ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
การถือศีลอด
จากหนังสือ มุคตะศ็อรฺ อัล-ฟิกฮิล อิสลามีย์ โดย เชค มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม
บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์
แปลโดย ไฟศ็อล อับดุลฮาดีย์
บทความว่าด้วยความหมายของการถือศีลอด
หุก่มการถือศีลอด วิทยปัญญาที่มีการบัญญัติให้ถือศีลอด
ความประเสริฐของเดือนเราะมะฎอน และความประเสริฐบางประการของการถือศีลอด
โดยอ้างอิงหลักฐานจากอัลกุรอานและหะดีษ
อัลลอฮฺ ผู้ทรงยิ่งด้วยเดชานุภาพและความสูงส่ง
ได้กำหนดให้อิบาดะฮฺมีความหลากหลายต่างชนิด
ทั้งนี้ก็เพื่อทดสอบบ่าวของพระองค์ว่าเขาจะปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของพระองค์หรือจะปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของเขา
และพระองค์ได้แบ่งคำสอนของศาสนาออกเป็นประเภทที่จะต้องละเว้นจากสิ่งที่ชอบ
เช่นการถือศีลอด ซึ่งจะต้องละเว้นจากสิ่งที่ชอบนั่นคือ อาหาร เครื่องดื่ม
และการร่วมประเวณี ทั้งนี้ก็เพื่อแสวงหาความพึงพอใจจากพระองค์อัลลอฮฺ
และบางคำสอนก็เป็นประเภทที่จะต้องเสียสละในสิ่งที่ชอบ
เช่นการจ่ายซะกาตและเศาะดะเกาะฮฺ ซึ่งจะต้องเสียสละในสิ่งที่ชอบ
นั่นคือทรัพย์สินเงินทอง
ทั้งนี้ก็เพื่อแสวงหาความพึงพอใจจากพระองค์อัลลอฮฺเช่นกัน
และบางทีสำหรับบางคนนั้นอาจเป็นเรื่องง่ายดายต่อเขาที่จะบริจาคเงินจำนวนหนึ่งพันเหรียญ
ทั้งๆที่เขาไม่เคยถือศีลอด(หรือไม่ทนต่อการถือศีลอด)แม้แต่วันเดียว
หรือตรงกันข้าม ดังนั้นอัลลอฮฺจึงให้อิบาดะฮฺมีความหลากหลายต่างชนิดกัน
ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ทดสอบบ่าวของพระองค์
จิตใจที่ดี
จิตใจที่ดีและแน่วแน่ก็เพราะด้วยการทุ่มแรงใจทั้งหมดมุ่งสู่อัลลอฮฺแต่พระองค์เดียว
และเมื่ออาหาร เครื่องดื่ม การพูด การนอน
และการคลุกคลีกับพวกพ้องที่เกินแก่ความพอดีเป็นเหตุที่ทำให้เขาหันเหออกจากอัลลอฮฺ
อีกทั้งมันยังเพิ่มพูนความยุ่งเหยิงแก่เขา ดังนั้น
ด้วยความเมตตาและปรานีของพระองค์
พระองค์จึงได้บัญญัติให้มีการถือศีลอดเพื่อจะได้ขจัดความเกินพอดีในเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม
อีกทั้งมันยังช่วยปลีกใจให้ว่างจากการคลุกเคล้าด้วยกิเลสตัญหาที่คอยเป็นอุปสรรคในการมุ่งมั่นสู่อัลลอฮฺอีกด้วย
และพระองค์ได้บัญญัติการอิอฺติกาฟ
ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้ความสนใจและรวบรวมจิตใจของบ่าวมุ่งสู่พระองค์
และเพื่อปลีกตัวและตัดขาดจากผู้คนเพื่อพระองค์
และได้สั่งใช้ไม่ให้พูดในสิ่งที่ไร้สาระไม่เป็นประโยชน์ต่อโลกหน้า
และได้บัญญัติการละหมาดในช่วงกลางคืน
ทั้งนี้ก็เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจของเขาเอง
การถือศีลอด
คือ การละเว้นจากการกิน ดื่ม ร่วมประเวณี และทุกๆอย่างที่ทำให้ศีลอดเสีย
เริ่มตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตก
โดยมีเจตนาเพื่อถือศีลอดและแสวงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ
วิทยปัญญาที่ได้บัญญัติการถือศีลอด
1. การถือศีลอดเป็นสื่อที่นำไปสู่ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ
ด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่เป็นวาญิบและละทิ้งสิ่งที่หะรอม
2.
การถือศีลอดช่วยให้เคยชินกับการดูแลรักษาและยับยั้งชั่งใจตัวเอง
และมันยังช่วยฝึกให้รู้จักรับผิดชอบและรู้จักอดทนต่ออุปสรรค
3. การถือศีลอดทำให้มุสลิมรู้จักกับความยากลำบากของพี่น้องมุสลิมด้วยกัน
ซึ่งมันจะเป็นแรงผลักดันให้เขารู้จักกับการเสียสละและทำกุศลกรรมกับคนยากจนอนาถา
และด้วยเหตุนี้เองมันจะบรรลุถึงความรักใคร่กลมเกลียวและความเป็นภราดรภาพของพี่น้องมุสลิม
4. การถือศีลอดเป็นการขัดเกลาจิตใจ ช่วยชะล้างจากจรรยามารยาทที่ไม่ดีงามและโสมม
และมันยังทำให้ระบบการย่อยอาหารได้ผ่อนคลาย
ซึ่งจะทำให้เรี่ยวแรงและพละกำลังของมันฟื้นขึ้น
การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนเป็นหนึ่งในหลักการของศาสนาอิสลาม
ซึ่งอัลลอฮฺได้บัญัติไว้ในปีฮิจญ์เราะฮฺศักราชที่สอง
เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาเดือนทั้งหมด
คืนสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนเป็นคืนที่ประเสริฐกว่าช่วงกลางวันสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ
และช่วงกลางวันสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺประเสริฐกว่าช่วงกลางวันของสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน
วันศุกร์เป็นวันที่ประเสริฐที่สุดในรอบสัปดาห์
และวันนะหฺร์เป็นวันที่ประเสริฐที่สุดในรอบปี
และคืนอัล-ก็อดฺรเป็นคืนที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาคืนต่างๆ ในรอบปี
หุก่มของการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน
การถือศีลอดนั้นวาญิบ(เป็นศาสนบังคับ)เหนือมุสลิมทุกคนที่อายุบรรลุศาสนภาวะ
มีสติสัมปชัญญะ ไม่เป็นบุคคลที่เดินทาง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
และปราศจากจากข้อห้ามที่ไม่อณุญาตให้ถือศีลอด
นั่นคือมีรอบเดือนและนิฟาส(เลือดหลังคลอดบุตร) ซึ่งมันเป็นกรณีเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น
และอัลลอฮฺได้บัญญัติประชาชาตินี้ให้ถือศีลอดเสมือนกับที่พระองค์ได้บัญญัติแก่ประชาชาติอื่นๆก่อนหน้านี้
พระองค์ได้ตรัสว่า
"บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย
การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้า
เช่นกับเดียวที่ได้กำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้ว เพื่อพวกเจ้าจะได้ยำเกรง"
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 183)
ความประเสริฐของเดือนเราะมะฎอน
เมื่อเดือนเราะมะฎอนได้มาเยือนประตูของสรวงสวรรค์จะถูกเปิดขึ้น และทุกๆ
คืนอัลลอฮฺจะปลดปล่อยชาวนรกในเป็นอิสระ
และในนั้นจะมีอยู่คืนหนึ่งที่ดีกว่าหนึ่งพันเดือน
จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้เล่าว่า
ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า :
"เมื่อเดือนเราะมะฎอนได้มาเยือน ประตูของสรวงสวรรค์จะถูกเปิดขึ้น
ประตูของขุมนรกจะถูกปิดลง และชัยฏอนจะถูกตรวนโซ่" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 3277
และมุสลิม : 1079 สำนวนนี้เป็นรายงานของท่าน)
ความประเสริฐของการถือศีลอด
1. จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้เล่าว่า
ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า :
"ทุกๆ
การงานของลูกหลานอาดัมจะเพิ่มพูนถึงสิบเท่าจนถึงเจ็ดร้อยเท่า อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
นอกจากการถือศีลอด
แท้จริงมันเป็นสิทธิของข้าและข้าจะตอบแทนมันเอง(โดยไม่กำหนดตายตัวว่าเพิ่มขึ้นเท่าใด)
เขาได้ละทิ้งตัญหาและอาหารเพื่อข้า
สำหรับผู้ที่ถือศีลอดนั้นมีสองความสุข(เบิกบานใจ) ความสุขแรกตอนที่เขาละศีลอด
และความสุขที่สองตอนที่ได้พบกับพระผู้เป็นเจ้าของเขา
และแท้จริงกลิ่นปากของผู้ที่ถือศีลอด ณ
อัลลอฮฺนั้นหอมยิ่งกว่ากลิ่นของชะมดเชียงเสียอีก" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 1894
และมุสลิม :1151 สำนวนนี้เป็นรายงานของท่าน)
2. จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้เล่าว่า
ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า :
ความว่า
"ใครก็ตามที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนด้วยใจที่ศรัทธาและหวังผลตอบแทนจากอัลลอฮฺแล้ว
ดังนั้นความผิดของเขาก่อนหน้านั้นจะถูกอภัยโทษ" บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ : 1901
และมุสลิม : 760)
3. จากท่านสะฮฺล์ อิบนุ สะอัด เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลอฮุ
อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า :
"ณ สรวงสวรรค์จะมีประตูแปดบาน และในนั้นจะมีประตูหนึ่งชื่อว่าอัร-ร็อยยาน ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าประตูบานนั้นได้นอกจากผู้ที่ถือศีลอด" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 3257 สำนวนนี้เป็นรายงานของท่าน และบันทึกโดยมุสลิม : 1152)