ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

นิกายในศาสนาคริสต์

นิกายโรมันคาทอลิก (Roman Catholic)
นิกายออร์ธอด็อกซ์ (Orthodox)
นิกายโปรเตสแตนด์ (Protestantism)
นิกายต่าง ๆ ในโปรเตสแตนด์
การเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย
การเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย

นิกายโปรเตสแตนด์ (Protestantism)

      นิกายนี้มีกำเนิดมาจากความคิดเห็นที่แตกแยกกันในเรื่องความเชื่อและชีวิต คริสตชน โดยเรียกพวกที่ไม่ใช่คาทอลิค หรือออร์ธอด็อกซ์ว่า "โปรเตสแตนด์" (Protestant) ซึ่งแปลว่า "ประท้วง"

อาจารย์เสรี พงศ์พิศ (2531 : 71-74) ได้กล่าวถึงนิกายนี้ว่า เป็นกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากพระศาสนจักร คาทอลิคประมาณศตวรรษที่ 14-15 โดยเริ่มจากกลุ่มใหญ่ที่มีการเคลื่อนไหวอย่าง ต่อเนื่อง กลุ่มเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อนิกายเล็ก ๆ ในภายหลัง กลุ่มที่เป็นตัวเคลื่อนไหวนี้มี 3 กลุ่ม คือนิกายลูเธอรัน (Luthheran) ผู้นำคนสำคัญ คือ มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1483 - 1546 เกิดที่แซกซอนมี (Saxony) ประเทศเยอรมันได้รับการศึกษาสูงจนจบปริญญาเอกและได้ศึกษาเทวศาสตร์เกิดสถาบันต่าง ๆ จากนั้นได้เข้าสู่ชีวิตนักบวชและแสวงบุญที่กรุงโรมทำให้เห็นสภาพต่าง ๆ ในศาสนจักร ต่อมาท่านได้ตีความพระคัมภีร์ไบเบิล และวิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาศาสนาของยุคกลาง ความคิดเลยต่อเนื่องมาวิจารณ์พระศาสนจักรซึ่งในขณะนั้นมีการขายใบบุญกันมาก ความคิดของมาร์ติน ลูเธอร์ ได้รับการสนับสนุนจากมหาชนเยอรมันเป็นจำนวนมาก แล้วแพร่หลายออกไปทั่วยุโรป ทำให้พระสันตะปาปาไม่พอพระทัย มาร์ติน ลูเธอร์ รับหมายขับออกจากการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร (excommunication) ในปี ค.ศ. 1521 ตรงจุดนี้ได้นำไปสู่การแตกแยกเป็นนิกายใหม่ในเวลาต่อมา ชีวิตของลูเธอร์ในระยะนี้ต้องหลบลี้ตลอดเวลา แต่ก็ทำให้ท่านมีเวลาแปลพันธสัญญาใหม่เป็นภาษาเยอรมัน และได้เขียนเกี่ยวกับพิธีกรรมรวมทั้งศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นภาษาเยอรมัน เพื่อให้ชาวบ้านและคนทั่วไปสามารถเข้าใจหลักคำสอนและพิธีกรรม ซึ่งแต่เดิมมาเขียนเป็นภาษาละติน จึงยากแก่การสื่อความหมายให้เข้าถึงได้ จึงรู้ได้เฉพาะปัญญาชน นักบวชและ นักศาสนาเท่านั้น ผลงานของลูเธอร์นี้ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่รู้หนังสือละตินได้มีโอกาสเข้าใจแก่นแท้ของศาสนาได้ด้วยตนเอง ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ของลูเธอร์ที่ต้องการให้บุคคลสามารถ รับผิดชอบในความเชื่อของตน โดยไม่ต้องอาศัยบุคคลที่ 3 เช่น พระหรือนักบวช กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในศาสนาเป็นเพียงสิ่งเปลือกนอกที่ไม่สำคัญเท่ากับการที่บุคคลนั้นได้เผชิญหน้าต่อพระพักตร์พระเจ้าด้วยตนเอง นิกายนี้จึงได้ตัดประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนศีลศักดิ์สิทธิ์บางเรื่องออกไปเหลือแต่ศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท และสนับสนุนให้บุคคลเอาใจใส่ต่อพระคัมภีร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระวจนะของพระเจ้า ที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงความรอดส่วนบุคคลภายในโบสถ์ของโปรเตสแตนต์จึงไม่มีรูปเคารพและศิลปกรรมที่ตกแต่งดังเช่นโบสถ์คาทอลิค บนแท่นบูชามีเพียงพระคัมภีร์เท่านั้นที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ส่วนอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากนี้เป็นเพียงเปลือกนอกที่มาจากตัณหาของมนุษย์ และทำให้เราเกิดความยึดถือยึดติดไม่สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้ กลุ่มคริสตจักรฟื้นฟู (Reformed Christianity) ผู้นำคนสำคัญที่มีความเคลื่อนไหวมากได้แก่ สวิงลี (Ulrich Zwingli) และคาลวิน

  • อูลริช สวิงลี (Ulrich Zwingli) เกิดที่สวิสเซอร์แลนด์ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1848 - 1531 ได้รับแนวความคิดจากลูเธอร์ และปรัชญามนุษยนิยม (Humanism) อูลริชไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าพิธีล้างบาป และพิธีศีลมหาสนิท เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นเพียงความเชื่อภายนอก เท่านั้น หาใช่ความเชื่อในพระเจ้าอย่างแท้จริง เพราะพิธีล้างบาปก็คือการปฏิญาณตน และพิธีศีล มหาสนิทหรือมิสซาก็คือการระลึกถึงวันเลี้ยงมื้อสุดท้ายของพระเยซูเท่านั้น พิธีเหล่านี้ไม่ใช่พิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวของมันเองดังที่เชื่อกันในสมัยนั้น จนทำให้คนส่วนมากละเลยที่จะศึกษา พระวจนะ เขาได้ปรับพิธีกรรมให้เรียบง่าย และเน้นที่แก่นแท้ของคำสอน

 

  • นิกายคาลวิน (Calvinism) ผู้ริเริ่มและบุกเบิกนิกายนี้ คือ จอห์น คาลวิน (John Calvin) หรือคาลแวงเป็นชาวฝรั่งเศส ได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยปารีส ต่อมาได้สนใจ แนวคิดทางศาสนาของลูเธอร์และสวิงลี จึงได้รับคำสอนเหล่านั้นมาปรับปรุง คำสอนของเขาแพร่หลายเข้าไปถึงประเทศอังกฤษ ซึ่งเรียกว่า เปรสไบทีเรียน (Presbyterian)

       คาลวินมีอิทธิพลในกรุงเจนีวา เขาถูกเชิญไปที่นั่นหลายครั้งจนกระทั่งได้อาศัยอยู่ที่เจนีวา จนสิ้นใจในปี ค.ศ. 1564 ผลงานที่สำคัญ คือ หนังสือศาสนาที่ต่อมาได้กลายเป็นหลักเทวศาสตร์ของโปรเตสแตนต์ ชื่อ "สถาบันทางศาสนาคริสต์" (The Institutes of the Christian Religion) แต่เดิมเขียนเป็นภาษาละตินแต่ถูกแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสในเวลาต่อมา และถูกพิมพ์ถึง4 ครั้ง ในช่วงที่คาลวินมีชีวิตอยู่ หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราสามารถเข้าใจศรัทธาของชาวคริสต์ คำสอนของนักบุญออกัสติน (St.Augustin) อีกทั้งทำให้เราเข้าใจอำนาจของพระเจ้า เข้าใจในเรื่องบาปกำเนิด และชะตาที่ถูกลิขิตโดยพระเจ้า นอกจากนี้คาลวินได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเจนีวา และทำให้กรุงเจนีวาเป็นศูนย์นัดพบของชาวโปรเตสแตนต์ทั่วยุโรป นิกายเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์ (Church of England)

         หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "แองกลิคัน" (Anglicanism) มีกำเนิดในประเทศอังกฤษ โดยมีสาเหตุมาจากพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ต้องการให้พระสันตะปาปาที่กรุงโรมอนุญาตให้หย่าร้าง และอภิเษกสมรสใหม่ แต่ได้รับการปฏิเสธจากพระสันตะปาปา จึงไม่พอพระทัยประกาศตั้งนิกายใหม่ที่เรียกว่า เชิร์ช ออฟอิงแลนด์ (Church of England) ไม่ขึ้นต่อกรุงโรม และทรงแต่งตั้ง โธมัส แคลนเมอร์ (Thomas Cranmer) เป็นอาร์คบิชอป (Archbishop) แห่งแคนเทอเบอรี่ (Canterbury)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย