วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
วิวัฒนาการของวรรณคดีไทย
ความสำคัญของการเรียนวรรณคดีไทย
การแบ่งสมัยของวรรณคดี
วิวัฒนาการของวรรณคดีไทย
วิวัฒนาการของวรรณคดีไทย คือ
กระบวนการเปลี่ยนแปลงของวรรณคดีไทยจากสภาพแรกเริ่มไปสู่สภาวะที่เจริญงอกงามขึ้น
ในด้านรูปลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ด้านผู้แต่ง ด้านคำประพันธ์ ด้านวัตถุประสงค์
และด้านที่มาของเนื้อเรื่อง
วิธีที่จะเห็นวิวัฒนาการของวรรณคดีไทยนั้นจะต้องศึกษาประวัติความเป็นมาของวรรณคดีเป็นสมัย
ๆ โดยเริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์
เรียงตามลำดับกันไป
นับแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วรรณคดีไทย
มีลักษณะเป็นแบบฉบับที่ ยึดถือสืบต่อกันมาในรัชกาลที่ 4
คนไทยเริ่มมีความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก คตินิยมอันเป็นวิถีชีวิต
รวมถึงลักษณะของวรรณคดีของคนไทย เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงและทวีมากขึ้นตามลำดับ
ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะความแตกต่างระหว่างวรรณคดีไทยดั้งเดิมและวรรณคดีไทยปัจจุบันที่สำคัญ มีดังนี้
- อิทธิพล เดิมวรรณคดีไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย และประเทศแถบตะวันออกบางประเทศ เช่น จีนลังกา ชวา(อินโดนีเซีย) เปอร์เซีย(อิหร่าน) มอญ ปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลจากประเทศยุโรป
- ลักษณะคำประพันธ์ เดิมนิยมร้อยกรองขนาดยาวมากกว่าร้อยแก้ว ใช้ร้อยกรองทุกชนิด และ เคร่งครัดในฉันทลักษณ์ ปัจจุบันนิยมร้อยแก้วมากกว่าร้อยกรอง เลือกใช้ร้อยกรองเฉพาะ กลอน กาพย์ และโคลง มีการดัดแปลงร้อยกรองให้มีรูปลักษณะผิดแผกไปจากเดิมและไม่เคร่งครัดในฉันทลักษณ์
- รูปแบบ เดิมนิยมแต่งเป็นนิทาน นิยาย พงศาวดาร ตำนาน ตำรา คำสอน กฎหมาย นิราศจดหมายเหตุ ละครรำ บทพากย์โขน บทสดุดี ปัจจุบัน นิยมแต่งเป็นนวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี บทความ ปาฐกถา บันทึก อนุทิน บทละครพูด บทละครวิทยุ บทละครโทรทัศน์ บทภาพยนตร์
- แนวคิด เดิมแทรกคตินิยมแบบอุดมคติโดยมีแบบโรแมนติก และสัญลักษณ์ปนอยู่ด้วย ปัจจุบัน เน้นสัจนิยม สังคมนิยม โดยมีสัญลักษณ์นิยมปนอยู่ด้วย
- เนื้อเรื่อง เดิม มักเป็นเรื่องไกลตัว จำกัดวงและมีลักษณะเชิงจินตนาการ เช่น เรื่องศาสนา จักร ๆวงศ์ ๆ เทพเจ้า กษัตริย์ ยักษ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นเรื่องใกล้ตัว อยู่ในวงกว้าง และมีลักษณะเชิงวิเคราะห์ วิจารณ์ เช่น เรื่องชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตามที่เป็นจริง
- ธรรมเนียมนิยม เดิม มีโครงสร้างที่เป็นแบบแผน นิยมเลียนแบบครู เช่น ขึ้นต้นบทประณาม ชมบ้านชมเมือง ชมการแต่งกาย ชมไม้ ชมนก ชมเนื้อ ชมกระบวนทัพ ปัจจุบัน ไม่มีโครงสร้างที่เป็นแบบแผน ตายตัว ผู้แต่งมีอิสระที่จะคิดแบบอย่างของตนเอง
- ความมุ่งหมาย เดิม มุ่งให้คุณค่าทางอารมณ์ และสร้างศรัทธามากกว่าปัญญา ปัจจุบัน เน้นคุณค่าทางความคิดและปัญญาในการวิเคราะห์วิจารณ์เป็นสำคัญ
- การดำเนินเรื่อง เดิม เน้นศิลปะการใช้ภาษาและรสวรรณคดีมากกว่าองค์ประกอบของเรื่อง เช่น โครงเรื่อง แนวคิด ความสมจริง ปัจจุบัน ให้ความสำคัญขององค์ประกอบของเรื่อง เช่น เช่น โครงเรื่อง แนวคิด ความสมจริงมากกว่าศิลปะการใช้ภาษาและรสวรรณคดี
- ผู้แต่ง เดิม ผู้แต่งจำกัดเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย ขุนนาง นักปราชญ์ราชกวี ปัจจุบัน ผู้แต่งส่วนมากเป็นประชาชนทั่วไป
- ผู้อุปถัมภ์ เดิม พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายเป็นผู้ชุบเลี้ยงกวีที่สร้างสรรค์วรรณคดี ปัจจุบัน ผู้เขียนมีรายได้จากการขายงานประพันธ์ของตน
โวหารในกวีนิพนธ์
โวหารในกวีนิพนธ์ที่นิยมกันมาแต่โบราณ มี 4 โวหาร คือ
- เสาวรจนี เป็นกระบวนชมความงามหรือพรรณนาเกียรติคุณ
- นารีปราโมทย์ เป็นการเกี้ยวพาราสี
- พิโรธวาทัง เป็นการแสดงความไม่พอใจ เช่น ประชดประชัน ตัดพ้อต่อว่า ข่มขู่และดุด่า โกรธ
- สัลลาปังคพิสัย เป็นการแสดงความโศกเศร้า คร่ำครวญ และความอาลัย