ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระวรสารแห่งชีวิต

    ชีวิตมนุษย์มีต้นกำเนิดในองค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์จึงมาจากพระเจ้าและเป็นของพระเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์เป็นของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่โลก

บทนำ
บทที่ 1
บทที่ 2
บทที่ 3
บทที่ 4
บทส่งท้าย

29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40
41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51

50. จากการที่เราได้พิจารณาทบทวนสารของคริสตชนเรื่องชีวิตมนุษย์ในบทนี้มาถึงตอนท้ายแล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอพักสักครู่เพื่อรำพึงร่วมกับพวกท่านถึงผู้ที่ถูกแทงผู้นั้นและเป็นผู้ที่ดึงดูดมนุษย์ทุกคนเข้ามาหาพระองค์ (เทียบ ยน 19:73 ; 12:32) เมื่อมองดู “ภาพนั้น” บนไม้กางเขน (เทียบ ลก 23:48) เราจะได้พบความสมบูรณ์และการเผยแสดงครบถ้วนถึงพระวรสารแห่งชีวิตทั้งครบได้ในพระสิริรุ่งโรจน์แห่งไม้กางเขนนั้น

ในบ่ายวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์นั้นเอง “ทั่วแผ่นดินมืดมิดไป...เพราะดวงอาทิตย์มืดลง ม่านในพระวิหารฉีกขาดตรงกลาง” (ลก 23:44,45) นี่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึง การแปรปรวนที่เกิดขึ้นในโลกและพลังขัดแย้งกันระหว่างความดีกับความชั่ว ระหว่างชีวิตกับความตาย ในปัจจุบัน เราก็ยังพบตัวเราเองอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอันน่าหวาดหวั่นนี้ระหว่าง “วัฒนธรรมแห่งชีวิต” กับ “วัฒนธรรมแห่งความตาย” ด้วยเช่นกัน แต่ความมืดก็ไม่อาจมีชัยเหนือพระสิริรุ่งโรจน์ของไม้กางเขนนั้นได้ ตรงกันข้าม ไม้กางเขนนั้นกลับส่องแสงสุกใสกว่าเดิม และเผยแสดงให้เห็นว่ากางเขนนั้นเป็นศูนย์กลาง เป็นความหมายและเป็นจุดหมายของประวัติศาสตร์และของมนุษย์ทุกชีวิตด้วย

พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน และทรงถูกยกขึ้นเหนือพื้นโลก พระองค์ทรงสัมผัสกับช่วงเวลาแห่ง “การไร้ซึ่งอำนาจทั้งสิ้น” และชีวิตของพระองค์ดูเหมือนจะถูกศัตรูของพระองค์เย้ยหยัน และตกอยู่ในเงื้อมมือของผู้ประหารชีวิตพระองค์ นั่นคือ พระองค์ทรงถูกหัวเราะเยาะถูกเยาะเย้ยถากถาง และถูกสบประมาทต่างๆ นานา (เทียบ มก 15:24-36) ถึงกระนั้นในท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ นายร้อยโรมันผู้นั้นพอเห็นพระองค์สิ้นพระชนม์ ก็ถึงกับกล่าวออกมาว่า “ชายคนนี้เป็นบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” (มก 15:39) ในขณะที่พระองค์ทรงไร้ซึ่งพลังอย่างที่สุด ทรงอ่อนแออย่างที่สุดนี้เอง ที่พระบุตรพระเจ้าทรงได้การเผยแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ใด นั่นคือบนไม้กางเขน พระสิริของพระองค์ปรากฏแจ้ง

โดยการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงทอแสงให้ความหมายแก่ชีวิตและความตายของมนุษย์ทุกคน ก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงอธิษฐานวอนขอพระบิดาโปรดทรงอภัยแก่ผู้ประหารพระองค์ (เทียบ ลก 23:34) และทรงตรัสตอบผู้ร้ายคนนั้นที่ทูลขอให้พระองค์โปรดระลึกถึงเขาด้วย เมื่อเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์ว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” (ลก 23:43) หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ “คูหาที่ฝังศพเปิดออกร่างของผู้ศักดิ์สิทธิ์หลายร่างที่ล่วงลับไปแล้ว กลับคืนชีพ” (มธ 27:52) งานช่วยให้รอดของพระเยซูนี้นำชีวิตและการกลับคืนชีพมาให้มนุษย์ ตลอดพระชนม์ชีพบนโลกนี้ของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงประทานความรอดนี้ให้มนุษย์โดยทรงรักษาผู้คนให้หายและทรงทำแต่ความดี (เทียบ กจ 10:38) แต่การอัศจรรย์ต่างๆ การรักษาโรค และแม้กระทั่งการที่พระองค์ทรงปลุกคนตายให้ฟื้นคืนชีพนั้น เป็นเพียงเครื่องหมายบ่งบอกถึงการช่วยให้รอดอีกอย่างหนึ่งของพระองค์ เป็นการช่วยให้รอดโดยการให้อภัยบาป กล่าวคือ เป็นการช่วยมนุษย์ให้หลุดพ้นเป็นอิสระจากการเจ็บป่วยใหญ่สุดของตน และช่วยเขาให้ฟื้นคืนชีพมาสู่ชีวิตพระเจ้านั่นเอง

บนไม้กางเขน การอัศจรรย์ของรูปงูที่โมเสสยกขึ้นในถิ่นทุรกันดาร (ยน 3:14-15 ; เทียบ กดว 21:8-9) ก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ และนำไปสู่ความสมบูรณ์ครบถ้วนในยุคนี้เช่นกัน จากการมองดูผู้ที่ถูกแทงผู้นั้น มนุษย์ทุกคนที่ชีวิตของตนถูกภัยคุกคามอยู่นี้ ก็เกิดมีความหวังแน่นอนที่จะได้พบอิสรภาพและการไถ่กู้นั้น (ยน 19:30) หลังจากนั้น ทหารโรมันคนหนึ่ง “ใช้หอกแทงด้านข้างพระวรกายของพระองค์ โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที” (ยน 19:34)

บัดนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็มาถึงซึ่งความสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว “การมอบ” จิตของพระองค์บ่งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า เป็นการตายเหมือนการตายของมนุษย์คนอื่นๆ ทุกคน แต่ก็เป็นการตายที่บ่งความหมายถึง “การมอบพระจิต” ที่พระเยซูได้ทรงใช้ไถ่ถอนเรามนุษย์จากความตายนั้น และเปิดทางชีวิตใหม่ให้แก่เราด้วย

นี่คือชีวิตของพระเจ้าที่ทรงร่วมแบ่งปันให้มนุษย์เป็นชีวิตที่โดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร ซึ่งมีน้ำและพระโลหิตที่ไหลจากพระสีข้างของพระคริสตเจ้าเป็นสัญลักษณ์ ยังถูกมอบให้แก่บรรดาบุตรของพระเจ้าเรื่อยมา ทำให้พวกเขาเป็นประชากรแห่งพันธสัญญาใหม่จากไม้กางเขนนั้นซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต “ประชากรแห่งชีวิต” ก็ถือกำเนิดมาและทวียิ่งขึ้น การพิศเพ่งรำพึงถึงไม้กางเขนช่วยนำเราเข้าถึงแก่นแท้ (หัวใจ) ของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อพระเยซูเสด็จมาในโลก พระองค์ทรงตรัสว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์”

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย