ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระวรสารแห่งชีวิต

    ชีวิตมนุษย์มีต้นกำเนิดในองค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์จึงมาจากพระเจ้าและเป็นของพระเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์เป็นของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่โลก

บทนำ
บทที่ 1
บทที่ 2
บทที่ 3
บทที่ 4
บทส่งท้าย

52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64
65 66 67 68 69 70 71 72 73 74 75 76 77

70. พื้นฐานของแนวโน้มต่างๆ เหล่านี้ ก็คือ แนวคิดแบบสัมพัทธนิยมด้านจริยธรรม (ethical relativism) ซึ่งบ่งบอกลักษณะเด่นชัดของวัฒนธรรมส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน มีพวกคนที่ถือว่าแนวคิดแบบสัมพัทธนิยมนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งของประชาธิปไตย ตราบเท่าที่แนวคิดแบบนี้เท่านั้นที่ถือว่าเป็นประกันให้มีการยอมรับได้ การให้ความเคารพต่อกันระหว่างผู้คน และการยอมรับการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ ในขณะที่กฎเกณฑ์ทางด้านศีลธรรมที่ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นจริง (objective) และมีผล ผูกมัดนั้น ก็ถือว่านำไปสู่ลัทธิปกครองแบบเผด็จการ (authoritarianism) และการไม่อาจรับทนได้

แต่ก็เป็นเรื่องการให้ความเคารพต่อชีวิตนี้เองที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ถูกซ่อนอยู่ในจุดยืนที่ว่านี้ คือ ความเข้าใจผิด และการขัดแย้งต่างๆ ควบคู่กับผลตามมาที่ร้ายแรงทางด้านปฏิบัติ

เป็นความจริงที่ว่าประวัติศาสตร์ได้รับรู้ถึงกรณีต่างๆ มากมายที่มีการกระทำความผิดหนักโดยอ้างชื่อ “สัจธรรม” แต่ก็ไม่มีและยังคงมีการกระทำความผิดหนักพอๆ กันและการปฏิเสธอิสรภาพแบบถึงรากถึงโคนมากมายโดยอ้างชื่อ “แนวคิดแบบสัมพัทธนิยมด้านจริยธรรม” ด้วยเช่นกัน เมื่อเสียงส่วนใหญ่ทางรัฐสภาหรือทางสังคมตราเป็นกฎหมายออกมาว่า อย่างน้อยภายใต้เงื่อนไขบางประการ การฆ่าชีวิตมนุษย์ที่ยังไม่เกิดมานั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย มันเป็นการตัดสินใจ “แบบทรราช” ต่อผู้อ่อนแอที่ไม่อาจป้องกันตัวได้นั้นมิใช่หรือ? มโนธรรมของมนุษย์ทุกคนไม่ยอมรับการกระทำผิดเหล่านั้นต่อมนุษย์ซึ่งยุคสมัยของเรามีประสบการณ์อันน่าเศร้าเช่นนี้ แต่การกระทำผิดเหล่านี้จะไม่เป็นความผิดได้หรือ ถ้าหากถูกกำหนดให้เป็นการกระทำอันถูกต้องตามกฎหมาย โดยมติมหาชนเช่นนั้น แทนที่จะกระทำโดยทรราชที่ไร้ศีลธรรม

ประชาธิปไตยไม่สามารถถูกเชิดชูบูชาถึงขั้นที่ให้เป็นตัวแทนศีลธรรม หรือเป็นยาขนานเอกสำหรับชีวิตอมตะได้ โดยพื้นฐานแล้วประชาธิปไตยเป็น “ระบบ” และในเมื่อเป็นระบบก็เป็นเพียงเครื่องมือ และมิใช่จุดหมายปลายทาง คุณค่า “ด้านศีลธรรม” ของประชาธิปไตยมิใช่มีอยู่แบบอัตโนมัติ แต่ขึ้นอยู่กับการสอดคล้องกับกฎศีลธรรม ซึ่งก็เหมือนกับรูปแบบพฤติกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ ที่ประชาธิปไตยนี้จะต้องเป็นผู้กระทำการ (subject) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ศีลธรรมของประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับศีลธรรมของจุดหมายที่มันมุ่งไปถึง และศีลธรรมของเครื่องมือที่มันใช้ไปสู่จุดมุ่งหมายนั้น ถ้าหากในยุคปัจจุบันเราเห็นผู้คนเกือบทั้งโลกเห็นพ้องต้องกันกับคุณค่าของประชาธิปไตยแล้ว ก็ต้องถือเป็น “สัญญาณแห่งกาลเวลา” ในด้านบวกดังที่อำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรตั้งข้อสังเกตไว้นั้นแต่คุณค่าขอประชาธิปไตยมีอยู่หรือหมดไปพร้อมกับคุณค่าต่างๆ ที่มันมีอยู่และส่งเสริมนั้นด้วย แน่นอนทีเดียว คุณค่าต่างๆ อาทิเช่น ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ทุกคน การเคารพต่อสิทธิของมนุษย์อันมิอาจถูกล่วงละเมิดได้และมิอาจถูกแยกได้ และการรับเอา “ความดีส่วนรวม” เป็นจุดหมายและมาตรการชี้วัดที่ใช้บังคับควบคุมชีวิตทางด้านการเมืองนั้น เหล่านี้ถือเป็นคุณค่าสำคัญพื้นฐานแน่นอนและเป็นคุณค่าที่ต้องไม่ถูกเพิกเฉยได้เลย

พื้นฐานของคุณค่าเหล่านี้ไม่สามารถเป็นเรื่องของความ คิดเห็นแบบที่มีการจัดเตรียมไว้และเปลี่ยนแปลงได้ของ “ผู้คนส่วนใหญ่” แต่เป็นเรื่องของการยอมรับรู้กฎศีลธรรมที่เป็นอยู่จริง ๆ (objective moral law) ซึ่งในฐานะเป็น “กฎธรรมชาติ” ที่มีจารึกอยู่ในใจมนุษย์ ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกฎหมายบ้านเมืองที่จะต้องใช้อ้างอิง ถ้าจะให้การมีท่าทีของการสงสัยไม่แน่ใจ (attitute of scepticism) อันเป็นผลของการมีมโนธรรมร่วม (collective conscience) แบบสลัวมัวแย่ยิ่งนี้ บรรลุผลสำเร็จในการตั้งคำถามถึงแม้กระทั่งกฎเกณฑ์พื้นฐานของกฎศีลธรรมแล้วละก็ ระบอบประชาธิปไตยเองก็คงจะสั่นคลอนถึงรากถึงโคนทีเดียว และคงถูกลดค่าลงมาเป็นแค่เครื่องจักรควบคุมผลประโยชน์ที่แตกต่างและขัดแย้งกันบนพื้นฐานเชิงประจักษ์ล้วนๆ เท่านั้น

บางคนอาจคิดด้วยว่า แม้กระทั่งหน้าที่นี้ก็ควรจะถือว่ามีคุณค่าทั้งนี้ก็เพื่อสันติสุขในสังคมมนุษย์ก็ในเมื่อยังไม่มีอะไรที่ดีไปกว่านี้ ในขณะที่เรารับรู้ถึงสาระสำคัญแห่งความจริงบางอย่างจากมุมมองที่ว่านี้ ก็เป็นการง่ายที่เราจะเห็นว่า หากปราศจาก พื้นฐานทางศีลธรรมตามที่เป็นจริงแล้วไซร้ แม้แต่ประชาธิปไตยก็จะไม่สามารถให้ประกันถึงสันติภาพที่มั่นคงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพราะว่าสันติภาพที่มิได้สร้างขึ้นมาบนคุณค่าของศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ทุกคนและความสมานฉันท์ระหว่างมวลมนุษย์แล้วไซร้ ก็มักจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นสันติภาพลวงตาเท่านั้น แม้กระทั่งในระบอบ การปกครองแบบมีส่วนร่วม กฎเกณฑ์เรื่องผลประโยชน์ก็มักจะเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายที่มีอำนาจที่สุด เพราะว่าคนพวกนั้นเป็นผู้ที่สามารถวางแผนจัดการมิใช่เพียงในเรื่องการควบคุมอำนาจเท่านั้น แต่ยังสามารถจัดการให้มีการเห็นชอบตามพวกตนด้วย ในสภาพการณ์เช่นนี้ ประชาธิปไตยก็กลายเป็นเพียงคำว่างเปล่าไร้ซึ่งความหมายไปได้ง่ายๆ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย