ศาสนา
ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
การเดินทางของพุทธศาสนาสู่ประเทศไทย
พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
เส้นทางติดต่อระหว่างอินเดียกับสุวรรณภูมิ
พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ
พุทธศาสนาสมัยฟูนัน
พุทธศาสนาสมัยทวาราวดี
พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย
พุทธศาสนาสมัยลพบุรี
พุทธศาสนาสมัยลานนา
พุทธศาสนาลังกาวงศ์สู่ลานนา
พุทธศาสนาสมัยสุโขทัย
การปกครองคณะสงฆ์ และศิลปกรรม
พระมหาธรรมราชาลิไทกับพุทธศาสนา
พุทธศาสนาสมัยอยุธยา
พุทธศาสนาสมัยธนบุรี
พุทธศาสนาสมัยรัตนโกสินทร์
พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย
สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 มีเมืองหลวงชื่อ ปาเลมบัง
พุทธศาสนาในอินเดียได้เปลี่ยนแปลงเป็นมหายานมากแล้ว
มหายานได้แผ่คลุมไปทั่วอินเดียทั้งเหนือและใต้ (ไม่ใช่มหายานแผ่ขึ้นทางเหนือ
เถรวาทหรือหินยาน แผ่ลงทางใต้อย่างที่เข้าใจกัน) และยุคนั้น
มหายานจากอินเดียใต้ก็แผ่เข้าสู่อาณาจักรศรีวิชัยซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับไทยสมัยทวาราวดีอยู่แล้ว
มหายานสมัยนั้นนับว่าเจริญเต็มที่ทั้งด้านการศึกษาและปฏิบัติ
ศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่แหลมมลายู-เกาะสุมาตรา ท่านควอริช เวลส์ และ ดร. มาชุมดาร์
นักโบราณคดี กล่าวว่า
ไศเลนทรได้ยึดบริเวณอ่าวบ้านดอนจากศรีวิชัยประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 14
แล้วขยายอำนาจไปเหนือชวาและแหลมมลายูทั้งหมด
จนในที่สุดไศเลนทรก็ได้เป็นใหญ่เหนือแหลมมลายู เกาะสุมาตรา และหมู่เกาะชวาทั้งหมด
อาณาเขตทางตอนเหนือคลุมมาถึง จ. หวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน (ยุคนั้น
เมืองนครศรีธรรมราชเป็นประเทศราช)
ครั้งนั้นพุทธศาสนาสมัยศรีวิชัยเป็นแบบมหายาน
เพราะกษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร แห่งอาณาจักรศรีวิชัย
ทรงนับถือลัทธิมหายานนิกายมนตรยานอย่างเดียวกับราชวงศ์ปาละแห่งอินเดียใต้
และกษัตริย์ทั้งสองมีไมตรีต่อกันนั่นเอง ลัทธิมหายานในสมัยศรีวิชัย
คงไม่สามารถขยายอิทธิพลเลยสุราษฎร์ธานีขึ้นมา
เพราะเวลานั้นเหนือขึ้นมายังเป็นเขตอิทธิพลของเถรวาทหรือหินยานอยู่
เรามองดูตามทัศนะของศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงยืนยันว่า
ศิลปะศรีวิชัยมาถึงอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี และทีวัดศรีมหาโพธิ์ จ.
ปราจีนบุรี(ที่อื่นไม่พบ) ปรากฎในศิลาจารึกว่าประมาณ พ.ศ. 1550
กษัตริย์เชื้อสายศรีวิชัยองค์หนึ่ง ได้ขึ้นมาจากนครศรีธรรมราช มาครองที่ลพบุรี
และโอรสของพระองค์ได้ไปครองประเทศกัมพูชา
ต่อมาอีกไม่นานศาสนาและศิลปวิทยาการของเขมรได้เข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นในยุคนี้
ในจารึกหลักที่ 19 กล่าวว่า ที่เมืองลพบุรีมีพระทั้งสองนิกายคือ สถวีระ (เถรวาท)
และมหายาน (ดูประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 หน้าที่ 12 ) เข้าใจว่าเถรวาทเป็นนิกายเดิม
สืบมาแต่ครั้งสุวรรณภูมิ ส่วนมหายานนั้นเจริญอยู่ในเขมรก่อน
พึ่งเข้ามาเจริญในประเทศไทยในตอนที่เราอยู่ในอำนาจของเขมรนั่นเอง
หรือไม่ก็มหายานอาจจะเข้ามาพร้อมกันทั้ง 2 ด้าน
คือด้านเขมรและด้านศรีวิชัยในเวลานั้น
อาณาจักรศรีวิชัยได้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระปริยัติธรมที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก
พุทธศิลป์
สมัยศรีวิชัยนั้นมีพุทธศิลป์ที่มีชื่อเสียง คือ มหาเจดีย์บุโรบุโดที่เกาะชวา และเจดีย์พระบรมธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ยังมี พระอวโลกกิเตศวร และพิมพ์พระเล็กๆ เป็นรูปของอวโลกกิเตศวรด้วย ส่วน จ. ตรัง อยู่ที่ถ้ำเขาวิหาร มีกรุบรรจุพระพิมพ์เล็กๆ เป็นศิลป์แบบปาละ จ. พัทลุง อยู่ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ เขาอกทะลุ จ. ยะลา อยู่ที่ถ้ำเขาตระเภา ทั้ง 3 จังหวัดสุดท้ายนี้ ซึ่งล้วนเป็นคตินิยมของมหายาน ส่วนมากค้นพบเฉพาะพระพิมพ์เล็กๆ และรูปแกะสลักเล็กๆ เท่านั้น ในเรื่องนี้ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงสันนิฐานว่าพระพิมพ์เล็กๆ ที่เป็นดินดิบนั้นคงทำตามประเพณีของลัทธิมหายาน คือเมื่อเผาศพพระเถระแล้วเอาอัฐธาตุโขลกเคล้ากับดิน แล้วพิมพ์เป็นพระพุทธรูปหรือรูปพระโพธิสัตว์เพื่อประสงค์ปรมัตถประโยชน์แก่ผู้มรณภาพ อัฐธาตุนั้นเผามาครั้งหนึ่งแล้วจึงไม่เผาอีก มิใช่ทำเพื่อหวังจะสืบอายุพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังได้พบวัตถุโบราณและพระพุทธรูปกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ นับแต่สุราษฎร์ธานี จ.ปัตตานีและไทรบุรี ที่นครศรีธรรมราชได้พบจารึกที่วัดเสมาเมือง บรรยายถึงพระจริยาวัตรที่ประกอบด้วยคุณธรรม (ตามแนวมหายาน) พูดถึงการสร้างปราสาท 3 หลัง และการสร้างพระสถูป 3 องค์ เป็นต้น.