ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระวรสารแห่งชีวิต

    ชีวิตมนุษย์มีต้นกำเนิดในองค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์จึงมาจากพระเจ้าและเป็นของพระเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์เป็นของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่โลก

บทนำ
บทที่ 1
บทที่ 2
บทที่ 3
บทที่ 4
บทส่งท้าย

7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28

18.ภาพมุมกว้างที่ชี้แจงมานี้จำเป็นที่เราต้องเข้าใจมิใช่เพียงเป็นปรากฏการณ์ความตาย ซึ่งบ่งบอกถึงคุณลักษณ์ของความตายเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจถึงสาเหตุต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความตายของมนุษย์ด้วย คำถามของพระเจ้าที่ว่า “ท่านทำอะไร ลงไป” นั้น (ปฐก 4:10) ดูเหมือนจะเป็นคำเชื้อเชิญที่ทรงตรัสกับกาอินให้เขาข้ามพ้นมิติด้านวัตถุของการฆ่าคนตายของเขานั้น เพื่อเขาจะได้สำนึกรู้จากคำถามนั้นถึงความร้ายแรงของเหตุจูงใจต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เขาฆ่าคนอื่นและรู้สำนึกถึงผลที่ตามมาอันเกิดจากการฆ่าคนของเขานั้นด้วย

การตัดสินใจกระทำล่วงละเมิดชีวิตมนุษย์นั้นบางครั้งเกิดมาจากสภาพการณ์ยากลำบากหรือน่าสลดใจยิ่งของความทุกข์สาหัส ความโดดเดี่ยว การขาดโอกาสด้านเศรษฐกิจ ความท้อแท้สิ้นหวังและความหวั่นวิตกเกี่ยวกับอนาคต สภาพแวดล้อมเช่นว่านี้สามารถทำให้มนุษย์ลดระดับความรับผิดชอบของตนลงไปมาก แล้วเปิดโอกาสให้คนพวกนั้นที่เลือกกระทำการ ซึ่งในตัวมันเองเป็นสิ่งชั่วร้าย กระทำผิดเช่นนี้ได้โดยง่าย แต่ทุกวันนี้ปัญหานั้นไปไกลเกินกว่าการที่ต้องสำนึกรู้ถึงสภาพการณ์ส่วนตัวเหล่านี้ของมนุษย์ไปแล้ว มันเป็นปัญหาซึ่งเป็นอยู่ ณ ระดับวัฒนธรรม สังคม และการเมือง ซึ่งเผยแสดงให้เห็นถึงมิติอันเลวร้าย และน่าหวั่นวิตกต่อแนวโน้มที่มนุษย์ไม่เคยร่วมมือกันเช่นนี้มาก่อนเลย ที่จะตีความการกระทำผิดต่างๆ ต่อชีวิตมนุษย์ ที่กล่าวถึงมาแล้วข้างต้นนั้นว่าเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย ที่มนุษย์แต่ละคน แสดงออกถึงการมีอิสรภาพของตน และเป็นสิ่งที่จะต้องยอมรับและปกป้องว่าเป็นสิทธิโดยแท้ของมนุษย์ด้วย

ในแบบนี้เองและด้วยผลตามมาอันน่าเศร้า กระบวนการทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษย์ก็มาถึงจุดผกผัน กระบวนการนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งนำไปสู่การค้นพบเรื่อง “สิทธิมนุษย์” อันเป็นสิทธิที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน และมีอยู่ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายของรัฐ ปัจจุบันนี้ กลับแปรเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้ามอย่างน่าประหลาดใจยิ่ง โดยเฉพาะในยุคนี้ที่มีการประกาศว่า สิทธิของบุคคลมนุษย์นั้นมิอาจถูกล่วงละเมิดได้ และคุณค่าของชีวิตมนุษย์ก็ได้รับการยืนยันอย่างเปิดเผยด้วยนี้ สิทธิการมีชีวิตอยู่กลับถูกปฏิเสธหรือไม่ก็ถูกย่ำยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ เวลาสำคัญยิ่งของการมีชีวิต กล่าวคือ ณ เวลากำเนิดมาและ ณ เวลาสิ้นชีวิต

ทางด้านหนึ่ง คำแถลงการณ์หลากหลายยืนยันถึงสิทธิมนุษย์ และการริเริ่มงานต่างๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคำแถลงการณ์ เหล่านั้น ก็แสดงให้เห็นในระดับโลกว่ามนุษย์มีสำนึกด้านศีลธรรมมากขึ้น มนุษย์ตื่นตัวตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์มากขึ้น โดยไม่มีการแบ่งแยกในเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา ความคิดด้านการเมือง หรือชนชั้นทางสังคมใดๆ

แต่อีกด้านหนึ่ง ก็น่าเสียดายที่คำแถลงการณ์อย่างสง่าเหล่านี้กลับถูกขัดแย้งด้วยการไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ในทางปฏิบัติ การไม่ยอมรับดังกล่าวนี้ยิ่งน่าเศร้ายิ่งขึ้น ซึ่งที่จริงก็เป็นที่สะดุดยิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่าการปฏิเสธนั้นเกิดขึ้นในสังคมที่มีจุดหมายแรกอวดอ้างว่าเพื่อยืนยันและปกป้องสิทธิมนุษย์ การยืนยันถึง หลักการข้อนี้จะไปได้อย่างไรกับการทำลายล้างชีวิตมนุษย์ที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และการหาข้อแก้ตัวที่กระจายไปทั่วมาสร้างความชอบธรรมให้กับการทำลายล้างชีวิตมนุษย์ได้เล่า? เราจะสามารถทำให้คำแถลงการณ์เหล่านั้นไปได้อย่างไรกับการไม่ยอมรับคนที่อ่อนแอและต้องการความช่วยเหลือ หรือผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เพิ่งปฏิสนธิได้เล่า? การคุกคามชีวิตมนุษย์นี้ขัดแย้งโดยตรงกับการเคารพชีวิตมนุษย์ และมันเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อวัฒนธรรมทั้งหมดของสิทธิความเป็นมนุษย์ มันเป็นภัยคุกคาม ซึ่งในที่สุดแล้ว ก็ทำลายความหมายแท้ของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์แบบประชาธิปไตย กล่าวคือ แทนที่จะเป็นสังคมของ “ผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกัน” เมืองใหญ่ต่างๆ กลับเสี่ยงภัยที่จะกลายเป็นสังคมที่รวมกันของผู้คนที่ถูกปฏิเสธ ผู้ถูกกีดกัน ผู้คนที่ถูกย้ายจากถิ่นที่อยู่และผู้ถูกกดขี่ แล้วถ้าเราพิจารณาดูในมุมมองที่กว้างขึ้นในระดับโลก เราก็อดไม่ได้ที่จะต้องคิดมิใช่หรือว่า เรื่องการยืนยันถึงสิทธิของมนุษย์ทุกคนและของประชาชาติทั้งหลายที่ทำกันในที่ประชุมสำคัญๆ ระดับนานาชาติเหล่านั้น ก็เป็นเพียงการใช้วาทศิลป์แบบลมๆ แล้งๆ แทบทั้งสิ้น ถ้าเรายังไม่อาจถอดหน้ากากความเห็นแก่ตัวของชาติร่ำรวยเหล่านั้นได้ ซึ่งมักจะกีดกันไม่ให้ชาติที่ยากจนกว่าได้เข้าถึงการพัฒนาก้าวหน้า หรือไม่ก็ทำให้การเข้าถึงนั้นต้องขึ้นอยู่กับข้อบังคับต่างๆ ตามใจชอบของพวกตนที่ห้ามเรื่องการกำเนิดมนุษย์ โดยตั้งแง่โต้แย้งในเรื่องการพัฒนากับตัวมนุษย์นั้นเอง เราควรจะตั้งคำถามมิใช่หรือ ถึงเจ้าตัวต้นแบบเศรษฐกิจที่รัฐต่างๆ รับเอามาใช้นั้น ซึ่งเป็นผลจากการถูกกดดันจากนานาชาติ และจากรูปแบบต่างๆ ของการตั้งเงื่อนไข ก็ก่อให้เกิดสภาพความอยุติธรรมและความรุนแรงหนักยิ่งขึ้นในสภาพการณ์ที่ชีวิตของประชาชาติถูกลดคุณค่าและถูกย่ำยีด้วย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย