ศาสนา
ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
ขงจื้อ
ผลงานของขงจื้อ
ลัทธิขงจื้อ
การสืบทอดขนบขงจื้อ
ปรัชญาขงจื้อ
การสืบทอดขนบขงจื้อ
สำนักขงจื่อก็เหมือนกับขนบทางจริยะและศาสนาที่เก่าแก่อื่นๆของโลก
ที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้าสมัย ไม่อาจแก้ปัญหาในปัจจุบันได้
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่สำนักขงจื่อให้ความสำคัญกับการสืบทอดขนบจารีต
ทำให้ผู้ยึดถือขนบธรรมเนียมขงจื่อหลายๆ ท่านดื้อรั้น
ไม่ยอมรับข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนจารีตซึ่งมีเหตุผลสมควร อย่างไรก็ตาม
เราควรแยกแยะระหว่างการให้คุณค่าส่วนบุคคลกับคุณค่าที่มีอยู่ในตัววัฒนธรรมนั้นเอง
การทำความเข้าใจขนบธรรมเนียมที่ยังมีชีวิตจำเป็นจะต้องแยกแยะระหว่างโลกทัศน์ของนักคิด
และสำนักทางความคิดในประวัติศาสตร์
รวมทั้งความแตกต่างระหว่างขนบธรรมเนียมที่ยังมีชีวิต กับที่เสื่อมสลายและกำลังจะตาย
วิถีแห่งสำนักขงจื่อมิได้เป็นการให้หลักการสูงสุดสำหรับเป็นแบบแผนปฏิบัตตายตัว
หากแต่มีลักษณะของการให้วิสัยทัศน์และแก่นทางอุดมการณ์ในการมีชีวิตที่ดี
โดยสามารถยึดหยุ่นตีความได้ตามความแปรเปลี่ยนของสถานที่และยุคสมัย
ประเด็นปัญหาเรื่องการสืบทอดขนบจารีต (เต๋าถ่ง ? ? )
อยู่ในความสนใจของนักปรัชญาสำนักขงจื่ออย่างเช่น สวินจื่อ และจูซี เป็นต้น
อันแสดงให้เห็นว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์ข้างต้นเป็นการพิจารณาสำนักหรูเพียงบางกลุ่ม
สวินจื่อแบ่งสำนักหรูเป็นสามประเภท คือ พวกที่ยึดถือแต่การทำตามประเพณีอย่างเดียว
(สูหรู ? ? ) พวกที่ได้รับการขัดเกลาทางจริยะ (หย่าหรู ? ? )
และพวกที่เป็นจวินจื่อหรือปราชญ์ (ต้าหรู ? ? )
ทั้งซุ่นจื่อและจูซีให้ความสำคัญกับการสืบทอดจารีตด้วยการศึกษาร่ำเรียนวรรณคดีโบราณ
โดยเริ่มจากการศึกษาวรรณคดีก่อนแล้วจึงศึกษาขนบจารีต (หลี่) เพื่อจะได้เป็นปราชญ์
การศึกษาวรรณคดีช่วยในการขัดเกลา อย่างเช่น ซูจิง (ว่าด้วยประวัติศาสตร์)
ทำให้เห็นความสำคัญในการกระทำของมนุษย์ เย่ว์จิง (ว่าด้วยดนตรี)
ทำให้เห็นความสัมพันธ์ที่กลมกลืน เป็นต้น แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยคำแนะนำจากครู
เพราะการศึกษาคัมภีร์ หลี่จิง (ว่าด้วยจารีต) และ เย่ว์จิง
จะได้เพียงแค่รูปแบบเท่านั้น แต่ไม่มีคำอธิบาย เป็นต้น
การศึกษาร่ำเรียนของเก่ามิได้หมายความว่าศึกษาเพื่อท่องจำเท่านั้น
แต่ต้องตีความและวิพากษ์วิจารณ์ด้วย
อย่างที่สวินจื่อเองก็ได้โต้แย้งเมิ่งจื่อในการโยงศีลธรรมกับธรรมชาติของมนุษย์ไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้
การสืบทอดจารีตมิใช่เพียงร่ำเรียนของเก่าและวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดในสำนักคิดด้วยกันเท่านั้น
แต่มีการวิพากษ์วิจารณ์ความคิดต่างสำนักด้วย อย่างที่สวินจื่อโต้แย้งโจมตีม่อจื่อ
ฮุ่ยจื่อ เหลาจื่อและจวงจื่อ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าขนบธรรมเนียมขงจื่อที่สืบทอดมาอย่างต่อเนื่องมีลักษณะของการตีความปรับแปรความหมายได้
ซึ่งนอกจากสืบทอดผ่านการศึกษาร่ำเรียนวรรณคดีและจารีตแล้ว
ยังผ่านบทบาทหน้าที่ของครูที่เป็นบุคคลต้นแบบอย่างจวินจื่อด้วย กล่าวคือ
นอกจากจวินจื่อจะต้องถึงพร้อมด้วยคุณธรรมเหริน หลี่ อี้ และอื่นๆแล้ว
จะต้องเป็นแบบอย่างเพื่อสืบทอดมาตรฐาน และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น ด้วยเหตุนี้
จวินจื่อจึงต้องดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว
แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการประเมินและตีความขนบ
เพื่อคงวิถีเดิมและสร้างเสริมใหม่อย่างต่อเนื่อง
ประเด็นปัญหาที่ถามได้คือ หากขนบขงจื่อสามารถตีความปรับแปรความหมายได้
การตีความนั้นจะต้องเป็นอย่างไรถึงจะไม่เป็นการกระทบการรักษาสืบทอดขนบของเดิมไว้
ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่าง จิง (มาตรฐาน ? ) และ เฉวียน
(การประเมินสถานการณ์ ? ) เฉวียนอาจเป็นจิงได้ในกรณีของการประเมินสถานการณ์เฉพาะ
กล่าวคือจิงจะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ของพฤติกรรมได้ ก็ขึ้นอยู่กับ
เฉวียนในความหมายที่เมื่อพิจารณาปรับใช้ในกรณีเฉพาะแล้วจะไม่ทำให้หลักการเสียไป
โดยอยู่บนสมมติฐานด้วยว่าการพิจารณาตัดสินนั้นจะต้องเป็นที่ยอมรับตามการตีความของชุมชน
จิงจึงกำหนดเฉวียน ในทางกลับเฉวียนก็กำหนดจิงเช่นเดียวกัน
การปฏิบัติเฉวียนอย่างมีประสิทธิภาพเกี่ยวข้องกับคุณธรรมอี้ด้วย
ในการประเมินนั้นจะต้องยึดการทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นหลัก
ทั้งนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นปัญหาศีลธรรมเท่านั้น
หากแต่รวมถึงกรณีเหตุการณ์ธรรมดาที่เกิดปัญหาการตีความและการปรับใช้
ความสัมพันธ์ระหว่างจิงกับเฉวียนจึงมีลักษณะเป็นพลวัตร ไม่ตายตัว
ทำให้ขนบจารีตทั้งคงอยู่ (ฉาง ?) และเปลี่ยนแปลงได้ (เปี้ยน ) ในเวลาเดียวกัน
ปรัชญาสำนักขงจื่อก็เหมือนระบบความคิดอื่น
ที่มีปัญหาในการตีความและการประมวลสร้างความเข้าใจอย่างเป็นระบบ
บทเรียบเรียงนี้เพียงแต่เน้นส่วนที่เป็นพื้นฐานความคิด
และคัดเลือกประเด็นสำคัญอย่าง มโนทัศน์ตัวตน การขัดเกลาตน
การเปลี่ยนแปลงและสืบทอดจารีต มาอธิบายพอสังเขปเท่านั้น
หากจะเข้าใจปรัชญาสำนักขงจื่อมากขึ้นจำเป็นต้องพิจารณาเรื่อง ธรรมชาติของมนุษย์
บทบาทหน้าที่ของอารมณ์ บทบาทและพื้นที่ของกฎหมายในสังคมอุดมคติ การเมืองการปกครอง
และฐานทางอภิปรัชญาของ เต๋า โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และธรรมชาติเพิ่มเติม
ทั้งนี้ผู้สนใจควรศึกษาควบคู่ไปกับประวัติปรัชญาจีน
และเชื่อมโยงกับข้อถกเถียงของปรัชญาตะวันตกที่เกี่ยวข้องด้วย