ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ

บัว

คติความเชื่อเรื่องบัว
รูปแบบบัว
การใช้ฐานบัวกับอาคารพระอุโบสถและพระวิหาร
บัวองค์ประกอบเจดีย์ และพระปรางค์

การใช้ฐานบัวกับอาคารพระอุโบสถและพระวิหาร

การใช้ฐานบัวกับอาคารพระอุโบสถและพระวิหารที่มีฐานบัวเฉลียงชั้นลด และฐานบัวอาคารต่อเชื่อมกันพบว่า มีการใช้ฐานบัว 3 รูปแบบ คือ

  1. แบบแรก ใช้ฐานบัวรูปแบบเดียวกันแต่มีขนาดความสูงต่างกันต่อเชื่อมกันโดยตรง
  2. แบบที่สอง ใช้ฐานบัวที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันต่อเชื่อมกันโดยตรง ซึ่งการต่อเชื่อมจะทำที่ใกล้มุมอาคาร หรือที่ผนังราวบันใดพระอุโบสถและพระวิหาร
  3. แบบที่สาม ใช้ฐานบัวที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันต่อเชื่อมแบบลดรูปซึ่งการต่อเชื่อมจะทำที่ใกล้มุมอาคาร หรือที่ผนังราวบันใดพระอุโบสถและพระวิหาร

การใช้ฐานบัวกับอาคารพระอุโบสถและพระวิหาร ที่มีฐานบัวระเบียงและฐานบัวอาคาร แยกจากกัน พบว่ามีการใช้ฐานบัว 4 รูปแบบ ดังนี้

  1. แบบแรก ใช้ฐานบัวรูปแบบเดียวกันเป็นฐานบัวระเบียงและฐานบัวอาคาร
  2. แบบที่สอง ใช้ฐานบัวรูปแบบใกล้เคียงกันเป็นฐานบัวระเบียงและฐานบัวอาคาร
  3. แบบที่สาม ใช้ฐานบัวรูปแบบต่างชนิดกันเป็นฐานบัวระเบียงและฐานบัวอาคาร
  4. แบบที่สี่ ใช้ฐานบัวอาคารเพียงแบบเดียว ในกรณีที่อาคารนั้นไม่มีฐานบัวระเบียง ได้แก่ฐานบัวอาคารพระอุโบสถวัดราชโอรสฯ

ในการศึกษาครั้งนี้พบว่าไม่มีวัดใดเลยที่ใช้ฐานบัวรูปแบบเดียวกันทั้งหมด เป็นทั้งฐานบัวระเบียง ฐานบัวอาคาร พระอุโบสถและพระวิหาร ส่วนรายละเอียดต่างๆที่เป็นองค์ประกอบของฐานสิงห์ โดยเฉพาะส่วนที่เรียกว่า กาบเท้าสิงห์ นมสิงห์ ซึ่งบางแห่งมี บางแห่งไม่มี ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว และมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป

กล่าวได้ว่าขาสิงห์ได้รับความนิยมมากในศิลปะอยุธยาตอนปลาย และกลายมาเป็นรูปฐานเต็มสมบูรณ์ โดยเอาส่วนบนของฐานบัวมาประกอบขาสิงห์ พัฒนาเป็นทรงเพรียวสูงขึ้น มีการประดับประดาส่วนต่างๆของขา ให้มีลวดลายสวยงามไปตามยุคสมัย แทนฐานบัวและฐานรูปแบบอื่นที่เสื่อมความนิยมลง ฐานบัวบางแห่งเป็นฐานที่มีลักษณะแอ่นโค้ง ซึ่งนิยมในช่วงอยุธยาตอนปลาย ต่อเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และไม่เป็นที่นิยมในสมัยต่อๆมา

ข้อสังเกต วัดที่ใช้ฐานบัวคว่ำเป็นฐานของอาคารพระอุโบสถ และพระวิหาร คือวัดราชสิทธาราม และวัดราชโอรสารามนั้น เป็นความนิยมในการนำเอาฐานบัวแบบเดิมกลับมาใช้ เพราะฐานบัวรูปแบบนี้มีปรากฏเป็นฐานบัววิหารมาแล้วหลายแห่งตั้งแต่สมัยสุโขทัย คือฐานวิหารวัดช้างล้อม ฐานวิหารวัดเขาสุวรรณคีรี ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงร่องรอยโกลนศิลาแลงของฐานพระวิหารให้เห็นอยู่ ในสมัยอยุธยาก็ยังพอมีหลักฐานที่เห็นอยู่ชัดเจน คือฐานรับเสาชายคาพระอุโบสถ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังมีอีกหลายวัดที่มีฐานบัวรูปแบบบัวคว่ำนี้ และเป็นฐานบัวที่นิยมใช้ในช่วงรัชกาลที่ 3 แม้ว่ารูปแบบสิ่งก่อสร้างในรัชกาลของพระองค์จะเปลี่ยนไปในรูปแบบที่เป็นศิลปะแบบจีน แต่ฐานบัวยังคงเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญอยู่เสมอ

บัวหัวเสา พบว่าอาคารพระอุโบสถและพระวิหารในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วง รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 5 มีบัวหัวเสารูปแบบต่างๆที่จัดกลุ่มได้จำนวน 6 รูปแบบ ได้แก่

