สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สถาบันการเมือง

รัฐธรรมนูญ (Constitution)
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ
ลักษณะที่ดีของรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
กฎหมายและความเป็นมาของกฎหมาย
ที่มาของกฎหมาย
กฎหมายกับการรักษากฎหมาย (Law and Enforcement)

ลักษณะที่ดีของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญที่ดี คือ รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับสภาพอันแท้จริงของรัฐ กล่าวคือ เพื่อผลประโยชน์ต่อประชาชนเป็นส่วนรวม ชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของเอกชนแต่ละบุคคล รัฐธรรมนูญที่ดีมีลักษณะสำคัญ 5 ประการ ดังนี้คือ

  1. รัฐธรรมนูญที่ดีควรมีข้อความที่ชัดเจนแน่นอน เพื่อจะให้เข้าใจได้ง่าย ไม่ใช้คำที่กำกวม ซึ่งล่อแหลมต่อการตีความผิดๆ จะต้องใช้ถ้อยคำที่เลือกสรรมาแล้วว่ามีความหมายที่แน่นอนที่สุด คำหรือข้อความที่มีความหมายสองแง่สองมุมหรือกำกวม ซึ่งอาจทำให้เข้าใจไปได้หลายกรณีไม่ควรนำมาใช้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ
  2. รัฐธรรมนูญที่ดีควรจะมีการบัญญัติสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างชัดเจนแน่นอน รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอีกด้วย เพื่อที่จะเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ป้องกันมิให้รัฐหรือเอกชนมากดขี่บังคับได้ ซึ่งถ้ารัฐออกกฎหมายใดที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว กฎหมายนั้นก็ขัดกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติ และจะต้องถือว่ากฎหมายนั้นเป็นโมฆะไป ดังเช่น สิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิในทรัพย์สมบัติของตน เสรีภาพในการพูด การเขียน เป็นต้น ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดซึ่งจะล้มล้างไม่ได้
  3. รัฐธรรมนูญที่ดีต้องครอบคลุมบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองของรัฐไว้อย่างครบถ้วน กล่าวคือ รัฐธรรมนูญควรจะมีบทบัญญัติถึงการใช้อำนาจอธิปไตย การแบ่งอำนาจอธิปไตย ความสัมพันธ์ขององค์การที่ใช้อำนาจอธิปไตยและสถาบันทางการเมืองของรัฐ การกำหนดวิธีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ


  4. รัฐธรรมนูญที่ดีไม่ควรยาวเกินไป เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีควรจะมีบทบัญญัติหลักการจัดรูปการปกครองของรัฐที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น รัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติยืดยาวและมีรายละเอียดมากเกินไปจะทำให้การตีความยุ่งเหยิงมากขึ้นและจะไม่ได้รับความเคารพเท่าที่ควร เพราะบทบัญญัติซึ่งละเอียดฟุ่มเฟือยเกินไปอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์จะทำให้เกิดมีการแก้ไขบ่อยจนเกินไป สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยของการปกครองประเทศนั้น ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติจะออกกฎหมายธรรมดาออกมา มิใช่เรื่องที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

    บทบัญญัติรัฐธรรมนูญนั้น ข้อใหญ่ใจความควรจะเป็นการจัดรูปรัฐบาล การบัญญัติสภา วิธีการก่อตั้งและอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ของรัฐบาล ตลอดจนวิธีการที่องค์การเหล่านี้จะใช้อำนาจหน้าที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติ เป็นสิ่งที่จะละเลยไม่ได้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งนี้รัฐธรรมนูญจะต้องไม่สั้นจนเกินไปจนไม่มีบทบัญญัติเหล่านี้อยู่
  5. รัฐธรรมนูญที่ดีควรมีกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายขึ้นไว้ เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับกาลสมัย การที่มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายนั้นก็เพื่อป้องกันการล้มล้างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการใช้กำลังอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อไม่มีทางออกก็อาจเกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารขึ้นเพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ต้องไม่ง่ายจนเกินไปเพราะจะทำให้รัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเคารพจากประชาชนเท่าที่ควร และแก้ไขเพิ่มเติมควรเป็นการถาวรพอสมควรไม่ใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมชั่วคราว

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ แต่รัฐธรรมนูญก็เป็นกฎหมายธรรมดาทั่วไปในแง่ที่ว่า ถ้าไม่มีผู้ใดปฏิบัติตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่รักษากฎหมายละเมิดกฎหมายเสียเอง รัฐธรรมนูญก็มีค่าเพียงแค่เศษกระดาษธรรมดาเท่านั้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย