ศิลปะ
หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ
คอนแชร์โต
(Concerto)
บทเพลงคอนแชร์โต (Concerto)
บทเพลงที่1 : เชลโลคอนแชร์โต ประพันธ์โดย อันโทนิน ดโวชาร์ค (Antonin Dvorak)
เป็นที่น่ายินดีที่จะมีการนำเสนอคอนเสิร์ตที่จะมีบทเพลง เชลโลคอนแชร์โต ที่ดีที่สุดบทหนึ่งให้เราได้ฟังกันในวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2545 ห้อง 101 อาคาร 3 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คอนเสิร์ตนี้จะนำเสนอเชลโลคอนแชร์โต ประพันธ์โดย อันโทนิน ดโวชาร์ค (Antonin Dvorak) นักประพันธ์เพลงเอกชาวเชค (Czech) ผู้ที่จะเดี่ยวเชลโลให้เราฟังคือ Dr.Tess Remy-schumacher ส่วนวงดุริยางค์ที่จะบรรเลงสอดรับสนับสนุนคือวงดุริยางค์กรมศิลปากร อำนวยเพลงโดย ผู้อำนวยเพลงดาวรุ่งของเราในปัจจุบัน เชลโลซึ่งจะเป็นเครื่องดนตรีเอกในบทเพลงดังกล่าว เป็นซอชนิดหนึ่ง ลำตัวใหญ่โตพอสมควร ในการบรรเลง ผู้บรรเลงจะนั่งบนเก้าอี้ ตั้งซอกับพื้น มือซ้ายโอบกอดลำคอของซอเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งจองนิ้ว ขึ้นลงให้ได้เสียงสูงต่ำตามต้องการ ส่วนมือขวาก็ถือคันชัก เพื่อสีคันชักไปบนสายเสียง
ท่าทางในการบรรเลงซอชนิดนี้ จะดูราวกับผู้บรรเลงโอบกอดเครื่องดนตรีของเขาราวกับคนรัก แล้วทั้งคู่คือเชลโลและคนสี ก็จะร่วมมือกันสร้างสรรค์เสียงสวรรค์ สู่ผู้ฟังอย่างสอดประสานกลมกลืน ราวกับเป็นจิตวิญญาณดวงเดียวกัน เชลโลเป็นซอที่ได้รับการพัฒนามาจนสมบูรณ์ทั้งในแง่ของน้ำเสียงและกลไกตั้งแต่สมัยบาโรก และเป็นที่นิยมตลอดมานับเป็นร้อยๆปี เพราะสามารถใช้เป็นเครื่องบรรเลงประกอบก็ได้ เล่นในวงก็ได้ และยังนำมาบรรเลงเดี่ยวได้อย่างโลดโผนวิจิตรพิสดาร มีน้ำเสียงทุ้มไพเราะในทุกช่วงเสียง เสียงของเชลโลนั้นเปรียบได้กับเสียงผู้ชายที่ทุ้มนุ่มนวลเดินมา หน้าตาบุคลิกหล่อเหลาเป็นพระเอก สำหรับเชลโลคอนแชร์โตของดโวชาร์คนั้น ดโวชาร์คประพันธ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1894 และอุทิศให้เพื่อนนักเชลโลของท่านชื่อ Hanus Wihan นำออกแสดงรอบปฐมฤกษ์ที่กรุงลอนดอน เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1896
โดยมีนักเชลโลเอก Leo Stern เป็นผู้บรรเลงแนวเดี่ยว
และดโวชาร์คเป็นผู้อำนวยเพลงให้วงดุริยางค์ด้วยตนเอง
ประสบความสำเร็จได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ว่าเป็นเชลโลคอนแชร์โตบทที่ดีที่สุดบทหนึ่งในบรรดาวรรณคดีของเพลงเชลโลทั้งหลาย
และนับเป็นคอนแชร์โตบทที่ไพเราะโรแมนติกที่สุดบทหนึ่ง
เพราะแรงบันดาลใจใหญ่หลวงอย่างหนึ่งในการรังสรรค์บทประพันธ์ชิ้นนี้ของดโวชาร์ค
คือข่าวคราวความป่วยไข้ปางตายของหญิงสาวที่อยู่ในดวงใจของท่านมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ
เธอคือ โจเซฟินา เคานิตโซวา (Josefina Kaunitzova)
ในกระบวนที่สองซึ่งเป็นลีลาช้าตกภวังค์นั้น
ดโวชาร์คดูจะอุทิศทั้งกระบวนนี้ให้เธอเพียงผู้เดียวกระบวนนี้เรียกได้ว่าเป็นJosefina'sSongเลยทีเดียว
บทเพลงที่ 2 : เปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 12 ของโมสาร์ท
เป็นบทเพลงที่มีมนต์เสน่ห์ บทหนึ่งที่ไม่น่าพลาดในการฟัง เปียโนคอนแชโต
หมายเลขที่ 12 ในบันไดเสียง A เมเจอร์ ผลงานลำดับที่ 414 (K.414) หรือ 385p
โดยท่านโมสาร์ทได้ประพันธ์ขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ในปี ค.ศ. 1782 ในกรุงเวียนนา
ประเทศออสเตรีย ขณะท่านอายุได้ 26 ปี เพลงบทนี้เป็นเพลงสำหรับเดี่ยวเปียโน
ประชันกับวงออเคสตรา ซึ่งประกอบด้วยเครื่องเป่า โอโบ บาสซูน ฮอร์น
และเครื่องสายได้แก่ ไวโอลิน วิโอลา เชลโล และดับเบิลเบส
เพลงบทนี้ประพันธ์ไว้ด้วยกันสามท่อน
ตามแบบแผนการประพันธ์บทเพลงประเภทคอนแชโต ซึ่งมีอัตราจังหวะ เร็ว-ช้า-เร็ว
ดังต่อไปนี้
1. Allegro ท่อนนี้เป็นท่อนที่สนุกสนาน ร่าเริง
เริ่มด้วยเสียงวงออเคสตรานุ่มๆ และค่อยๆ ดังขึ้นเป็นลำดับ ด้วยคอร์ด
และเสียงที่สอดประสานกันได้อย่างพอดี มีการใช้การ ดัง เบา
สลับกันสร้างสีสันให้กับเพลง ทำให้เกิดความไพเราะ จากนั้นเปียโนก็เริ่มบรรเลงเดี่ยว
โดยใช้ทำนองเหมือนกับวงออเคสตราในตอนแรก และก็มีคลอเสียงของวงออเคสตรา
จากนั้นมีการรับ-ส่ง เสียงเปียโนกับวงออเคสตราด้วย ก่อนจบท่อน
โมสาร์ทยังได้ประพันธ์ท่อน cadenza ซึ่งเป็นการแสดงโชว์ความสามารถของผู้บรรเลง
โดยมีเฉพาะเครื่องดนตรีเอก (เปียโน) จะไม่มีการบรรเลงของออเคสตราเลย
2. Andante ท่อนนี้โมสาร์ทใช้กุญแจเสียง D เมเจอร์
เริ่มด้วยวงออเคสตราบรรเลงในทำนองที่ช้า อ่อนหวาน และมีเสียงเปียโนเข้ามาภายหลัง
ท่อนนี้ได้เข้ามาเปลี่ยนจังหวะสนุกๆ ของท่อนแรก โดยเป็นท่วงทำนองที่ไพเราะ
คอร์ดแต่ละคอร์ดนั้นทำให้เราสัมผัสหรือ จินตนาการถึงภาพของโลกตะวันตกในยุคก่อนๆ
การที่ผู้คนมีจิตใจที่รื่นรมย์
กำลังนั่งฟังและชมการแสดงดนตรีอย่างมีความสุขในโรงละคร
ช่างเป็นการพักผ่อนที่หาไม่ได้ในยุคปัจจุบัน
3. Allegretto สำหรับท่อนนี้ โมสาร์ทได้ใช้จังหวะเร็ว
เหมือนว่าปลุกผู้ฟังจากการเคลิบเคลิ้มกับเสียงดนตรีในท่อนก่อนหน้า
โดยการนำโดยวงออเคสตรา เครื่องสาย และเครื่องเป่า และตามด้วยการบรรเลงสลับกัน
และการหยอกล้อของเสียงของของวงออเคสตรา และเปียโนอีกเช่นเคย
ทำนองของท่อนนี้ฟังแล้วให้ความสนุกสนาน สดใสไพเราะไม่แพ้ท่อนแรก
และส่งท้ายก่อนจบเพลงด้วยท่อน cadenza
และจบลงด้วยคอร์ดจากเครื่องเป่าอย่างนิ่มนวลซึ่งทำให้ผู้ฟังประทับใจไม่รู้ลืม
บทเพลงที่ 3 : อารันฮูเอซคอนแชร์โต (Aranjuez Concerto)
กีตาร์คอนแชร์โตของ โยอาคิน โรดริโก (Joaquin Rodrigo)
อารันฮูเอซคอนแชร์โต (Aranjuez Concerto) กีตาร์คอนแชร์โตของ โยอาคิน
โรดริโก (Joaquin Rodrigo) คือเพลงที่มีเครื่องดนตรีเดี่ยว ประชันกับวงดุริยางค์
ซึ่ง อารันฮูเอซคอนแชร์โต ก็มีกีตาร์เป็นเครื่องดนตรีเดี่ยว และสำหรับเพลงสเปนแล้ว
ก็ไม่มีเสียงและลีลาของเครื่องดนตรีใดที่จะเป็นสเปนมากไปกว่ากีตาร์
ซึ่งเป็นทั้งเครื่องดนตรีพื้นเมืองสเปน และพัฒนามาใช้ในดนตรีสเปนอีกหลากหลายประเภท
รวมทั้งดนตรีคลาสสิกสเปนแกลยาร์โด เดล เรย์
นักกีตาร์ผู้โชว์ฝีมือเดี่ยวให้เราฟังกัน ในคอนเสิร์ตกรุงเทพครั้งนี้เสริมว่า
แม้ว่าเพลงคอนแชร์โตจะให้ภาพและมีความหมายดั้งเดิม ออกไปในเชิงเพลงประชัน
แต่สำหรับตัวผม เวลาที่เล่นเดี่ยวในเพลงคอนแชร์โต ผมมักคิดไปในเชิงการผสมผสาน
การบรรเลงร่วมและบรรเลงรับกันระหว่างเครื่องเดี่ยว กับวงดุริยางค์
ซึ่งก็โชคดีที่ผมได้ผู้อำนวยเพลง คือ มาเอสโตร อ็องเตรอม็องต์
ที่มีแนวคิดในเรื่องนี้เหมือนกัน คือเราไม่แข่งขันกันบนเวที เราร่วมือกัน
และโดยเฉพาะกีตาร์เป็นเครื่องเดี่ยวที่ต้องนับว่ามีเสียงเบา
เมื่อเทียบกับเครื่องเดี่ยวอีกหลายชนิด ถ้าทางวงและผู้อำนวยเพลง
มีแต่แนวคิดเรื่องการตอบโต้ หรือการประชัน กีตาร์ก็เสร็จแน่
และผมก็ไม่ค่อยชอบใช้ไมโครโฟนมาขยายเสียง เมื่อไม่ต้องห่วงเรื่องการประชัน
ผมก็มีสมาธิ ที่จะมุ่งนำเสนอแนวดนตรีของผมเอง ได้เต็มที่
และอุ่นใจว่ามีวงคอยรับสนับสนุนอยู่ สำหรับอารันฮูเอสคอนแชร์โต
ที่บรรเลงให้เราฟังกันในคอนเสิร์ตที่กรุงเทพ แกลยาร์โด เดล เรย์ กล่าวว่า
เพลงบทนี้เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณของสเปน
ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นผู้เดี่ยวกีตาร์ในเพลงบทนี้
โดยเฉพาะในคอนเสิร์ตที่มาแสดงให้ผู้ชมผู้ฟังชาวเอเชียได้ชมกัน
ผมรู้สึกว่าความเป็นเอกลักษณ์ของจิตวิญญาณสเปน
ดูจะมีความหมายยิ่งขึ้นเมื่อได้รับการสื่อสารและแสดงออกในบรรยากาศ
และวัฒนธรรมที่แตกต่างไปอย่างมาก จากวัฒนธรรมของเรา เช่นในสังคมเอเชีย
หน้าที่ของผมในฐานะผู้เดี่ยวคอนแชร์โตบทสำคัญของชาวสเปนบทนี้
ก็คือพยายามนำเอาจิตวิญญาณสเปนในเพลงบทนี้
ออกมาให้ผู้ชมผู้ฟังต่างวัฒนธรรมได้รับรู้ และสัมผัส
บทเพลงที่ 4 : Concerto No.1 for Piano and Orchestra in B-Flat Minor
Opus. 23 ของปีเตอร์ อิลิค ไชคอฟสกี้
เปียโนคอนแชร์โต้ ในบันไดเสียง บี-แฟลทไมเนอร์ โอปุสที่ 23 บทนี้
เขียนขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมปี 1874
เรียบเรียงเสียงประสานเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 1875
เปียโนคอนแชร์โตบทนี้และบทโหมโรงแฟนตาซีโอเวอร์เจอร์ (Fantasy overture) Romeo and
Juliet นั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานที่สำคัญลำดับต้นๆ ของเขาเลยทีเดียว
เพราะว่าตัวเขานั้นไม่ใช่นักเปียโนอาชีพแต่มีความกระตือรือร้นที่จะประพันธ์บทเพลงคอนแชร์โตให้ได้
เขาได้รับคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งคือ Nicholas Rubinstein ทั้งคู่คบกันมานาน
9 ปีกว่า เพื่อนคนนี้คอยให้ความช่วยเหลือเขาอยู่เสมอๆ
และเป็นเจ้าของบ้านที่เขาอาศัยอยู่ด้วย
Rubinstein เป็นนักเปียโนฝีมือดีที่สุดในมอสโคว์
และยังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันการดนตรีแห่งกรุงมอสโคว์อีกด้วย
ไชคอฟสกี้ได้บอกเรื่องนี้แก่สหายสนิทของเขาที่ห้องเรียนของสถาบันหลังการแสดงคอนเสิร์ทในช่วงคริสต์มาสต์อีฟที่นำบทประพันธ์ของเขาออกแสดง
ผู้ที่บรรเลงเปียโนในวันนั้นคือ Rubinstein ซึ่งเรื่องนี้ได้กลายเป็นเรื่องใหญ่พอ ๆ
กับตัวผลงานเลยทีเดียว
หลังจากที่ไชคอฟสกี้บรรเลงกระบวนแรกของคอนเเชร์โตบทนี้จบลง
เขารอฟังความเห็นหรือคำแนะนำอยู่แต่สหายนักเปียโนของเขาก็ไม่ได้กล่าวคำพูดใดๆ
ออกมาเลย เขาจึงบรรเลงต่อไปจนจบเพลงก็ยังไม่มีความเห็นใดๆ อยู่ดี
ไชคอฟสกี้จึงถามขึ้นว่า "ใช้ได้มั้ย ?
Rubinstein เริ่มวิจารณ์คอนแชร์โตบทนี้อย่างเงียบๆ แต่เหตุการณ์กลับค่อยๆ
ตึงเครียดขึ้นตามลำดับเมื่อ Rubinstein
เรียกบทเพลงบทนี้ว่าคอนแชร์โต้ที่ไร้ค่าและไม่เหมาะที่จะนำมาบรรเลง
ท่วงทำนองที่ไม่เป็นธรรมชาติและดูโฉ่งฉ่าง
ที่แย่กว่านั้นองค์ประกอบของบทเพลงนั้นแย่มากๆ มีรายละเอียดหยุมหยิมเกินไป
ธรรมดาเกินไป ไม่น่าสนใจ มีท่วงทำนองที่คล้าย ๆ กับงานของคนอื่น จับโน่นผสมนี่
มีที่พอใช้ได้อยู่เพียง 2-3
หน้าเท่านั้นที่เหลือสมควรทำลายทิ้งซะหรือไม่ก็เอาไปเรียบเรียงขึ้นใหม่ทั้งหมด
นอกจากนั้น Rubinstein ยังเล่นเปียโนเพลงนี้แบบตลกๆ ล้อเลียนอีกทำให้เขาเคืองมาก
ความเป็นเพื่อนของทั้งสองถึงจุดสิ้นสุด เมื่อ Rubinstein กล่าวว่า
ที่เขาวิจารณ์เช่นนั้นในฐานะเพื่อน ไม่ได้ต้องการสร้างศัตรูแต่อย่างใด
ไชคอฟสกี้ลุกออกไปจากห้องนั้นด้วยความโกรธสุดขีดเกินกว่าที่จะพูดอะไรได้อีกแล้ว
Rubinstein รีบตามไปทันทีเพราะรู้ตัวว่าทำให้เพื่อนสนิทของเขาต้องผิดหวังเพียงใด
Rubinstein เรียกเขาเข้าไปนั่งปรับความเข้าใจอีกห้องหนึ่ง
และอธิบายซ้ำกับเขาถึงความไม่สมบูรณ์ของคอนแชร์โตบทนั้น
โดยชี้ให้เห็นว่าเปียโนคอนแชร์โต้บทนั้น มีหลายจุดที่ต้องแก้ไข
และสัญญากับเขาว่าถ้าแก้ไขได้ทันเวลา จะนำเปียโนบทนี้ออกแสดงให้ประชาชนได้ฟังทันที
แต่มันสายเกินไป ไชคอฟสกี้ปฏิเสธที่จะแก้ไขแม้แต่ตัวโน้ตเดียว
เขาทำตามที่พูดเอาไว้เช่นนั้นจริงๆ และเสาะหานักเปียโนคนอื่นมาเล่นแทน
ในที่สุดเขาได้พบกับนักเปียโนฝีมือดีชาวเยอรมัน Hans Von Bulow
(เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า The Great 3 B หรือ 3 B
ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการดนตรีคลาสสิคคือ Bach, Beethoven, Brahms)
ผู้ซึ่งชื่นชอบในฝีมือการแต่งเพลงของเขาและปรารถนาที่จะได้แสดงเปียโนคอนแชร์โตบทนี้
ซึ่งนำออกแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1875 ที่เมืองบอสตัน
ประเทศสหรัฐอเมริกา
Bulow ได้เขียนถึงคอนแชร์โต้บทนี้เอาไว้อย่างชื่นชมว่า มีความเป็นเอกลักษณ์
สง่างาม เปี่ยมพลัง ชัดเจนลงตัว มีโครงสร้างทางดนตรีที่สมบูรณ์แบบ
และมีสไตล์ที่โดดเด่น
ต่อมา Rubinstein ได้ยอมรับความผิดพลาดของเขาโดยดุษณี
และได้นำคอนแชร์โต้บทนี้ออกแสดงทั่วยุโรป ไชคอฟสกี้ก็เช่นกัน
เขายอมที่จะแก้ไขบางส่วนของเพลงนี้อย่างเงียบๆ โดยเพิ่มเติมบางส่วนของบทเพลงในปี
1889 และบางทีเขาอาจได้รับการสนับสนุนจากนักเปียโน Edward Dannreuther
ซึ่งนำบทเพลงนี้ออกแสดงครั้งแรกที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
บทเพลงที่ 5 : ไวโอลิน คอนแชร์โตสังคีตมงคล" ผลงานประพันธ์เพลงของ
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร
ครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการดนตรีเมืองไทย
กับการแสดงไวโอลินคอนแชร์โตเต็มรูปแบบของดนตรีไทยร่วมสมัย
ร่วมสัมผัสสุนทรีย์แห่งดนตรีกับ การแสดงคอนเสิร์ตไวโอลินคอนแชร์โตสังคีตมงคล
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา
นำเสนอบทเพลงสุดพิเศษครั้งแรก ไวโอลิน คอนแชร์โตสังคีตมงคล
ผลงานประพันธ์เพลงของ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร
นักประพันธ์เพลงชาวไทยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยการเดี่ยวไวโอลินของ
คาริน-เรกีน่า ฟลอไรย์ นักไวโอลินชื่อดังชาวออสเตรีย และวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ
พร้อมการขับร้องประสานเสียงบทเพลงพระราชนิพนธ์ของคณะนักร้องประสานเสียงชื่อดัง
เดอะเรโซแนนซ์ ที่จะแสดงในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ เวลา 20.00 น หอประชุมใหญ่
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยรายได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ
สมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดลรศ.ธงทอง จันทรางศุ
ประธานคณะกรรมการจัดงานคอนเสิร์ตไวโอลินคอนแชร์โตสังคีตมงคล
กล่าวว่า การแสดงคอนเสิร์ตไวโอลินคอนแชร์โตสังคีตมงคลในครั้งนี้
นำเสนอบทประพันธ์เพลงคลาสสิกสดุดีพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยเป็นเพลงเดี่ยวไวโอลินประชันกับวงออร์เคสตร้า ในลักษณะเพลงไวโอลินคอนแชร์โต
ซึ่งเป็นรูปแบบบทเพลงชั้นสูงของดนตรีคลาสสิก บทเพลงเฉลิมพระเกียรติ บทนี้มีชื่อว่า
ไวโอลินคอนแชร์โตสังคีตมงคล (Violin Concerto Sankitamankala)
ซึ่งครั้งนี้นับเป็นไวโอลินคอนแชร์โตบทแรกของวงการดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยของไทยเชื่อว่าการแสดงคอนเสิร์ตไวโอลินคอนแชร์โตสังคีตมงคล
ในวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคมนี้
ซึ่งจะจัดขึ้นเพียงรอบเดียวจะเป็นที่ประทับใจและจดจำรำลึกอยู่ในหัวใจของผู้ชมผู้ฟังทุกคน
เนื่องด้วยการเตรียมการและความพร้อมในทุกส่วนของการแสดง
ตั้งแต่การฝึกซ้อมอย่างเต็มที่สำหรับการอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ชุดกินรีสวีทมาบรรเลงโดยวงออเครสตร้าชั้นแนวหน้าของไทย
คือวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ(Bangkok Symphony Orchestra หรือ BSO)
โดยมีพลเรือตรีวีระพันธ์ วอกลาง เป็นผู้อำนวยเพลง
ตามมาด้วยการขับร้องประสานเสียงที่มีน้ำเสียงไพเราะหาฟังได้ยากจากคณะเดอะเรโซแนนซ์
(The Resonance) นำโดยคุณสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา
และส่วนสำคัญยิ่งอีกส่วนหนึ่งของงานในครั้งนี้ก็คือการรับฟังและรับชมบทเพลงเดี่ยวไวโอลินคอนแชร์โตสังคีตมงคล
ซึ่งนอกจากจะเป็นบทเพลงไวโอลินคอนแชร์โตเต็มรูปแบบบทแรกของวงการดนตรีร่วมสมัยของไทยแล้ว
ยังเป็นการบรรเลงรอบปฐมฤกษ์ของเพลงนี้ด้วย ศิลปินเดี่ยว (Soloist)
ในการบรรเลงบทเพลงไวโอลินคอนแชร์โตสังคีตมงคลคือ
นักไวโอลินชื่อก้องชาวออสเตรียมิสคาริน-เรกีน่า ฟลอไรย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร
ผู้ประพันธ์ไวโอลินคอนแชร์โตสังคีตมงคล เผยถึงเนื้อหาของบทประพันธ์เพลงนี้ว่า
คอนแชร์โตสังคีตมงคลเป็นคอนแชร์โตสำหรับไวโอลินเดี่ยวร่วมกับวงออร์เคสตราเฉลิมพระเกียรติที่ประพันธ์ขึ้นโดยนักประพันธ์เพลงชาวไทย
บทเพลงนี้มีแบบแผนที่สละสลวยสวยงามในแบบดนตรีคลาสสิกร่วมสมัย
และมีแนวเดี่ยวไวโอลินที่สลับซับซ้อนโลดโผนเต็มไปด้วยเทคนิคการบรรเลงขั้นสูง
มีการผสมผสานระหว่างดนตรีคลาสสิกตะวันตกและดนตรีไทยอย่างกลมกลืน
โดยยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของดนตรีไทยและเทคนิคการประพันธ์เพลงขั้นสูงของดนตรีคลาสสิก
คอนแชร์โตสังคีตมงคลประกอบด้วยกระบวนที่มีลีลาการบรรเลงแตกต่างกัน 3
กระบวนในแบบฉบับของคอนแชร์โตแบบดนตรีคลาสสิก
และผู้ประพันธ์ได้ใช้เพลงพื้นบ้านจากหลายภาคของประเทศไทย ทำให้บทเพลงมีลีลาจังหวะ
ทำนองการประสานเสียง
และการเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงออร์เคสตราที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
กระบวนที่ 1 เริ่มต้นด้วยบทนำสั้น ๆ ของวงออร์เคสตรา
ติดตามด้วยทำนองสำคัญของไวโอลิน ทำนองนี้มีบทบาทสำคัญหลายครั้งในกระบวนที่ 1
จากนั้นสำเนียงเพลงพื้นบ้านจากภาคต่าง ๆ ได้ผสมผสานเข้ามา อย่างไรก็ตาม
ทำนองพื้นบ้านเหล่านี้ได้แตกย่อยและคงไว้แต่เพียงกลิ่นอายของบรรยากาศเพลงพื้นบ้านเท่านั้น
มิได้นำมาใช้ทั้งทำนอง ในช่วงกลางของกระบวนจะเป็นช่วงคาเดนซา (Cadenza)
ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ไวโอลินเดี่ยวได้แสดงบทบาทกลเม็ดเด็ดพรายอย่างเต็มที่ จากนั้นวง
ออร์เคสตราจะเข้ามารับช่วงต่อคล้ายคลึงกับในช่วงแรกของกระบวนในช่วงจบไวโอลินและวงออร์เคสตราจะประชันกัน
เพื่อนำกระบวนที่ 1 จบลงอย่างสนุกสนานกระบวนที่ 2
เริ่มต้นด้วยส่วนหนึ่งจากบทเพลงสาธุการเพื่อความเป็นสิริมงคล
จากนั้นไวโอลินจะเข้ามาบรรเลงทำนองหลัก บรรยากาศของท่อนนี้จะอ่อนหวาน
แต่ก็แฝงไว้ด้วยความหนักแน่นเมื่อกระบวนได้คลี่คลายออกไป
ในช่วงท้ายของกระบวนผู้ฟังจะรู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่สงบของวัด
จากเสียงของกลุ่มเครื่องตีที่บรรเลงเสมือนระฆังใหญ่เล็กเป็นฉากหลังกระบวนที่ 3
เป็นกระบวนที่สนุกสนาน
บทเพลงเริ่มต้นด้วยไวโอลินบรรเลงสลับกับวงออร์เคสตราด้วยทำนองและจังหวะจากเพลงพื้นบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคอีสาน
ผู้ประพันธ์ได้ดัดแปลงลีลาทำนองของแคนให้เป็นแนวสำคัญของไวโอลิน
โดยกำหนดให้ไวโอลินทำหน้าที่เป็นโน้ตโดรนคล้ายคลึงกับบทบาทของแคนในการบรรเลงเพลงพื้นบ้าน
บทเพลงจะจบลงด้วยการผสมผสานทำนองเพลงพื้นบ้านจากทุกภาคด้วยความยิ่งใหญ่เต็มไปด้วยพลังของความสามัคคีและมิตรภาพ