  1. แบบกลมเรียบ
  2. แบบกลมลายใบเทศ
  3. แบบกลมบัวกลีบยาวชั้นเดียว
  4. แบบกลมกลีบบัวซ้อนสองชั้น
  5. แบบเหลี่ยมบัวกลีบยาวชั้นเดียว
  6. แบบเหลี่ยมกลีบบัวซ้อนสองชั้น


รูปแบบบัวหัวเสาในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วง ร. 1 - 5

ช่วงรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 2 พบว่าบัวหัวเสาที่ใช้ประดับเป็นบัวหัวเสาแบบบัวกลีบยาวซึ่งเรียกว่าบัวจงกล กลีบชั้นเดียว มีกลีบแซม และมีลวดลายที่กลีบบัว ใช้กับเสาเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีบัวคอเสื้ออยู่ระหว่างเสากับหัวเสา เป็นรูปแบบที่สืบทอดมาจากอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นแบบที่นิยมอยู่ในขณะนั้น บัวหัวเสาในสมัยรัตนโกสินทร์ จะมีความนิยมตกแต่งหัวเสาด้วยการปิดทองประดับกระจกสีให้มีความสวยงาม ซึ่งรูปแบบบัวหัวเสาในช่วงรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 2 นี้จะมีรูปแบบโดยรวมที่คล้ายกัน

ช่วงรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 4 พระอุโบสถและพระวิหารจะมีสองแบบ คือแบบมีบัวหัวเสา และแบบไม่มีบัวหัวเสา พระอุโบสถและพระวิหารที่ไม่มีบัวหัวเสาประดับ จะเป็นพระอุโบสถหรือพระวิหารที่สร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์อยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3 เป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นวิหารยอดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม) เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ศิลปะแบบจีนเข้ามามีบทบาทและเป็นศิลปะที่เป็นแบบพระราชนิยม เนื่องจากพระองค์ทรงติดต่อค้าขายกับจีนมาก และทรงโปรดศิลปะแบบจีน อาคารทางสถาปัตยกรรมในระยะนี้จึงนิยมก่อสร้างเป็นศิลปะแบบจีนเสียส่วนมาก พระอุโบสถและพระวิหารซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบจีน จะมีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับโครงสร้างหลังคาโดยรอบ ซึ่งเสาทรงนี้ไม่นิยมทำบัวหัวเสาประดับ บัวหัวเสาจึงเสื่อมความนิยมลงไปยุคหนึ่ง ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงสร้างวัดที่พระอุโบสถและพระวิหารมีบัวหัวเสา แต่เป็นบัวหัวเสาที่มีรูปแบบแตกต่างออกไปจากเดิมคือ เป็นบัวหัวเสาที่ใช้กับเสากลมขนาดใหญ่เป็นเสารองรับโครงสร้างหลังคาโดยรอบ บัวหัวเสาดังกล่าวมีรูปแบบของอิทธิพลตะวันตกเข้ามาผสมผสาน สองรูปแบบคือ กลมเรียบแบบบัวหงาย และแบบกลมที่มีลวดลายพฤกษาพวกใบเทศตกแต่ง วัดดังกล่าวได้แก่วัดมกุฏกษัตริยาราม และวัดโสมนัสวิหาร รวมทั้งวัดราชประดิษฐ์ฯ ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ เป็นต้น

ช่วงรัชกาลที่ 5 พบว่ารูปแบบศิลปกรรมจะมีลักษณะผสมผสานศิลปะแบบตะวันตกมากขึ้น ดังเช่น วัดราชบพิธฯ ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ เป็นการสร้างวัดที่มีรูปแบบที่เป็นคติแบบเก่า แต่มีการผสมผสานการตกแต่งภายในด้วยศิลปะแบบตะวันตก ซึ่งทำให้มีการกล่าวกันว่าภายนอกเป็นไทยแต่ภายในเป็นฝรั่ง นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสร้างวัดเทพศิรินทร์ฯ และวัดเบญจมบพิตรฯ โดยเฉพาะวัดเบญจมบพิตรฯที่มีรูปแบบการสร้างที่ผสมผสานศิลปะไทยแบบอยุธยาและศิลปะแบบตะวันตกเข้าด้วยกัน ซึ่งบัวหัวเสาที่ใช้ในช่วงรัชกาลของพระองค์จะเป็นบัวหัวเสาที่เป็นบัวกลีบยาว กลีบซ้อนสองชั้น กลีบบัวปลายผายบานดูมีความอ่อนช้อยยิ่งขึ้น ในรูปแบบที่เรียกว่าบัวกลีบขนุน และยังมีวัดที่ดำเนินการก่อสร้างตามศิลปะแบบตะวันตกอีก เช่นวัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ข้อสังเกต บัวหัวเสาในสมัยรัชกาลที่ 5 จะนิยมบัวหัวเสาที่มีกลีบบัวซ้อนสองชั้นทั้งเสากลมและเสาเหลี่ยม ซึ่งบัวหัวเสารูปแบบนี้เคยมีปรากฏมาแล้วในสมัยอยุธยาที่วัดกษัตราธิราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบัวหัวเสาที่มีกลีบบัวซ้อนสองชั้นทั้งเสากลมและเสาเหลี่ยมอิงผนังด้านนอก แต่ต่างกันที่ลักษณะและลวดลายของกลีบบัว ดังนั้นจึงเป็นการนำเอาหัวเสารูปแบบเดิมกลับมาใช้อีก แต่มีวิวัฒนาการทางรูปแบบที่เปลี่ยนไป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย