ศาสนา
ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
การเดินทางของพุทธศาสนาสู่ประเทศไทย
พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
เส้นทางติดต่อระหว่างอินเดียกับสุวรรณภูมิ
พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ
พุทธศาสนาสมัยฟูนัน
พุทธศาสนาสมัยทวาราวดี
พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย
พุทธศาสนาสมัยลพบุรี
พุทธศาสนาสมัยลานนา
พุทธศาสนาลังกาวงศ์สู่ลานนา
พุทธศาสนาสมัยสุโขทัย
การปกครองคณะสงฆ์ และศิลปกรรม
พระมหาธรรมราชาลิไทกับพุทธศาสนา
พุทธศาสนาสมัยอยุธยา
พุทธศาสนาสมัยธนบุรี
พุทธศาสนาสมัยรัตนโกสินทร์
พุทธศาสนาสมัยรัตนโกสินทร์
รัชกาลที่ 1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ.
2325 ทรงย้ายพระนครจากฝั่งตะวันตกแห่งแม่น้ำเจ้าพระยามาอยู่ทางฝั่งตะวันออก
ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ไทยแห่งบรมราชจักรี
การวางผังเมืองนั้นได้ลอกแบบผังเมืองของกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด
รวมทั้งพระอารามทั้งหลาย มาใช้เป็นแบบในการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์
พระราชกรณีกิจที่พระองค์บำเพ็ญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาพอสรุปได้ดังนี้
1. สร้างพระอาราม คือ พระศรีรัตนศาสดาราม (พ.ศ. 2325)
เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ได้มาจาก เวียงจันทร์
วัดนี้ประสงค์จะให้แทนวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา ทรงให้เป็นพุทธวาส
ไม่มีพระสงฆ์อยู่ สร้างปราสาทพระเทพบิดร สร้างวัดสุทัศน์
ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามและที่สำคัญในสมัยนี้ คือ วัดพระเชตุพน (ชื่อ วัดโพธาราม
เดิมสร้างสมัยอยุธยา) และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
2. การรวบรวมพระพุทธรูปโบราณ ทรงรวบรวมพระพุทธรูปจำนวนพันกว่าองค์ (1,248
องค์) เฉพาะที่วัดพระเชตุพนแห่งเดียวทรงพระราชทานไว้ 200 กว่าองค์
ส่วนองค์พระศรีสรรเพชญ์นั้นถูกพม่าเผาลอกทองไป ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์แบบย่อไม้ 12
สูงเส้นเศษ บรรจุหุ่นพระศรีสรรเพชญ์ ทรงอัญเชิญพระโลกนาถ เป็นพระยืนสูง 5 วา
มาจากอยุธยา ประดิษฐานไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ นอกจากนี้ยังอัญเชิญพระศรีศากยมุนี
มาจากวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย ประดิษฐานไว้ที่วัดสุทัศน์
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ที่มีขนาดใหญ่โตมาก
4. ทรงสังคายนาพระไตรปิฎก ทรงโปรดให้พระเถระผู้ทรงคุณวุฒิทรงจำพระไตรปิฎก
จำนวน 218 รูป และฆราวาสที่เป็นราชบัณฑิตอีก 32 คน ประชุมทำสังคายนาพระไตรปิฎก ณ
วัดพระศรีสรรเพชญ์
(วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์) เมื่อ วันเพ็ญ เดือน 12 ปีวอก พ.ศ. 2331
เสร็จเมื่อเดือน 5 ปีระกา ทำอยู่ 5 เดือน และพระราชทานไปตามอารามต่างๆ
ในพระนคร-ธนบุรี และสร้างหอมณเฑียรธรรมขึ้นในวัดพระแก้ว เพื่อเก็บพระไตรปิฎก
ในครั้งนั้นสมเด็จพระวันรัตน์วัดพระเชตุพน ฯ ได้รจนาคัมภีร์ขึ้นเป็นอนุสรณ์
จัดเป็นการสังคายนาครั้งที่ 9 และจัดทำในประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 เรียก
ฉบับทองใหญ่ (ครั้งที่ 1 พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2020 ทำอยู่ 1
ปี เป็นการชำระตัวอักษรในพระไตรปิฎก)
5. ทรงออกกฏหมายคณะสงฆ์ เรียกในปัจจุบันว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (พ.ร.บ.
คณะสงฆ์) มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คณะสงฆ์ สะดวกในการปกครองสังฆมณฑล
นอกเหนือจากการปกครองคณะสงฆ์ มีด้วยกัน 10 ฉบับ ฉบับแรก พ.ศ. 2325 ฉบับที่2 เมื่อ
พ.ศ. 2944 ตัวอย่างกฎหมายมีดังนี้คือ
ห้ามพระเทศน์ตลกคะนอง
-ห้ามพระสงฆ์รับฝากสมบัติ หรือพัวพันกับสมบัติของฆราวาส
-วางโทษอย่างหนักสำหรับผู้ปกปิดอาบัติปาราชิก
-ห้ามภิกษุกินจุกจิก กินร่วมกับฆราวาส
6. จัดระเบียบสังคมสงฆ์ สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีสังฆราชที่สถาปนาขึ้น
ชื่อ ดี, ศรี, ชื่น ตามลำดับ 3 องค์ มาในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดสถาปนาสังฆราช
ศรีขึ้นเป็นสังฆราช และทรงถอดยศสังฆราชชื่นลงมา และทรงตั้งสมณศักดิ์พระรามัญ 3 รูป
คือ
1. พระมหาสุเมธาจารย์ )สุเมธาใหญ่)
2. พระไตรปีสรณธัช
3. พระสุเมธาจารย์ (สุเมธาน้อย)
7. ทรงปฏิบัติธรรม ทรงฝักใฝ่การศึกษาพุทธศาสนา และมีพระราชปุจฉากับพระเถระบ่อยๆ
ดังมีตัวอย่างพระราชปุจฉากับพระเถระ คือ
- พระราชปุจฉาเรื่องสมบัติของสงฆ์ เกี่ยวกับสมบัติของวัดที่ร้างลงไป
แล้วมีผู้อุทิศให้วัด
- พระราชปุจฉาเรื่องอานิสงส์แห่งการบำเพ็ญบุญเป็นลำดับชั้น เกี่ยวกับ ศีล ทาน ภาวนา
เป็นต้น.
รัชกาลที่ 2
เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสวยราชย์ใน พ.ศ. 2352 และได้พระนามว่า
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2310
ครองราชย์อยู่ 15 ปี เป็นพระราชโอรสของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
มีพระราชกรณีกิจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่พอสรุปได้ดังนี้
1. ส่งสมณทูตไปลังกา ได้เคยมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแต่ขาดตอน
เพราะภัยจากสงคราม
และให้พระศาสนวงศ์ไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุกับต้นโพธิลังกาเข้ามาถวาย เมื่อ พ.ศ.
2357 ต่อมาส่งคณะทูตเป็นพระสงฆ์จำนวน 9 รูป กลับมาเมื่อ พ.ศ. 2361
ได้อัญเชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ จำนวน 6 ต้นมาไทย สองต้นปลูกที่นครศรีธรรมราช
ต้นหนึ่งมีพระขอไปปลูก เหลืออีก 3 ต้นนำไปปลูกที่ วัดมหาธาตุ วัดสุทัศน์
วัดสระเกศแห่งละต้น
2. ทรงฟื้นฟูประเพณีวิสาขบูชา ได้เคยทำมาแล้วสมัยสุโขทัย
แต่ม่ขาดตอนสมัยอยุธยา เพราะภัยสงคราม
ทรงทราบว่าประเทศลังกามีพิธีวิสาขบูาใหญ่โตมาก จึงโปรดให้มีขึ้น
3. การปริยัติศึกษา แต่เดิมมีเพียงการสอนกำหนดไว้ 3 ชั้น คือ
บาเรียนตรี เรียนพระสูตร
บาเรียนโท เรียนพระสูตร-พระวินัย
บาเรียนเอก
เรียนพระสูตร-พระวินัย-พระอภิธรรม
ทรงเห็นว่าความรู้ของพระสงฆ์อาจจะไม่เพียงพอ จึงโปรดให้เปลี่ยนแปลงใหม่เป็น
9 ประโยค กำหนดหลักสูตรให้ยากขึ้นตามลำดับ ต้องสอบได้ 3 ประโยคจึงตะได้เป็นเปรียญ
(พระมหา) เมื่อสอบได้ 4 ประโยคก็เรียกว่าเปรียญ 4 ประโยค ต่อไปจนสอบได้ 9 ประโยค
เรียกว่าเปรียญ 9 ประโยค
นอกจากนี้ยังซ่อมแซมคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ยังไม่ครบในสมัยรัชกาลที่ 1
ทั้งยังสร้างขึ้นใหม่อีก 1 จบเรียกชื่อว่า ฉบับรดน้ำแดง
4. สังคายนาสวดมนต์
ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเทียบกับการทำสังคายนาครั้งรัชกาลที่ 1 ทีเดียว
โปรดให้แปลพระปริตรทั้งหลายออกมาเป็นภาษาไทย และให้ข้าราชกาลฝ่ายในฝึกหัดสวด
คือสวดเหมือนอย่างที่พระสวด ให้มีความชำนาญและออกเสียงอักขระพยัญชนะถูกต้อง
ท่วงทีทำนองชัดเจน เวลากลางคืนสวดพร้อมกันที่ท้องพระโรง
รัชกาลที่ 3
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 23672394)
เป็นรัชสมัยที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ทรงประสูติเมื่อ 31 มีนาคม 2330
ครองราชย์อยู่ 27 ปี ทรงก่อสร้างและบูรณะอารามต่างๆ มาก เช่น
1. การสร้างพระพุทธรูปต่างๆ ได้แก่
พระพุทธอนันตคุณ วัดราชดฮรส
พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ วัดสุทัศน์
(เป็นพระพุทธรุปใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์)
พระเสรฐมุนี วัดราชนัดดา
พระพุทธมหาโลกาภินันท์ วัดเฉลิมพระเกียรติ
พระพุทธไตรรัตนนายก ชาวบ้านเรียกว่า
หลวงพ่อโต อยู่วิหารวัดกัลยาณมิตร
นับว่าเป็นพระปางมารวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ชาวจีนให้ความเคารพมาก
พระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระปางไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
และอีกองค์หนึ่งสร้างไว้ที่วิหารวัดราชโอรส
ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ มีการสร้างรูปพระโพธิสัตว์ทั้ง 550 ชาติ
มาสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงรังเกียจ โปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ตรวจค้นคัมภีร์เรื่องพุทธประวัติ เลือกพระอริยาบถต่างๆ แล้วสร้างรวมถึง 40 ปาง
ประดิษฐานไว้ที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
2. ทรงสร้างวัดจอมทอง คือวัดราชโอรส เป็นศีลปะแบบจีนที่สวยงามมาก
โปรดให้ปั้นประดับกระเบื้องเคลือบ และเป็นที่นิยมต่อมาถึงปัจจุบัน สร้างเจดีย์สถาน
โดยให้แปลงสถูปที่ร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2
ที่วัดอรุณราชวรารามเป็นปรางค์สูงเส้นเศษ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ
ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ทรงสร้างเจดีย์ 2 องค์ อุทิศพระราชบิดา
และสำหรับพระองค์เององค์หนึ่ง พร้อมทั้งให้ประชุมกวีช่างหลวงแผนกต่างๆ
หมอหลวงแต่งตำรา โคลงฉันท์ กาพย์ กลอน ตำรายา สมุนไพร ตำราเล่นแร่แปรธาตุ
ทำเป็นแผ่นศิลาประดับไว้ตามวิหารและศาลาสำหรับประชาชนได้ศึกษา
สร้างเจดีย์ที่วัดสระเกศ คือ เจดีย์ภูเขาทอง สร้างวัดเทพธิดา วัดราชนัดดา
สร้างโลหะปราสาท
กวีในยุคนี้คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในตำนานพระพุทธเจดีย์(หน้า 206) ความว่า
วัดและหนังสือฝ่ายพระศาสนาในกรุงเทพฯ นี้ นับว่าเกิดในรัชกาลที่ 3
มากกว่ารัชกาลอื่นแต่ก่อนมา
3. กำเนิดธรรมยุติกนิกาย พระราชโอรสองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 2 คือเจ้าฟ้ามงกุฏ
ออกผนวชเมื่อ พ.ศ. 2367 ได้รับพระฉายาว่า วชิรญาโณ เดิมจะทรงผนวชเพียง 1 เดือน
ประทับที่วัดมหาธาตุ 3 วัน แล้วเสด็จประทับที่วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาส)
ทรงปฏิบัติพระกรรมฐาน ทรงผนวชได้ 15 วัน พระราชบิดาก็สวรรคต
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นเสวยราชย์ พระองค์จึงยังไม่สึกออกไป
และเสด็จกลับมาอยู่ที่วัดมหาธาตุอีก ทรงศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน
ทรงเห็นว่าคณะสงฆ์ในตอนนั้นประพฤติย่อหย่อนทางการปฏิบัติ
และทรงเห็นว่าพระมอญปฏิบัติเคร่งจึงเสด็จไปศึกษากับพระมอญ ชื่อพระสุเมธมุนี
วัดบวรมงคล ฉายา พุทฺธวํโส เดิมนั้นบวชมาจากเมืองมอญ
สมัยนั้นพระบาทสมเด็จพระเมื่อรัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์แล้ว
ได้แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ ต่อมาจึงเชิญ วชิรญาโรภิกขุมาครองวัดบวรนิเวศน์
พระวชิรญาโณได้ทรงวางระเบียบคณะธรรมยุตขึ้น ทรงเป็นอุปัชฌาย์เสียเอง
ตอนนั้นยังพรรษาไม่ถึง 10 และพระองค์แปลงเป็นธรรมยุตเมื่อ พ.ศ. 2370 ที่วัดสมอราย
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นทำให้สงฆ์แตกออกเป็น 2 นิกาย คือ คณะสงฆ์ไทยเดิมเรียกว่า
มหานิกาย ส่วนคณะสงฆ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เรียกว่า ธรรมยุติกนิกาย สืบมา
ครั้งนั้นพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายห่มผ้าแบบพระมอญ ก่อนปลายสมัยรัชกาลที่ 3
เปลี่ยนมาห่มแบบมหานิกาย เมื่อรัชกาลที่ 3 สวรรคตแล้ว พระวชิรญาโณ
เสด็จลาผนวชขึ้นครองราชย์ พระสงฆ์ก็ขอกลับไปแบบมอญอีก
รัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ) ประสูติเมื่อ 18
ตุลาคม 2347 ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนม์ได้ 47 พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ 7 เดือน
และผนวชเป็นภิกษุเมื่อ พ.ศ. 2367 พระชนมายุได้ 21 พรรษา ทรงผนวชอยู่ 27 ปี
ทรงลาผนวชมาครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ. 2394 ขณะที่ทรงผนวช
ทรงเอาพระทัยใส่ในการพิทักษ์คุ้มครองโบราณวัตถุ เช่น
เมื่อเสด็จธุดงค์ไปถึงเมืองสุโขทัย ทรงพบพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ของพ่อขุนรามคำแหง
จึงอัญเชิญมาไว้ที่วัดบวรนิเวศน์ ทรงเป็นคนแรกที่อ่านศิลาจารึกนั้น
ทรงเป็นคนแรกที่อ่านจารึกคาถา เย ธมฺมา ฯ อักษรคฤนถ์
และวินิฉัยว่าที่นั่นเป็นจุดเริ่มแรกที่พุทธศาสนาแผ่มาถึง
ข้อนี้แสดงถึงความเป็นนักโบราณคดีของพระองค์
ทรงศึกษาสันสกฤตกับพราหมณ์ที่มาจากอินเดีย ภาษาลาตินจากบาทหลวง
และภาษาอังกฤษกับบาทหลวงอเมริกัน
ปรากฏว่าเป็นกษัตริย์เอเซียพระองค์แรกทีรู้ภาษาอังกฤษจนสาามารถตรัสได้
แต่งจดหมายได้
ทรงเป็นกษัตริย์ที่รอบรู้พระไตรปิฎกกว่ากษัตริย์พระองค์ใดในรัชวงศ์จักรี
งานที่ทรงสร้างไว้ในพุทธศาสนา พอสรุปได้ดังนี้
1. สร้างอารามหลวง 5 แห่งคือ
-วัดบรมนิวาส สร้างครั้งยังทรงผนวช เพื่อเป็นที่ประทับพระอริยาบถ
(เดิมชื่อวัดนอก)
-วัดโสมนัสวิหาร พ.ศ.
2396อุทิศพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี
-วัดปทุมวนาราม พ.ศ. 2400
พระราชทานเป็นวัดแด่สมเด็จพระเทพสิรินทราบรมราชินี
-วัดราชประดิษฐ์สถิตย์มหาสีมาราม พ.ศ. 2407 อุทิศเพื่อคณะสงฆ์ธรรมยุต
ซึ่งเป็นศิษย์ของพระองค์
-วัดมกุฏกษัตริยาราม พ.ศ. 2403
2. ประเพณีมาฆบูชา ทรงเห็นว่าวันเพ็ญเดือน 3
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา
คือโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางมหาสันนิบาติ พระอรหันต์ 1250 นั้นมีความสำคัญมากวันหนึ่ง
จึงโปรดให้มีขึ้นที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. 2394
ทรงกำหนดให้ราชการถือเป็นวันสำคัญมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
และเรียกวันดังกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า วันจตุรงคสันนิบาต
3. ทรงวางพระองค์เป็นกลางในเรื่องลัทธินิกายแห่งศาสนา
แม้พระองค์จะนับถือธรรมยุติกนิกาย แต่เมื่อเสวยราชย์แล้ว
ทรงไม่บีบบังคับการนับถือนิกายอื่นแล้วแต่ผู้ใดศรัทธาก็ให้นับถือตามที่ตนเองชอบใจ
เพื่อให้เห็นว่าทรงเป็นกลางในราชพิธีหลวงทั้งปวง จึงโปรดให้นิมนต์พระทั้ง 2
นิกายรวมกันเสมอมีฐานะเท่าเทียมกันเสมอมาจนตราบเท่าในปัจจุบัน
4. ทรงบำรุงพุทธศาสนามหายาน ลัทธิมหายานได้เสื่อมจากประเทศไทยเป็นเวลานาน
ครั้งทรงผนวชรู้จักพระภิกษุญวนบางรูป เช่น องค์ฮึง
หรือพระครูสมณานัมคณาจารย์วัดอภัยบำรุง
เมื่อเสวยราชย์ทรงนิมนต์พระญวนมาทำพิธีกงเต็กเจ้านายสำคัญ
ต่อมาพวกญวนมาสร้างบ้านเรือนอยู่แถวริมคลองผดุงกรุงเกษม
ได้สร้างวัดขึ้นทรงพระราชทานนามว่า วัดสมณานัมบริหาร (วัดญวนสะพานขาวในปัจจุบัน)
รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าหัว หรือ พระปิยมหาราช ประสูติเมื่อ
วันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือน 10 ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 (ร.ศ.72)
เมื่อพระชันษาเพียง 16 พรรษา ต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พอพระชันษาครบ 20
พรรษาจึงเสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาดาราม
มูลเหตุแห่งการออกผนวช สันนิฐานได้ 2 ประการ คือ
1. เพื่อทรงอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ
2. เพื่ออนุวัตตามประเพณีนิยมของไทย
แต่บางท่านให้ข้อคิดว่า การออกผนวชเป็นพระราชกุศโลบายในเวลานั้น
ประชาชนทั้งประเทศยอมรับว่า อำนาจการปกครองแผ่นดิน
ตกอยู่กับสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
การที่พระองค์จะขอให้ผู้สำเร็จราชการมอบอำนาจถวาย ดูเป็นการไม่สมควร
แต่เมื่อบรรลุนิติภาวะได้ผนวชแล้ว
ผู้สำเร็จราชการคงมอบอำนาจการปกครองแผ่นดินให้แน่และเป็นพิธีที่นุ่มนวล
ดังนั้นพระองค์จึงลาผนวชแล้ว ก็ได้มีพิธีบรมราชาภิเษกใหม่อีกครั้ง
ซึ่งเป็นไปตามที่พระองค์ทรงคาดไว้ พระราชกรณีกิจที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พอสรุปได้
คือ
1. ทรงวางแนวการปกครองคณะสงฆ์
โดยทรงกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ขึ้น
นับเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ที่ตรากฏหมายเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ตรงกับ พ.ศ. 2446
เวลานั้นไทยมีพระอยู่ 3 นิกายคือ
-มหานิกาย คือ คณะสงฆ์ไทยเดิม
-ธรรมยุติกนิกาย คือ คณะสงฆ์ที่สืบมาจากพระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ)
ครั้งราชการที่ 3
-รามัญนิกาย คือ คณะสงฆ์ที่สืบมาจากประเทศรามัญ
ทุกนิกายที่กล่าวนี้รวมเป็นนิกายฝ่ายใต้ คือ เถรวาท หรือ หินยาน
และมีนิกายฝ่ายเหนืออยู่อีก 2 นิกายคือ อานัมนิกาย (ญวน) และจีนนิกาย
ทั้งสองนิกายนี้เป็นมหายาน การปกครองคณะสงฆ์ครั้งสมัยรัชการที่ 5 แบ่งเป็น 4 คณะคือ
- คณะเหนือ
- คณะใต้
- คณะกลาง
- คณะธรรมยุต
ด้วยการที่ต้องการให้เป็นสงฆ์มณฑล โปรดตราพระราชบัญญัติ การปกครองคณะสงฆ์
ร.ศ. 121 มีทั้งหมด 45 มาตรา (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 29 หน้า 214 ร.ศ. 121)
2. การสร้างและบูรณะวัด ในกรุงเทพฯ
กษัตริย์ไทยทุกพระองค์ล้วนมีวัดประจำราชการ เช่น
รัชการที่ 1 ได้แก่ วัดพระเชตุพน
รัชการที่ 2 ได้แก่ วัดอรุณ
รัชการที่ 3 ได้แก่ วัดราชโอรส
รัชการที่ 4 ได้แก่ วัดราชประดิษฐ์
รัชการที่ 5 ได้แก่ วัดราชบพิธ
นอกจากนี้ยังมีวัดเทพศิรินทราวาส สร้างอุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระเทพ
ศิรินทราบรมราชชนนี และวัดเบญจมบพิตร (วัดไทรทอง) ต่อมามีเจ้านาย 5
พระองค์ร่วมกันปฏิสังขรณ์ ครั้นถึงรัชการที่ 4 จึงถวายพระนามว่า วัดเบญจมบพิตร
ซึ่งหมายถึงเจ้านาย 5 พระองค์ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์ มาถึงรัชการที่ 5
ทรงให้รื้อแล้วสร้างใหม่หมด เมื่อ พ.ศ. 2442 พระราชทานนามใหม่ว่า
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ซึ่งตัวพระอุโบสถสร้างด้วยหินอ่อนจากอิตาลี
ฝรั่งเรียกวัดนี้ว่า วัดหินอ่อน (Marble-Temple)
และทรงหล่อจำลองพระพุทธชินราชจากเมืองพิษณุโลกมาไว้เมื่อ พ.ศ.2444
ส่วนทางหัวเมืองทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ วัดอัษฎางคนิมิตร
วัดจุฑาทิศราชธรรมสภา รวมทั้งองค์พระปฐมเจดีย์ด้วย
3. ให้บรรจุพระบรมสาริกธาตุ ที่เจดีย์ภูเขาทองวัดสระเกศ เมื่อ พ.ศ. 2441
ที่ขุดพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ ประเทศอินเดีย มีประเทศที่นับถือ คือ ญี่ปุ่น พม่า
ลังกา ต่างต้องการพระองค์จึงแบ่งให้กับประเทศเหล่านี้ด้วย
4. สร้างพระไตรปิฎก เมื่อ พ.ศ. 2431 ทรงสร้างพระไตรปิฎกที่มีอยู่ในประเทศ
เวลานั้นยังเป็นอักษรขอมอยู่ในใบลาน
จึงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
และพระเถระช่วยกันชำระและถ่ายทอดตัวอักษรขอมเป็นไทย แล้วพิมพ์ เป็นเล่มหนังสือ
จำนวน 39 เล่ม พิมพ์ 1,000 ชุดแล้วพระราชทานไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กล่าวได้ว่า ไทยเป็นประเทศแรกที่พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือ
5. ให้วัดเป็นโรงเรียน โปรดให้พระราชาคณะ และพระครูฐานานุกรมทั้งหลาย
เปรียญอันดับ สอนพระเณรและศิษย์วัด โดยพ่อแม่ได้นำลูกไปฝากเรียนที่วัด
เพราะเล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อศาสนา
ถ้าเป็นคฤหัสถ์จะเป็นกำลังแก่ทางราชการ
6. ทรงวางริเริ่มให้มีมหาวิทยาลัย พระองค์เคยเสด็จประภาสยุโรป
ทรงเห็นการศึกษาของพระทางศาสนาคริสต์ มีการศึกษาชั้นสูง จึงมีพรระประสงค์
ต้องการให้พระไทยมีการศึกษาที่สูงบ้าง จึงทรงสถาปนามหาธาตุวิทยาลัยขึ้น เมื่อ พ.ศ.
2432 ต่อมา พ.ศ. 2439 พระองค์จึงทรงพระราชทานนามว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เพื่อให้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นสูง และในปี พ.ศ. 2436
โปรดให้เปิดอีกแห่งหนึ่งที่วัดบวรนิเวศน์ พระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย
เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้ง 2
สถาบันนี้ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นมหาวิทยาลัย ตอนนั้นยังไม่ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2489 มหามกุฎราชวิทยาลัย เปิดการสอนระดับมหาวิทยาลัยขึ้น และ พ.ศ.
2490 มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงเปิดเช่นกัน การสร้างมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ทรงสร้างอาคารหลังยาวข้างสนามหลวง เพื่อเป็นที่เชิญพระศพพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฏราชกุมาร มาประดิษฐานบำเพ็ญพระราชกุศล ณ ท้องสนามหลวง
ต่อมาจึงทรงอุทิศถวายอาคารนี้แก่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เมื่อถึงรัชการที 6
ทรงเห็นว่าคณะสงฆ์ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะจัดทำเป็นสถานศึกษาชั้นสูง
จึงทรงให้ใช้เป็นหอสมมุดแห่งชาติสืบมา
(ปัจจุบันเป็นที่ทำงานของราชบัณฑิตสถานและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
เพราะหอสมุดแห่งชาติได้ย้ายไปอยู่ที่ท่าวาสุกรีแล้ว) และในรัชสมัยรัชการที่ 6
นั้นโปรดให้ยกโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2459
พระราชทานนามว่า จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ดังปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้
รัชการที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโอรสองค์ที่ 29
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติวันเสาร์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่
ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม 2423
ทรงพระนามว่าสมเด็จเจ้าฟ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
ทรงเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ของไทย จนได้รับการเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
ทรงงานราชนิพนธ์ไว้ เช่น เรื่องเทศนาเสือป่า
อีกทั้งพระองค์ยังเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ทำพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามากะ
โดยตามประเพณี พระกุมารทุกองค์ต้องผนวชเป็นสามเณรวิธีการคือ
ให้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ รับไตรสรณคม คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
จากนั้นก็ทรงรับศีล 5 และธรรมจริยาอื่นๆ
ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้นำเอาพิธีนี้ไปปฏิบัติ
คือนำเด็กเข้าแสดงตนเป็นพุทธมามกะทุกปี
ในรัชการของพระองค์ทรงมีพระราชนิยมในการศึกษาและสร้างโรงเรียน
ดังทรงมีพระราชกรณียกิจ พอสังเขป คือ
1. สร้างโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
2. พระเณรได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร
ทางราชการได้ประกาศ พ.ร.บ. เกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2448 ว่าบรรดาชายร่างกายสมบูรณ์
ต้องเป็นทหารรับใช้ชาติ ยกเว้นพระภิกษุเท่านั้น
เพราะถือว่าได้สละผลประโยชน์ทางโลกและช่วยพัฒนาจิตใจประชาชนอยู่แล้ว
ดังนั้นมหาเถรสมาคม ประชุมกันและอนุมัติหลักสูตรการเรียนคือ มีความรู้ด้านธรรม
รู้หลักการเขียน การเรียงความแก้กระทู้ธรรม ต่อมาได้กลายเป็นหลักสูตรนักธรรมตรี โท
เอก ในรัชการนี้อีกทั้งการเรียนบาลีก็ยังมีเรียนกันอยู่ ปี พ.ศ.2459
จึงได้มีประกาศห้ามสามเณรที่อายุต่ำกว่า 19 ปี สอบนักธรรม
เพราะว่ามีสามเณรสอบกันมาก แม้จะสอบได้แต่ก็รับประกาศนียบัตรไม่ได้
เพราะยังไม่ได้บวชเป็นพระ และทางราชการก็กำหนดอายุผู้จะเกณฑ์ทหารเป็น 21 ปี
และยกเว้นสามเณรผู้สอบบาลี แม้อายุไม่ครบ 19 ปี ก็อนุญาตให้สอบ
รัชการที่ 7
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช
หรือกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา) ประสูติเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง
ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436
เป็นโอรสองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468
ในรัชการของพระองค์นี้เป็นสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านการเมือง
การเศรษฐกิจและการศึกษา มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งคือ นายนรินทร์ กลึง
ได้บวชลูกสาวเป็นสามเณร ณ วัดนารีย์วงศ์ นนทบุรี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
จึงได้ประกาศห้าม ซึ่งสรุปความในประกาศได้ว่า
หญิงซึ่งจักได้สมมติตนเป็นสามเณรีโดยถูกต้องตามพุทธานุญาตได้นั้น
ต้องสำเร็จด้วยนางภิกษุณีผู้มีพรรษา 12 ล่วงแล้ว เป็นปวัตตินี (อุปัชฌาย์)
ไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นอุปัชฌาย์ นางภิกษุณีก็สูญไปนานแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้สามเณรีผู้บวชจากภิกษุก็เป็นไปไม่ได้ ผู้ใดให้บรรชา
ถือว่าผิดพุทธบัญญัติ ห้ามบวชหญิงเป็นภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี ตั้งแต่บัดนี้
(พ.ศ. 2471)
พ.ศ. 2472 อนุญาตให้คฤหัสถ์ เข้าสอบไล่นักธรรมชั้นตรี ร่วมกับพระเณร
เนื่องจากการได้รวมเอาการศึกษาฝ่ายศาสนาและบ้านเมืองเข้าด้วยกัน ในกระทรวงธรรมการ
และโปรดให้พระสงฆ์ร่วมมือกันจัดการสอนจรรยาในโรงเรียนรัฐบาล
และในปีเดียวกันนั้นเองก็อนุญาตให้สตรีเข้าสอบนักธรรมร่วมกับพระเณร
โดยเปลี่ยนหลักสูตรเพียงเล็กน้อย เอาวินัยออกเพิ่มเบญจศีล
เบญจธรรมกับอุโบสถศีลเข้าไป เรียกการศึกษานี้ว่า ธรรมศึกษาตรี
พ.ศ. 2473 ก็อนุญาตให้ชายหญิงเข้าสอบ ธรรมศึกษาโท และในปี พ.ศ. 2478
จึงอนุญาตให้สอบ ธรรมศึกษาเอกแต่ย้อนขึ้นไปเมื่อ พ.ศ. 2471
ได้มีระเบียบกระทรวงธรรมการว่า ใครสอบนักธรรมชั้นตรีได้
ให้ถือเป็นวิชาเลือกขุดหนึ่งสำหรับการเลื่อนวิทยฐานะ
จึงทำให้ครูและพระที่สอบวิชาครูได้ประโยชน์
อนึ่ง เกี่ยวกับการศึกษาทางด้านบาลี โดยเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเล็กน้อย
คือมีคนต่างชาติเข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้น
ต้องการให้พระภิกษุได้อธิบายธรรมวินัยให้ชาวต่างชาติรู้เรื่อง
จึงเพิ่มวิชาภาษาอังกฤษเข้าเป็นวิชาปุรภาคในชั้น ป.ธ. 6
โดยวิชานี้ใครต้องการสอบให้ขวนขวายหาเรียนเอง กำหนดการสอบดังนี้
- เขียนอักษรหวัด
- แปลงอังกฤษเป็นไทย
- อ่านฟังสำเนียงอย่างละ 10 บรรทัด
พ.ศ. 2475 ให้เพิ่มวิชาแปลไทยเป็นอังกฤษเข้าไป
นับว่าการศึกษาภาษาอังกฤษได้เริ่มมีแต่นั้น
นอกจากนี้ยังมีพระราชกรณีกิจเกี่ยวกับพุทธศาสนา เช่น
ทรงให้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ (ฉบับของประเทศสยาม) เป็นจำนวน 45 เล่ม
โดยมีตราช้างเป็นเครื่องหมายอยู่หน้าปกทุกเล่ม
ได้อาราธนาพระวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเป็นประธานในการสอบชำระ
รัชการที่ 8
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงเป็นโอรสองค์ที่ 2
ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์กับหม่อมสังวาลย์ ตละภัฏ
คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในปัจจุบัน ประสูติเมื่อ 20 กันยายน พ.ศ. 2468
(ปีเดียวกับที่รัชการที่ 7 ขึ้นเสวยราชย์) พระราชกรณีกิจที่ทรงกระทำ พอสังเขป คือ
1. เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ได้ทรงเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ร.ศ.
121 ซึ่งใช้ปกครองคณะสงฆ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
มาเป็นการปกครองแบบสังฆสภามีสังฆนายก สังฆนมตรีเป็นผู้บริหารงานคณะสงฆ์
ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2484 โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่พูดถึงนิกายใดๆ เลย
จึงนับว่าเป็นฉบับประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
2. การแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย มีการชำระพระไตรปิฎกหลายครั้ง
คือสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ 5 และที่ 7 แต่ยังไม่เคยแปลเป็นภาษาไทยให้หมดทุกปิฎก
พระไตรปิฎกคงใช้ภาษาบาลีตลอดมา จนถึง พ.ศ. 2483 คือสมเด็จพระสังฆราช (ติสฺสเทว แพ)
วัดสุทัศนเทพวรารามพร้อมด้วยคณะรัฐบาลร่วมมือกันกระทำจนสำเร็จ ทำอยู่นานถึง 12 ปี
คือเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2495 จำนวน 80 เล่ม และจัดพิมพ์ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ(ตรงกับพ.ศ.
2500) พิมพ์จำนวนทั้งสิ้น 2,500 ชุด นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ถึง 2,500รูป
และคณะรัฐบาลได้อุทิศที่ดินแปลงใหญ่ที่ตำบล ศาลายา อำเภอ นครชัยศรี
จังหวัดนครปฐมให้เป็นพุทธมณฑล
3. สร้างวัด คือวัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขน) โดยคณะรัฐบาลมีจอมพล ป.
พิบูลสงคราม เป็นนายกสมัยนั้น และมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้พระสงฆ์ 2
นิกายได้อยู่ร่วมกัน โดยคัดเลือกพระจากวัดต่างๆ จำนวน 24 รูป นิกายละ 12 รูป
แต่ไม่นานนักฝ่ายธรรมยุติกนิกายก็ได้ครองวัดสืบต่อมา
รัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประสูติเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม
พ.ศ. 2470 ณ เมืองแคมบริดจ์ รัฐแมสซาซูเสตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
เสด็จครองราชย์สมบัติเมื่อ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระชนมายุได้ 19 พรรษา
ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระชนมายุยาวนานที่สุดของราชวงศ์จักรี
พระราชกรณีกิจที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา พอสังเขปดังนี้คือ
1. มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งนี้ตั้งขึ้นแล้วเมื่อ
สมัยรัชกาลที่ 5 คือ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ณ วัดบวรนิเวศน์ เมื่อพ.ศ.2489
และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อพ.ศ. 2490
เพิ่งจะมีการสอนจริงจังในรัชกาลนี้เอง โดย 2
มหาวิทยาลัยนี้ให้ความรู้อย่างทันสมัยแก่พระภิกษุสามเณรควบคู่ไปกับความรู้ทางพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ
ทำให้พระภิกษุมีความรู้ที่ทันสมัย เหมาะแก่การเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน
2. โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
โรงเรียนประเภทนี้มีขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศซีรอน โดยนายทหารอเมริกันชื่อ Henry
Steel Ollcot ได้เปิดการสอนในวันอาทิตย์ เพื่อฝึกเด็กชาวพุทธ
ให้มีความรู้แข่งกับศาสนาคริสต์ ซึ่งชอบลังแกชาวพุทธในซีรอน
ต่อมา พ.ศ. 2501 มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ
จึงทำการเปิดโรงเรียนประเภทนี้ขึ้น และต่อมาก็กระจายไปตามวัดและสถาบันต่างๆ
ครูที่สอนล้วนเป็นพระไม่ต้องจ่ายเงินเดือน
นับว่าช่วยประเทศชาติในด้านพุทธศาสนามากทีเดียว
3.การเผยแผ่พุทธศาสนาไปยังต่างประเทศ โดยสมณทูต
เหตุเพราะเกิดการสอนปฏิบัติวิปัสสนาในประเทศไทย โดยพระพิมลธรรม (อาจ)
อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ ครั้งเป็นสังฆมนตรีปกครอง และพระมหาโชดก ป.ธ. 9
ซึ่งไปอบรมมาจากพม่าเป็นครูสอน แล้วค่อยๆ ขยายสาขาไปตามเมืองด้วย เมื่อ พ.ศ. 2494
ได้มีคนต่างชาติที่เลื่อมใสมาอบรมและปฏิบัติวิปัสสนาที่วัดมหาธาตุเป็นจำนวนมาก
บางท่านอุปสมบทในไทย เทศน์ สวด เป็นภาษาไทยได้ ท่านเหล่านั้นมาจาก เยอรมัน อังกฤษ
แคนาดา ญี่ปุ่น อเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ และเวียดนาม เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2499 พระชาวแคนาดารูปหนึ่งชื่อ อานันทโพธิ
สำเร็จปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ มาฝึกวิปัสสนาอยู่ 2 ปี
จากนั้นได้เดินทางไปอังกฤษ เปิดสอนวิปัสสนาขึ้นที่ลอนดอน
ได้พยายามอาราธนาพระสงฆ์ไทยให้ไปสอนวิปัสสนาที่อังกฤษถึง 2 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ
จนกระทั่งครั้งที่ 3 จึงติดต่อรัฐบาลไทยขออาราธนาพระราชสิทธิมุนี
พร้อมผู้ติดตามคือพระมหาวิจิตร ติสฺสทตฺโต ออกเดินทางเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.
2507โดยคณะทูตนี้รับมอบหมายงานที่ต้องทำ 3 ประการคือ
1. เผยพุทธศาสนาในภาคพื้นยุโรป
2. สงเคราะห์คนไทยที่อยู่ในอังกฤษ
3. ดำเนินการสร้างวัดในอังกฤษ
และในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ต่อมาไม่นานนัก
สมณทูตคณะนี้ได้ใช้วิริยะและความพยายามอย่างแรงกล้า
จึงสามารถสร้างวัดไทยในประเทศอังกฤษได้สำเร็จเป็นวัดแรกชื่อว่า วัดพุทธประทีป
นอกจากนี้ยังมีวัดไทยที่สร้างขึ้นจำนวนหลายวัดในต่างประเทศ เป็นต้น.
4. งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ การแปลพระไตรปิฎกนั้นได้เริ่มในรัชกาลที่ 8
และมาเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 9 และรัฐบาลต้องพิมพ์ให้เสร็จเพื่อเป็นพุทธบูชาในงานฉลอง
25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2500 โดยนิมนต์พระสงฆ์ 2500รูป
สวดพระพุทธมนต์ที่ปะรำพิธีท้องสนามหลวงเป็นเวลา 3 วัน เรียกงานฉลองนี้ว่า ฉลอง
25พุทธศตวรรษ
5. ก่อตั้งยุวพุทธิกสมาคม ประมาณ พ.ศ. 2493 มีการเคลื่อนไหวของพุทธเยาวชน
โดยหันมาศึกษาและปฏิบัติธรรมมากขึ้น เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่วัดกันมาตุยาราม
ถนนเยาวราช มีนิสิตนักศึกษาและประชาชน
มาชุมนุมฟังธรรมเทศนากันมากทั้งในวันพระและวันอาทิตย์ เพราะพอใจในวิธีแสดงธรรม
อธิบายธรรมอย่างทันสมัยของท่านเจ้าอาวาสคือ พระศรีวิสุทธิญาณ (สุชีโว ภิกขุ)
จนได้เห็นคุณค่าของศาสนา และต้องการเผยแผ่พุทธธรรมไปสู่ชาวโลก
เหตุนี้จึงมีการตั้งยุวพุทธิกสมาคมขึ้นเป็นแห่งแรกที่วัดกันตุยารามแล้วค่อยๆ
ขยายออกไป ทุกวันนี้มรทุกจังหวัดทั่วประเทศ
หลัง พ.ศ. 2500 คือ พ.ศ.2501 ได้มีกระบวนการใหม่ทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นอีก
ได้แก่โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เริ่มตั้งขึ้นที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
วัดมหาธาตุก่อน
ต่อมาสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยก็เปิดดำเนินกาสอนที่วัดบวรนิเวศน์เมื่อ พ.ศ.
2504 ตั้งแต่นั้นก็มีนิสิตนักศึกษา และประชาชนไปเรียนกันจนถึงปัจจุบัน
จึงกล่าวได้ว่า โรงเรียนพุทธศาสนาเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งนี้
6.วัดไทยในต่างประเทศ
รัฐบาลไทยและคณะสงฆ์ไทยได้สร้างวัดไทยขึ้นในต่างประเทศ เช่น ประเทศอินเดีย อังกฤษ
อเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น วัดเหล่านี้มีพระสงฆ์ไทยอยู่ประจำ
และวัดไทยในลอนดอนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ รัชกาลที่ 9
ได้พระราชทานพระนามว่า วัดพุทธประทีปได้เปิดเป็นวัดไทยเป็นทางการเมื่อวันที่ 1
สิงหาคม พ.ศ. 2509
บรรณานุกรม
- ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียและประเทศไทย. วศิน อินทสระ, สำนักพิมพ์บรรณาคาร กรุงเทพฯ: 2535
- อิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียในเอเซียอาคเนย์. ผศ. สิริวัฒน์ คำวันสา.สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, กรุงเทพฯ: 2522
- พระพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์ไทย. เสทื้อน. พระนคร: คลังวิทยา, 2505.
- ประวัติศาสตร์-โบราณคดีและพระพิมพ์สมัยศรีวิชัย ลพบุรี ขอม และอู่ทอง. พระนคร: วิทยา, 2512.
- แหลมอินโดจีนสมัยโบราณ. เสถียรโกเศศ, สำนักพิมพ์บรรณาคาร, กรุงเทพฯ: 2515.
- ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ภาค 2. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,กรุงเทพฯ. 2540.
- พระ กฤษดา ธมฺมโหสโก