สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การจัดองค์การ

ความหมายของการจัดองค์การ
ทฤษฎีองค์การ
ประเภทขององค์การ (Types of Organization)
หลักการจัดองค์การ
กระบวนการจัดองค์การ (Process of Organizing)
การจัดโครงสร้างขององค์การ (Organization structure)
โครงสร้างองค์การ แบบสูง และแบบกว้าง
การจัดแผนกงาน (Departmentation)
แผนภูมิองค์การ (Organization charts)
อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ (Authority and Responsibility)
การมอบหมายงาน (Delegation)

การมอบหมายงาน (Delegation)

การมอบหมายงาน หมายถึง การกำหนดความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ (Assignment of Responsibility and Authority ) โดยตัวผู้บังคับบัญชาให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา = การกระจายงานในหน้าที่, ความรับผิดชอบ (Responsibility) และอำนาจในการตัดสินใจ (Authority) ภายในขอบเขตที่กำหนดให้ผู้ร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาไปปฏิบัติ (ศิริพร พงศ์ศรีโรจน์, 2543)

ในการจัดองค์การจะเห็นได้ว่า ในการปฏิบัติงานในสายการบังคับบัญชาจะต้องมีการสั่งงานตามลำดับขั้นโดยมีการมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติ เพื่อให้งานนั้นมีประสิทธิภาพ การมอบหมายงานมักจะมีความยุ่งยากในการปฏิบัติเพราะการตัดสินใจมอบหมายงาน และอำนาจหน้าที่เป็นสิ่งที่ผู้บริหารชั้นสูงจะต้องปฏิบัติ และคัดเลือกบุคคลที่ตนคิดว่ามีความสามารถเข้ามาช่วยงาน การมอบหมายงานจะมีการมอบหมายงานตามลำดับขั้น เช่น จากประธานกรรมการไปยังผู้จัดการ หัวหน้าหน่วยงาน ฯลฯ กระบวนการในการมอบหมายงาน มีลำดับขั้น ดังต่อไปนี้

- การพิจารณาจะคิดถึงผลที่คาดว่าจะได้รับจากงาน
- การจัดแบ่งงานตามความเหมาะสม
- การมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้แต่ละบุคคล ที่คิดว่าจะทำให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ได้
- พยายามจัดการให้ทุกคนทำงาน โดยมีความรับความรับผิดชอบต่องานที่ทำ เพื่อจะได้บรรลุ ความสำเร็จของงานนั้น

ขนาดของการมอบหมายงาน การที่ผู้บังคับบัญชาจะมีความเต็มใจที่จะมอบหมายอำนาจหน้าที่ในการทำงานมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัย เหล่านี้ คือ

  • สภาพบรรยากาศ หรือวัฒนธรรมขององค์การถ้าองค์การถือวิธีปฏิบัติงานในลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยมักมีการมอบหมาย งานให้ผู้ที่ทำงานระดับต่ำได้มีโอกาสตัดสินใจด้วยตนเองมาก ตรงข้ามกับองค์การที่ใช้วิธีการควบคุมอย่างมากจะมีการจำกัดการตัดสินใจไว้ที่ผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น
  • ลักษณะของงานที่ทำ งานบางอย่างที่ค่อนข้างยากและมีความสำคัญที่ต้องใช้ความรอบคอบ หรืองานบางอย่าง ถ้ามีการตัดสินใจที่ผิดพลาดแล้วจะก่อความเสียหายมหาศาลให้แก่กิจการนั้นผู้บริหารจะสงวนไว้ตัดสินใจเอง แต่หากงานนั้นมีลักษณะค่อนข้างง่าย เหมาะสมที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะทำแทนได้ ผู้บริหารก็จะมอบหมายให้บุคคลอื่นทำแทนได้
  • ลักษณะพฤติกรรมของผู้บริหาร กรณีผู้บริหารเป็นบุคคลที่มีแนวความคิดสมัยใหม่ หรือสมัยเก่า ถ้าเป็นผู้บริหารสมัยเก่า การปฏิบัติงานจะยึดหลักของการรวมอำนาจ (Centralization)คือจะยึดถือแนวความคิดของตนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ผู้บริหารสมัยใหม่จะใช้หลักของการกระจายอำนาจ(Decentralization) คือผู้บริหารมีความเต็มใจที่จะยอมมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำผิดได้บ้าง และเป็นผู้บริหารที่ใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่นได้บ้าง

 

ศิลปของการมอบหมายงาน ผู้บังคับบัญชาจะสามารถมอบหมายงานให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติ จะต้องมีศิลปของการมอบหมายงานโดยจะต้องพยายามทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นศิลปของการมอบหมายงานของผู้บังคับบัญชาแต่ละคนจึงขึ้นอยู่กับทัศนคติส่วนบุคคล (Personel Attitudes) ของผู้บังคับบัญชาเอง อันได้แก่

- ยอมรับความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาเพียงใด
- เต็มใจที่จะมอบหมายอำนาจในการตัดสินใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเพียงใด
- เต็มใจที่จะเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นกระทำความผิดได้
- เต็มใจที่จะกำหนดขอบเขต ความรับผิดชอบและมีการควบคุมงานที่เหมาะสม

ประโยชน์ของการมอบหมายงาน จะก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ประการใหญ่ๆ ดังนี้

1. ช่วยลดภาระของผู้บริหารระดับสูง
2. ช่วยในการพัฒนาผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
3. เป็นการสร้างขวัญที่ดีให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน

ข้อมูล :
อาจารย์สุวิทย์ แย้มเผื่อน หลักการจัดการ
ศูนย์ตำราอาจารย์นิมิต จิระสันติการ
ภาควิชาบริหารสาธารณสุข - คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย