ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ
สุนทรียศาสตร์กับการศึกษา
คำว่า aesthetics
มาจากคำว่า aisthetikos ซึ่งเป็นภาษากรีกตรงกับความหมายของคำว่า perceptive
ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงการสำเหนียกหรือการกำหนดรู้
ซึ่งเป็นความหมายที่ไม่ค่อยตรงกับความหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะสุนทรียะ
หมายถึงความสวย ความงามทางภายนอกที่เป็นรูปธรรม
ดังนั้นปรัชญาสุนทรียศาสตร์จึงเกี่ยวกับปัญหาของความงาม ความสวย
โดยเฉพาะที่เป็นเรื่องของศีลปะ
และเกี่ยวกับรสนิยมและมาตรฐานของค่านิยมในการตัดสินผลงานทางศิลปะ
และเป็นทฤษฎีรวมทั้งเจตคติที่เกี่ยวกับสิ่งดังกล่าว คำว่า aesthetics
ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 1750 โดย Baumgarten
นำมาใช้เพื่อแสดงความรู้ของความรู้สึกในทางกาม
โดยมุ่งที่ความงามให้เห็นความแตกต่างไปจากตรรกศาสตร์
ซึ่งตรรกศาสตร์จะมุ่งที่ความจริงหรือสัจจะ
ในปัจจุบัน สุนทรียศาสตร์เสมือนเป็นวิชาหนึ่งหรือศาสตร์หนึ่ง
ที่มุ่งจะศึกษาในเรื่องต่อไปนี้
- งานทางศิลปะ
- ศึกษากระบวนการต่าง ๆ ของการผลิตและประสบการณ์ทางศิลปะ
- ศึกษาโฉมหน้าของธรรมชาติ และผลผลิตของมนุษย์ที่อยู่นอกขอบข่ายของงานศิลปะ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาความงาม ความน่าเกลียด ที่เกี่ยวกับรูปแบบและคุณภาพของความรู้สึก เช่นพระอาทิตย์อัสดง ภาพดอกไม้ชนิดต่าง ๆ
ความหมายตามแนวทางการศึกษา สุนทรียศาสาตร์หมายถึงทฤษฎีความงาม
ที่มุ่งผลในเรื่องคุณลักษณะที่จะเป็นของความงาม วิธีที่จะรู้จักความงาม
การวิเคราะห์ความงาม และการประเมินผลความงาม ในเรื่องของการศึกษา
ที่เกี่ยวกับผลผลิตของการศึกษา Carritt
ได้กล่าวไว้ในหนังสือทฤษฎีแห่งความงามของท่านว่า
มนุษย์ไม่ค่อยจะมีความจุใจต่อการสร้างความงาม
หรือต่อความงามที่มนุษย์เข้าใจและสำนึกอยู่
ทั้งนี้เพราะมนุษย์ไม่เข้าใจว่าตนกำลังทำอะไรอยู่
และนี่เองที่มนุษย์จำเป็นต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ความงามคืออะไร
ดังในเรื่องของการศึกษา
ครูจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังให้นักเรียนรู้ถึงความหมายของความงาม
ให้รู้ว่าอะไรคือความงาม ทำอย่างไรจึงมีพฤติกรรมที่งาม เช่น
ทำไมจึงต้องมีการห้ามเด็ดดอกไม้ในสวนสาธารณะ
การขีดเขียนฝาผนังให้เปรอะเปื้อนเป็นพฤติกรรมที่งามหรือไม่
ค่านิยมทางสุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องที่ประเมินหรือกำหนดได้ยากเพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล
และเป็นค่านิยมทางอัตนัย ที่เกี่ยวข้องกับความชอบและไม่ชอบของมนุษย์ เช่น
งานศิลปะชิ้นเดียวกัน บุคคลต่าง ๆ ย่อมตีความหมายในงานศิลปะชิ้นนั้นแตกต่างกัน
และมีความคิดในเรื่องของความงามของศิลปะนั้นแตกต่างกันด้วย แต่ปัญหาที่อยู่ที่ว่า
ความงามในทรรศนะของใครที่จะประทับใจหรือซาบซึ้งกว่า
คำตอบต่อคำถามจะลงความเห็นได้ยาก
นอกจากเราจะยอมเชื่อว่ามีจุดมุ่งหมายในค่านิยมทางจริยศาสตร์
ซึ่งกรณีเช่นนี้เราอาจเลือกที่จะเชื่อได้เป็น 2 ประการด้วยกัน ประการแรก
โดยการเชื่อในการตัดสินของผู้เชี่ยวชาญว่าอะไรคือความงาม ดังนั้น
ในการประกวดความงามทั้งหลายจึงมีคณะกรรมการซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องความงามที่ประกวดนั้น
และได้ตัดสินร่วมกันโดยยอมรับเอาว่าความงามในกลุ่มคณะนั้นพึงเป็ฯเช่นนั้น
ถ้าเป็นการตัดสินโดยคณะกรรมการหรือผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ชุดออกไป
ประการที่สอง
เราอาจตัดสินความงามโดยการตั้งเกณฑ์มาตราฐานและกำหนดคะแนนมาก-น้อยต่างกัน
การใช้การตัดสินตามเกณฑ์มาตราฐานนี้
เป็นประโยชน์สำหรับผู้เริ่มหัดและเป็นมาตรฐานที่นับว่าทนทานต่อการวิจารณ์
เพราะการตั้งเกณฑ์มาตราฐานก็มักจะอยู่บนรากฐานของเหตุผลว่าอย่างไรจึงควรถือว่างาม
หนังสือวรรณคดีก็ดี ศิลปะก็ดี หรือการดนตรีก็ดี จะถือตามเกณฑ์มาตราฐานทำนองนี้
ในการที่จะให้ความรู้แก่นักเรียนเกี่ยวกับการประเมินและความซาบซึ้ง
การให้ความรู้จากคัมภีร์หรือตำรามาใช้ในการประเมินผลงานทางศิลปะก็จะทำให้ผลที่ได้แตกต่างกันมากเกินไป
หรือการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อการวินิจฉัยและประเมินความงามก็ไม่อาจทำได้
เพราะงานทางวิทยาศาสตร์กว้างขวางมากเกินกว่าที่จะมาเกี่ยวข้องกับการตัดสินทางศิลปะ
ปัญหาปรัชญาทางสุนทรียสาสตร์ได้เกิดขึ้นหลายศตวรรษแล้ว เช่นปัญหาว่า
ศิลปะควรเป็นตัวแทนของสิ่งใดสิ่งหนึ่งใช่หรือไม่หรืองานศิลปะควรเป็นผลผลิตจาดจินตนาการของผู้ผลิตหรือผู้สร้างขึ้นมาใช่หรือไม่
ในทรรศนะแรก เราถือว่าศิลปะสะท้อนชีวิตจริงและสะท้อนประสบการณ์ของมนุษย์
เช่นสะท้อนภาพความเศร้าโศกเมื่อพระอาทิตย์กำลังอัสดง
หรือภาพใบไม้เปลี่ยนสีและร่วงหล่นในฤดูใบไม้ร่วง
หรอภาพความร่างเริงสดชื่นของชีวิตจากงานศิลปะเกี่ยยวกับดอกไม้หรือแจกันดอกไม้
ซึ่งทำให้เราเกิดความรู้สึกประทับใจและซาบซึ้งในความงามของสิ่งเหล่านั้นได้
ในอีกทรรศนะหนึ่ง ศิลปินจะแสดงความรู้สึกของตนเองเกี่ยวกับสภาพชีวิตต่าง ๆ
ที่เขาสนใจออกมาเป็นงานศิลปะต่าง ๆ ด้วยความคิดของเขาเอง ด้วยแรงขับ
และประสบการณ์ของเขาเองเขาอาจจะแสดงความรู้สึกต่าง ๆ
เกี่ยวกับความงามความน่าเกลียดของโลก
และบางทีก็แสดงให้เห็นว่าโลกควรจะเป็นไปในรูปแบบใด
หรือควรจะเป็นอย่างไรตามความคิดของเขา ตามทรรศนะนี้
ศิลปินหรือผู้สร้างจะพึงพอใจในอิสระภาพทางความคิดของเขา
ในการสร้างสรรค์งานของเขาอย่างไม่มีขีดจำกัด
งานของการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุนทรียศาสตร์จึงเกี่ยวข้องกับงานศิลปะต่าง ๆ
โดยเกี่ยวข้องกับความรู้สึกและประสบการณ์ทางศิลปะ
และมุ่งให้เกิดมโนธรรมเพื่อเสาะแสวงหาหลักการที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์และความซาบซึ้งในความงามของสรรพสิ่ง
ด้วยเหตุนี้หลักสูตรการเรียนการสอนจะขาดวิชาศิลปะหาได้ไม่
อ้างอิง :
เมธี
ปิลันธนานนท์.2523.ปรัชญาการศึกษาสำหรับครู.กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช