ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระวรสารแห่งชีวิต

     ชีวิตมนุษย์มีต้นกำเนิดในองค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์จึงมาจากพระเจ้าและเป็นของพระเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์เป็นของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่โลก

บทนำ
บทที่ 1
บทที่ 2
บทที่ 3
บทที่ 4
บทส่งท้าย

7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28

9. แต่พระเจ้าก็มิอาจปล่อยให้การกระทำผิดนั้นไม่ต้องถูกลงโทษได้ กล่าวคือ จากผืนแผ่นดินที่โลหิตหลั่งลงมาบนนั้น โลหิตของผู้ถูกฆ่าเรียกร้องให้พระเจ้าแสดงพระยุติธรรมของพระองค์ให้ปรากฏ (เทียบ ปฐก 37:26 ; อสย 26:21 ; อสค 24: 7-8)จากพระคัมภีร์ตอนนี้ พระศาสนจักรกล่าวถึง “บาปซึ่งส่งเสียงร้องขอพระยุติธรรมจากพระเจ้า” และบาปแรกในบรรดาบาปทั้งหลาย พระศาสนจักรก็บ่งถึง “บาปฆ่าคนโดยเจตนา”12 สำหรับชาวยิว เช่นเดียวกับชนชาติทั้งหลายในสมัยโบราณ ถือว่าเลือดเป็นบ่อเกิดชีวิต ที่จริงแล้ว “เลือดคือชีวิต” (ฉธบ 12:23) และชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตมนุษย์เป็นของของพระเจ้าผู้เดียว เพราะเหตุนี้เอง ใครที่ทำอันตรายต่อชีวิต เขาก็ทำร้ายพระเจ้าเอง

กาอินถูกพระเจ้าสาปแช่ง และถูกแผ่นดินสาปแช่งด้วยเช่นกัน โดยแผ่นดินจะไม่ให้ผลแก่เขา (เทียบ ปฐก 4:11-12) กาอินถูกลงโทษ กล่าวคือ เขาจะต้องไปอาศัยอยู่ตามที่เปลี่ยวในทะเลทราย การกระทำรุนแรงของมนุษย์ด้วยการฆ่าคนนั้นมีผลเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของมนุษย์ จากการที่ได้อยู่ในสวนเอเดน (ปฐก 2:15) สถานที่อันเปี่ยมสุขด้วยการมีความสัมพันธ์และมิตรภาพกับพระเจ้า แผ่นดินนั้นกลับกลายเป็น “แผ่นดินโนด” (ปฐก 4:16) ซึ่งเป็นสถานที่ยากลำบาก ต้องอยู่โดดเดี่ยว และแยกขาดจากพระเจ้า กาอินจะต้องกลายเป็น “ผู้เร่ร่อนหลบหนีไปบนแผ่นดิน” (ปฐก 4:14) นั่นคือ ความไม่แน่นอนและการไม่มีโอกาสหยุดพักผ่อนได้เลยนั้นจะติดตามเขาไปเสมอ

ถึงกระนั้น พระเจ้าผู้ทรงพระเมตตาอยู่เสมอแม้เมื่อพระองค์ทรงลงโทษมนุษย์ “ทรงทำเครื่องหมายไว้ที่ตัวกาอิน เพื่อเตือนคนที่พบไม่ให้ฆ่าเขา” (ปฐก 4:15) พระเจ้าทรงให้กาอินมีเครื่องหมายเด่นชัดเช่นนี้ มิใช่เพื่อประณามเขาให้เป็นที่เกลียดชังของคนอื่น แต่เพื่อป้องกันและพิทักษ์เขาไว้จากผู้ที่คิดจะฆ่าเขา เป็นการแก้แค้นให้กับการตายของอาแบล ไม่เพียงแต่ผู้ฆ่าคนอื่นตายจะต้องสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเท่านั้น พระเจ้าเองทรงให้คำมั่นไว้เช่นนี้ด้วย และ ณ ที่นี้เองก็แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงธรรมล้ำลึกอันมีลักษณะขัดแย้งกันแต่ก็เป็นจริงของความยุติธรรมอันเปี่ยมด้วยเมตตาของพระเจ้า ดังที่ท่านนักบุญอัมโบรซิโอเขียนไว้ว่า “เมื่อการกระทำผิดนั้นเป็นที่ยอมรับนับแต่แรกเริ่มเมื่อมีการฆ่าคนอันเป็นบาปผิดนั้นแล้ว กฎแห่งพระเมตตาของพระเจ้าก็ควรเข้ามาจัดการในทันที ถ้าจะมีการลงโทษผู้กระทำบาปผิดนั้น ในการใช้ความยุติธรรม มนุษย์ไม่มีทางอื่นใดนอกจากควรใช้ความอดทนและความพอประมาณเป็นหลัก แต่มนุษย์มักจะประณามผู้กระทำผิดให้ต้องถูกลงโทษในทันที...พระเจ้าทรงไล่กาอินให้พ้นจากพระพักตร์พระองค์ และส่งเขาไปสู่แดนเนรเทศไกลจากถิ่นที่อยู่ของตน ก็เพื่อว่าเขาจะได้พ้นไปจากชีวิตที่ได้รับความใจดีแบบมนุษย์ ไปสู่ชีวิตอีกแบบหนึ่งที่ใกล้เคียงกับสภาพอันป่าเถื่อนแบบสัตว์ป่านั้น พระเจ้าทรงพอพระทัยให้มนุษย์ปรับปรุงแก้ไขตัวเองมากกว่าทรงต้องการความตายของคนบาป พระองค์ไม่ทรงปรารถนาให้การฆ่าคนนั้นจะต้องมีการลงโทษกันด้วยการฆ่า คนอีกคนหนึ่งเป็นการชดเชย”13

“ท่านทำอะไรลงไป” (ปฐก 4:10) :
เงามืดบดบังคุณค่าแห่งชีวิต

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย