ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

พุทธศาสนากำจัดทุกข์ในสังสารวัฏ

กิเลส
กรรม
วิบาก
การดับทุกข์ในสังสารวัฏฏ์
วิธีการแห่งการตรัสรู้ท่านแสดงไว้ในเจตนาสูตร

กรรม

      กรรมหมายถึงเจตนาตามที่แสดงไว้ในนิพเพธิกสูตร ว่าข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม ฯลฯ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าว ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจาด้วยใจ ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน คือผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม ก็ความต่างแห่งกรรมเป็นไฉน คือ กรรมที่ให้วิบากในนรกก็มี ที่ให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี ที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มี ที่ให้วิบากในมนุษย์โลกก็มี ที่ให้วิบากในเทวโลกก็มี นี้เรียกว่าความต่างแห่งกรรม ก็วิบากแห่งกรรมเป็นไฉน คือ เราย่อมกล่าววิบากแห่งกรรมว่ามี 3 ประการ คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน กรรมที่ให้ผลในภพที่เกิด กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป นี้เรียกว่าวิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรมเป็นไฉนคือ ความดับแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการนี้แลคือสัมมาทิฐิ ฯลฯสัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดอริยสาวกย่อมทราบชัดกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้ๆ เมื่อนั้นอริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งความชำแรกกิเลสเป็นที่ดับกรรมนี้ ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม ฯลฯ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมเราอาศัยข้อนี้กล่าว (อํ.ฉ.22/334/365.)

กรรมในปฏิจจสมุปบาทหมายถึงสังขารและกรรมภพซึ่งจำแนกไว้ดังนี้คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร นี้เรียกว่าสังขาร(สํ. นิ.16/16/4.) ส่วนภพคือกามภพ รูปภพ อรูปภพ นี้เรียกว่าภพ (สํ. นิ.16/8/3.) กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์จะดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับกรรมดังหลักฐานยืนยันว่า บุคคลจะชื่อว่าเป็นคนชั่ว เพราะชาติก็หาไม่ จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติก็หาไม่ ที่แท้ ชื่อว่าเป็นคนชั่วเพราะกรรม ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม เป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นศิลปินเพราะกรรม เป็นพ่อค้าเพราะกรรม เป็นคนรับใช้เพราะกรรม แม้เป็นโจรก็เพราะกรรม แม้เป็นทหารก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตเพราะกรรม แม้เป็นพระราชาก็เพราะกรรม บัณฑิตทั้งหลายมีปกติ เห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรม นั้นแจ้งชัดตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายถูกผูกไว้ในกรรม เหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไปฉะนั้น บุคคล ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยกรรมอันประเสริฐนี้ คือ ตบะพรหมจรรย์ สัญญมะ และทมะ กรรม 4 อย่างนี้ เป็นกรรมอันสูงสุดของ พรหมทั้งหลาย ทำให้ผู้ประพฤติถึงพร้อมด้วยวิชชา 3 ระงับกิเลสได้ สิ้นภพใหม่แล้ว (ม.ม. 13/707/489.)

การที่สัตว์จะกำเนิดในภพใดจึงขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละบุคคลเป็นเกณฑ์ ดังพุทธวจนะที่เรามักจะได้ยินเสมอว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก” โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ซึ่งก็มาจากมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ดังที่อ้างมาแล้ว เรื่องกรรมมีการอธิบายไว้มากมายหลายแห่งทั้งในพระไตรปิฎก อรรถกถา แต่ในปฏิจจสมุปบาทกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแสดงถึงกระบวนการทำกรรมและการให้ผลของกรรม ตั้งแต่กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม จนถึงวิปาก ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้วก็จะเข้าใจกฎแห่งกรรมได้ชัดเจนไปด้วย

ในเรื่องกฎแห่งกรรมมีความสลับซับซ้อนเข้าใจยาก และถือเป็นหลักคำสอนสำคัญอีกอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา จะนำเสนอเป็นเรื่องเฉพาะในโอกาสต่อไป 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย