ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระวรสารแห่งชีวิต

    ชีวิตมนุษย์มีต้นกำเนิดในองค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์จึงมาจากพระเจ้าและเป็นของพระเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์เป็นของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่โลก

บทนำ
บทที่ 1
บทที่ 2
บทที่ 3
บทที่ 4
บทส่งท้าย

7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28

25. “เลือดของน้องชายของท่านจากพื้นดินร้องดังมาถึงเรา” (ปฐก 4:10) มิใช่เพียงเลือดของอาแบล มนุษย์ผู้บริสุทธิ์คนแรกที่ถูกฆ่าตายเท่านั้น ที่ร้องดังขึ้นถึงพระเจ้า ผู้เป็นบ่อเกิดชีวิตและผู้ปกป้องชีวิต เลือดของมนุษย์คนอื่นๆ ทุกคนที่ถูกสังหารนับจากอาแบลเรื่อยมาก็ร้องดังขึ้นถึงพระเจ้าเช่นกัน ดังที่ผู้นิพนธ์จดหมายถึงชาวฮีบรูเตือนเราเป็นการเฉพาะไว้ว่า พระโลหิตของพระคริสต์ที่มีอาแบลเป็นรูปแบบหมายถึง ตามคำของประกาศกนั้น ก็ร้องดังถึงพระเจ้าด้วยว่า “ท่านเข้ามาถึงภูเขาศิโยน และนครแห่งพระเจ้าผู้ทรงชีวิต...เข้ามาถึงองค์พระเยซูเจ้า ผู้เป็นคนกลางแห่งพันธสัญญาใหม่มาถึงพระโลหิตที่ประพรม ซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่ดียิ่งกว่าโลหิตของอาแบล” (ฮบ 12:22,24)

โลหิตนี้คือพระโลหิตที่ประพรมแล้วเครื่องหมายและสัญลักษณ์ตามคำประกาศของโลหิตนี้ก็คือโลหิตของเครื่องถวายบูชาตามพันธสัญญาเดิม ซึ่งพระเจ้าทรงแสดงน้ำพระทัยของพระองค์ที่จะสื่อชีวิตของพระองค์แก่มวลมนุษย์ ชำระล้างพวกเขา และทำให้พวกเขาศักดิ์สิทธิ์ไป (เทียบ อพย 42:8 ; ลนต 17:11) บัดนี้ทุกสิ่งเหล่านั้นสำเร็จสมบูรณ์เป็นจริงขึ้นมาแล้วในองค์พระคริสตเจ้า นั่นคือ พระโลหิตที่ประพรมแล้วของพระองค์เป็นพระโลหิตที่ช่วยไถ่กู้ ชำระให้บริสุทธิ์และช่วยมนุษย์ให้รอด เป็นพระโลหิตของคนกลางแห่งพันธะสัญญาใหม่ “ที่หลั่งออกมาเพื่ออภัยบาปสำหรับคนจำนวนมาก” (มธ 26:28) โลหิตนี้ที่หลั่งออกมาจากสีข้างของพระคริสตเจ้าบนไม้กางเขน (เทียบ ยน 19:34) “กล่าวถึงสิ่งที่ดียิ่งกว่า” โลหิตของอาแบล อันที่จริงโลหิตนี้บ่งบอกและเรียกร้อง “ความยุติธรรม” ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นและเหนืออื่นใดเป็นโลหิตที่ร้องขอพระเมตตา19เป็นโลหิตที่อ้อนวอนขอต่อพระบิดาเพื่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์ทุกคน (เทียบ ฮบ 7:25) และโลหิตนี้เป็นบ่อเกิดของการไถ่กู้อันสมบูรณ์ และเป็นของประทานชีวิตใหม่ให้มนุษย์

ในขณะที่พระโลหิตของพระคริสตเจ้าเผยแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่แห่งความรักของพระบิดา ก็แสดงให้เห็นด้วยว่ามนุษย์มีค่าล้ำเลิศเพียงใดในสายพระเนตรของพระเจ้า และชีวิตมนุษย์นั้นมีคุณค่าสูงส่งสักเพียงใด ท่านอัครสาวกเปโตรเตือนเราให้ระลึกว่า “ท่านรู้ว่าท่านได้รับการไถ่กู้ หลุดพ้นจากวิถีชีวิตไร้ค่าที่สืบมาจากบรรพบุรุษ มิใช่ด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายได้เช่นเงิน หรือทอง แต่ด้วยพระโลหิตประเสริฐของพระคริสตเจ้าดังเลือดของลูกแกะไร้มลทิน หรือจุดด่างพร้อย” (1 ปต 1:18-19) โดยการรำพึงถึงพระโลหิตล้ำค่าของพระคริสตเจ้า อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการมอบตัวพระองค์เองด้วยความรักต่อมนุษย์นี้เอง (เทียบ ยน 13:1) ผู้มีความเชื่อก็เรียนรู้ที่จะชื่นชมกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ใกล้เคียงกับพระเจ้า และสามารถกล่าวออกมาด้วยความอัศจรรย์ใจของพระคุณพระเจ้าอยู่เสมอว่า “มนุษย์ช่างมีค่าล้ำ สักเพียงใดในสายพระเนตรพระเจ้า ในเมื่อมนุษย์ได้รับองค์พระผู้ไถ่ผู้ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ (บท Exsultet ในค่ำวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์) และในเมื่อพระเจ้าทรงมอบพระเนตรแต่องค์เดียวของพระองค์ ‘เพื่อที่มนุษย์จะไม่ต้องพินาศไป แต่จะมีชีวิตนิรันดร์’ (เทียบ ยน 3:16)”20

ยิ่งกว่านั้นพระโลหิตของพระคริสตเจ้ายังเผยแสดงให้มนุษย์เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของตนเองและกระแสเรียกของมนุษย์จึงอยู่ที่การมอบตนเองด้วยความจริงใจ เพราะเหตุนี้เอง พระโลหิตนี้จึงหลั่งออกมาเพื่อเป็นของขวัญประทานชีวิต พระโลหิตของพระคริสตเจ้ามิใช่เป็นเครื่องหมายแห่งความตายอีกต่อไป มิใช่เป็นเครื่องหมายแห่งการแยกขาดจากพี่น้องเพื่อนมนุษย์ แต่เป็นเครื่องหมายของการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งได้แก่ชีวิตอันอุดมสำหรับมนุษย์ทุกคน ผู้ที่ได้รับพระโลหิตของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิทก็ดำรงอยู่ในพระเยซูเจ้า (เทียบ ยน 6:56) และถูกดึงดูดเข้ามาสู่พลังแห่งความรักและของขวัญประทานชีวิตของพระองค์ ทั้งนี้ก็เพื่อจะเติมเต็มกระแสเรียกเดิมของมนุษย์ที่ให้เขารัก อันเป็นกระแสเรียกที่เป็นของมนุษย์ทุกคน (เทียบ ปฐก 1:27 ; 2:18-24)

จากพระโลหิตของพระคริสตเจ้านี้เอง มนุษย์ทุกคนได้รับพลังที่จะอุทิศตนกระทำการส่งเสริมชีวิต พระโลหิตนี้เท่านั้นเป็นบ่อเกิดอันทรงพลังแห่งความหวัง เป็นรากฐานแท้จริงแห่งความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า ตามแผนการของพระเจ้า ชีวิตจะประสบ ชัยชนะอย่างแน่นอน ดังที่มีเสียงดังจากพระบัลลังก์ของพระเจ้าในนครเยรูซาเล็มในสวรรค์ลงมาว่า “และจะไม่มีความตายอีกต่อไป” (วว 21:4) ท่านนักบุญเปาโลก็รับรองกับเราด้วยว่า การมีชัยชนะเหนือบาปในเวลานี้เป็นสัญญาบ่งบอกล่วงหน้าแล้วถึงชัยชนะแน่นอนเหนือความตายเมื่อ “จะเป็นจริงตามคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘ความตายจะถูกชัยชนะกลืน ความตายเอ๋ยชัยชนะของเจ้าอยู่ที่ไหน ความตายเอ๋ย พิษของเจ้าอยู่ที่ไหน?’” (1 คร 15:54-55)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย