ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระวรสารแห่งชีวิต

     ชีวิตมนุษย์มีต้นกำเนิดในองค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์จึงมาจากพระเจ้าและเป็นของพระเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์เป็นของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่โลก

บทนำ
บทที่ 1
บทที่ 2
บทที่ 3
บทที่ 4
บทส่งท้าย

29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40
41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51

44. ชีวิตมนุษย์พบตัวเองบาดเจ็บที่สุด เมื่อชีวิตนั้นเข้ามาในโลก กับเมื่อชีวิตต้องจากโลกนี้ไปตามกาลเวลา เพื่อเข้าสู่นิรันดรภาพ พระวาจาของพระเจ้ามักจะเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้มนุษย์ ดูแลเอาใจใส่และเคารพชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อชีวิตนั้นต้องอ่อนแอลงเพราะความเจ็บป่วยหรือเพราะวัยชราแม้ว่าจะไม่มีเสียงเรียกร้องชัดแจ้งโดยตรงให้ปกป้องชีวิตมนุษย์ตอนช่วงแรก เป็นต้นชีวิตที่ยังไม่ถือกำเนิดมา และชีวิตช่วงใกล้วาระสุดท้ายก็ตาม สิ่งนี้ก็สามารถอธิบายได้ง่ายๆ โดยข้อเท็จจริงที่ว่าความเป็นไปได้ที่จะทำร้าย ทำลายชีวิต หรือปฏิเสธไม่ยอมรับชีวิตในสภาพการณ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่เลยในความคิดทั้งด้านศาสนาและวัฒนธรรมของประชากรของพระเจ้า

ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม การไม่มีบุตรถือเสมือนเป็นคำสาป ในขณะที่การมีบุตรมากถือเป็นการอวยพรจากพระเจ้า“บุตรทั้งหลายเป็นมรดกจากพระเจ้า ผลิตผลของครรภ์นั้น เป็นรางวัล” (สดด 127:3 ; เทียบ สดด 128:3-4) ความเชื่อเช่นนี้มีพื้นฐานมาจากการที่ชนอิสราเอลตระหนักถึงการเป็นประชากรแห่งพันธสัญญา ที่ได้รับการเรียกให้ทวีมากขึ้นตามคำสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำไว้กับท่านอับราฮัมว่า “จงมองดูท้องฟ้า นับจำนวนดวงดาวเถิด ถ้าท่านนับได้...ลูกหลานของท่านจะมีจำนวนมากมายเช่นนี้” (ปฐก 15:5) แต่เหนืออื่นใดที่เห็นได้เด่นชัด ณ ที่นี้ก็คือ ความแน่ใจที่ว่าชีวิตที่พ่อแม่ถ่ายทอดมาสู่บุตรนั้นมีต้นกำเนิดในพระเจ้า เราเห็นสิ่งนี้ได้รับการยืนยันในพระคัมภีร์หลายตอน ซึ่งกล่าวด้วยความเคารพรักถึงการปฏิสนธิ ถึงการที่ชีวิตหนึ่งเติบโตเป็นรูปร่างขึ้นมาในครรภ์มารดา ถึงการให้กำเนิดบุตร และถึงการเกี่ยวพันใกล้ชิดระหว่าง ณ ขณะจิตนั้นที่เกิดเป็นชีวิตมนุษย์ขึ้นมากับการกระทำการของพระเจ้าองค์พระผู้สร้าง

“เราได้รู้จักเจ้า ก่อนที่เราได้ก่อสร้างตัวเจ้าที่ในครรภ์ และก่อนที่เจ้าคลอดจากครรภ์ เราก็ได้เจิมเจ้า” (ยรม 1:5) นั่นคือ ชีวิตของมนุษย์ทุกคน นับแต่แรกเริ่ม ก็เป็นส่วนหนึ่งในแผนการของพระเจ้าแล้ว จากความรู้สึกเจ็บปวดลึกๆ อยู่ภายใน ท่านโยบ จึงหยุดพิศเพ่งดูผลงานของพระเจ้าผู้ทรงปั้นร่างกายของท่านขึ้นมาในครรภ์มารดา ท่านจึงพบเหตุผลที่ทำให้ท่านวางใจในพระเจ้า แล้วท่านก็แสดงความเชื่อนั้นออกมาว่าพระเจ้าทรงมีแผนการของพระองค์สำหรับชีวิตของท่าน “พระองค์ทรงสร้างข้าพระองค์ และบัดนี้พระองค์ทรงหันมาทำลายข้าพระองค์ ขอทรงระลึกว่า พระองค์ทรงสร้างข้าพระองค์ด้วยดิน พระองค์จะทรงนำข้าพระองค์ให้กลับเป็นผงคลีดินหรือ พระองค์มิได้ทรงเทพระองค์ให้แข็งเหมือนเนยแข็งหรือ พระองค์ทรงห่มข้าพระองค์ไว้ด้วยหนังและเนื้อ และทรงสนข้าพระองค์ด้วยกระดูกและเส้นเอ็น พระองค์ทรงประทานชีวิตและความรักมั่นคงแก่ข้าพระองค์ และความดูแลรักษาของพระองค์ได้สงวนจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้” (โยบ 10:8-12) การแสดงออกถึงความหวาดหวั่นและความอัศจรรย์ใจต่อการที่พระเจ้าทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ในครรภ์มารดานั้นมีขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในบทเพลงสดุดีทั้งหลาย

ใครจะสามารถคิดไปได้อย่างไรกันว่า องค์พระผู้สร้างจะทรงยอมให้กระบวนการแม้แค่แวบหนึ่งของการเปิดรับชีวิตมนุษย์ แยกจากการกระทำการอันเปี่ยมด้วยพระปรีชาญาณและความรักของพระองค์ไปได้ และปล่อยให้เป็นไปตามใจชอบของมนุษย์ มารดาของบุตรทั้งเจ็ดนั้นไม่คิดเช่นนี้แน่ นางประกาศความเชื่อของนางในพระเจ้าผู้เป็นทั้งบ่อเกิดและผู้ประกันชีวิตนั้นนับแต่เริ่มปฏิสนธิ และทรงวางรากฐานความหวังแห่งชีวิตใหม่ หลังความตายไว้แล้ว “แม่ไม่รู้ว่าเจ้ามาปฏิสนธิในครรภ์ของแม่ได้อย่างไร ไม่ใช่แม่ที่ให้เจ้าหายใจได้และมีชีวิต หรือจัดธาตุต่างๆ ที่ประกอบเป็นตัวลูกขึ้นมา ฉะนั้นพระเจ้าผู้สร้างโลกเป็นผู้ให้มนุษย์ทุกคนเกิดมา พระเจ้าจะเมตตาประทานลมหายใจและชีวิตคืนให้ลูก ก็เพราะลูกไม่นึกถึงตัวเอง แต่เห็นแก่บทบัญญัติของพระองค์” (2 มคบ 7:22-23)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย