ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระวรสารแห่งชีวิต

    ชีวิตมนุษย์มีต้นกำเนิดในองค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์จึงมาจากพระเจ้าและเป็นของพระเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์เป็นของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่โลก

บทนำ
บทที่ 1
บทที่ 2
บทที่ 3
บทที่ 4
บทส่งท้าย

52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64
65 66 67 68 69 70 71 72 73 74 75 76 77

66. การทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทางศีลธรรมพอๆ กับการฆ่าคนตาย ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรไม่ยอมรับการอัตวินิบาตกรรม โดยถือว่าเป็นการเลือกทำความชั่วในข้อผิดหนัก ถึงแม้ว่าสภาวะเงื่อนไขทางด้านจิตวิทยา ด้านวัฒนธรรมและด้านสังคม อาจชักนำมนุษย์ให้กระทำการอันขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับความโน้มเอียงเข้าหาชีวิตที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ ซึ่งบั่นทอนหรือทำให้มนุษย์หมดความรับผิดชอบแบบอัตวิสัยไป (Subjective responsibility) การทำอัตวินิบาตกรรม เมื่อพิจารณากันตามสภาพเป็นจริงแล้ว (objectively) ก็เป็นการกระทำผิดศีลธรรมในข้อหนัก อันที่จริงการทำอัตวินิบาตกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับการปฏิเสธไม่ยอมรักตนเอง และการละทิ้งกฎข้อบังคับในเรื่องความยุติธรรมและความรักที่จะต้องปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ของตน ต่อหมู่คณะที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ และต่อสังคมโดยรวมด้วย84 ในความเป็นจริงอันลึกซึ้งที่สุดนั้น การทำอัตวินิบาตกรรมแสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจสูงสุดของพระเจ้าเหนือชีวิตและความตาย ดังที่มีประกาศอยู่ในคำภาวนาของผู้ทรงความรู้ของชนอิสราเอลในยุคก่อนนั้นว่า “พระองค์ทรงมีอำนาจเหนือชีวิตและความตาย พระองค์ทรงให้มนุษย์ลงไปยังประตูแดนมรณา และให้เขากลับขึ้นมาอีก” (ปชญ 16:13 ; เทียบ ทบต 13:2)

การเห็นพ้องกับเจตจำนงของบุคคลอีกคนหนึ่งที่จะกระทำอัตวินิบาตกรรม และการช่วยให้เขากระทำการเช่นนี้โดยทางที่เรียกกันว่า “การฆ่าตัวตายที่ได้รับการช่วยเหลือ” (assisted suicide) หมายถึงการให้ความร่วมมือและบ่อยครั้งก็เป็นผู้ลงมือกระทำการนั้นจริงๆ ด้วย ก่อให้เกิดความอยุติธรรมขึ้นอันไม่อาจหาข้อแก้ตัวได้ ถึงแม้ว่าเขาจะถูกขอร้องให้ช่วยก็ตาม นักบุญเอากุสตินเขียนไว้ชัดเจนในข้อความตอนหนึ่งของท่านว่า “การฆ่าผู้อื่นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เสมอ ถึงแม้ว่าเขาผู้นั้นต้องการให้ช่วยทำก็ตาม อันที่จริงถ้าเขาร้องขอให้ช่วยทำก็เป็นเพราะว่าในขณะที่เขากำลังแขวนอยู่ระหว่างชีวิตกับความตายนั้น เขาร้องขอให้ช่วยปลดปล่อยวิญญาณของเขาที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนกับการผูกติดอยู่กับร่างกายให้เป็นอิสระมากกว่าและกำลังรอคอยที่จะได้รับการช่วยปลดปล่อยอยู่ อีกทั้งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ด้วย แม้เมื่อผู้ป่วยนั้นไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ก็ตาม” แม้เมื่อการทำการุณยฆาตมิได้มีแรงจูงใจมาจากการปฏิเสธอันเห็นแก่ตัวที่จะรับภาระดูแลชีวิตของผู้ที่กำลังเจ็บป่วยทรมานอยู่นั้นก็ตาม การทำการุณยฆาตก็ต้องถูกเรียกว่าเป็นการแสดงความเมตตาอันจอมปลอม และที่จริงแล้วก็เป็น “การทำให้ความเมตตาผิดเพี้ยนไป” อย่างน่าเป็นห่วงด้วย “การมีใจเมตตาสงสาร” ที่แท้จริงย่อมนำไปสู่การมีส่วนร่วมแบ่งปันความทุกข์เจ็บปวดของอีกผู้หนึ่ง มิใช่ฆ่าเขาผู้นั้นที่เราไม่อาจทนต่อความทุกข์ทรมานของเขาได้ ยิ่งกว่านั้นการทำการุณยฆาตดูจะผิดเพี้ยนไปยิ่งขึ้น ถ้าหากกระทำโดยผู้เป็นญาติใกล้ชิดที่น่าจะคอยช่วยดูแลรักษาสมาชิกครอบครัวของตนด้วยความอดทนและความรัก หรือหากกระทำโดยผู้เป็นแพทย์ ซึ่งมีอาชีพพิเศษเฉพาะที่ต้องให้การรักษาผู้ป่วย แม้กระทั่งผู้ที่เจ็บป่วยทรมานอยู่ในขั้นสุดท้ายของชีวิตด้วย

การเลือกกระทำการุณยฆาตกลายเป็นสิ่งที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นเมื่อออกมาในรูปการฆ่าคนที่กระทำโดยคนอื่นต่อผู้ที่ไม่มีวันจะร้องขอ และไม่มีวันยินยอมให้กระทำเช่นนั้นต่อตัวเขาแน่ๆ การกระทำตามใจชอบและความอยุติธรรมเช่นนี้ขึ้นถึงจุดที่ร้ายแรงที่สุดเมื่อมีคนบางพวก อาทิผู้เป็นแพทย์ หรือผู้ออกกฎหมายอ้างว่าตนมีอำนาจตัดสินใจว่าใครควรจะมีชีวิตอยู่และใครควรจะต้องตาย อีกครั้งที่เราพบตัวเองอยู่ต่อหน้าการถูกประจญแห่งสวนเอเดนนั้น นั่นคืออยากเป็น “ผู้รู้ดีรู้ชั่ว” เหมือนพระเจ้า (เทียบ ปฐก 3:5) พระเจ้าผู้เดียวเท่านั้นทรงมีอำนาจเหนือชีวิตและความตาย “เราแต่ผู้เดียวจะนำความตายและชีวิตมาให้ได้” (ฉธบ 32:29 ; 2 พกษ 5:7 ; 1ซมอ 2:6) แต่พระเจ้าทรงใช้อำนาจนี้สอดคล้องตามแผนการแห่งพระปรีชาญาณและความรักของพระองค์เท่านั้น เมื่อมนุษย์ช่วงชิงเอาอำนาจนี้มาโดยตกเป็นทาสวิธีคิดแบบโง่เขลาและเห็นแก่ตัว มนุษย์จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้อำนาจนี้ก่อให้เกิดความ อยุติธรรมและความตาย ชีวิตของผู้ที่อ่อนแอจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของผู้ที่แข็งแรง ในสังคมมนุษย์ สำนึกถึงเรื่องความยุติธรรมก็สูญไป และความไว้วางใจต่อกัน อันเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์แท้ที่มนุษย์มีต่อกันนั้น ก็ถูกทำลายถึงรากเหง้าของมัน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย