วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

วรรณคดี

       วรรณคดี เป็นคำที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้แทนคำ Literature ในภาษาอังกฤษ ปรากฏครั้งแรกในพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งเป็นวรรณคดีสโมสร เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คำ วรรณคดี ประกอบขึ้นจากคำ วรรณ ซึ่งเป็นคำมาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า หนังสือ ส่วนคำ คดี เป็นคำเดียวกับ คติ ซึ่งเป็นคำบาลีและสันสกฤต แปลว่า เรื่อง ตามรูปศัพท์ วรรณคดี แปลว่า เรื่องที่แต่งเป็นหนังสือ แต่หมายเฉพาะหนังสือที่แต่งดี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้คำจำกัดความของวรรณคดีว่า หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี หรือที่เป็น วรรณคดี มีผู้ให้คำจำกัดความไว้ต่าง ๆ กัน เช่น

พระราชกฤษฎีการจัดตั้งวรรณคดีสโมสร กล่าวว่า

  1. เป็นหนังสือดี กล่าวคือ เป็นเรื่องที่สมควรซึ่งสาธารณชนจะอ่านได้โดยไม่เสียประโยชน์ คือ ไม่เป็นเรื่องทุภาษิต หรือเป็นเรื่องที่ชักจูงความคิดผู้อ่านไปในทางอันไม่เป็นแก่นสาร ซึ่งจะชวนให้คิด วุ่นวายทางการเมือง อันเกิดเป็นเรื่องรำคาญแก่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เพราะคนรู้น้อยอาจจะ ไขว้เขวได้)
  2. เป็นหนังสือแต่งดี ใช้วิธีเรียบเรียงอย่างใด ๆ ก็ตามแต่ต้องให้เป็นภาษาไทยอันดี ถูกต้องตามเยี่ยงที่ใช้ในโบราณกาลหรือปัจจุบันก็ได้ ไม่ใช้ภาษาซึ่งเลียนภาษาต่างประเทศหรือใช้วิธีผูกประโยคประธานตามภาษาต่างประเทศ (เช่น ใช้ว่า ไปจับรถไฟ แทน ขึ้นรถไฟ และ มาสาย แทน มาช้า หรือ มาล่า ดังนี้เป็นตัวอย่าง)
    - พระยาอนุมานราชธน (เสถียรโกเศศ) ให้ความหมายว่า วรรณคดี คือ ความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฏเป็นรูปหนังสือและมีถ้อยคำเหมาะเจาะ เพราะพริ้งเร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึก
    - พระวรเวทย์พิสิฐ มีความเห็นว่า วรรณคดี คือ หนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลา เพราะ พริ้ง มีรสปลุกมโนคติ (imagination) ให้เพลิดเพลิน เกิดกระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง ๆ เป็นไปตามอารมณ์ของผู้ประพันธ์
    - วิทย์ ศิวะศริยานนท์ กล่าวว่า บทประพันธ์ที่เป็นวรรณคดี คือ บทประพันธ์ที่มุ่งให้ความเพลิดเพลิน ให้เกิดความรู้สึกนึกคิด(imagination) และอารมณ์ต่าง ๆ ตามผู้เขียน นอกจากนี้บทประพันธ์ที่เป็นวรรณคดีจะต้องมีรูปศิลปะ (form)

เท่าที่กล่าวมาแล้วพอสรุปได้ว่า วรรณคดี คือ เรื่องที่มีลักษณะดังนี้

1) ใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารไพเราะสละสลวย
2) ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ
3) ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น
4) ใช้เป็นแบบแผนในการแต่งได้

วรรณกรรม

คำว่า วรรณกรรม ปรากฏครั้งแรกในพระราชบัญญัติคุ้มครองศิลปะและวรรณกรรม พ.ศ. 2475 บัญญัติขึ้นจากคำว่า Literature เช่นเดียวกับคำว่า วรรณคดี แต่วรรณกรรมมีความหมายกว้างกว่าคำวรรณคดี วรรณกรรม หมายถึง เรื่องที่เขียนขึ้นทั้งหมด ไม่จำกัดรูปแบบ ความมุ่งหมายและคุณค่า วรรณกรรมที่แต่งดีประกอบด้วยศิลปะของการเรียบเรียงหรือที่เรียกว่า วรรณศิลป์ วรรณกรรมนั้นก็จัดเป็นวรรณคดี



ประเภทของวรรณคดี

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งวรรณคดีสโมสร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กำหนดประเภทของ วรรณคดีและพิจารณาหนังสือที่เป็นยอดของวรรณคดีแต่ละประเภทไว้ ดังนี้

  1. กวีนิพนธ์ คือ เรื่องที่แต่งเป็น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย
  2. ละครไทย คือ เรื่องที่แต่งเป็นกลอนแปด มีกำหนดหน้าพาทย์
  3. นิทาน คือ เรื่องราวอันผูกขึ้นและแต่งเป็นร้อยแก้ว
  4. ละครพูด คือ เรื่องราวที่เขียนเพื่อใช้แสดงบนเวที
  5. อธิบาย (essay หรือ pamphlet) คือ การแสดงด้วยศิลปวิทยา หรือกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช้ตำราหรือแบบเรียน หรือความเรียงเรื่องโบราณ มีพงศาวดาร เป็นต้น

หนังสือที่เป็นยอดแห่งวรรณคดีไทย

กวีนิพนธ์

  • ลิลิตพระลอ เป็นยอดของ ลิลิต
  • สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นยอดของ คำฉันท์
  • เทศน์มหาชาติ เป็นยอดของ กลอนกาพย์ (ร่ายยาว)
  • เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นยอดของ กลอนสุภาพ
  • ละครไทย บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 เป็นยอดของ บทละครรำ
  • ละครพูด บทละครพูดเรื่องหัวใจนักรบ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 เป็นยอดของ บทละครพูดนิทาน เรื่องสามก๊ก ของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) เป็นยอดของ ความเรียงนิทาน
  • อธิบาย เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 เป็นยอดของความเรียงอธิบาย

การแบ่งประเภทวรรณคดีตามเกณฑ์ต่าง ๆ

แบ่งตามความมุ่งหมาย แยกได้ 2 ประเภท คือ

  • สารคดี คือ หนังสือที่มุ่งให้ความรู้แก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ใช้กลวิธีการเขียนให้เกิดความบันเทิงเป็นผลพลอยได้ไปด้วย
  • บันเทิงคดี คือ หนังสือที่มุ่งให้ความสนุกเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านมากกว่าความรู้ แต่อย่างไรก็ดี บันเทิงคดีย่อมมีเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญแทรกอยู่ด้วยใน รูปของคติชีวิตและเกร็ดความรู้

แบ่งตามลักษณะที่แต่ง แยกได้ 2 ประเภท คือ

  • ร้อยแก้ว หมายถึง ความเรียงที่ใช้ภาษาพูดธรรมดา แต่มีรูปแบบ โดยเฉพาะและมีความไพเราะเหมาะเจาะด้วยเสียงและความหมาย
  • ร้อยกรอง หมายถึง ข้อความที่เรียบเรียงตามกำหนดของคณะและสัมผัส บังคับของแต่ละชนิด คณะ ได้แก่ จำนวนคำและจำนวนวรรคในแต่ละ บท ลักษณะบังคับ ได้แก่ กำหนดสัมผัส กำหนดคำเอก คำโท หรือ กำหนดครุ ลหุ ร้อยกรอง อาจเรียกว่า คำประพันธ์ กาพย์กลอน หรือ กวีนิพนธ์ ก็ได้ ร้อยกรองแต่งเป็น กลอน โคลง ร่าย กาพย์ และฉันท์

แบ่งตามลักษณะการจดบันทึก แยกได้ 2 ประเภท คือ

  • รรณคดีลายลักษณ์อักษร ได้แก่ วรรณคดีที่บันทึกไว้เป็นหนังสือ อาจเป็น ตัวจารึกตัวเขียน หรือตัวพิมพ์ก็ได้
  • วรรณคดีที่ไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ วรรณคดีที่บอกเล่า จดจำ สืบต่อกันมา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วรรณคดีมุขปาฐะ เช่น เพลงพื้นเมือง บทเห่กล่อม นิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย

วิวัฒนาการของวรรณคดีไทย
ความสำคัญของการเรียนวรรณคดีไทย
การแบ่งสมัยของวรรณคดี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย