สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้

ไข้หวัดนก

ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก
มิสเตอร์ไข้หวัดนก
การแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก
เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ฯ
ระบาดวิทยาของไข้หวัดนกทั่วโลก
ระบาดวิทยาของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย
แนวทางการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน
ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ
ลักษณะทางคลินิกและการวินิจฉัยโรคไข้หวัดนก
แนวทางการรักษาพยาบาลสำหรับโรคไข้หวัดนกและการติดตามผู้ป่วย
ข้อปฏิบัติสำหรับบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้หวัดนก
บทบาท อสม. และกระบวนวิธีการขับเคลื่อนแผนที่ยุทธศาสตร์ฯ
โครงสร้างการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกของกระทรวงฯ
แนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในการป้องกันฯ ระดับจังหวัด
ถาม-ตอบ เรื่องไข้หวัดนก

ระบาดวิทยาของไข้หวัดนกทั่วโลก

พ.ญ.ดารินทร์ อารีย์โชคชัย สำนักระบาดวิทยา

ก่อน พ.ศ. 2540 เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ได้เริ่มกระจายอยู่ในสัตว์ปีกอย่างเงียบ ๆ โดยเริ่มจากก่อให้เกิดอาการเพียงเล็กน้อยในสัตว์ปีกดังเช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5 และ H7 ตัวอื่นๆ และมีการปรับตัวของเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกลายเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่มีความรุนแรงหรือ “Highly pathogenic avian influenza virus” ซึ่งสามารถทำให้สัตว์ปีกที่ติดเชื้อตายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ และตายภายใน 48 ชั่วโมง โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่มีความรุนแรงนี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนครั้งแรกใน พ.ศ. 2540 และหายไปชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกระทั่งใน พ.ศ. 2546 ไวรัส H5N1 ได้หวนกลับมาอีกครั้ง อีกทั้งยังทวีความรุนแรงและแพร่กระจายอย่างกว้างขวางกว่าเดิม

ใน พ.ศ. 2546 สาธารณรัฐเกาหลีเป็นประเทศแรก ที่มีการรายงานการตายอย่างผิดปกติในไก่จำนวนมากในฟาร์มไก่ที่กรุงโซล ประมาณกลางเดือนธันวาคม และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า สาเหตุการตายของไก่เกิดจากเชื้อไวรัส H5N1 การตรวจพบในครั้งนั้นได้สร้างความตื่นตระหนกต่อวงการสาธารณสุขทั่วโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเคยมีรายงานการถ่ายทอดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 จากสัตว์ปีกสู่คนมาแล้ว และมีอัตราตายสูงที่ประเทศฮ่องกงใน พ.ศ. 2540 โดยหากดูรายงานตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา มีรายงานการติดต่อและระบาดในคนหลายครั้ง ซึ่งในอดีตการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในคนนั้นเกิดขึ้นไม่มากนักและทำให้เกิดอาการเพียงเล็กน้อย เช่น อาการทางเดินหายใจส่วนบนหรือตาอักเสบ แต่เชื้อไวรัส H5N1 นั้นเป็นข้อยกเว้น ในการระบาดที่ประเทศฮ่องกง เมื่อ พ.ศ. 2540 พบผู้ป่วย 18 ราย ตายถึง 6 ราย ประเทศฮ่องกงจำเป็นต้องฆ่าไก่ถึง 1.5 ล้านตัวภายในเวลาเพียง 3 วัน เพื่อหยุดการสัมผัสโรคอย่างทันท่วงที ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ประเทศฮ่องกงยังพบผู้ป่วยไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 อีก 2 ราย ที่มีประวัติเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่บอกว่าไวรัส H5N1 มีการแฝงตัวอยู่ในประเทศจีน ประเทศซึ่งอาจเป็นศูนย์กลางการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ (ตารางที่ 1)

  ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ได้มีรายงานการป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงอย่างผิดปกติของเด็กถึง 11 ราย (ตาย 7 ราย) ในเวลาใกล้เคียงกันที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม พร้อมๆกับมีการตายผิดปกติของสัตว์ปีกในฟาร์มจำนวนมาก และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการในสัตว์ปีกพบเชื้อไวรัส H5N1 นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบการติดเชื้อไวรัส H5N1 ในผู้ป่วยเด็ก 2 รายด้วยเช่นกัน ในช่วงเวลาเดียวกันที่ประเทศญี่ปุ่นก็พบการระบาดของเชื้อไวรัส H5N1 ในสัตว์ปีก ส่วนที่ประเทศเวียดนามภายใน 3 สัปดาห์ต่อมาพบการระบาดของเชื้อไวรัส H5N1 มากกว่า 400 แห่งและมีไก่ที่น่าจะติดเชื้อมากกว่า 3 ล้านตัว

จนกระทั่งสิ้นสุดเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ได้มีการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีกใน ประเทศเกาหลี เวียดนาม ญี่ปุ่น และไทย ต่อมามีการรายงานเพิ่มขึ้นในประเทศกัมพูชา ลาว อินโดนีเซียและจีน ส่งผลกระทบต่อสัตว์ปีกและคนเป็นจำนวนมาก การระบาดมีความรุนแรงและขยายวงกว้างกว่าการระบาดของไข้หวัดนกครั้งใดใดที่เคยมีมา มีสัตว์ปีกมากกว่า 120 ล้านตัวตายหรือถูกทำลายในระยะเวลาเพียง 3 เดือนซึ่งมากกว่าการตายและทำลายสัตว์ทั้งหมดในทุกๆ การระบาดของไข้หวัดนกในอดีตรวมกัน การทำลายสัตว์ปีกนั้นเป็นมาตรการที่ได้ผล การระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ได้หยุดลงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2547 การระบาดในรอบนั้นส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกสายพันธ์ H5N1 ในประเทศไทยและเวียดนามรวม 35 ราย (ตาย 24 ราย) เป็นผู้ป่วยเกือบสองเท่าของการระบาดใน พ.ศ. 2540 และมีอัตราตายสูงกว่ามาก

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 ได้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ขึ้นอีกรอบในประเทศกัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ไทย เวียดนามและมาเลเซีย และยังมีรายงานการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในสัตว์อื่นๆ ได้แก่ แมว เสือ นกอินทรีและยังพบการตายของนกอพยพ เป็นจำนวนมากจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ซึ่งโดยปกตินกอพยพจะเป็นเพียงรังโรคที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการเท่านั้น ในขณะที่เป็ดเศรษฐกิจที่ไม่มีอาการถูกตรวจพบว่าสามารถขับถ่ายเชื้อไวรัส H5N1 ออกมาในสิ่งแวดล้อมได้

การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในรอบหลังนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อในคนขึ้นอีกเช่นเดิม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 5 ราย เสียชีวิต 4 ราย เวียดนามพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 56 รายเสียชีวิต 22 ราย และยังพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่ประทศกัมพูชาอีก 4 รายเสียชีวิตทั้งหมด

ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท มีอายุระหว่าง 1 -58 ปี (อายุเฉลี่ย 15.5 ปี) ประวัติเสี่ยงที่พบมากที่สุดได้แก่ การสัมผัสสัตว์ปีกที่ติดเชื้อไวรัส H5N1 โดยตรง การเชือด ชำแหละสัตว์ปีก และกินเลือดเป็ดดิบๆ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีรายงานผู้ป่วยเข้าข่ายติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกจากคนสู่คนในครอบครัวเดียวกันอีกด้วย

จนถึงปัจจุบันเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ได้แพร่กระจายอยู่ในสัตว์ปีกเป็นจำนวนมากในทวีปเอเชีย และยังถ่ายทอดเชื้อไปยังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิด ประกอบกับการติดเชื้อในคนเป็นกลุ่ม (Cluster) และหลักฐานการถ่ายทอดเชื้อไวรัส H5N1จากคนสู่คนที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้กำลังปรับตัวเพื่อกลายพันธุ์อย่างช้าๆ ทำให้การสาธารณสุขทั่วโลกตระหนักถึงการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Pandemic Influenza) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และต้องมีการเตรียมการเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่นั้นอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย