ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระวรสารแห่งชีวิต

    ชีวิตมนุษย์มีต้นกำเนิดในองค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์จึงมาจากพระเจ้าและเป็นของพระเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์เป็นของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่โลก

บทนำ
บทที่ 1
บทที่ 2
บทที่ 3
บทที่ 4
บทส่งท้าย

52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64
65 66 67 68 69 70 71 72 73 74 75 76 77

54. บทบัญญัตินี้ที่เขียนไว้เป็นสูตรชัดเจนว่า “อย่าฆ่าคน” นั้นบ่งชี้เป็นทางด้านลบมาก นั่นคือ บ่งถึงขอบเขตสุดโต่งที่ไม่สามารถเกินเลยไปได้ อย่างไรก็ตามในส่วนภายในแล้วบทบัญญัติประการนี้ก็กระตุ้นทัศนคติด้านบวกให้เคารพชีวิต อย่างยิ่งยวดด้วยเช่นกัน บทบัญญัตินี้ชี้นำให้ส่งเสริมชีวิตและให้ก้าวหน้าไปตามวิถีทางความรักที่ให้รับและรับใช้ ประชากรแห่งพันธสัญญาก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ตามแนวทางความคิดแบบนี้ แม้ว่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ และมีปัญหาข้อขัดแย้งอยู่บ้างก็ตาม และพวกเขาก็เตรียมพร้อมที่จะรับการประกาศของพระเยซูเจ้าที่ว่า บทบัญญัติให้รักเพื่อนมนุษย์ ก็เป็นเช่นเดียวกับบทบัญญัติให้รักพระเจ้านั่นเอง “ธรรมบัญญัติและคำสั่งสอนของบรรดาประกาศกก็ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติสองประการนี้” (เทียบ มธ 22:36-40) ท่านนักบุญเปาโลกล่าวย้ำว่า “พระบัญญัติกล่าวว่า ‘อย่าฆ่าคน...และบทบัญญัติอื่นก็สรุปได้ในข้อความที่ว่า ‘จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง’” (รม 13:9 ; เทียบ กท 5:14) บทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” นี้ ซึ่งถูกนำเข้าสู่ความสมบูรณ์ในบทบัญญัติใหม่นั้น ก็เป็นเงื่อนไขอันจำเป็นยิ่งต่อการ “เข้าสู่ชีวิต” (เทียบ มธ 9:16-19) ในมุมมองเดียวกันนี้ ถ้อยคำของท่านอัครสาวกยอห์นจึงดังก้องชัดเจนยิ่งกว่า “ทุกคนที่เกลียดชังพี่น้องของตน ย่อมเป็นฆาตกร และท่านก็รู้ว่า ไม่มีฆาตกรคนใดมีชีวิตนิรันดรอยู่ในตัวเขา” (1 ยน 3:15)

นับแต่แรกเริ่ม ธรรมประเพณีอันมีชีวิตของพระศาสนจักร ดังที่แสดงให้เห็นในหนังสือดีดาเก (Didache) ซึ่งเป็นงานเขียนเก่าแก่ที่สุดของคริสตชน ที่มิใช่เป็นพระคัมภีร์ ก็ได้เน้นย้ำชัดเจนถึงบทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” นี้ “มีทางอยู่สองทาง คือทางแห่งชีวิตและทางแห่งความตาย มีข้อแตกต่างอย่างมากระหว่างสองเส้นทางนี้...เส้นทางอันสอดคล้องตามข้อบัญญัติของคำสอนที่ว่า ‘อย่าฆ่าคน’ ก็คือ อย่าฆ่าเด็กทารกด้วยการทำแท้ง และอย่าฆ่าเขาเมื่อเขาเกิดมา... เส้นทางแห่งความตายก็คือ พวกเขาไม่มีใจสงสารต่อคนยากจน พวกเขาไม่ร่วมทนทุกข์กับผู้ทุกข์ทรมาน พวกเขาไม่ยอมรับรู้องค์พระผู้สร้างของตน พวกเขาฆ่าบุตรของตน และด้วยการทำแท้งพวกเขาก็เป็นสาเหตุทำให้สิ่งสร้างของพระเจ้าต้องพินาศ พวกเขาขับไล่ผู้ที่ต้องการให้ช่วย พวกเขาเป็นทนายแก้ต่างให้คนรวยและเป็นผู้ตัดสินที่อยุติธรรมต่อคนยากจน ใจเขาเต็มไปด้วยบาปทุกอย่าง ลูกที่รักทั้งหลาย ขอให้ลูกทำตัวให้ห่างจากบาปเหล่านี้ให้ได้เถิด”

ขณะที่กาลเวลาผ่านไป ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรก็ยังคงสั่งสอนอยู่อย่างมั่นคงเรื่อยมาเรื่องคุณค่าเด็ดขาดไม่เปลี่ยนแปลงของบทบัญญัติที่ว่า “อย่าฆ่าคน” นี้ เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไปว่าในช่วงศตวรรษแรกๆ นั้น การฆ่าคนเป็นบาปหนักที่สุดข้อหนึ่งในบาปหนักสามประการ ซึ่งอีกสองประการได้แก่บาปการประกาศละทิ้งความเชื่อ และบาปการล่วงประเวณีและจำเป็นต้องมีการใช้โทษบาปที่ทั้งหนักและยาวนานต่อหน้าสาธารชนด้วย ก่อนที่ผู้กระทำผิดที่สำนึกผิดผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษ และได้รับกลับเข้ามาสู่หมู่คณะคริสตชนของตนอีกครั้งหนึ่งได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย