ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระวรสารแห่งชีวิต

    ชีวิตมนุษย์มีต้นกำเนิดในองค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์จึงมาจากพระเจ้าและเป็นของพระเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์เป็นของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่โลก

บทนำ
บทที่ 1
บทที่ 2
บทที่ 3
บทที่ 4
บทส่งท้าย

52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64
65 66 67 68 69 70 71 72 73 74 75 76 77

57. ถ้าหากถึงกับจำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลให้มีการเคารพต่อชีวิตมนุษย์ทุกชีวิตแม้กระทั่งชีวิตของอาชญากรและผู้ข่มเหงผู้อื่นอย่างยุติธรรมแล้วไซร้ บทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” นั้นก็ย่อมมีคุณค่าสูงสุดเมื่อคำนึงถึงผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีความผิด และยิ่งเป็น เช่นนั้นกับกรณีของมนุษย์ผู้อ่อนแอและไม่อาจปกป้องตนเองได้ที่พบการต่อสู้กับความหยิ่งยโส และอารมณ์ตามใจของผู้อื่นได้ มากที่สุดก็ในกฎบังคับให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้าประการนี้เท่านั้น

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การห้ามล่วงละเมิดชีวิตของผู้บริสุทธิ์โดยเด็ดขาดนี้เป็นความจริงทางศีลธรรมที่พระคัมภีร์สอนเราไว้อย่างชัดเจน และอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรก็ได้เสนอแนะเช่นนี้เรื่อยมา คำสั่งสอนอันมั่นคงนี้เป็นผลที่เห็นได้ชัดจาก “การมีสำนึกแบบเหนือธรรมชาติในเรื่องความเชื่อ” ซึ่งเมื่อได้รับการดลใจและค้ำชูจากพระจิตเจ้า ก็ช่วยพิทักษ์รักษาประชากรของพระเจ้าให้พ้นจากความหลงผิด เมื่อ “คำสั่งสอนนี้แสดงให้เห็นถึงการเห็นพ้องต้องกันไปทั่วโลกในเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อและศีลธรรม”

เมื่อพระศาสนจักรต้องพบกับสภาพอ่อนแอยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในมโนธรรมของมนุษย์แต่ละคนและในสังคมมนุษย์ ในเรื่องการสำนึกถึงความไม่ถูกต้องอย่างยิ่งทางศีลธรรมที่จะกำจัดชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์โดยตรง เป็นต้น ชีวิตตอนเริ่มต้นและชีวิตตอนวาระบั้นปลายของมนุษย์ อำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรจึงประกาศออกมาบ่อยครั้งยิ่งขึ้นเพื่อปกป้องชีวิต ว่าชีวิตมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์ และมิอาจถูกล่วงละเมิดได้ อำนาจสั่งสอนของพระสันตะปาปา (The Papal Magisterium) ที่ยืนยันเน้นย้ำในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ก็ได้รับการสนับสนุนอยู่เสมอจากคำสั่งสอนของบรรดาพระสังฆราช ด้วยเอกสารทางด้านข้อความเชื่อและด้านการอภิบาลที่กระชับชัดเจนจำนวนมาก ออกมาจากสภาพระสังฆราชหลายแห่ง หรือจากบรรดาพระสังฆราชเป็นการส่วนบุคคลด้วย สภาพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 ก็ได้กล่าวยืนยันเรื่องนี้ไว้อย่างหนักแน่นด้วยข้อความที่กระชับชัดเจนไว้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น โดยอาศัยอำนาจที่พระคริสตเจ้า ทรงมอบไว้แด่ท่านนักบุญเปโตรและผู้สืบตำแหน่งจากท่าน และในความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันกับบรรดาพระสังฆราชแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก ข้าพเจ้าขอประกาศยืนยันว่า การจงใจฆ่ามนุษย์ผู้บริสุทธิ์นั้นผิดหนักทางศีลธรรมเสมอ ข้อความนี้ที่มีพื้นฐานอยู่บนกฎที่มิได้เขียนไว้ แต่ภายใต้แสงสว่างแห่งเหตุผล มนุษย์ก็พบกฎนี้ได้ในใจของตนเอง (เทียบ รม 2:14-15) กฎนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งจากพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกมอบผ่านต่อๆ กันมาทางธรรมประเพณีของพระศาสนจักร และได้รับการสอนด้วยอำนาจสั่งสอนแบบ ปกติและแบบสากลของพระศาสนจักร51

การตัดสินใจตามอำเภอใจที่จะคร่าชีวิตไปจากมนุษย์นั้นเป็นความชั่วทางศีลธรรมเสมอ และไม่อาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้เลย ไม่ว่าจากจุดมุ่งหมายที่ฆ่าโดยตรงหรือที่ใช้การฆ่าเป็นเครื่องมือเพื่อจุดมุ่งหมายที่ดีกว่าก็ตาม อันที่จริงการฆ่าคนเป็นการกระทำผิดความนบนอบต่อกฎศีลธรรม และการกระทำผิดต่อพระเจ้าโดยตรงด้วย เพราะพระองค์เป็นเจ้าชีวิตและเป็นผู้ให้ประกันกฎศีลธรรมนี้ การฆ่าคนเป็นการกระทำผิดต่อคุณธรรมพื้นฐานความยุติธรรมและความรัก “ไม่มีอะไร และไม่มีใครจะสามารถปล่อยให้มีการฆ่ามนุษย์ผู้บริสุทธิ์ได้ไม่ว่าทางใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นตัวอ่อนมนุษย์หรือทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา ไม่ว่าจะเป็นทารกที่เกิดมาแล้วหรือคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้เป็นโรคเจ็บป่วยที่มิอาจรักษาให้หายได้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของตนเอง หรือชีวิตของผู้ที่ถูกมอบไว้ให้เขาดูแลรักษาก็ตาม อีกทั้งมนุษย์ไม่สามารยินยอมให้มีการฆ่าคนเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะกระทำโดยเปิดเผยหรือกระทำโดยซ่อนเร้นก็ตาม อีกทั้งผู้ที่มีอำนาจก็ไม่สามารถแนะนำหรือยินยอมให้การกระทำผิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แบบถูกต้องตามกฎหมายด้วย”

ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิการมีชีวิตอยู่นั้น มนุษย์ผู้บริสุทธิ์ทุกคนมีสิทธินี้เท่าเทียมกันกับมนุษย์คนอื่นทั้งหลาย ความเสมอภาคนี้เป็นพื้นฐานสำหรับความสัมพันธ์แท้จริงทางสังคมทุกชนิด ซึ่งจะให้เป็นไปได้เช่นนี้ ก็จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงและความยุติธรรม โดยรับรู้และปกป้องมนุษย์ชาย-หญิงทุกคนในฐานะเป็นบุคคลมนุษย์ และมิใช่เป็นสิ่งของที่ผู้อื่นจะใช้หาประโยชน์ได้ ก่อนที่จะมีกฎศีลธรรมที่ห้ามการคร่าชีวิตของมนุษย์ผู้บริสุทธิ์โดยตรงนั้น “ก็ไม่มีเอกสิทธิ์พิเศษ หรือการยกเว้นใดๆ สำหรับมนุษย์ผู้ใดเลย ไม่แตกต่างกันเลยไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นเจ้านายของโลกหรือเป็น ‘คนยากจนที่สุด’ บนผืนแผ่นดินโลกก็ตาม ต่อหน้ากฎเรียกร้องทางศีลธรรมแล้ว มนุษย์ทุกคนเท่าเสมอกันทั้งสิ้น”

“พระเนตรของพระองค์ทรงเห็นส่วนประกอบ
ที่ยังไม่เป็นตัวของข้าพระองค์”(สดด 139:16) :
การทำแท้งเป็นอาชญากรรมที่น่าชิงชังที่สุด

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย