ศิลปะ
หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ
บัว
คติความเชื่อเรื่องบัว
รูปแบบบัว
การใช้ฐานบัวกับอาคารพระอุโบสถและพระวิหาร
บัวองค์ประกอบเจดีย์ และพระปรางค์
รูปแบบบัว
จากการศึกษารูปแบบบัวซึ่งเป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมไทย
ในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 5 จากวัดที่ทำการศึกษาจำนวน 16 วัด
พอสรุปแยกเป็นส่วนต่างๆได้ดังนี้
ฐานบัว
จากการวิเคราะห์ฐานบัวพระอุโบสถและพระวิหาร จำนวน 57 ฐาน พบ
ว่าฐานบัวส่วนใหญ่สืบทอดรูปแบบมาจากสุโขทัย อยุธยาตอนปลาย ฐานบัวมีรูปแบบต่างๆ
จำนวน 12 รูปแบบ แบ่งเป็นฐานบัวรูปแบบปกติ และแบบที่ดัดแปลงขึ้นมา ดังนี้
ฐานรูปแบบปกติ จำนวน 5 รูปแบบเรียงลำดับตามความนิยมจากมากไปน้อยได้แก่
- ฐานสิงห์ จำนวน 23 ฐาน
- ฐานสิงห์ลูกแก้วอกไก่ จำนวน 11 ฐาน
- ฐานปัทม์ จำนวน 5 ฐาน
- ฐานลูกแก้วอกไก่ จำนวน 3 ฐาน
- ฐานบัวคว่ำ จำนวน 3 ฐาน
ฐานบัวรูปแบบที่ดัดแปลงขึ้นมา จำนวน 7 รูปแบบ ใช้เป็นฐานบัวพระอุโบสถและพระวิหาร
12 ฐาน ซึ่งฐานบัวที่ดัดแปลงส่วนใหญ่มีรูปแบบและการซ้อนชั้นคล้ายกับฐานสิงห์
ช่วงรัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 2
ฐานสิงห์และฐานสิงห์ลูกแก้วอกไก่ถูกนำมาใช้เป็นฐานอาคารและฐานระเบียงพระอุโบสถและพระวิหารมากที่สุด
มีฐานชนิดอื่นบ้าง โดยที่ฐานบัวในช่วงนี้บางแห่งจะนิยมทำลวดลายตกแต่ง
ปิดทองประดับกระจกอย่างสวยงาม
รูปแบบฐานบัวที่พบในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วง
ร.1- 5
ช่วงรัชกาลที่ 3 - รัชกาลที่ 4
ฐานสิงห์และฐานสิงห์ลูกแก้วอกไก่ยังคงถูกนำมาใช้เป็นฐานอาคารและฐานระเบียงพระอุโบสถและพระวิหารมากเหมือนยุคต้น
โดยที่ฐานบัวในช่วงนี้จะเป็นแบบเรียบๆไม่นิยมตกแต่งด้วยลวดลาย
ช่วงรัชกาลที่ 5
ฐานสิงห์และฐานสิงห์ลูกแก้วอกไก่ยังคงถูกนำมาใช้เป็นฐานอาคารและฐานระเบียงพระอุโบสถและพระวิหารหลายแห่งเหมือนช่วงที่ผ่านมา
แต่ฐานบัวในช่วงนี้จะนิยมตกแต่งด้วยหินอ่อน
และบางแห่งประดับกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์อย่างสวยงาม
กล่าวได้ว่าฐานสิงห์ นิยมใช้เป็นฐานของอาคารโบสถ์ และวิหารมากที่สุด
รองลงไปได้แก่ฐานสิงห์ลูกแก้วอกไก่
วัดที่ไม่ใช้ฐานสิงห์และฐานสิงห์ลูกแก้วอกไก่เป็นฐานของอาคารโบสถ์และวิหาร มี 2 วัด
ได้แก่ วัดโมลีโลกยาราม และวัดชนะสงคราม
นอกจากนี้ฐานบัวที่ใช้ในแต่ละแห่ง
ยังพบว่ามีความแตกต่างในรายละเอียดหลายอย่าง เช่น รูปแบบ ขนาด
จำนวนเส้นลวดบัวซึ่งเป็นชั้นซ้อนแต่ละชั้นจะมีไม่เท่ากัน และส่วนประกอบของฐานสิงห์
จากการศึกษาพบว่าเส้นลวดบัวที่เป็นส่วนประกอบของบัวฐานสิงห์
และฐานสิงห์ลูกแก้วอกไก่ที่มีจำนวนเส้นลวดบัวที่อยู่เหนือหน้ากระดานล่างสองเส้น
และเส้นลวดบัวที่อยู่เหนือบัวหลังสิงห์สองเส้น จะพบมากที่สุด