วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน
หลักการเขียนเรียงความ
ลักษณะของย่อหน้าที่ดี
- มีเอกภาพ มีใจความสำคัญเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
กำหนดจุดมุ่งหมายเป็นประโยคใจความสำคัญเนื้อหาสาระของข้อความที่นำมาเขียนขยายนั้นต้องมีใจความเป็นเรื่องเดียวกันกับประโยคใจความสำคัญ
- มีความสมบูรณ์ ส่วนต่างๆ ประสานเข้าหากันไม่มีส่วนใดขาดตกบกพร่อง
ต้องเขียนอย่างมีจุดมุ่งหมาย มีเนื้อหาสาระ มีรายละเอียด
ส่วนขยายที่ชัดเจนไม่ออกนอกเรื่องได้เนื้อความบริบูรณ์
- มีสัมพันธภาพ
ข้อความหรือประโยคแต่ละประโยคที่เรียงต่อกันนั้นมีความเกี่ยวเนื่องติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน
จัดลำดับความคิดให้เป็นประโยคต่อเนื่องกันด้วยเนื้อหา โดยอาจจัดลำดับความคิดตามเวลา
(เหตุการณ์ก่อนหลัง) ตามพื้นที่
(ใกล้ไปหาไกล/ข้างบนไปหาข้างล่าง/ซ้ายไปขวา/เหนือไปหาใต้) จากคำถามไปสู่คำตอบ
(คำถามไว้เป็นประโยคแรกแล้วจัดหาประโยคขยายตามลำดับเพื่อให้ได้คำตอบเป็นผลลัพธ์ตอนท้ายของย่อหน้า)
จากรายละเอียดไปสู่ข้อสรุป (หรือจากข้อสรุปไปสู่รายละเอียด) และจากเหตุไปสู่ผล
- มีสารัตถภาพ
ย้ำเน้นใจความสำคัญเพื่อให้ผู้อ่านทราบเจตนาโดยอาจวางตำแหน่งประโยคใจความสำคัญในตอนต้นหรือตอนท้ายของย่อหน้า
การย้ำเน้นด้วยคำวลีหรือประโยคซ้ำๆ กันบ่อยๆ ภายในย่อหน้า
(ทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายหรือความคิดสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารถึงผู้อ่าน)
รวมถึงการย้ำเน้นอย่างมีสัดส่วน
- ใช้คำเชื่อมได้อย่างเหมาะสม (คำสันธานหรือวลี) ทำให้ข้อความสละสลวย ไม่ใช้ซ้ำซาก ใช้ภาษาถูกต้องตามแบบแผน ใช้ภาษาระดับเดียวกัน ไม่ใช้สำนวนภาษาต่างประเทศ อ่านแล้วไม่ติดขัดเหมือนได้อ่านเรียงความสั้นๆ หนึ่งเรื่อง
การเขียนประโยคใจความสำคัญเป็นย่อหน้า
- ให้คำจำกัดความ อธิบายคำหรือวลีให้ผู้อ่านเข้าใจ
- ให้รายละเอียด เพื่อให้ได้ย่อหน้าที่เนื้อหาสาระมีความสมบูรณ์
- ยกตัวอย่าง ทำให้เข้าใจความคิดสำคัญหรือประโยคใจความสำคัญได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง
- เปรียบเทียบ การเปรียบเทียบสิ่งใดสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง หรืออาจจะเป็นในลักษณะอุปมาโวหารหรือยกเป็นอุทาหรณ์
- แสดงเหตุและผล เหมาะสำหรับงานเขียนที่ต้องการวิเคราะห์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็น
การเขียนคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป
- คำนำ เป็นส่วนแรกของงานเขียนที่จะสร้างความน่าสนใจ
ดึงดูดและท้าทายให้ผู้อ่านอยากรู้อยากอ่านข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นต่างๆ
ที่ผู้เขียนรวบรวมมาเสนอในเนื้อเรื่อง
เพราะคำนำที่ดีจะทำให้ผู้อ่านทราบได้ตั้งแต่ต้นว่ากำลังจะได้อ่านเกี่ยวกับอะไร
ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษในการเขียนคำนำให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้อ่าน
สอดคล้องกับจุดประสงค์ในการเขียนและการเสนอเนื้อเรื่อง
ประกอบกับการใช้ศิลปะการเขียนเฉพาะตน
- เนื้อเรื่อง เป็นส่วนที่ยาวที่สุดของงานเขียน
เนื่องจากเป็นส่วนที่รวบความคิดและข้อมูลทั้งหมดที่ผู้เขียนค้นคว้ารวบรวมมาเสนออย่างมีระเบียบ
มีระบบ และเป็นขั้นตอน
ทำให้ผู้อ่านรับรู้และเข้าใจสาระสำคัญทั้งหมดได้อย่างแจ่มแจ้ง
กอปรไปด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงกันตลอด
- รวบรวมข้อมูล ความคิด ประสบการณ์ ข้อเท็จจริง
- วางโครงเรื่องให้สอดคล้องกับประเด็นที่จะนำเสนอ
- นำหัวข้อต่างๆ มาเขียนขยายความให้เป็นย่อหน้าที่ดี
- มีประเด็นมากพอให้ผู้อ่านสนใจ
- ต้องใช้ท่วงทำนองการเขียนให้สอดคล้องกับลักษณะเนื้อหา ตรงตามวัยความสนใจของผู้อ่าน - การสรุป เป็นการบอกให้ผู้อ่านทราบว่าข้อมูลทั้งหมดที่เสนอมาได้จบลงแล้ว (ในย่อหน้าที่ผ่านมา) จะเป็นช่วยย้ำให้ผู้อ่านทราบว่างานเขียนที่ได้อ่านมีจุดมุ่งหมายอย่างไร ได้ข้อคิดหรือแนวทางอะไรเพิ่มเติมจากการอ่านครั้งนี้บ้างที่สำคัญคือการสรุปจะต้องมีความสอดคล้องกับเนื้อเรื่องตรงตามจุดประสงค์ของผู้เขียนจึงจะทำให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ
กลวิธี: แสดงความเห็นของผู้เขียน (เห็นด้วย ขัดแย้ง เสนอแนะ ชักชวน ฯลฯ)
/ สดุดีเกียรติคุณ คุณประโยชน์ /
คำถามที่ชวนให้ผู้อ่านคิดหาคำตอบหรือตอบคำถามที่ตั้งไว้ในคำนำ / กล่าวถึงข้อดี
ข้อบกพร่อง หรือเสนอแนะให้เห็นประโยชน์ / ให้กำลังใจแก่ผู้อ่าน /
สาระสำคัญที่ต้องการให้ผู้อ่านทราบ / บทกลอน คำคมสุภาษิต ข้อความ
หรือคำพูดของบุคคลสำคัญ
ตัดตอนและสรุปจาก:
ราตรี ธันวารชร, การเขียนย่อหน้า และ
เจียรนัย ศิริสวัสดิ์, การเขียนคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป ใน
คณาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, การใช้ภาษาไทย 1.
พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543. หน้า 80-92 และ
105-112