอย่าปฏิบัติต่อผู้อื่นในสิ่งที่ท่านไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน

» กำเนิดชีวิตตามทัศนะของศาสนา

» กำเนิดชีวิตตามทัศนะของนักวิทยาศาสตร์

» สาระของชีวิตตามแนวพุทธธรรม

» พุทธธรรมเป็นปรัชญาชีวิต

» ชีวิตควรอยู่เพื่ออะไร

» การดำเนินชีวิตตามแนวพุทธธรรม

» สาระความจริงของชีวิตตามแนวศาสนาคริสต์

» สาระความรู้ทางแนวชีวิตตามศาสนาคริสต์

» สาระของชีวิตตามแนวศาสนาอิสลาม

» สาระความจริงของชีวิตตามแนวศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

» สาระของชีวิตตามแนวศาสนาเต๋าและขงจื้อ

» คุณค่า เป้าหมายและความสำเร็จของชีวิต

» คุณค่า เป้าหมายและความสำเร็จของชีวิต

» การมองความจริงของชีวิตด้วยศาสนธรรม

» การดำเนินชีวิตตามหลักศาสนธรรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย