ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

การเดินทางของพุทธศาสนาสู่ประเทศไทย

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
เส้นทางติดต่อระหว่างอินเดียกับสุวรรณภูมิ
พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ
พุทธศาสนาสมัยฟูนัน
พุทธศาสนาสมัยทวาราวดี
พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย
พุทธศาสนาสมัยลพบุรี
พุทธศาสนาสมัยลานนา
พุทธศาสนาลังกาวงศ์สู่ลานนา
พุทธศาสนาสมัยสุโขทัย
การปกครองคณะสงฆ์ และศิลปกรรม
พระมหาธรรมราชาลิไทกับพุทธศาสนา
พุทธศาสนาสมัยอยุธยา
พุทธศาสนาสมัยธนบุรี
พุทธศาสนาสมัยรัตนโกสินทร์

พุทธศาสนาสมัยลานนา

เดิมสุวรรณภูมิในสมัยศตวรรษที่ 8–17 ได้ผ่านสมัยสำคัญ คือสมัยฟูนัน ทวาราวดี ศรีวิชัย และลพบุรี เป็นลำดับ ทำให้วัฒนธรรมและอารยธรรมในภูมิภาคนี้รุ่งเรืองถึงขีดสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีศูนย์กลางในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อคนไทยลงมาถึง ไทยพวกที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ค่อนข้างจะอาภัพ เพราะบริเวณฝั่งซ้ายไม่มีร่องรอยแห่งอารยธรรมใดๆ เลย ส่วนมากเป็นป่าดง ไทยฝั่งนั้นจึงอยู่กันอย่างสภาพชุมชนกลุ่มชนเล็กๆ กระจัดกระจายกันไป ส่วนคนไทยฝั่งที่ข้ามาฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ได้พบซากแห่งอารยธรรมที่สูงยิ่ง และรับเอาอารยธรรมเหล่านี้ไว้เป็นของตนเอง โดยเฉพาะคนไทยที่เดินลงมาถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รับมรดกทางอารยธรรมจากพวกทวาราวดีได้หมด ทั้งยังได้เปรียบในทำเลทำกิน เป็นเหตุให้ศูนย์อำนาจของชนชาติไทยอยู่ตรงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเราดูวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เราจึงไม่สงสัยว่า เหตุไรชนชาติไทยหลายกลุ่มหลายพวกที่อพยพลงมาสุวรรณภูมิ จึงมีแต่ชนชาติไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น กลายเป็นชนชาติใหญ่ที่สุด ทั้งนี้เพราะความที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นปฏิรูปเทศนั่นเอง ต่อมาในศตวรรษที่ 18 มีชนชาติไทยกลุ่มหนึ่งได้บุกบั่นไปทางตะวันตกข้ามทิวเขาปาดไก่ (ในแผนที่เรียกว่า ปัตตกอย) คำนี้แผลงมาจากคำว่า ปาดไก่ เป็นคำไทย ตามตำนานเล่าว่า เมื่อไทยมาถึงตีนดอยนี้ได้ทำพิธีเซ่นผีก่อนข้ามทิวเขานี้ ไทยพวกนี้ได้อพยพลงไปอยู่ในอัสสัมของอินเดีย แผ่กระจายตามตอนบนแห่งลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร เรียกว่า พวกไทยอาหม คำว่าอาหมมีนักปราชญ์บางท่านนิยามว่า มาจากคำว่า “อสม” แปลว่าไม่มีอะไรเปรียบ อันเป็นชื่อของมณฑลอัสสัม บ้างว่าชื่อมณฑลมาจากชื่อชาติไทยอาหมต่างหาก เพราะเมื่อข้ามทิวเขาปาดไก่เข้ามา ไทยต้องผจญกับพวกคนป่าที่ดุร้ายที่สุด คือพวกนาคา พวกนี้ชอบล่าหัวคนเป็นกีฬา ไทยจึงใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง จับเชลยนาคาแร่เนื้อกินต่อหน้า พวกนาคาก็กลัวคนไทย ไทยได้ตั้งอาณาจักรมีเมืองเคาหดีเป็นเมืองหลวงในลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร และยั่งยืนอยู่ได้ถึง 6 ศตวรรษ ภายหลังถูกพวกมุสลิมทำลาย แต่คนไทยก็ยังมีอยู่ตลอดแม่น้ำพรหมบุตร หากแต่เปลี่ยนศาสนาไปเป็นฮินดูและลืมภาษาไทยของตน ไปพูดภาษาอัสสัม

ย้อนความเดิมในพุทธศตวรรษที่ 12 พระนางจามเทวี พระราชธิดาแห่งกษัตริย์มอญในอาณาจักรทวาราวดี ได้เสด็จขึ้นครองตามคำเชื้อเชิญของพวกมอญพื้นเมืองที่นี่ พระนางได้ครองเมืองหริภุญไชย คือลำพูนปัจจุบันได้ทรงนำเอาอารยธรรมแบบทวาราวดีและพุทธศาสนาเถรวาทขึ้นไปด้วย ทรงสร้างวัดไว้ 4 มุมเมืองลำพูน ทำให้เมืองนี้เป็นจตุรพุทธปราการ พระพุทธศาสนาประดิษฐานลงอย่างมั่นคงตั้งแต่สมัยนี้ เมื่อขอมรุ่งเรืองในสมัยลพบุรี ศิลปะแบบขอมไปไม่ถึงลุ่มแม่น้ำปิง เพราะอิทธิพลศิลปะทวาราวดีกั้นไว้ ปัจจุบันเราสามารถดูได้จากวัดกู่กุดในเมืองลำพูน เป็นรูปสถูป 4 เหลี่ยม แบ่งเป็นชั้นๆ มีคูหาทุกชั้นทุกด้านในคูหามีพระพุทธรูปยืนรวมทั้งหมด 60 องค์ ข้างๆ สถูปใหญ่มีสถูปเล็กอีกองค์หนึ่งชื่อ สุวรรณจังโกฏิเจดีย์ ศิลปะวัตถุทั้ง 2 ชิ้นนี้มีอายุกว่าพันปีแล้ว เป็นอิทธิพลแบบทวาราวดีในภาคเหนือ

 

ต่อมาศตวรรษที่ 15 เมื่อพวกขอมแผ่อำนาจจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไป ได้ปะทะกันระหว่างพวกมอญที่ครองลำพูน กับพวกขอมที่ครองเมืองลพบุรี ปรากฏว่าอิทธิพลของขอมไม่ขึ้นไปถึงแม่น้ำปิงเลย เพราะฉะนั้น เราไม่พบศิลปวัตถุแบบขอมในภาคเหนือ ไม่ว่าในที่ใดๆ สักแห่งเดียว ในรัชสมัยพระเจ้าอาทิจจราชแห่งลำพูนได้ทรงสร้างพระธาตุหริภุญไชยขึ้นกลางพระนคร ตามตำนานเล่าว่า ที่ตรงนั้นเดิมเป็นห้องลงบังคลของพระองค์ ในเวลาที่พระองค์กระทำสรีรกิจดังกล่าวทุกครั้ง จะมีอีกาถ่ายมูลต้องพระองค์ และขณะที่อ้าปากไล่ มูลของอีกาก็ลงในปากพอดี พระองค์จึงแต่งอุบายให้จับอีกาตัวนั้นไว้ แล้วส่งเด็กทารกไปอยู่ใกล้อีกาจนสามารถรู้ภาษากันได้แล้ว เมื่อเด็กนั้นเติบโตขึ้น จึงเล่าตามอีกาบอกว่าในบริเวณสถานที่ทรงบังคลนั้น มีพระบรมธาตุฝังอยู่ พระองค์จึงทำพิธีขุด และได้พบพระธาตุจริงๆ จึงให้สถาปนาสวมพระธาตุนั้น ในสมัยนี้พุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมากมีการเรียนพระไตรปิฎกอย่างหลาย และมีการแต่งฉันท์ภาษามคธในรัชสำนักด้วย ในรัชสมัยพระเจ้าสรรพสิทธิ พระองค์ได้สละราชออกผนวชระยะหนึ่ง พุทธศาสนาแบบที่ใช้ภาษาบาลีนี้ได้หลายมาก่อนที่เราจะติดต่อกับลังกา

ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าเม็งรายกษัตริย์แห่งนครเงินยาง (เชียงแสนเก่า) ได้ทรงรวบรวมเผ่าไทยในอาณาจักรลานนาให้เป็นปึกแผ่น ทรงขับไล่อิทธิพลมอญออกไปจากลุ่มแม่น้ำปิง เมื่อตีหริภุญไชยได้โดยการยิงธนูไฟให้ใหม้เมืองแทบทั้งหมด แล้วเสด็จเข้าเมืองลำพูน ทอดพระเนตรเห็นสิ่งปรักหักพังเพราะเพลิงไหม้ ทอดพระเนตรวิหารไม้สักหลังหนึ่งที่วัดพระบรมธาตุ ไม่เป็นอันตายจึงทรงประหลาดใจ ภายหลังทรงทราบว่า วิหารนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของหริภุญไชย เช่นเดียวกับพระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปคู่เมืองของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันพระเสตังคมณีนี้ พระนางจามเทวีได้อัญเชิญมาจากลพบุรี

ต่อมาพระเจ้าเม็งรายได้ทรงสร้างเมืองใหม่ที่เชิงเขาสุเทวบรรพต (ดอยสุเทพ) บนฝั่งขวาของแม่น้ำปิง คือนวบุรี (ปัจจุบันคือ เชียงใหม่) ทรงเป็นปฐมกษัตริย์พระองค์แรกแห่งอาณาจักรลานนาไทย โปรดให้สถาปนาพระตำหนักเดิมขึ้นเป็นวัด ให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น เป็นที่ประดิษฐานพระเสตังคมณี อาณาจักรหริภุญไชยที่มอญตั้งขึ้น และครองมาประมาณ 6-7 ศตวรรษ มีกษัตริย์ปกครองกว่า 40 พระองค์ เป็นอันสิ้นสุดลง

พุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าเม็งรายเป็นแบบเถรวาทที่รับมาจากมอญศิลปกรรมจึงมีอิทธิพลทวาราวดีอยู่ นักโบราณคดีได้แบ่งสมัยพระพุทธรูปทางภาคเหนือเป็น2สมัยคือ

-เชียงแสนยุคต้น
-เชียงแสนยุคหลัง

เชียงแสนยุคต้น ทำแบบอย่างพระพุทธรูปอินเดีย สมัยราชวงศ์ปาละ ระหว่าง พ.ศ. 1273–1740 ครั้งนั้นมหาวิทยาลัยนาลันทากำลังรุ่งเรือง พระพุทธรูปรุ่นแรกมีพระองค์อ้วน พระรัศมีเป็นต่อมกลม นั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์มารวิชัย (พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาห้อยลงมาทางพระชานุขวา) พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือราวพระถัน พระพักตร์กลมสั้น พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุเป็นปม เส้นพระศกใหญ่เป็นต่อมกลม หรือเป็นก้นหอย ไม่มีไรพระศก ฐานมีบัวรองมีทั้งบัวหงายบัวคว่ำ มีกลีบแซม และมีเกษร

เชียงแสนยุคหลัง เป็นของไทยชาวลานนาและลานช้างทำตามอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยคือ พระรัศมีเป็นเปลว นั่งขัดสมาธิราบ ชายสังฆาฏิยาว เส้นพระศกละเอียด มีไรพระศก พระพุทธรูปยุคนี้เอาอย่างสุโขทัย แต่สุโขทัยเอาอย่างมาจากลังกา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย