สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

รัฐศาสตร์และการเมือง

ความหมายของการเมือง
ความหมายของรัฐศาสตร์
สาขาวิชาทางรัฐศาสตร์
วิวัฒนาการและวิธีการศึกษาวิชารัฐศาสตร์

สาขาวิชาทางรัฐศาสตร์

วิชารัฐศาสตร์ก็มีการแยกเป็นแขนงวิชาเฉพาะ (Specialization) เพื่อผู้ศึกษาจะได้ทำการศึกษาให้ลึกซึ้งต่อไป ซึ่งในที่นี้จะขอแบ่งออกเป็น 6 สาขา คือ

1. การเมืองการปกครอง (Politics and Government)

คือ การศึกษาเกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองต่างๆ การแบ่งอำนาจระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ศึกษารัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเน้นไปทางโครงร่างของการปกครอง และยังรวมถึงความสำคัญของพรรคการเมืองที่มีบทบาทต่อรัฐ รวมไปถึงการศึกษาประชามติและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ด้วย

2. ทฤษฎี / ปรัชญาทางการเมือง (Political Theory / Philosophy)

คือ การมุ่งศึกษาปรัชญาที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองตั้งแต่สมัยโบราณจนมาถึงปัจจุบัน ปรัชญาการเมืองเป็นเหมือนหลักการเหตุผล และความยึดมั่นของรัฐซึ่งย่อมแตกต่างกันไป การศึกษาก็เพื่อจะได้เรียนรู้เข้าใจทั้งจุดมุ่งหมาย (Ends) และวิถีทาง (Means) ของแต่ละปรัชญาดังกล่าว โดยแสวงหาเหตุและผลนำมาปฏิรูปความคิดและการปฏิบัติทางด้านการปกครอง ให้ได้รูปแบบที่ดีขึ้นจากตัวอย่างของความบกพร่องของรัฐอื่นๆ



3. การเมืองการปกครองเปรียบเทียบ (Comparative Politics)

มุ่งการศึกษาถึงการปกครองของประเทศต่างๆ หลายประเทศ เพื่อจะเปรียบเทียบกันทางประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐานแล้วจึงเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ โครงร่างของการปกครอง และสถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น พรรคการเมือง สภานิติบัญญัติ ระบบศาล เป็นต้น ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนนโยบายต่างประเทศในอดีต ก็จำเป็นต้องศึกษาเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วย

ตามปกติการศึกษาสาขานี้มักจะศึกษาเพ่งเล็งกันที่ประเทศซึ่งมีความสำคัญและมีบทบาทในวงการนานาชาติ ทั้งในปัจจุบันและอดีต เพื่อดูลักษณะเด่นและด้อย หรือเพื่อเอาเป็นตัวอย่างจากการปกครองแบบใดแบบหนึ่ง ทั้งพยายามที่จะหาทฤษฎีที่ว่าทำไมรัฐต่างๆ จึงมีการปกครองที่แตกต่างกัน และทำไมการปกครองแบบนี้เป็นผลกับรัฐนี้ และการปกครองแบบเดียวกันล้มเหลวในรัฐอื่นๆ เป็นต้นว่า ทำไมระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศอังกฤษจึงเหมาะสมกับประเทศอังกฤษ แต่เมื่อนำมาใช้กับประเทศไทยแล้วทำให้เกิดปัญหายุ่งยากต่างๆ

การเปรียบเทียบส่วนดีส่วนเสียของการปกครองแบบต่างๆ ของรัฐแต่ละรัฐ ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อชักนำให้เกิดการปฏิรูปการปกครอง โดยชี้ให้เห็นถึงจุดบกพร่องที่มีอยู่ของแต่ละรัฐอย่างชัดเจน นำไปสู่ระบอบการปกครองที่เหมาะสมกับรัฐตน

4. กฎหมายมหาชน (Public Law)

คือ การศึกษาเกี่ยวกับรากฐานรัฐธรรมนูญของรัฐต่างๆ ปัญหาของการกำหนดและแบ่งอำนาจปกครองประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับรัฐ

5. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations)

ก็คือ การติดต่อกันในระดับข้ามพรมแดน โดยที่การศึกษานั้นจะหมายรวมถึงองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ องค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมต่างๆ องค์การข้ามชาติ องค์การภูมิภาค ตลอดจนกฎหมายระหว่างประเทศ และพิธีทางการทูตก็เพื่อเข้าใจและเป็นวิถีทาง (Means) ซึ่งจะช่วยในการติดต่อของรัฐต่างๆ นั่นเอง วิชานี้ต้องอาศัยความรู้ทางสาขาวิชาต่างๆ ประกอบด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้ต้องอาศัยความรู้ในปัจจัยต่างๆ ได้แก่ วัฒนธรรม ประชากร เศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา ประกอบกันเป็นภูมิหลัง (Background) ของประเทศนั้นๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ

6. รัฐประศาสนศาสตร์ / บริหารรัฐกิจ (Public Administration)

คือ การศึกษาโดยตรงในการบริหารของรัฐบาล ตลอดจนการบริหารกฎหมาย การจัดการเกี่ยวกับคน เงินตรา วัตถุ บริหารรัฐกิจนับเป็นแขนงวิชาใหม่ของวิชารัฐศาสตร์ เนื่องจากการที่รัฐบาลมีขอบเขตภาระหน้าที่กว้างขวางขึ้นตามยุคสมัย ทำให้ต้องหาวิชาการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว จึงต้องมีวิชานี้เพื่อสนองความต้องการของยุคใหม่ วิชานี้เน้นในทางปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตจำนงในการปกครองของรัฐ ให้เป็นไปตามจุดประสงค์และอุดมการณ์ของรัฐอย่างเป็นผลดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย