สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สถาบันการเมือง

รัฐธรรมนูญ (Constitution)
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ
ลักษณะที่ดีของรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
กฎหมายและความเป็นมาของกฎหมาย
ที่มาของกฎหมาย
กฎหมายกับการรักษากฎหมาย (Law and Enforcement)

กฎหมายและความเป็นมาของกฎหมาย

ในองค์การทุกองค์การจำเป็นจะต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ของตนเองเพื่อใช้ปกครองสมาชิกขององค์การ จุดมุ่งหมายของการมีระเบียบข้อบังคับก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสงบและความยุติธรรมทั้งกิจการส่วนบุคคลและกิจการสาธารณะ รัฐก็คือองค์การหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ เพื่อความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในรัฐเช่นกัน กฎเกณฑ์ข้อบังคับเหล่านี้คือ กฎหมาย นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของรัฐแล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาสิทธิและเสรีภาพตลอดจนผลประโยชน์ของประชาชน อีกทั้งรัฐบาลก็ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก การปกครองจะอยู่ในกรอบระเบียบหลักเกณฑ์ของกฎหมายเป็นแนวทางไปสู่ประโยชน์สุขส่วนรวมของรัฐ

ดังนั้นเราพอจะได้ความคิดเกี่ยวกับความเป็นมาของกฎหมาย กล่าวคือเกิดจาก “กฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นของรัฐ เพื่อก่อให้ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสงบสุข ตลอดจนความก้าวหน้าให้แก่รัฐ”

กฎหมายได้ถูกบัญญัติขึ้นมาจากความต้องการที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยในรัฐ และเพื่อที่ประชาชนจะได้รู้สิทธิและหน้าที่อันมีขอบเขตแน่นอนเพื่อที่สะดวกต่อการปฏิบัติตัวในสังคมของรัฐ

ประเภทของกฎหมาย

โดยทั่วไปแล้วกฎหมายแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. กฎหมายสารบัญญัติ (Substantive Law) คือ กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดและรับรองสิทธิ ตลอดจนประโยชน์ของประชาชน อาทิ กฎหมายที่ดิน กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดว่าการทำเช่นใดเป็นการละเมิดกฎหมาย มีโทษใดบ้าง ฯลฯ
  2. กฎหมายวิธีสบัญญัติ (Procedual Law) คือ กฎหมายที่แสดงถึงวิธีการพิจารณาความในศาล กำหนดวิธีการคุ้มกันสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน

บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือผลประโยชน์ที่รับรองโดยกฎหมายสารบัญญัติ เมื่อนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อศาลแล้วนั้น เรียกว่าโจทก์ (Plaintif) และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ล่วงละเมิดสิทธินั้น เรียกว่า จำเลย (Defendant) จะนำกฎหมายวิธีสบัญญัติมาใช้พิจารณาคดี กฎหมายวิธีสบัญญัติจะเป็นกฎหมายที่ทำให้กฎหมายสารบัญญัติมีผลบังคับใช้ได้ เช่น กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติของกฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายลักษณะพยาน เป็นต้น

นอกจากนี้ เรายังสามารถแบ่งกฎหมายตามขอบเขตที่ใช้บังคับและตามความมุ่งหมายที่จะควบคุมบังคับ ระหว่างเอกชนต่อเอกชน ระหว่างเอกชนต่อรัฐ หรือระหว่างรัฐกับรัฐได้ โดยอาจจะแบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. กฎหมายภายในประเทศ (National Law)
2. กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)

1. กฎหมายภายในประเทศ (National Law)

คือ กฎหมายที่ใช้บังคับภายในรัฐ ต่อบุคคลทุกคนไม่ว่าจะเป็นประชาชนของรัฐนั้นๆ หรือคนต่างด้าวก็ตาม หากบุคคลนั้นๆ ได้อาศัยอยู่ในรัฐแล้วก็ย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายในประเทศทั้งสิ้น กฎหมายภายในประเทศเกิดจากอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นๆ ให้อำนาจรัฐสามารถบัญญัติกฎหมายขึ้นใช้บังคับในประเทศได้ เป็นการแสดงออกอำนาจอธิปไตยภายในรัฐ

โดยทั่วไปแล้ว กฎหมายภายในประเทศก็แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  • กฎหมายเอกชน (Private Law)
  • กฎหมายมหาชน (Public Law)

โดยใจความกว้างๆ แล้ว การกระทำผิดที่กระทบกระเทือนต่อรัฐ ต่อประชาชนโดยส่วนรวมถือว่าอยู่ในข่ายของกฎหมายมหาชน ส่วนการกระทำผิดใดๆ ระหว่างเอกชนธรรมดาโดยไม่กระทบกระเทือนต่อรัฐหรือประชาชนเป็นส่วนรวมแล้ว ความผิดนั้นก็จะได้รับการพิจารณาโดยกฎหมายเอกชน อธิบายได้ดังนี้

กฎหมายเอกชน (Private Law)

บางทีเรียกว่า กฎหมายแพ่ง (Civil Law) อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล บุคคลกับนิติบุคคล (นิติบุคคล คือ บุคคลตามกฎหมาย ไม่ใช่บุคคลจริง ตัวอย่างเช่น ธนาคาร ห้างร้าน เป็นต้น) หรือระหว่างเอกชนกับเอกชน และได้กำหนดวิธีการต่างๆ เพื่อให้เอกชนกับบุคคลสามรถรักษาและป้องกันสิทธิของตนมิให้ถูกละเมิดหรือไปละเมิดผู้อื่นได้ ในกฎหมายเอกชนนี้รัฐมีหน้าที่เป็นผู้ตัดสินโดยศาลยุติธรรม



กฎหมายเอกชนที่สำคัญ ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ดิน สัญญาต่างๆ เช่น สัญญากู้ยืม ทะเบียนสมรส ทรัพย์ มรดก นิติกรรม พินัยกรรม บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฯลฯ ซึ่งรวมอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งถ้ามีการละเมิดละเมิดสิทธิเสรีภาพในเรื่องดังกล่าวนี้แล้ว จะไม่ส่งผลกระทบไปถึงบุคคลส่วนใหญ่ บทลงโทษในกฎหมายแพ่งจึงเป็นเพียงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กันเท่านั้น

กฎหมายมหาชน (Public Law)

กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายซึ่งรัฐเป็นคู่กรณีด้วย เป็นกฎหมายที่มีขอบเขตกว้าง บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน กฎหมายมหาชนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitutional Law) กฎหมายภายในประเทศอื่นใดขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องถือว่ากฎหมายนั้นเป็นโมฆะ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่สูงสุด กำหนดรูปของรัฐ วิธีการปกครอง โครงร่างและกระบวนการปกครองอย่างกว้างๆ กฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ส่วนมากได้กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานขอปงระชาชนไว้โดยชัดเจนพอสมควร โดยที่รัฐก้าวก่ายไม่ได้

    ปัญหาของการตีความของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในบางรัฐก็เป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติ บางรัฐก็เป็นหน้าที่ของศาลฎีกา เช่น สหรัฐอเมริกา ส่วนไทยเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
  2. กฎหมายปกครอง (Administrative Law) คือ กฎหมายที่มีบัญญัติอย่างละเอียดถึงการกำหนดองค์การของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการปฏิบัติการต่างๆ ตามกฎหมายวิธีการที่รัฐบาลจะใช้อำนาจที่กำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกำหนดถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์การและเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อประชาชน อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายที่ขยายความให้ละเอียดจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ
  3. กฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (Criminal Law and Procedure) ในการรักษาความสงบของรัฐ รัฐจำต้องถือความผิดบางอย่างที่เกี่ยวข้องกระทบกระเทือนต่อประชาชนหรือสังคมส่วนรวม และบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นการทำผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐต้องทำหน้าที่อัยการฟ้องร้องให้ศาลตัดสินลงโทษตามกฎหมายอาญา

การประกอบอาชญากรรม เช่น การฆ่าคนตาย การปล้นสะดม เป็นต้น ถือเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อประชาชนทั่วไปและรัฐด้วย ฉะนั้นถึงแม้ว่าเข้าทุกข์อาจจะไม่ต้องการเอาเรื่องเอาราว แต่รัฐจำเป็นต้องทำการดำเนินคดีและเป็นเจ้าทุกข์เสียเอง

การพิจารณาว่าความผิดเช่นใดเป็นความผิดทางอาญา ความผิดเช่นใดเป็นความผิดทางแพ่งก็แตกต่างกันในแต่ละรัฐ เช่น คดีจ่ายเช็คไม่มีเงินนั้น สำหรับประเทศไทยถือเป็นความผิดทางอาญา แต่ในสหรัฐอเมริกาเป็นความผิดทางแพ่ง

กฎหมายอาญานี้ ได้กำหนดโทษของการกระทำผิดละเมิดกฎหมายเป็นลำดับแน่นอนลดหลั่นลงไป เรียงลำดับได้ดังนี้ 1. ประหารชีวิต 2. จำคุก 3. กักขัง 4. ปรับ 5. ริบทรัพย์สิน ลงโทษตามระดับความหนักเบาของความผิดที่กระทำ เช่น โทษลักขโมยก็ย่อมเบากว่าโทษฆ่าคนตาย ตลอดจนการกำหนดองค์ประกอบของความผิด เช่น เป็นผู้ที่สั่งให้กระทำหรือผู้ที่ไม่ให้กระทำหรือกระทำผิดเองโดยเจตนาหรือประมาท ไปจนกระทั่งการลดหย่อนผ่อนโทษให้ในบางกรณี เพื่อให้การใช้กฎหมายอาญานี้เป็นไปตามระเบียบแบบแผน ก็ได้มีกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดวิธีการที่องค์การรัฐจะนำตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องร้องต่อศาล การกำหนดเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจ วิธีใช้ ตลอดจนหลักประกันต่อประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพทางอาญา

2. กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)

คือ ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศนี้ส่วนใหญ่ มาจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศและขนบธรรมเนียมประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาในการติดต่อระหว่างกัน

เมื่อพิจารณาดูแล้วกฎหมายระหว่างประเทศนั้น อาจเป็นเพียงข้อตกลงสัญญากันระหว่างรัฐมากกว่ากฎหมายจริงๆ เพราะไม่มีองค์กรที่เหนือกว่ารัฐเป็นผู้ออกกฎหมายหรือใช้อำนาจบังคับลงโทษ เมื่อมีผู้ละเมิดข้อตกลงก็ไม่มีองค์กรใดที่จะมีอำนาจลงโทษผู้ละเมิดได้ เหมือนอย่างกฎหมายภายในประเทศ รัฐคู่กรณีอาจจะใช้วิธีไม่คบค้าสมาคมทางการค้าและทางการทูตกับรัฐที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ในกรณีที่รุนแรงสงครามก็เป็นเครื่องมือที่จะรักษาหรือละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศได้

แต่ถ้าจะพิจารณาดูในแง่ที่ว่ากฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นต่อองค์กรเพื่อก่อให้เกิดความเป็นระเบียบและความสงบสุข ตลอดจนความก้าวหน้าให้แก่องค์กรแล้ว ในแง่นี้กฎหมายระหว่างประเทศก็เป็นกฎหมายประเภทหนึ่ง เพราะกฎหมายระหว่างประเทศมีการตกลงกันในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน การประกาศสงคราม การทำสัญญาสันติภาพ การกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในท้องทะเลหลวง ฯลฯ กฎเกณฑ์เหล่านี้ช่วยนำมาซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยต่อรัฐต่างๆ พอสมควร การที่รัฐต่างๆ เคารพกฎหมายระหว่างประเทศก็อาจจะเพราะเกรงกลัวสงคราม หรือกลัวว่าจะสูญเสียผลประโยชน์ของตน ตลอดจนทั้งการได้รับความนับหน้าถือตาและความเชื่อถือมากกว่าบุคคลที่ชอบเล่นอะไรนอกกติกา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย